สุขศึกษและพลศึกษาในโรงเรียนขยายโอกาส


จิตใจที่แจ่มใสอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์

จิตใจที่แจ่มใส……อยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์   การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษากับเด็กนักเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา  ให้มีประสบการณ์ที่จำเป็นต่อร่างกายและจิตใจ  เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตให้มีความปกติสุขเหมือนกับคนในสังคมทั่วไป  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษาหลักการ  แนวทาง  ในการนำนักเรียนให้รู้จักใช้ชีวิตอย่างมีความสุขภายใต้สังคมในยุคปัจจุบัน  จึงได้ดำเนินการ  สร้างวิสัยทัศน์ของกลุ่มสาระสุขศึกษาและพลศึกษาขึ้นมาดังนี้

จัดการเรียนรู้โดยใช้สังคมมิติเป็นฐาน  ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการคิด กระบวนการแสวงหาความรู้อย่างเป็นระบบ  และนำไปพัฒนาชีวิตเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข

                ที่สำคัญยิ่งกว่าวิสัยทัศน์ในการดำเนินงาน  นักเรียนต้องผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อเป็นการฝึกทักษะให้เขาเหล่านั้นมีพื้นฐานในการนำความรู้และประสบการณ์ที่มีหรือที่ได้รับไปพัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบ  จนสามารถดูแล  รักษา  ร่างกาย  และจิตใจ  ของตนเองและสามารถขยายผลความรู้ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นได้  ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้โดยมีหลักในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ดังนี้

                                1.  ทำความรู้จักกับนักเรียน  โดยค้นหาลีลาการเรียนรู้  ตามแบบประเมินพฤติกรรมลีลาการเรียนรู้ (Learning Style) เพื่อให้นักเรียนได้ร่วมกิจกรรมตามความถนัดของตนเอง  หรือตามสภาพของนักเรียน  ซึ่งลีลาการเรียนรู้ได้แบ่งบุคลิกภาพของนักเรียนออกเป็น  6  กลุ่ม  ได้แก่  กลุ่มพึ่งตนเอง  กลุ่มหลบหนี  กลุ่มร่วมมือ  กลุ่มพึ่งผู้อื่น  กลุ่มแข่งขัน  และกลุ่มมีส่วนร่วม  ซึ่งเมื่อเราทำความรู้จักกับนักเรียนตามลีลาของเขาแล้ว  เราสามารถเข้าใจธรรมชาติของนักเรียนแต่ละคน  จะทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจในการให้นักเรียนได้ร่วมกิจกรรมของกลุ่ม

                                2.  นักเรียนร่วมกิจกรรมอย่างหลากหลาย  ซึ่งในด้านเนื้อหาในหลายๆเรื่องที่เป็นเนื้อหาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการก็สามารถให้นักเรียนจดบันทึกไว้เพื่อให้ความรู้นั้นถูกต้อง  เนื้อหาบางเรื่องนักเรียนสามารถค้นคว้าด้วยตนเองได้  ก็ให้นักเรียนได้แสวงหาด้วยตนเองโดยครูติดตามกำกับอย่างใกล้ชิด  โดยเฉพาะการสืบค้นข้อมูลทาง Internet ต้องระมัดระวังอย่างสูง  เช่นในเรื่องของเพศศึกษา  มีข้อมูลให้สืบค้นค่อนข้างมากและหาได้ง่ายแต่ผลที่เกิดมีทั้งด้านบวกและผลทางด้านลบ    ตลอดจนนำผลของความรู้มาจัดทำโครงงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชั้นเรียนได้

                                3.  จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในเนื้อหาที่นักเรียนต้องรู้และรู้อย่างถูกต้อง  โดยจัดทำเป็นเอกสารสนับสนุนและส่งเสริมการอ่าน  เอกสารประกอบการอ่าน  คิดวิเคราะห์ และเขียน  เพื่อฝึกให้นักเรียนมีทักษะในการคิดอย่างสม่ำเสมอ  และต่อเนื่อง จัดทำแผ่นพับความรู้เพื่อเผยแพร่ให้ผู้ปกครองได้อ่าน

                                4.  ครูและนักเรียนร่วมกันผลิตสื่อการเรียนการสอนไว้สำหรับใช้ศึกษาเพิ่มเติม  และเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน

                ข้อสังเกต   1.  วิชาสุขศึกษาและพลศึกษาเป็นวิชาที่มีจำนวนชั่วโมงเรียนค่อนข้างน้อยกว่าวิชาอื่นๆ (สัปดาห์หนึ่งเจอนักเรียนเพียง 1 ครั้ง)  ถ้าให้งานมากๆหรือมีการบ้าน  นักเรียนมักลืมเสมอๆดังนั้นวิธีป้องกันการลืม  คือ  ดำเนินการจัดทำแฟ้มพัฒนางานให้นักเรียนใช้ตลอดใน 1 ปีการศึกษาและเมื่อเรียนจบเรื่องนั้นๆแล้วให้นักเรียนได้ทำงานหรือสรุปความรู้ของตนเองที่ได้รับลงแฟ้มพัฒนางานในท้ายชั่วโมงเรียน  เพื่อป้องกันการลืม  และนักเรียนสามารถทบทวนความรู้ของตนเองได้จากแฟ้มสะสมงานได้อีก 

                                   2.  ตอนพักกลางวันให้นักเรียนได้ออกกำลังกายทุกวัน  ซึ่งต้องมีนักเรียนที่ไม่ชอบเล่นกีฬา  ก็เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เข้ามาช่วยในการเบิกจ่ายอุปกรณ์กีฬา  ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมให้นักเรียนได้รักการกีฬาโดยไม่ต้องบังคับให้เล่น  แต่ให้เป็นผู้ดูแล

                                  3.  ให้ความดูแลใกล้ชิด  พูดคุยกับนักเรียนบ่อยๆ  สอนด้วยอารมณ์และใบหน้าที่ยิ้มแย้ม (ต้องโหดร้ายบ้างในบางเวลาที่สมควร)  เป็นกันเองเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ซักถาม(บางทีชอบถามนอกเรื่องอยู่เสมอๆ)  ควรตอบให้เป็นประโยชน์กับนักเรียนมากที่สุดเพราะสิ่งที่เขาถามคือสิ่งที่สงสัยและลองภูมิรู้ของครู  โดยเฉพาะเรื่องราวของวัยรุ่นถ้าตอบได้ถูกใจ  รอยยิ้ม  และเสียงหัวเราะก็จะปรากฏขึ้นในชั้นเรียน

 

รอยยิ้ม

เป็นเพียงการทำงานของกล้ามเนื้อบนใบหน้า

แต่……รอยยิ้ม

สามารถทำให้หัวใจของใครต่อใครเบิกบาน

….ดังนั้นรอยยิ้มบอกเราได้ว่า…..

เรากำลังมีความสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจ

จิตใจที่แจ่มใส……อยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์  

 

 

 

         โดย       ทัศนีย์  ไชยเจริญ

                                                                                                                       ครูโรงเรียนวัดพวงนิมิต

คำสำคัญ (Tags): #คือเรา
หมายเลขบันทึก: 223318เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2008 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท