คูณสอง หารสอง สยองพอกัน


คนไทยเราจะมีตระหนักถึงภัยที่มาจากการกระทำของเราเองนี้มากน้อยแค่ไหน

ในงานคอมมาร์ตที่ผ่านมา ผมได้ซื้อ external harddisk ขนาด 1 Terabyte มาตัวหนึ่งราคาไม่ถึง 5,000 บาท เพื่อเอามาเก็บไฟล์มัลติมีเดียต่างๆ ที่เพิ่มจำนวนและบริโภคพื้นที่ฮาร์ดดิสก์ในเครื่องมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกทีๆ ตอนที่ซื้อโน้ตบุ๊คเครื่องนี้ใหม่ๆ ก็คิดในใจว่า 100 กว่า GB เหลือเฟือ แต่เอาเข้าจริงๆ การทำงานเกี่ยวกับกราฟิคใช้ทรัพยากรค่อนข้างเยอะแฮะ ซึ่งเมื่อนึกไปถึงงานคอมมาร์ตปีที่แล้วเห็น external harddisk 500 Gigabyte ราคา 5,000 ก็ว่าถูกมากแล้ว คิดไปคิดมาเลยทำให้ผมนึกถึงทฤษฎีบทหนึ่งของ Gordon Moore ที่พูดเกี่ยวกับ "การพัฒนาความสามารถในการประมวลผล"

หากมีใครเคยทราบ เมื่อปี 1965 เขาได้ทำนายไว้ว่า "ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ทำให้เราสามารถผลิต ไอซี (Integrated Circuit) ที่มีความหนาแน่นได้เป็นสองเท่าทุก ๆ 2 ปี" และ Intel ก็สามารถทำได้มาตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา

Gondon Moore

ภาพจาก: http://www.intel.com/technology/mooreslaw/index.htm

ซึ่งคนส่วนใหญ่เมื่อทราบดังนั้น ก็มักจะมีคนต่อเติมไปอีกว่า "CPU ถ้าไม่เร็วเป็นสองเท่า ก็จะราคาถูกลงเป็นสองเท่า ทุกๆ สองปี" ทำไปทำมากลายเป็นรู้สึกกันว่า "หรือจะทุกๆ ปี"

ส่วนอีกนัยหนึ่งใน wikipedia ก็ได้มีคนเขียนไว้ว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ มีความสัมพันธ์กับ Moore's law ไม่ว่าจะ ความเร็วในการประมวลผล, หน่วยความจำ, หรือแม้แต่ความละเอียดพิกเซลของกล้องดิจิตอล การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยผู้ผลิตมักกล่าวอ้างว่าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเราทุกคน

และเมื่อเราลองหากสังเกตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เหล่านี้ดู จะพบว่า มันมักจะตั้งราคาสูง ถึงสูงมากๆ เมื่อตอนออกใหม่ๆ และปรับราคาลงเรื่อยๆ ในขณะที่เพิ่มประสิทธิภาพขึ้นพร้อมๆ กัน จนสุดท้ายเมื่อราคาปรับลงอีกไม่ได้ สินค้ามักจะถูกทดแทนด้วยสินค้าอื่น ที่มีการใช้งานใกล้เคียงกัน แต่มีคุณสมบัติบางอย่างที่ดีกว่าเพื่อให้ผู้ขายสามารถตั้งราคาได้ใหม่ ยกตัวอย่างเช่น จอมอนิเตอร์ เมื่อนานมาแล้วผมเคยซื้อมอนิเตอร์ CRT ขนาด 17" ตัวละ 20,000 กว่าบาท ตอนนั้นรู้สึกภูมิใจมากว่าซื้อได้ถูก แล้วมันก็ถูกลงทุกวันๆ จนมันไม่มีขาย และในวันนี้ถ้าจะซื้อมอนิเตอร์คงต้องไปมองที่ 17" LCD หน้าจอแบนบางสวยงามแทน ซึ่งราคาก็อยู่ที่ไม่ถึงหมื่นด้วยซ้ำไป (จะบอกว่าบางยี่ห้อไม่ถึง 5,000 ก็มี) มันเป็นวงรอบการเกิดและดับของเทคโนโลยีที่สามารถอธิบายได้ด้วยภาพ S-Curve หลายๆ ตัวมาซ้อนเรียงกัน เทคโนโลยีจะเริ่มจากการมี Learning curve แล้วค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ เป็น exponential จนถึงระดับหนึ่งความชันก็จะลดลง ช้าลง และช้าลง จนกลายเป็นเส้นนอน แล้วถูกแทนที่ด้วย S-Curve เส้นต่อไปแทน

s-curve

ภาพจาก: http://www.triz-journal.com/archives/1998/12/a/index.htm

ซึ่งบางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในจังหวะที่พอเหมาะ ก็จะกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า "Dominant design" ให้คนอื่นทำตามๆ กันต่อไป ทำให้เกิด mindset ในจิตใจผู้บริโภค ว่าสินค้าชนิดนี้ต้องเป็นอย่างงั้นเป็นอย่างนี้ เช่น QWERTY keyboard มีใครเคยคิดไหมครับว่าทำไมคีย์บอร์ดต้องวางแป้นไว้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน.... ใช่แล้วครับ ก็เพราะมันเป็นมาอย่างนั้นนะสิ ก็เลยต้องเป็นอย่างนี้ต่อไป จวบจนกว่าจะมีนวัตกรรมอื่นมาทดแทน

เช่นเดียวกันในขณะที่วิวัฒนาการทางด้านฮาร์ดแวร์ก้าวไปข้างหน้า ความสามารถของซอฟต์แวร์ก็ไม่หยุดหย่อนแพ้กัน โปรแกรมต่างๆ ต้องการทรัพยากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากใครยังจำวินโดวส์ 3.11 ได้ วันนั้นเราพูดกันที่เมมโมรี่แค่ 32 หรือ 64 MB แต่มาวันนี้วินโดวส์วิสต้าแม้มีเมมโมรี่ขนาด 1 GB ยังอาจจะไม่เพียงพอ นี่แค่โปรแกรมระบบปฏิบัติการที่ยังไม่ได้รันแอพพลิเคชั่นใดๆ เลย มันเป็นความต้องการที่ไม่สิ้นสุดเสียนี่กะไร ยังที่มีใครเคยพูดไว้ก็ไม่รู้ว่า "มนุษย์เป็นสัตว์ที่หยั่งได้ยาก มีความต้องการบริโภคไม่สิ้นสุด ตราบเท่าที่กิเลสจะพาไป" แต่ไม่ว่าโลกใบนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มนุษย์ก็มักจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตัวเองเสมอ

มาปีนี้หลายคนพูดถึง Green IT ว่าเราจะทำอย่างไรให้ใช้พลังงานลดลง ทำอย่างไรให้ซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นมิตรกับธรรมชาติ มีบริษัทไอทีหลายแห่งออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ว่า เขาจะทำทุกอย่างเพื่อโลกใบนี้ เพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลาน โดย... การทำลายธรรมชาติและผลิตของเสียต่อไปหรือ? เพราะเรากำลังอยู่ในยุคสังคมบริโภคนิยมที่มีทุนเป็นตัวตั้ง และผลประกอบการเป็นตัวเลขแสดงความพึงพอใจที่บรรทัดสุดท้ายหรือ? สาเหตุอาจมาจากบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องแสวงหาผลกำไร และหาวิธีการทำให้ขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้ ดังนั้นเมื่อทำอะไรไม่ดีเอาไว้ ก็มีความจำเป็นจะต้องพยายามสร้างภาพที่ดีกลบเกลื่อน แต่ก็ว่ากันไม่ได้แหละ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยใช่ไหมครับ?

ภาพจาก: http://www.greenpeace.org/seasia/th/photosvideos/photos?page=1&related_item_id=147594

ในประเทศไทยก็มีหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,  กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพาณิชย์, และ กระทรวงวิทยาศาสตร์ ต่างก็ออกมาแสดงความรับผิดชอบ และได้ร่างยุทธศาสตร์การจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในส่วนของการจัดเก็บ รวบรวม และ กำจัดทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า คนไทยเราจะมีตระหนักถึงภัยที่มาจากการกระทำของเราเองนี้มากน้อยแค่ไหน ผมอยากให้ทุกคนคนใช้เทคโนโลยีให้เป็น และอยากให้มองถึงอนาคตในภายภาคหน้าด้วย ไม่ใช่เอาแต่ซื้อและใช้อย่างไม่รู้คุณค่า แห่กันไปตามเทรนด์ ใครมีอะไรใหม่อะไรดี ก็ต้องมีกับเค้าด้วย สุดท้ายใครหละครับที่ต้องรับกรรม หากไม่ใช่ตัวเราเอง แล้วคุณหละคิดอย่างไร How do u think?

 

หมายเลขบันทึก: 225108เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2008 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

1TB ในราคา 5,000 บาท อืมม.... อยากได้ครับ ตอนนี้ใช้ external HD แบบกระจัดกระจายหลายตัวครับ

งั้นถ้าซื้อใหม่ แล้ว HD ที่เหลือๆ ขอแล้วกันนะครับอาจารย์ :)

แม้จะเป็นอย่างไร เราก็คงสุขบ้างทุกข์บ้าง และโดยมากอยู่ไม่เกินร้อยปีก็ตายเหมือนกัน...

เจริญพร

ครับ คนเราอยู่กันได้ไม่นาน แต่ยังทำชีวิตให้วุ่นวาย ทำคนอื่นให้เดือดร้อน แทนที่จะเอาเวลาที่มีอยู่ไปเก็บเกี่ยวสร้างความดี ทำชีวิตให้มีสุข ทำประเทศชาติให้รุ่งเรือง กลับเอาเวลามาทำความชั่ว โดยกล่าวอ้างว่าเพื่อสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้อง (สิ่งที่ตนเองยึดมั่นถือมั่น) ตอนนี้สังคมไทยน่าเบื่อมากกกกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท