การเข้าสู่ทะเบียนราษฎรของคนต่างด้าวในประเทศไทย


การที่คนไทยมีชื่อในทะเบียนบ้านดูจะเป็นเรื่องที่แสนจะปกติธรรมดาเกินกว่าจะเป็นประเด็นครุ่นคิด แล้วคุณเคยนึกสงสัยบ้างมั๊ยว่า แล้วคนที่ไม่มีสัญชาติไทยจะมีชื่อในทะเบียนบ้านได้รึปล่าว ?

คนต่างด้าวเข้าสู่ทะเบียนราษฎรได้กี่ประตู ? --- เราเริ่มบทสนทนากันบริเวณลานจอดรถ (ไม่ต้องแปลกใจหรอก—เพราะพวกเรามักมีสถานที่ใหม่ๆสำหรับคุยงานกันเสมอๆ )  

ตอนแรกฉันตอบไปว่ามี ๔ ประตู คือ ทร.๑๔—สำหรับต่างด้าวที่ได้รับสิทธิอาศัยถาวร  ทร.๑๓— สำหรับต่างด้าวที่ได้รับสิทธิอาศัยชั่วคราว ทร.๓๘/๑ –สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ควรได้รับสิทธิอาศัย และทร.๓๘ก –สำหรับกลุ่มคนไม่มีสถานะทางทะเบียนฯ ----

แต่หลังจากการปุจฉา-วิสัชนา กับอาจารย์เป็นระยะเวลาพอควร จึงสามารถสรุปได้ว่าการเข้าสู่ทะเบียนราษฎรของคนต่างด้าวในประเทศไทยมีด้วยกัน ๒ ประตู โดยพิจารณาจาก “สิทธิอาศัย” ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น -๑-การเข้าสู่ทะเบียนราษฎรของคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิอาศัย และ-๒-การเข้าสู่ทะเบียนราษฎรของคนต่างด้าวที่ควรได้รับสิทธิอาศัย(ยังไม่ได้รับสิทธิอาศัย)

 

คนต่างด้าวสามารถเข้าสู่ทะเบียนราษฎรได้กี่ประตู ??

เราสามารถจำแนกการเข้าสู่ทะเบียนราษฎรของคนต่างด้าวได้ ๒ ประตู ดังนี้

ประตูแรก----เปิดกว้างสำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิอาศัยในประเทศไทย ทั้งที่ได้รับสิทธิอาศัยถาวรและที่ได้รับสิทธิอาศัยชั่วคราว กล่าวคือ

คนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิอาศัยถาวร(หรือได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร)สามารถเข้าสู่ทะเบียนราษฎรประเภททะเบียนบ้านสำหรับผู้ได้รับสิทธิอาศัยถาวร หรือ ทะเบียนบ้าน ท.ร. ๑๔  โดยผลของมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง[1] แห่ง พรบ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติให้นายทะเบียนต้องจัดทำทะเบียนบ้านไว้สำหรับ “คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย”

ในขณะที่ คนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิอาศัยชั่วคราว ได้แก่ (๑) คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว  (๒) คนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (ทั้งนี้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด) และ (๓) บุตรของคนต่างด้าวทั้งสองประเภทดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเกิดในราชอาณาจักร  สามารถเข้าสู่ทะเบียนราษฎรประเภททะเบียนบ้านสำหรับผู้ได้รับสิทธิอาศัยชั่วคราว หรือทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓  โดยผลของ  มาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง[2]แห่ง พรบ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติให้นายทะเบียนต้องจัดทำทะเบียนบ้านไว้สำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิอาศัยชั่วคราวทั้งสามกลุ่มตามที่กล่าวมาข้างต้น

ประตูที่สอง----มีไว้ต้อนรับคนต่างด้าวซึ่งควรได้รับสิทธิอาศัยในประเทศไทย(ทร.๓๘/๑ และ ทร.๓๘ก) ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติ มาตรา ๓๘ วรรคสองแห่ง พรบ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่๒) พ.ศ.๒๕๕๑ โดยมีกระบวนการเป็นไปตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕  [3]

 

คนต่างด้าวเข้าไปอยู่ในทะเบียนราษฎรได้อย่างไร ???

เราสามารถจำแนกกระบวนการเข้าสู่ทะเบียนราษฎรของคนต่างด้าวได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ คนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิอาศัยถาวร และคนต่างด้าวซึ่งควรได้รับสิทธิอาศัย

๑.คนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิอาศัย

๑.๑   คนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิอาศัยถาวร

เนื่องจากคนต่างด้าวกลุ่มนี้ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการถาวร(หรือได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร) โดยมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวคนต่างด้าวเป็นเอกสารกลุ่มนี้สามารถเข้าสู่ทะเบียนราษฎรได้โดยการขอลงรายการ(เพิ่มชื่อ)ในทะเบียนบ้าน ทร.๑๔[4] ซึ่งเป็นไปตามข้อ ๔๔ ประกอบกับข้อ ๑๐๐ และ ๑๐๑ แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕

๑.๒ คนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิอาศัยชั่วคราว

ในขณะที่คนต่างด้าวซึ่งได้รับสิทธิอาศัยชั่วคราวก็สามารถเข้าสู่ทะเบียนราษฎรได้เช่นเดียวกันโดยการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓[5]  ตาม ข้อ ๔๕ ประกอบกับ ข้อ ๑๐๕ และข้อ ๑๐๕ทวิ แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕

(มีต่อ  ๒. คนต่างด้าวที่ควรได้รับสิทธิอาศัย)

[1]           มาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง  ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านไว้ทุกบ้านสำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

 

[2]           มาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง    ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร ในกรณีผู้มีรายการในทะเบียนบ้านพ้นจากการได้รับอนุญาตหรือผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ให้นายทะเบียนจำหน่ายรายการทะเบียนของผู้นั้นโดยเร็ว

 

[3] หนังสือที่ มท.๐๓๐๙.๑/ว๔๓ ลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๘ เรื่อง กฎกระทรวงกำหนดให้คนต่างด้าวปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้วางแนวปฏิบัติเกี่ยวกับคนต่างด้าว ๓ ประเภทซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องจาก รมว.มหาดไทยตาม กม.ว่าด้วยคนเข้าเมือง  ให้ถือปฎิบัติตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗

(คู่มือปฏิบัติงานทะเบียนราษฎร ๒๕๔๙ , ส่วนการทะเบียนราษฎร กระทรวงมหาดไทย)

[4]         ข้อ ๔๔  ทะเบียนบ้าน  (ท.ร.๑๔)   ใช้ลงรายการของคนที่มีสัญชาติไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเท่านั้น

ข้อ ๑๐๐  คนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและเคยมีชื่อในทะเบียนบ้านขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔)  ให้ยื่นคำร้องตามแบบพิมพ์ที่กำหนดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน  เมื่อนายทะเบียนได้รับคำร้องแล้วให้ดำเนินการดังนี้

                         (๑) สอบสวนผู้ร้องและเจ้าบ้าน

                         (๒) ตรวจสอบใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้ร้องว่าได้ต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและรายการย้ายที่อยู่ถูกต้องหรือไม่  หากขาดการต่ออายุหรือรายการที่อยู่ไม่ถูกต้องให้แนะนำผู้ร้องดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน

                         (๓) คัดใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้ปรากฏรายการในหน้าที่ ๑ ถึงหน้าที่ ๖ หน้า รายการย้ายที่อยู่ หน้ารายการต่ออายุครั้งสุดท้าย  หน้ารายการบุตรอายุต่ำกว่า ๑๒ ปีที่อยู่ในครอบครัวโดยให้นายทะเบียนคนต่างด้าวแห่งท้องที่รับรองความถูกต้อง

                          (๔) ให้ตรวจสอบไปยังสำนักทะเบียนกลางว่าผู้ร้องมีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้านแห่งอื่นหรือไม่

                          (๕) รวบรวมหลักฐานทั้งหมดพร้อมความเห็นเสนอไปยังนายอำเภอแห่งท้องที่

                          (๖) เมื่อนายอำเภอพิจารณาอนุมัติแล้ว  ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นดำเนินการเพิ่มชื่อและรายการในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน พร้อมทั้งหมายเหตุในช่องย้ายเข้ามาจากว่า   “คำร้องที่…  ลงวันที่… หรือหนังสือที่…  ลงวันที่…” แล้วแต่กรณีแล้วให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อและวันเดือนปีกำกับไว้

                          (๗) กำหนดเลขประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามแบบพิมพ์ที่กำหนดในข้อ ๑๓๔ (๒๔)

                          (๘) รายงานตามระเบียบที่กำหนดในข้อ ๑๓๒ (๗)

            ข้อ ๑๐๑ คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔)  ให้ยื่นคำร้องตามแบบพิมพ์ที่กำหนดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน  เมื่อนายทะเบียนได้รับคำร้องแล้วให้ดำเนินการดังนี้

                         (๑) ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่

                         (๒) ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านตามใบสำคัญถิ่นที่อยู่และหมายเหตุในช่องย้ายเข้ามาจากว่า “ใบสำคัญถิ่นที่อยู่เลขที่…  โควต้าเข้าเมืองเลขที่…”  แล้วให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อและวันเดือนปีกำกับไว้

                         (๓) กำหนดเลขประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามแบบพิมพ์ที่กำหนดในข้อ ๑๓๔ (๒๔)

                         (๔) รายงานตามระเบียบที่กำหนดในข้อ ๑๓๒ (๗)

[5]         ข้อ ๔๕  ทะเบียนบ้าน  (ท.ร.๑๓)  ใช้ลงรายการของคนที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ในลักษณะชั่วคราวหรือเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ข้อ ๑๐๕ คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย  โดยได้รับการผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษหรือไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  รวมทั้งผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย  มีความประสงค์ขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๓) ให้ยื่นคำร้องตามแบบพิมพ์ที่กำหนดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในปัจจุบัน  เมื่อนายทะเบียนได้รับคำร้องแล้วให้ดำเนินการดังนี้

                           (๑) สอบสวนผู้ร้องพร้อมทั้งตรวจสอบหลักฐานที่นำมาแสดงโดยเฉพาะหลักฐานการนุญาตจากส่วนราชการหรือหน่วยงานที่ควบคุมรับผิดชอบบุคคลดังกล่าว

                           (๒) สอบสวนเจ้าบ้านให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความยินยอมให้ผู้ร้องอยู่อาศัย

                           (๓) ให้ตรวจสอบไปยังสำนักทะเบียนกลางว่าผู้ร้องมีชื่อและรายการบุคคลอยู่ในทะเบียนบ้านแห่งอื่นหรือไม่

                           (๔) รวบรวมหลักฐานทั้งหมดพร้อมความเห็นเสนอไปยังนายอำเภอแห่งท้องที่

                           (๕) เมื่อนายอำเภอพิจารณาอนุมัติแล้ว  ให้นายทะเบียนดำเนินการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านพร้อมทั้งหมายเหตุในช่องย้ายเข้ามาจากว่า  “คำร้องที่… ลงวันที่… หรือ หนังสือที่…  ลงวันที่…”  แล้วแต่กรณีแล้วให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อและวันเดือนปีกำกับไว้

                           (๖) กำหนดเลขประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ตามแบบพิมพ์ที่กำหนดในข้อ ๑๓๔ (๒๓)

                           (๗) รายงานตามระเบียบที่กำหนดในข้อ ๑๓๒ (๖)

            ข้อ ๑๐๕ ทวิ  การขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามข้อ ๙๓ ถึงข้อ ๑๐๕  ของบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ ๗ ปีขึ้นไป  ให้นายทะเบียนเรียกรูปถ่ายของบุคคลที่ขอเพิ่มชื่อจากผู้แจ้ง จำนวน ๑ รูป  และบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับ ตัวบุคคลที่ขอเพิ่มชื่อ  ผู้แจ้ง  และพยานบุคคลที่ให้การรับรอง ตามแบบ ท.ร. ๒๕  รวมทั้งให้บุคคลดังกล่าวลง ลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้านายทะเบียน แล้วเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติการเพิ่มชื่อแล้วแต่กรณีพร้อมหลักฐานอื่นเพื่อพิจารณา

               เมื่อนายทะเบียนได้ดำเนินการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้านแล้ว ให้ส่งแบบ ท.ร. ๒๕ รายงานไปยังสำนักทะเบียนกลางภายใน ๕ วัน เพื่อจัดเก็บไว้ในระบบไมโครฟิล์มหรือระบบคอมพิวเตอร์  และเมื่อสำนักทะเบียนได้รับแบบ ท.ร. ๒๕ ดังกล่าวกลับคืนแล้ว ให้ดำเนินการจัดเก็บไว้ในที่ปลอดภัย  อย่างเป็นระบบไม่ให้เกิดการชำรุดสูญหาย

                    (เพิ่มความข้อ ๑๐๕ ทวิ  โดยระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ฯ (ฉ.๓) พ.ศ.๒๕๔๔ ข้อ ๖)

 

หมายเลขบันทึก: 224454เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2008 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท