เด็กหัวใส...ฉลาดใช้ไอซีที ตอนที่ 5


กรณีศึกษาที่ ๔ ดญ.ภาพิมล หล่อตระกูล (บันทึกไดอารี่ออนไลน์)
๑. จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้การใช้งานคอมพิวเตอร์ผ่านโลกออนไลน์
เริ่มจากการทดลองเข้าเว็บไซต์ประเภทไดอารี่ออนไลน์ และมีการนำผลงานของตัวเองไปโพสต์ไว้ในนั้น ซึ่งคนที่มาอ่านก็จะมาแสดงความคิดเห็น (Comment) ต่างๆ นานา ทำให้เรารู้ว่าผลงานของเราต้องปรับปรุงตรงไหนอย่างไรบ้าง ข้อดีของการบันทึกไดอารี่ออนไลน์หรือการนำผลงานไม่ว่าจะเป็นผลงานในรูปแบบใดก็ตามไปโพสต์ลงในเว็บไซต์ ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มเติม เช่น หากภาพผลงานที่เราทดลองแต่งในโปรแกรมโฟโต้ช็อป (Photoshop) แล้วเรายังทำได้ไม่ดีพอ ก็จะมีบางความคิดเห็นที่เข้ามาแนะนำวิธีการทำใหม่ๆ ให้ มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน หรือบางคนทำไม่เป็นก็มาแสดงความคิดเห็นว่าชอบไม่ชอบผลงานของผู้บันทึกอย่างไร ทำให้ผู้บันทึกได้เรียนรู้ที่จะรับฟังความคิดเห็นหลากหลายรูปแบบและได้เรียนรู้วิธีการใหม่ๆ จากเพื่อนในโลกชุมชนออนไลน์ ในขณะที่ข้อเสียของการโพสต์ผลงานตัวเองไว้ในเว็บไซต์ เมื่อมีผู้มาชมที่ไม่ชอบผลงานเราก็อาจจะแสดงความคิดเห็นที่เป็นด้านลบ จนถึงขั้นทำให้เจ้าของกระทู้หรือเจ้าของไดอารี่เสียกำลังใจในการทำงานได้เช่นกัน


๒. ความแตกต่างของการเรียนรู้ในโลกแห่งความจริงและโลกอินเทอร์เน็ต
ในขณะนี้น้องภาพิมลกำลังสนใจการทำแอนิเมชั่นและการ์ตูน 3D ซึ่งใช้วิธีการหาความรู้จากการค้นหา (Search) ในอินเทอร์เน็ตเพื่อเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งแตกต่างจากโลกของการเรียนรู้ในห้องเรียนเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเรียนรู้ในโลกแห่งความจริงหรือการเรียนรู้ในห้องเรียน มักเป็นการสอนใช้งานคอมพิวเตอร์ในโปรแกรมเวิร์ด (Microsoft Office Word) โดยเฉพาะโปรแกรมเอ็กเซล (Microsoft Office Excel) ซึ่งนักเรียนไม่ค่อยได้ใช้งาน จึงไม่ค่อยให้ความใส่ใจ ในขณะที่โปรแกรมการแต่งภาพหรือโปรแกรมการสร้างภาพแอนิเมชั่นไม่มีการสอนในโรงเรียน แต่เป็นเรื่องที่นักเรียนมักให้ความสนใจ การค้นหาความรู้ในเรื่องที่สนใจจึงต้องกระทำด้วยตนเอง ถึงแม้ว่าในบางครั้งจะทำให้เสียเวลาในการค้นหาข้อมูลในโลกอินเทอร์เน็ตมากกว่าการเรียนในห้องก็ตาม แต่ก็ได้ค้นหาในสิ่งที่ตนเองสนใจจริงๆ และสามารถทดลองทำตามได้ หรือหากไม่เข้าใจก็จะมีผู้รู้อื่นๆ มาช่วยให้คำแนะนำ


กรณีศึกษาที่ ๕ รักษ์สัตว์ รักษ์สังคม กลุ่มสื่อดีจัง (Moralmedias.net) โรงเรียนชลบุรี "สุขบท" จ.ชลบุรี
๑.จุดเริ่มต้นของโครงการรักษ์สัตว์ รักษ์สังคม ของกลุ่มสื่อดีจัง
โครงการนี้เริ่มต้นจากน้องวรุฒ บรัวทองเขียว และกลุ่มเพื่อนๆ ในโรงเรียนชลบุรี "สุขบท" ที่เห็นสุนัขจรจัดทั้งภายในโรงเรียนและบริเวณรอบๆ โรงเรียนมีความเป็นอยู่ที่ไม่ดี น้องวรุฒและกลุ่มเพื่อนๆ จึงรวมกันช่วยเหลือสุนัขและสัตว์อื่นๆ ตามกำลังทรัพย์ที่พอมี จนกระทั่งได้นำกิจกรรมยามว่างนี้ไปพูดคุยปรึกษากับอาจารย์ชะบา อ่อนนาค อาจารย์จึงแนะนำให้ทำกิจกรรมนี้เป็นโครงการ ประกอบกับในขณะนั้นมีการจัดประกวดโครงการเยาวชนค้นธรรมซึ่งอยู่ภายใต้โครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ ปี ๒๕๔๙-๒๕๕๐ ของพระมหาพงศ์นรินทร์ อาจารย์จึงให้ทั้งความรู้และให้คำปรึกษาในการดูแลสัตว์อย่างถูกต้อง และยังแนะนำให้พัฒนากิจกรรมนี้ขึ้นเป็นโครงการที่เน้นเรื่องของการบริหารจัดการกิจกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อทำให้กิจกรรมนี้มีรูปแบบที่ชัดเจน มีเป้าหมายที่แน่นอน จากนั้นจึงส่งกิจกรรมนี้เข้าประกวดเป็นหนึ่งในโครงการเยาวชนค้นธรรมดังกล่าว


จากกิจกรรมหนึ่งที่ทำเพียงเพราะอยากช่วยเหลือสุนัขจรจัด จึงได้กลายมาเป็นโครงงานรักษ์สัตว์ รักษ์สังคม ที่สามารถขยายฐานความช่วยเหลือได้มากขึ้น มีการบริหารโครงการอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีระบบที่ปลอดภัย และอยู่ภายใต้การดูแลทั้งของอาจารย์ที่ปรึกษาและสัตวแพทย์ ซึ่งขั้นตอนของการให้ความช่วยเหลือสุนัขจรจัดคือ การจัดกลุ่มออกตรวจเยี่ยมชุมชมในละแวกใกล้เคียงกับโรงเรียนโดยร่วมกับอาสาสมัครทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และสัตวแพทย์ เพื่อให้คำแนะนำในการเข้าใกล้สุนัขจรจัดอย่างถูกวิธี รวมถึงให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นหรือการติดตามอาการของสุนัขแต่ละตัวในพื้นที่ สิ่งที่ทางโครงการสามารถให้ความช่วยเหลือสุนัขจรจัดเหล่านี้ได้ เช่น การทำหมัน การฉีดวัคซีน การตรวจสุขภาพเบื้องต้น การรักษาบาดแผล ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์โครงการที่ต้องการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นแก่สัตว์ที่ถูกทอดทิ้งในโรงเรียนหรือชุมชนใกล้เคียงกับโรงเรียน รวมทั้งช่วยกันคิดแก้ไขปัญหาการจัดการกับสุนัขจรจัดอย่างเป็นรูปธรรม


ส่วนโครงการสื่อดีจังหรือ Moralmedias.net เป็นโครงการผลิตสื่อที่จัดทำขึ้นเพื่อสื่อสารเรื่องราวความดี ภายใต้โครงการเยาวชนค้นธรรม นำสื่อความดี ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการของพระมหาพงศ์นรินทร์ที่ใช้ชื่อโครงการ "การประกวดโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติปี ๒๕๕๐" โดยโครงการดังกล่าวของพระมหาพงศ์นรินทร์นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกจิตสำนึกให้แก่กลุ่มเยาวชน ให้มีความรู้ความเข้าใจและเสริมสร้างทักษะพื้นฐานทั้งในฐานะผู้ผลิตและผู้บริโภคสื่อ เพื่อให้เป็นผู้ผลิตสื่อที่ดีและเป็นผู้บริโภคที่ฉลาดและรู้เท่าทัน อีกทั้งเพื่อประสานและรวมกันเป็นเครือข่ายเยาวชนผลิตสื่อทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยมีกิจกรรมโครงการรักษ์สัตว์ รักษ์สังคม เป็นส่วนหนึ่งในโครงงานดังกล่าว


ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญของโครงการรักษ์สัตว์ รักษ์สังคมคือ ความตั้งใจในการทำงานของสมาชิกทุกคน ซึ่งลงมือปฏิบัติด้วยความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ รวมไปถึงมีการวางแผนและแนวทางในการดำเนินงานอย่างชัดเจน มีการบันทึกกิจกรรมและผลของการทำงานทุกครั้ง และใช้เวลาในการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและชุมชน นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่กิจกรรมดีๆ สู่สาธารณะด้วยการจัดทำเป็นภาพยนตร์รณรงค์ไม่ให้นำสุนัขไปปล่อยตามวัดหรือโรงเรียนผ่านทาง www.moralmedias.net และยังมีการจัดทำสกู๊ปข่าวคราวและกิจกรรมต่างๆ ที่ทางกลุ่มจัดขึ้นเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ อาทิ กิจกรรมค่ายรักษ์สัตว์ เป็นต้น


อุปสรรคส่วนใหญ่ที่โครงการประสบคือ การให้ความรู้แก่สมาชิกในโครงการในเรื่องการเข้าหาสุนัขที่เป็นโรคกลัวน้ำหรือเป็นโรคเรื้อน และเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งในการรักษาสุนัขและด้านเวชภัณฑ์ ปัญหาดังกล่าวทางโครงการได้วางแนวทางการจัดการไว้ ๓ วิธีคือ ๑. การเข้าหาสุนัขแปลกหน้าหรือสุนัขที่เป็นโรคจะต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์หรือผู้ใหญ่ที่ร่วมไปกับคณะฯ ๒. การระดมทุนสามารถทำได้โดยการออกร้านขายของหรือเข้าร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียนเพื่อขอรับเงินบริจาค ๓. จัดกิจกรรมออกค่ายภายในโรงเรียนเพื่อแสวงหาสมาชิกแนวร่วมจิตอาสาเพิ่มเติม ส่วนปัญหาในด้านเทคนิคและอุปกรณ์ต่างๆ ทางกลุ่มได้แก้ปัญหาโดยการใช้อุปกรณ์ส่วนตัวเข้ามาใช้แทน เช่น กล้องถ่ายวีดีโอ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ


๒.การสนับสนุนจากผู้ใหญ่
โครงการรักษ์สัตว์ รักษ์สังคมนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใน ๓ ส่วนที่สำคัญคือ ส่วนที่ ๑ การให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสัตว์ขั้นพื้นฐาน ส่วนที่ ๒ การให้ความช่วยเหลือสัตว์ (กรณีเป็นสัตวแพทย์)หรือให้การสนับสนุนด้านเวชภัณฑ์ ส่วนที่ ๓ ร่วมกิจกรรมการออกตรวจเยี่ยมกับเด็กๆ หรือลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมสุนัขจรจัด


กรณีศึกษาที่ ๖ ชมรมภาพยนตร์สั้น (กลุ่ม Zoom) โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน
๑.จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งชมรมภาพยนตร์สั้นของกลุ่ม Zoom
เริ่มต้นจากความสนใจของน้องเมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ และน้องสรสิช ประภาธรรมรักษ์ นักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ซึ่งน้องเมธวินและสรสิชต่างเป็นผู้ที่สนใจการทำภาพยนตร์สั้น และได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างภาพยนตร์สั้นมาได้ระยะหนึ่งประกอบกับการขึ้นสู่ระดับชั้นมัธยมปลาย ทางโรงเรียนได้มีการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้จัดตั้งชมรมขึ้นตามความสนใจของตน ทั้งเมธวินและสรสิชรวมถึงกลุ่มเพื่อนๆ จึงได้ร่วมกันจัดตั้งชมรมภาพยนตร์หนังสั้นขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอนให้รุ่นน้องใช้ภาพยนตร์สั้นเป็นสื่อในการส่งสารสู่สังคม เพื่อสื่อให้สังคมผู้ใหญ่รับรู้ว่าเด็กๆ มีมุมมองต่อเรื่องนั้นๆ กันอย่างไรและพวกเขากำลังคิดอะไรอยู่


แรงบันดาลใจแรกเริ่มของการก่อตั้งชมรมฯนั้น เกิดจากการที่ครั้งหนึ่งในโรงเรียนได้เคยมีการจัดประกวดโดยใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อในการรณรงค์ฯ ทางกลุ่มจึงได้ลองทำภาพยนตร์สั้นส่งประกวดโดยใช้ชื่อเรื่องว่า Drink? ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยมุมมองที่แตกต่างกันในการมองน้ำ ๑ ขวด และจากการได้ทดลองทำภาพยนตร์สั้นส่งประกวดในครั้งนั้น ทำให้ทุกคนในกลุ่มรู้สึกสนใจในศาสตร์ของภาพยนตร์สั้นมากขึ้น จึงอยากตั้งเป็นชมรมโดยใช้ชื่อชมรม Zoom


กิจกรรมที่ทางชมรมจัดขึ้นเป็นประจำคือการประกวดภาพยนตร์สั้นรายเทอม (เทอมละหนึ่งครั้ง) และมีกิจกรรมการใช้สื่อภาพยนตร์เพื่อช่วยเหลืองานในโรงเรียน เช่น การทำภาพยนตร์รณรงค์กิจกรรมภายในโรงเรียน อาทิ การรณรงค์เก็บขยะภายในโรงเรียน การรณรงค์ไม่เขียนผนังห้องน้ำ การรณรงค์ให้รักษาความสะอาด การรณรงค์ให้ปิดไฟ เป็นต้น โดยกิจกรรมเหล่านี้เน้นส่งเสริมให้สังคมภายในโรงเรียนมีสภาพที่ดีขึ้นก่อน จึงจะขยายผลไปสู่วงกว้างต่อไป นอกจากนี้ทางชมรมยังมีกิจกรรมภาพยนตร์ทดลอง คือ ภาพยนตร์ทดลองทางวิทยุ (หรือเรียกว่า "หนังวิทยุ" ) โดยใช้เป็นเสียงอย่างเดียวในการเล่าเรื่อง
ซึ่งแต่ละกิจกรรมที่ทางชมรมจัดได้รับการตอบรับจากเพื่อนๆ ภายในโรงเรียนและนอกโรงเรียนเป็นอย่างดี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชมรมประสบความสำเร็จก็คือ การได้ลงมือปฎิบัติจริง ได้ลองผิดลองถูก และได้รับการเปิดโอกาสให้ได้ทดลองทำ เพื่อเรียนรู้ผ่านการทำงานจริง


ส่วนอุปสรรคของการจัดตั้งชมรมจะมีมากในช่วงแรก กล่าวคือ "ภาพยนตร์สั้น" ยังถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมโรงเรียน ประกอบกับที่ผ่านมายังไม่เคยมีการตั้งชมรมในลักษณะนี้มาก่อน ทางชมรมจึงต้องใช้การอธิบายและแสดงผลงานให้อาจารย์และผู้ใหญ่ในโรงเรียนได้เห็นและเข้าใจงานมากขึ้น ซึ่งทางกลุ่มมีความเห็นว่าอยากจะให้ทางโรงเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือทำในสิ่งที่นักเรียนให้ความสนใจให้มากกว่านี้ โดยไม่ต้องดูที่ความสำเร็จของผลงานก่อนแล้วค่อยให้การสนับสนุนเช่นที่เป็นอยู่

๒.การสนับสนุนของโรงเรียน
ในเบื้องต้นทางโรงเรียนได้เปิดโอกาสด้วยการอนุญาตให้ตั้งชมรมภาพยนตร์สั้นขึ้น เพียงแต่ในระยะแรกทางโรงเรียนยังไม่เข้าใจถึงศักยภาพที่แท้จริงของนักเรียนว่า สามารถใช้ชมรมนี้ในการสรรค์สร้างกิจกรรมดีๆ อะไรขึ้นได้บ้าง ทำให้ทางชมรมต้องสร้างผลงานโดยการสร้างสื่อรณรงค์ให้กับโรงเรียน จากจุดนั้นทำให้โรงเรียนมีความพยายามที่จะให้การสนับสนุนที่มากขึ้น เพียงแต่ ณ ตอนนี้ทางโรงเรียนยังไม่มีการสนับสนุนในเรื่องของอุปกรณ์หรือสถานที่มากเท่าที่ควร ทั้งที่ได้มีการทำเรื่องขอใช้สถานที่หรือขออุปกรณ์สำหรับใช้ในชมรมบ้างแล้วก็ตาม


๓.ตัวอย่างผลงาน
ตัวอย่างผลงานสามารถรับชมได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=l10nw7PJYWo&feature =related หรือ http://www.youtube.com/watch?v=LXGExcET0lk

หมายเลขบันทึก: 224995เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2008 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • เอามาอ่านอีกนะครับ
  • เสียดายวันงาน
  • ไม่สามารถไปได้ทุกห้องครับ
  • ขอบคุณอาจารย์มากครับ

เข้าจและว่างานหนักนะครับในรูปเลยเหมือนจะเป็นลมล้มพับ? เอายาดมมาให้นะครับ :)

อืม...มาอ่านเฉยๆ ไม่มีคอมเม้นค่ะ

ขอบคุณค่ะอ.ขจิต

ถ้าได้เจออาจารย์อีกทีมีเฮกันแน่ๆ (เข้าชมรมคนแซ่เฮ หรือคนหน้าตาดี ดีกว่านะ อิอิ)

สวัสดีค่ะคุณกวิน

สบายดีนะคะ ...ขอบคุณที่เอายาดมมาฝากค่ะ

ตอนนี้ลุกได้แล้ว อิอิ ^_^

พี่แจ๋วคะ

ไว้แวะมาอีกนะคะ มีเรื่องเล่าให้ฟังแยะเลย ;P

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท