เราใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการจำแนกคนต่างด้าวในประเทศไทย ??


บันทึกนี้เขียนขึ้นระหว่างทางที่ฉันเดินทางไปต่างจังหวัด เมื่อวันก่อน(ไม่อยากบอกเลยว่าตอนเดินทางไปนั้นฉันกำลังป่วย แต่สองวันต่อมาอาการก็ดีขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ สงสัยเพระได้ไปสูดอากาศดีๆนอก กรุงเทพแน่เลย) -- การเดินทางครั้งนี้ทำให้ฉันอดคิดไม่ได้ว่า...บางครั้งการเปลี่ยนสถานที่จากที่เราอยู่จำเจทุกวัน ก็ทำให้เราผ่อนคลายและสามารถมองเห็นตัวเอง เมื่อเรากลับมาอยู่นิ่งๆกับตัวเอง ท่ามกลางธรรมชาติ และบรรยากาศที่เต็มไปด้วยออกซิเจน มันทำให้ฉันคิดอะไรออกตั้งหลายอย่าง ณ สถานที่อันแสนสงบแห่งนี้ ทำให้สมองของฉันเริ่มทำงานประสานกับมือบนแป้นพิมพ์ ไม่นานนักงานเขียนชิ้นนี้ก็ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง --แต่ยังไม่สมบูรณ์เท่าไรนัก

แนวคิดในการจำแนกคนต่างด้าวในประเทศไทย

คนต่างด้าวในประเทศไทย หมายถึง บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย[1]

เราสามารถจำแนกคนต่างด้าวในประเทศไทยหลายแนวคิดด้วยกันทั้งโดยใช้กฎหมายสัญชาติ กฎหมายทะเบียนราษฎร หรือกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เป็นเกณฑ์ ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็นสามแนวคิด ดังนี้

 

แนวคิดแรก   คนต่างด้าวโดยผลของกฎหมายสัญชาติ

คนต่างด้าวตามแนวคิดนี้หมายถึง ผู้ซึ่งไม่ได้มีสัญชาติไทย[2] เราสามารถจำแนกคนต่างด้าวในประเทศไทยโดยอาศัยกฎหมายสัญชาติได้เป็นสองประเภท คือ คนต่างด้าวโดยแท้ และคนต่างด้าวโดยเทียม

๑.  คนต่างด้าวโดยแท้  คือ บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย โดยอาจจะเป็นคนต่างด้าวที่มีสัญชาติของรัฐอื่นเพียงสัญชาติเดียว หรือมีสัญชาติของรัฐอื่นมากกว่าหนึ่งรัฐก็ได้ หรืออาจเป็นคนต่างด้าวที่ไม่มีสัญชาติของรัฐใดเลยเพราะไม่ได้รับการยอมรับให้มีสัญชาติของรัฐใดเลยจึงถูกถือเป็นคนต่างด้าวสำหรับรัฐทุกรัฐ

๒. คนต่างด้าวโดยเทียม  คือ บุคคลซึ่งมีข้อเท็จจริงที่ฟังได้ว่ามีสัญชาติไทยตามกฎหมายสัญชาติไม่ว่าจะเป็นสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิต หรือตามหลักดินแดน หรือฟังได้ว่ามีสัญชาติไทยภายหลังการเกิดโดยผลของกฎหมายสัญชาติแต่ยังไม่ได้รับการลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎร

 

แนวคิดที่สอง   คนต่างด้าวโดยผลของกฎหมายการทะเบียนราษฎร

หากใช้การบันทึกความเป็นต่างด้าวในกฎหมายทะเบียนราษฎรเป็นเกณฑ์ เราสามารถจำแนกคนต่างด้าวในประเทศไทยได้เป็นสองประเภท คือ คนต่างด้าวที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร และคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร

  • ๑. คนต่างด้าวที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร คือ คนต่างด้าวทั้งที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการถาวรตามมาตรา 40,41,42,43 และ มาตรา 52 ประกอบกับมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งจะได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรประเภททะเบียนบ้านสำหรับผู้มีสิทธิอาศัยถาวร(ท.ร.๑๔)

หรือ คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 34 และ35 ประกอบกับมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งจะได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรประเภททะเบียนบ้านสำหรับผู้มีสิทธิอาศัยชั่วคราว(ท.ร.๑๓)   

นอกจากนี้ยังหมายรวมถึง คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ต่อมาได้รับการผ่อนผันโดยข้อกฎหมายหรือโดยข้อนโยบายให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็นสองประเภท ดังนี้

ประเภทแรก คนต่างด้าวที่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติในฐานะแรงงานต่างด้าวซึ่งมาจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา คนต่างด้าวกลุ่มนี้จะได้รับการบันทึกอยู่ในทะเบียนราษฎรประเภท ท.ร.๓๘/๑[3]และได้รับการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย  พ.ศ.2547 ซึ่งได้ถูกยกเลิกไปโดยระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย  พ.ศ.2551[4] 

ในขณะที่ อีกประเภท คือ คนต่างด้าวที่สภาความมั่นคงแห่งชาติมีนโยบายให้ดำเนินการสำรวจ ๖ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ ๑ บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ที่มีความเกี่ยวพันกับผู้ที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติชนกลุ่มน้อยไว้เดิมแต่ตกสำรวจ (ชนกลุ่มน้อย ๑๘ กลุ่ม[5]) กลุ่มที่ ๒ เด็กนักเรียนที่เรียนอยู่ในสถานศึกษา และกลุ่มที่ ๔ บุคคลที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศไทยโดยสามกลุ่มนี้ได้ดำเนินการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทยไปแล้ว ส่วนกลุ่มบุคคลที่ยังไม่ได้รับการสำรวจคือ กลุ่มที่ ๓ บุคคลไร้รากเหง้า  กลุ่มที่ ๕ แรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้จดทะเบียน และกลุ่มที่ ๖ ต่างด้าวอื่น ๆ  จะได้รับการสำรวจภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘  โดยคนต่างด้าวกลุ่มนี้จะได้รับการบันทึกอยู่ในทะเบียนราษฎรสำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยประเภท ท.ร.๓๘ก และได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติโดยระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งถูกยกเลิกไปโดยระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๕๑ และได้รับการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย  พ.ศ.2547 ซึ่งถูกยกเลิกไปโดยระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย  พ.ศ.2551[6]

โดยคนต่างด้าวกลุ่มนี้อาจจำแนกได้เป็น คนต่างด้าวโดยแท้ตามกฎหมายสัญชาติที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร และคนต่างด้าวโดยเทียมตามกฎหมายสัญชาติที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร  กล่าวคือ

 

(๑.)   คนต่างด้าวโดยแท้ตามกฎหมายสัญชาติที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร  คือ คนต่างด้าวโดยแท้ตามกฎหมายสัญชาติ ซึ่งได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร สามารถจำแนกได้เป็นสองกลุ่ม ดังนี้

(๑.๑)  คนต่างด้าวโดยแท้ที่ได้รับการบันทึกสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎร ท.ร.๑๔, ท.ร. ๑๓, ท.ร.๓๘/๑ หรือ ท.ร.๓๘ก  ว่ามีสถานะบุคคลตามกฎหมายเป็นคนต่างด้าว หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าเป็น "คนต่างด้าวตามกฎหมายสัญชาติ ที่ได้รับการบันทึกเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎร"

 

(๑.๒)  คนต่างด้าวโดยแท้ที่ได้รับการบันทึกสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎร ประเภททะเบียนบ้าน ท.ร. ๑๔ ว่ามีสถานะบุคคลตามกฎหมายเป็นคนสัญชาติไทย หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าเป็น "คนต่างด้าวตามกฎหมายสัญชาติ ที่ได้รับการบันทึกเป็นคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎร"

 

(๒.)   คนต่างด้าวโดยเทียมตามกฎหมายสัญชาติที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร  คือ  คนต่างด้าวโดยเทียมตามกฎหมายสัญชาติ ซึ่งได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร ท.ร.๑๔, ท.ร. ๑๓, ท.ร.๓๘/๑ หรือ ท.ร.๓๘ก ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ว่ามีสถานะบุคคลตามกฎหมายเป็นคนต่างด้าว หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าเป็น "คนสัญชาติไทยตามกฎหมายสัญชาติ ที่ได้รับการบันทึกเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎร"

 

  • ๒. คนต่างด้าวที่ไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร คือ คนต่างด้าวทั้งที่เป็นคนต่างด้าวแท้และต่างด้าวเทียมตามกฎหมายสัญชาติ ซึ่งไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ซึ่งอาจเป็นคนต่างด้าวแท้ตามกฎหมายสัญชาติที่ไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร อีกนัยหนึ่งคือ "คนต่างด้าวตามกฎหมายสัญชาติ ที่ไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร" หรืออาจเป็นคนต่างด้าวเทียมตามกฎหมายสัญชาติที่ไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ "คนสัญชาติไทยตามกฎหมายสัญชาติที่ไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร" นั่นเอง

 

แนวคิดที่สาม   คนต่างด้าวโดยผลของกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

หากเราจำแนกคนต่างด้าวโดยพิจารณาจากกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเป็นเกณฑ์ เราสามารถจำแนกคนต่างด้าวในประเทศไทยได้เป็นสองประเภท คือ คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมา และคนต่างด้าวที่ไม่ได้เข้าเมือง

  • ๑. คนต่างด้าวเข้าเมือง คือ คนต่างด้าวตามกฎหมายสัญชาติที่เกิดนอกประเทศไทย แล้วเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยสามารถจำแนกได้เป็นสองประเภท คือ คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยชอบด้วยกฎหมาย และคนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ
  • (๑.) คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ คนต่างด้าวซึ่งได้รับการตรวจประทับลงตราจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ให้สามารถเข้ามาพำนักในราชอาณาจักรได้เป็นการถาวรหรือชั่วคราวแล้วแต่กรณี ทั้งนี้เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองกำหนด

 

  • (๒.) คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ คนต่างด้าวซึ่งไม่ผ่านการตรวจประทับลงตราจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตามขั้นตอนและกระบวนการที่กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองกำหนด คนต่างด้าวกลุ่มนนี้มีสถานะบุคคลตามกฎหมายเป็น "คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย" โดยหลักแล้วคนต่างด้าวเหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร เว้นแต่กรณีที่มีนโยบายผ่อนผันให้สิทธิอาศัยเป็นการชั่วคราวแก่คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นรายกรณีไป อาทิ

 

  • ๒. คนต่างด้าวที่ไม่ได้เข้าเมือง คือ คนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งกฎหมายให้ถือว่าเป็นคนต่างด้าวเข้าเมือง โดยกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเช่นเดียวกับบุพการี

 


[1]

[2] พรบ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘, พรบ.สัญชาติ (ฉบับที่๒) พ.ศ.๒๕๓๕, พรบ.สัญชาติ(ฉบับที่๓) พ.ศ.๒๕๓๕ และ พรบ.สัญชาติ(ฉบับที่๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้นิยามคนต่างด้าวไว้ ดังนี้

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

"คนต่างด้าว" หมายความว่า ผู้ซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย

[3]

[4]

[5]

[6]

หมายเลขบันทึก: 225375เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2008 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท