ขอบข่าย


เทคโนโลยี นวัตกรรม

 

ในยุคสารสนเทศซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ ซึ่งประกอบกันเป็น “สารสนเทศ” นั้นสามารถลื่นไหลได้สะดวก รวดเร็ว จนสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ในระดับบุคคลขึ้นไปถึงระดับองค์กร อุตสาหกรรม ภาคสังคม ตลอดจนในระดับประเทศและระหว่างประเทศ จนกระทั่งภาวะ “ไร้พรมแดน” อันเนื่องมาจากอิทธิพลของเทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าวได้เกิดขึ้นในกิจกรรมและ วงการต่าง ๆ และนับเป็นความกลมกลืนสอดคล้องกันอย่างยิ่ง ที่การพัฒนาบุคลากรในสังคมอันประกอบด้วยภาค การศึกษา และการฝึกอบรมเป็นเรื่องของการเรียนรู้สารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่เป็นข้อมูล (Data) ข่าวสาร (Information) หรือความรู้(Knowledge) ก็ตาม

ดังนั้นเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นเครื่องมือที่สามารถนำประโยชน์มาสู่วงการศึกษา ได้อย่างเหมาะสม หากรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์และคุ้มค่าต่อการลงทุน ดังที่ประธานาธิบดีคลินตันได้กล่าวในสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2541 นี้ว่า “The Information Age is, first and foremost, an education age, in which education must start at birth and continue throughout a lifetime……education has to be our highest priority” โดยหนึ่งในพันธกิจที่ได้ตั้งไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วคือ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา โดยกล่าวว่ารัฐบาลและประชาชนอเมริกันได้ “….work to connect every classroom in the country to the Information Superhighway.”

ส่วนประกอบของเทคโนโลยีสารสนเทศ

โดยทั่วไปแล้วหลักของเทคโนโลยีสารสนเทศประกอบด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีโทรคมนาคมซึ่งนับวันจะรวมเป็นเนื้อเดียวกัน (converge) จนแยกไม่ออกดังที่ได้กล่าวมาแล้ว นอกจากนั้นยังเป็นเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยให้เกิดการใช้ประโยชน์ด้านการนำเสนอ หรือกระจายเสียง (broadcasting) การผสมผสานของเทคโนโลยีเหล่านี้จะเห็นได้ชัดในการประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ เช่น ตู้เบิกเงิน ATM, อินเทอร์เน็ต และเคเบิลทีวี

หากพิจารณาในเชิงกายภาพแล้วเทคโนโลยีสารสนเทศประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วน คือ

  1. ฮาร์ดแวร์ (Hardware)

  2. ซอฟต์แวร์ (Software)

  3. ฐานข้อมูล (Database) และ

  4. บุคลากร (Peopleware) ซึ่งมักจะถูกละเลยหรือมองข้ามในสังคมไทย

ในส่วนประกอบทั้งสี่ดังกล่าว ยังสามารถจำแนกรายละเอียดออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

  • ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ข้างเคียง (Peripherals)

  • ฮาร์ดแวร์โทรคมนาคมซึ่งสามารถจัดหมวดหมู่เป็นประเภทมีสาย (Wireline) และไร้สาย(Wireless) รวมทั้งฮาร์ดแวร์ประเภทเครือข่ายซึ่งสามารถจัดประเภทเป็นเครือข่าย ท้องถิ่น (Local Area Network : LAN) และเครือข่ายระหว่างพื้นที่ (Wide Area Network : WAN)

  • ฐานข้อมูลในรูปแบบต่างๆ เช่น Management Information System (MIS), Executive Information System (EIS) รวมทั้งการสร้างฐานข้อมูลจากโปรแกรมสำเร็จรูป (Canned Program) เช่น Dbase, EXCEL เป็นต้น

  • อุปกรณ์สำนักงานอัตโนมัติ (Office Automation : OA) ซึ่งเป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการเรียนการสอน รวมถึงเครื่องโทรศัพท์, โทรสาร, scanner, bar-code, VDO และ Tele-Conferencing และการสื่อสารในระบบไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เมื่อนำมาใช้ประโยชน์เฉพาะประเภทหรือร่วมกันแล้วก็กลายเป็นการ ประยุกต์ใช้ (Applications) ในรูปแบบและสาขาต่างๆ เช่น

  •  
    • ระบบภูมิสารสนเทศ (Geographical Information System : GIS) เพื่อการวางแผนที่เกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติ

    • เทคโนโลยีสารสนเทศในภาคอุตสาหกรรม เช่น Computer-Aided-Design (CAD), Computer-Aided-Manufacturing (CAM) ซึ่งช่วยในการออกแบบทางอุตสาหกรรม เช่น ออกแบบรถ ออกแบบสถาปัตยกรรม ออกแบบลายเสื้อในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น รวมทั้งระบบอัตโนมัติในภาคการผลิตโดยใช้คอมพิวเตอร์ควบคุม (Automation)

    • เทคโนโลยีสารสนเทศในภาคธุรกิจ นับตั้งแต่การใช้ OA ในสำนักงานไปจนถึงการใช้ระบบ Point-of-Sales (POS) เพื่อช่วยในระบบจำหน่าย สินค้าคงคลัง และระบบบัญชีเป็นต้น

    • เทคโนโลยีสารสนเทศในกิจการสาธารณสุข เช่น ระบบ Medical Information System เพื่อการสืบค้นข้อมูลเวชระเบียน หรือระบบโทรเวช (Tele-medicine) ซึ่งช่วยในขบวนการวินิจฉัยไปจนถึงการบำบัดผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล

    • เทคโนโลยีสารสนเทศในการให้บริการและบริหารรัฐกิจ เช่น ระบบบัตรประจำตัวประชาชน ระบบการวางผังเมือง และการใช้ที่ดิน การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบบการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมโดยใช้คอมพิวเตอร์ รวมทั้งการบันทึกลายนิ้วมือหรือการสเก็ตซ์ภาพคนร้ายโดยใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา

ปัจุบันประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยได้มีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ประโยชน์ใน วงการศึกษาเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจาก การแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ของอุปกรณ์และ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทต่างๆ อาทิเช่น ดาวเทียมสื่อสาร ใยแก้วนำแสง คอมพิวเตอร์ ซีดี-รอม มัลติมีเดีย อินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ก่อให้เกิดระบบเช่น Computer-Aided-Instruction (CAI) และ Computer-Aided-Learning (CAL) ทั้งในระดับท้องถิ่นและทางไกล

โดยภาพรวมแล้ว เราสามารถจำแนกคุณลักษณะการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการศึกษา ในมิติที่สำคัญๆ ดังนี้

  • เทคโนโลยีสารสนเทศลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการตอบสนองนโยบายการศึกษาที่เป็น “การศึกษาเพื่อประชาชนทุกคน” (Education for All) อันจะเป็นการสร้างความเท่าเทียมทางสังคม (Social Equity) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเท่าเทียมทางด้านการศึกษา ตัวอย่างที่สำคัญคือ ผลของการติดตั้งจานดาวเทียมที่มีต่อโรงเรียนห่างไกลในชนบท ที่ด้อยโอกาสให้มี “โอกาส” เท่าเทียมกับโรงเรียนในท้องถิ่นที่เจริญกว่าอย่างน้อยในรูปแบบที่เป็น ไปได้ในเชิงกายภาพ รวมทั้งผลของการที่นักเรียนในชนบทมีโอกาสเข้าถึงแหล่งข้อมูลของ โลกหรืออีกนัยหนึ่ง “ห้องสมุดโลก” ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือการที่เทคโนโลยีสารสนเทศเป็น เครื่องมือที่ช่วยให้คนพิการ สามารถมีโอกาสรับการศึกษาในสิ่งแวดล้อมของคนปกติ และยังเปิดโอกาสให้คนพิการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้และ เพื่อการประกอบอาชีพอีกด้วย เป็นต้น

  • เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา ได้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การที่นักเรียนที่เรียนรู้ได้ช้า สามารถใช้เวลาเพิ่มเติมกับบทเรียนด้วยสื่อซีดีรอมเพื่อตามให้ทัน เพื่อนนักเรียน ในขณะที่นักเรียนที่รับข้อมูลได้ปกติ สามารถเพิ่มศักยภาพในการ “เรียนรู้ด้วยตนเอง” (independent learning) ได้มากขึ้นจากความหลากหลายของเนื้อหาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ผลจากเทคโนโลยีสารสนเทศยังก่อให้เกิดนวัตกรรมทาง การศึกษาใหม่ๆ เช่น วิธีการ “Constructionism” ของศาสตราจารย์ Seymour Papert ที่ใช้หลักการที่ว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กๆ มีความใส่ใจ (engagement) กับการสร้างสิ่งที่มีความหมาย อันเป็นที่มาของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ LEGO Logo ซึ่งผสมผสานความน่าสนใจในของเด็กเล่นกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ส่งเสริมให้เด็กสร้าง (build) และควบคุม (control) สิ่งก่อสร้างนั้นซึ่งเป็นผลให้เกิด “ความรู้” ในตัวของเด็กได้ ทั้งนี้โดยการจัดสิ่งแวดล้อมที่ดีที่คำนึงถึงโอกาสของเด็กในการเลือก (choice) ความหลากหลาย (diversity) และความเป็นมิตร (congeniality) นอกจากนี้ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในระดับท้องถิ่นหรือระดับโลก อย่างระบบ World Wide Web ในอินเทอร์เน็ตยังเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา สามารถพัฒนาคุณภาพของการเรียนรู้จากฐานข้อมูลที่หลากหลาย และกว้างขวางอย่างที่ระบบ ฐานข้อมูลหรือห้องสมุดเดิมไม่สามารถรองรับได้

อีกประการหนึ่ง วิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศยังทำให้สื่อทางเสียง(audio) สื่อข้อความ (text) สื่อทางภาพ (graphic and video) สามารถผนวกเข้าหากันและนำเสนอ (presentation) ได้อย่างมีความน่าสนใจและไม่น่าเบื่อไม่ว่าจะดึงข้อมูลจากสื่อที่เก็บข้อมูล เช่น ฮารด์ดิสก์ ซีดีรอม หรือจากเครือข่าย ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีดิจิทอลและการบีบอัดสัญญาณที่ก้าวหน้า จนทำให้กระทำได้อย่างรวดเร็วและ สมบูรณ์ขึ้นตลอดเวลา ในขณะเดียวกันข้อมูลที่มีประโยชน์ ยังสามารถเก็บบันทึกและเรียกใช้ร่วมกันได้จาก “คลังดิจิทอล” (Digital Archive) ในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ประเภท “ความจริงเสมือน” (Virtual Reality) ยังสามารถประยุกต์ใช้เป็นประโยชน์ทางการศึกษาและฝึกอบรมได้เป็นอย่างดี อาทิเช่น การฝึกสอนภาคปฏิบัติทางการแพทย์แก่นักศึกษาแพทย์ หรือการฝึกนักบินในสภาพจำลอง (Flight Simulation) เป็นต้น

  • เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยในการจัดการและบริหารการศึกษาได้อย่างมี ประสิทธิภาพหากใช้ อย่างถูกต้องเป็นระบบและมีความต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการจัดทำระบบ MIS, EIS, Decision Support System (DSS) เข้ามาช่วยจัดระบบฐานข้อมูลการศึกษา หรือการจัดให้มีเครือข่ายบริหาร on-line ที่ทำให้มีระบบการปรับปรุง (update) ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่นอกจากจะช่วยลดงานกระดาษแล้ว ยังทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการวางแผนและจัดการ ทางการศึกษาอีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถใช้เทคโนโลยีประเภทอื่นๆ เช่น อินเทอร์เน็ตเพื่อประโยชน์ในงานด้านประชาสัมพันธ์ของสถาบันการศึกษา การสื่อสารระหว่าง ผู้บริหารและบุคลากรในส่วนต่างๆ ขององค์กรและภายนอกองค์กร

  • นอกจากการใช้เพื่อการศึกษาแล้ว เทคโนโลยีสารสนเทศยังมีบทบาทสำคัญในกิจกรรมฝึกอบรมอีกด้วย ทั้งในและนอกระบบ ในปีค.ศ. 1994 บริษัทที่มีคนงานมากกว่า 100 คน ในสหรัฐอเมริกาลงทุนกว่า 50 ล้านเหรียญในการฝึกอบรม (industrial training) ในจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ วิทยากร และการซื้อจากผู้ให้บริการฝึกอบรม บริษัทส่วนใหญ่ใช้เทปวีดิทัศน์ การบรรยายโดยวิทยากร และการฝึกอบรมในสถานที่ทำงาน (on-the-job training) ตามรูปที่ 2.1

อย่างไรก็ตามการใช้ประโยชน์จากการฝึกอบรมโดยใช้ Audio tapes, คอมพิวเตอร์เป็นหลัก (Computer-based training : CBT), วีดิทัศน์ปฏิสัมพันธ์, Teleconference, Multimedia, CD-ROM มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่าการฝึกอบรมครูและให้มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศนั้น อาจใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งการฝึกอบรมทางไกล(Tele-training) ประกอบกับการฝึกอบรมในรูปแบบปกติได้

  • การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีนั้น ควรคำนึงถึงระดับการสร้างทักษะพื้นฐาน (Literacy) และการสร้างครู ที่เป็นพ่อไก่แม่ไก่ที่เป็นมืออาชีพ ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Professionals) เพื่อให้เกิดความชัดเจนในกระบวนการและเป้าหมายการพัฒนาบุคลากร ทั้งในแง่รูปแบบและ เนื้อหา อาทิเช่น การระบุข้อแตกต่างของกระบวนการพัฒนาครูคอมพิวเตอร์กับคร ูในสาขาอื่นๆ ที่จะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบการเรียนการสอน ในขณะที่ครูในประเภทหลัง มีความต้องการเรียนรู้ในระดับหนึ่งที่เพียงพอ ต่อการประยุกต์ใช้ เทคโนโลยีในการสร้างบทเรียน CAI ในวิชาที่ตนเองรับผิดชอบอยู่นั้น ครูคอมพิวเตอร์จำต้องมีความรู้ในแนวลึกเพื่อสอนครูและนักเรียนโดยใช้ โปรแกรมสำเร็จรูป เป็นหลักในวิทยากรคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางวิชาการในเด็กนักเรียนและเป็นตัวเร่ง (catalyst) ในการฝึกอบรมเพื่อให้เกิดตัวคูณในระดับ Literacy ต่อไป

  • พื้นฐานทางด้านการศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์ในระบบการศึกษาเป็น จุดสำคัญอีกด้านหนึ่ง ซึ่งจะปูพื้นความรู้ที่ยั่งยืน ให้กับเด็กนักเรียนที่จะต้องอยู่ในสังคมสารสนเทศ ดังนั้น การวางแผนแนวทางในการสร้างและพัฒนาหลักสูตรคอมพิวเตอร์ และระบบเทคโนโลยี สารสนเทศอื่นๆ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในระบบการศึกษาขั้นประถม มัธยม รวมทั้งหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศในภาคอุดมศึกษาซึ่งตอบสนอง ต่อความต้องการ ของตลาดแรงงานในอนาคต

  • เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศมีคุณสมบัติเฉพาะตัวหลายประการ ดังนั้นนโยบายการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการศึกษาจึงต้อง คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญต่อการวางแผนที่ดี อาทิเช่น การจัดการกับปัญหาคอมพิวเตอร์ที่เปลี่ยนแปลงทุกปี การจัดลำดับความเร่งด่วนและความสำคัญ (priority) ของการฝึกอบรม และการลงทุนในอุปกรณ์ ความคุ้มทุน การพัฒนาซอฟต์แวร์เฉพาะด้าน เป็นต้น

บทบาทของอินเทอร์เน็ตกับการศึกษา

อาจกล่าวได้ว่า “อินเทอร์เน็ต” เป็นอุบัติการณ์ครั้งสำคัญของสังคมโลกในช่วงรอยต่อระหว่างศตวรรษ ปัจจัยหลักที่ทำให้อินเทอร์เน็ตเป็น “ปรากฏการณ์” (Phenomenon) ของยุคสมัยประกอบด้วย

  •  

    • ความที่อินเทอร์เน็ตใช้เทคโนโลยีเครือข่าย TCP/IP (Transmission Control Protocol/Internet Protocol) ที่ใช้ง่าย ทำให้กลายเป็นบริการที่ประชาชนทั่วไปใช้ได้อย่างสะดวกโดย ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้าน โปรแกรมคอมพิวเตอร์

    • ความที่อินเทอร์เน็ตเป็น “เครือข่ายแห่งเครือข่าย” (Network of Networks) ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันอย่างเสรี โดยไม่มีการปิดกั้น

    • จุดดึงดูดของอินเทอร์เน็ตในการเผยแพร่และสืบค้นข้อมูลผ่านระบบ World Wide Web (WWW) ทำให้ปัจเจกบุคคลสามารถเผยแพร่ข้อมูลของตนเองต่อโลกได้ง่ายพอๆ กับการสืบค้นข้อมูลโดยใช้ระบบทะเบียนที่อยู่ (Uniform Resource Locator URL) และ Search Engines ต่างๆ

    • การสื่อสารผ่านระบบไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Mail หรือ E-mail) เป็นการปฏิวัติระบบการสื่อสารทั่วโลกด้วยความเร็ว และความแม่นยำ

    • การแลกเปลี่ยนสาระความรู้ผ่านระบบ Bulletin Board และ Discussion groups ต่างๆ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างกว้างขวางและทั่วถึงมากขึ้น

    • เทคโนโลยีของการรับส่งข้อมูลผ่านระบบ File Transfer Protocol (FTP) ทำให้การรับส่งข้อมูลตั้งแต่เอกสาร 1 หน้าไปจนถึงหนังสือทั้งเล่มเป็นไปได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และประหยัด

    • พัฒนาการทางเทคโนโลยีของอินเทอร์เน็ตยังก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เช่น การใช้ Internet Phone, การประชุมทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต

  •  

    • อินเทอร์เน็ตเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ในรูปแบบของ “วาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” (Electronic Commerce) พร้อมๆ กับเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญ** ที่จะเปิดโลกทัศน์ใหม่ในวงการศึกษา

  •  

    • รูปแบบของการสืบค้นข้อมูลของภาษา HTML (HyperText Markup Language) นอกจากความสะดวกและง่ายต่อการใช้แล้วยังเป็นสภาพแวดล้อม ที่อาจมีผลทางจิตวิทยา ให้ผู้ใช้ค้นหาข้อมูลลึกลงไปเป็นชั้นๆ ด้วยคุณสมบัติของ Web Browser ในอินเทอร์เน็ต

จากคุณสมบัติและปัจจัยต่างๆ ที่อินเทอร์เน็ตมีให้แก่ผู้ใช้นั้น เป็นโอกาสในการนำมาใช้ประโยชน์ทางการศึกษาในรูปแบบต่างๆ กล่าวโดยรวมแล้วสาระสำคัญของบทบาทอินเทอร์เน็ตต่อภาคการศึกษามี ประเด็นดังต่อไปนี้

  1. เปิดโอกาสให้ครู อาจารย์ และนักเรียน นักศึกษา สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ที่หลากหลายหรืออีกนัยหนึ่งมี “ห้องสมุดโลก” (Library of the World) เพียงปลายนิ้วสัมผัส

ดังตัวอย่างรูปธรรมต่อไปนี้

  •  

    • ครู และนักเรียนสามารถค้นหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านสถานที่และเวลา (Anywhere & Anytime) โดยครู อาจารย์อาจจะเตรียมการสอนได้สมบูรณ์ขึ้น ในขณะที่นักเรียน นักศึกษาสามารถค้นคว้าหาข้อมูลได้สะดวกและหลากหลายมากขึ้น

    • คณาจารย์และนักเรียนที่ด้อยโอกาสอันเนื่องมาจากความห่างไกล ทุรกันดาร ขาดแหล่งห้องสมุดที่ดี สามารถก้าวกระโดดในการหาข้อมูลข่าวสารและความรู้ได้อย่าง เท่าเทียมมากยิ่งขึ้น จะมีโอกาสใดในประวัติศาสตร์ การเรียนรู้ที่ครูและนักเรียนของโรงเรียนสบเมยวิทยาคม จังหวัดแม่ฮ่องสอนสามารถศึกษาค้นคว้าเรื่อง สงครามอ่าวเปอร์เซีย จากโปรแกรม CNN Newsroom (http://www.nmis.org/NewsInteractive/CNN/Newsroom) หรือข้อมูลการรักษาสิ่งแวดล้อมของ US-EPA จาก Library of Congress ของรัฐสภาอเมริกา (http://www.lcweb.loc.gov) เป็นต้น

  •  

    • เด็กนักเรียนเองสามารถร่วมกันผลิตข้อมูลในแขนงต่างๆ อาทิเช่น ข้อมูลพันธุ์พืชของสิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงเรียน ข้อมูลศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยน กับเด็กทั่วโลก ในขณะที่ครูสามารถนำเนื้อหาทางวิชาการที่มีประโยชน์ เช่น บทความทางวิชาการ เอกสารการสอน ฯลฯ ลงใน Web เพื่อแลกเปลี่ยนภายในวงการครู เป็นต้น

  1. เปลี่ยนบทบาทของครูและนักเรียน

ด้วยนัยของการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้จะทำให้บทบาทของ ครูปรับเปลี่ยนไปจากการ เน้นความเป็น “ผู้สอน” มาเป็น “ผู้แนะนำ” (Facilitator) มากขึ้น ในขณะที่กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนจะเป็นการเรียนรู้ “เชิงรุก” มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากฐานข้อมูล ในอินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญประการหนึ่งที่เอื้ออำนวยให้ เด็กนักเรียนสามารถเรียนและค้นคว้าด้วยตนเอง (independent learning) ได้สะดวกรวดเร็วและมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามมีความจำเป็นที่จะต้องตระหนักว่าบทบาทและรูปแบบ ที่จะปรับเปลี่ยนไปนี้ จะต้องมีการเตรียมการที่ดีควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของครูที่จะต้องวางแผนการ “ชี้แนะ” ให้รัดกุมเพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กมีประสิทธิผลดีขึ้น จากการเรียนตามครูสอน (passive learning) มาเป็นการเรียนรู้วิธีเรียน (Learning How to Learn) และการเรียนด้วยความอยากรู้ (active learning) อย่างมีทิศทาง

  1. พัฒนาการสื่อสารระหว่างครูและนักเรียน

ผลสืบเนื่องจากการที่อินเทอร์เน็ตสามารถให้บริการไปรษณีย์ อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความสะดวก รวดเร็ว และง่ายในการใช้ทำให้เกิดการสื่อสาร (communications) เพิ่มมากขึ้นในระบบการศึกษา ทั้งที่เป็นการสื่อสารระหว่างครูกับครู ครูกับนักเรียนและระหว่างนักเรียนกับนักเรียนกันเอง ทั้งนี้โดยมิได้ลดทอนการสื่อสารในรูปแบบเดิม ปัจจุบันคณาจารย์หลายท่านในหลายสถาบันในประเทศไทยใช้อินเทอร์เน็ต เป็นสื่อกลาง ในการให้การบ้าน รับการบ้าน และตรวจส่งคืนการบ้าน ในขณะเดียวกันการสื่อสารระหว่างนักเรียนสามารถช่วยส่งเสริมการทำงาน กลุ่ม การปรึกษาหารือกับครูและเพื่อนนักเรียน ในเชิงวิชาการ ตลอดจนการติดต่อกับเพื่อนชาวต่าง ประเทศ ที่มีโอกาสมากขึ้นเป็นลำดับ

หมายเลขบันทึก: 225619เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2008 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

คุณพี่จินแสนสวย เก่งจังเลย คนอาไร๊ทั้สวยทั้งเก่ง แต่น้องข้องใจอยู่ว่า ภูมิลำเนาเดิมน่ะ จังหวัดพระนครศรีอยุทธยา อยู่ส่วนไหนของประเทศไทยคะคุณพี่

น้องพลอยคนสวย....ภูมิลำเนาเดิมน่ะ ...คงอยู่ใกล้ๆๆๆบ้านน้องพลอยหละ....5555555555555555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท