BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เปรียบเทียบสิ่งปิดกั้นการเข้าถึงคุณธรรม


เปรียบเทียบสิ่งปิดกั้นการเข้าถึงคุณธรรม

นิวรณ์ คือ สิ่งปิดกั้นมิให้เข้าถึงคุณธรรม มี ๕ ประการ กล่าวคือ

  • กามฉันทะ - ความพอใจในกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
  • พยาบาท - ความคิดร้าย แค้นเคือง ขึ้งเครียดต่อผู้อื่น
  • ถีนมิทธะ - ความง่วงเหงา หาวนอน เซื่องซึม หดหู่
  • อุทธัจจกุกกุจจะ - ความฟุ้งซ่าน รำคาญ กระวนกระวาย ร้อนอกร้อนใจ
  • วิจิกิจฉา - ความโลเล ลังเล สงสัย

 

อ่านเจอในพระไตรปิฏกว่าพระพุทธเจ้าทรงมีอุปมาหรือข้อเปรียบเทียบกับนิวรณ์เหล่านี้ไว้ เห็นว่าน่าสนใจจึงนำมาเล่าต่อ โดยคัดมาจาก มหาสีหนาทสูตร (คลิกที่นี้ ) ว่า

  • ดูกรกัสสป เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงกู้หนี้ไปประกอบการงาน การงานของเขาจะพึงสำเร็จผล เขาจะพึงใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้น และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเขาจะพึงมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา เขาพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรากู้หนี้ไปประกอบการงาน บัดนี้การงานของเราสำเร็จผลแล้ว เราได้ใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้นแล้ว และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเรายังมีเหลืออยู่ สำหรับเลี้ยงภริยา ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัสมีความไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
  • ดูกรกัสสป เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นผู้มีอาพาธถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย สมัยต่อมา เขาจะพึงหายจากอาพาธนั้น บริโภคอาหารได้และมีกำลังกาย เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นผู้มีอาพาธ ถึงความลำบากเจ็บหนักบริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย บัดนี้ เราหายจากอาพาธนั้นแล้ว บริโภคอาหารได้และมีกำลังกายเป็นปกติ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัส มีความไม่มีโรคนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
  • ดูกรกัสสป เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงถูกจำ อยู่ในเรือนจำ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราถูกจำอยู่ในเรือนจำ บัดนี้ เราพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัยแล้ว และเราไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัส มีการพ้นจากเรือนจำนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
  • ดูกรกัสสป เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นทาส ไม่ได้พึ่งตัวเอง พึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่นเป็นไทแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นทาสพึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ บัดนี้ เราพ้นจากความเป็นทาสนั้นแล้ว พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่นเป็นไทแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัส มีความเป็นไทแก่ตัวนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
  •  ดูกรกัสสป เปรียบเหมือนบุรุษมีทรัพย์ มีโภคสมบัติพึงเดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้ บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดี เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรามีทรัพย์ มีโภคสมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า บัดนี้ เราข้ามพ้นทางกันดารนั้น บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษม ปลอดภัยโดยสวัสดีแล้ว ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัสมีภูมิสถานอันเกษมนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
  • ดูกรกัสสป ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ที่ยังละไม่ได้ในตน เหมือนหนี้เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร และเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล.

 

(นอกจากมหาสีหนาทสูตรนี้แล้ว ข้ออุปมานี้ยังมีปรากฎอยู่ในพระสูตรอื่นๆ อีกด้วย) ซึ่งอาจสรุปข้ออุปมานี้ได้ว่า...

  • กามฉันทะ - หนี้
  • พยาบาท - โรค
  • ถีนมิทธะ - คุก
  • อุทธัจจกุกกุจจะ - ทาส
  • วิจิกิจฉา - ทางทุรกันดาร

 

ในการใช้ชีวิตประจำวันนั้น คราใดที่รู้สึกชอบเสื้อผ้าหรือรองเท้าคู่ใหม่ หรือเพลิดเพลินกับเสียงดนตรี เป็นต้น... ลองถามใจตนเองดูว่า เรากำลังใช้หนี้อยู่ในขณะนั้น ใช่หรือไม่ ?

เมื่อกำลังคิดขุ่นเคืองถึงใครบางคน หรือเหตุการณ์บางอย่าง เป็นต้น... ลองถามใจตนเองดูว่า เรากำลังป่วยเพราะมีโรคบางอย่างกำลังกัดกินใจของเรา ใช่หรือไม่ ?

ยามบ่ายหลังจากทานมากเกินไปแล้วรู้สึกง่วง หาวนอน ไม่อยากทำงาน เป็นต้น... ลองถามใจตนเองดูว่าเรากำลังติดคุก ใช่หรือไม่ ?

เมื่อฟุ้งซ่าน หงุดหงิด จับต้นชนปลายไม่ถูก เป็นต้น... ลองถามใจตนเองดูว่า เรากำลังเป็นทาส ใช่หรือไม่ ? (นั่นแหละ ทาสอารมณ์)

และเมื่อลังเล สงสัย ไม่กล้าตัดสินใจ เป็นต้น... ลองถามใจตนเองดูว่า ตอนนี้ เราคล้ายๆ กับกำลังเดินทางไกลที่ทุรกันดาร ยากยิ่งนักที่จะถึงจุดหมาย ใช่หรือไม่ ?

 

  • ถ้าพิจารณาใจตนเองทำนองนี้บ่อยๆ สิ่งปิดกั้นคือนิวรณ์น่าจะมีกำลังอ่อนลงได้บ้าง...
หมายเลขบันทึก: 224385เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2008 21:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

กราบนมัสการ พระอาจารย์ ครับ

นมัสการพระคุณเจ้า

มาเรียน นิวรณ์ ตัวการที่ทำให้คนเข้าไม่ถึงคุณธรรม

มีหลายข้อที่ยังไม่พ้นจากนิวรณ์ครับ

นมัสการพระคุณเจ้า

  • ตัดพยาบาทได้
  • อย่างอื่นก็คงลดลงเจ้าค่ะ

Pบังหีม--ผู้เฒ่าnatachoei--

 

การพิจารณาตนเอง และรู้เท่าทันนิวรณ์ จัดได้ว่าเป็นการอบรมปัญญาบารมีอย่างหนึ่ง และสิ่งนี้สำคัญมาก พูดได้แต่จะทำได้ระดับไหนนั้น ขึ้นอยู่กับบารมีของแต่ละคน...

........

P ครูคิม

 

วาสนา คือ พื้นฐานเดิมของแต่ละคนแตกต่างกัน บางอย่างอาจง่ายสำหรับบางคน แต่อาจยากสำหรับบางคน...

.........

เจริญพรคุณโยมทั้งสองท่าน

รูปรสเสียง  กลิ่นได้      สัมผัส

คิดขุ่นเคือง เคียดแค้น   มุ่งร้าย

ใจหดหู่ ง่วงเหงา          หาวนอน

ฟุ้งซ่าน สงสัยแล้ว        แน่แท้ นิวรณ์

 

กราบ 3 หน          

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท