ปิยวาจา...กำลังจะหายไปจากสังคมไทย


"ปิยวาจา" เป็นสิ่งสำคัญ หรือไม่ หรือว่าเป็นเรื่องเล็ก เมื่อเทียบกับปัญหาสังคมอื่น ๆ มีคนพยายามอธิบายว่า ปิยวาจา น่าจะยังคงอยู่ได้ในสังคมไทย ไม่น่ากังวลใจอะไรมากนัก เพราะ “สิ่งที่เขาพูดกันบนเวทีการเมือง แม้จะมีคำหยาบปนอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็เป็นเรื่องของการพูดให้เหมาะกับกาลเทศะ เท่านั้น"

         ทุกครั้งที่เปิดวิทยุ หรือติดตามข่าว ความเคลื่อนไหวทางการเมือง แม้จะเข้าใจนะ ว่า บ้านเมืองของเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลง  ความคิดเห็นที่แตกต่าง ในระบบประชาธิปไตย น่าจะเป็นเรื่องปกติ แต่ทุกครั้งที่รับฟังการปราศรัยบนเวที (ไม่อยากจะระบุว่าเป็นเวทีเสื้อสีอะไร เพราะพบได้ทั่วไป ทุกเวที ทุกสีเสื้อ) รู้สึกว่า สิ่งหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้น คือ “การพูดคำหยาบ การด่ากันด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย พบเห็นได้ ทุก 5 วินาที”  ความกังวลใจของเรา ในฐานะที่เป็นครู คือ  “เราสอนให้เด็กพูดจาไพเราะ” แต่ในขณะนี้ บริบทของสังคมเปลี่ยนแปลงไป  คำหยาบ เช่น  “ชั่ว”  “บ้า”   “เหี้ย”   “สันดานเลว”   “อุบาทว์” ฯลฯ ได้ถูกระดมนำมาใช้ในกระบวนการพูดแบบถี่ยิบ  สิ่งที่ตนเองคิด(ในฐานะที่เป็นครู ) คือ  หลังจากนี้ “ครู และ โรงเรียน ในฐานะองค์กรหลักในการให้การศึกษา เราจะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ อย่างไร”(หรือว่ามันเป็นเรื่องเล็ก)   ทำอย่างไร หลักธรรม “สังคหวัตถุ 4”  อันประกอบด้วย ทาน คือ การให้ การเสียสละ หรือการเอื้อเฟื้อแบ่งปันของๆ ตนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น  ปิยวาจา คือ การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความจริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะสำหรับกาลเทศะ  อัตถจริยา คือ การสงเคราะห์ทุกชนิดหรือการประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น    สมานัตตา คือ การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ หรือมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย(เรื่อง Double Standard น่าจะรวมอยู่ในหลักธรรมข้อนี้)

ในบทบาทของคนที่เป็นครู(ครูแบบโบราณหน่อย) และบทบาทของพ่อ(พ่อแบบโบราณมาก)ที่มีลูก  ผมเอง ยังอยากให้ “ลูก” และ “ลูกศิษย์” พูดจา สุภาพ อ่อนหวาน  ภายใต้ความคาดหวังนี้ รู้สึกกังวลใจมากเหมือนกัน กับบริบทที่เปลี่ยนไปของสังคม ไม่แน่ใจว่า สังคมเรา จะยังคงดำรงไว้ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ หรือไม่

มีคนพยายามปลอบใจโดยการอธิบายว่า สภาพการเมืองในช่วงนี้ ไม่น่าจะเกี่ยว “ปิยวาจา น่าจะยังคงอยู่ได้ในสังคมไทย น่ะ”  ไม่น่ากังวลใจอะไรมากนัก เพราะ “สิ่งที่เขาพูดกันบนเวทีการเมือง  เป็นการพูดให้เหมาะกับกาลเทศะ เท่านั้น” (พออธิบายจบ เขาก็หัวเราะเบา ๆ เลยไม่แน่ใจว่า เขาพูดจริง หรือพูดเล่น)

หมายเลขบันทึก: 226632เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2008 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 23:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ครับอาจารย์ น่าเป็นเด็กไทยน่ะครับ

ปิยะวาจาน่าจะใช้ได้ทุกที่ทุกเวลาครับ

  • มีคนบอกว่าใช้ไม่ได้ ในกรณีที่เราต้องการขับไล่คนที่เราไม่ต้องการครับ   ถ้าพูดสุภาพ อ่อนหวาน จะทำให้ดูแปลก ๆ ครับ

สวัสดีค่ะ ท่านดร.สุพักตร์

  • อ่านบันทึกของท่านดร.สุพักตร์ แล้ว ก็ให้บังเอิญว่า วันนี้หลังจากเข้าแถวเคารพธงชาติตอนเช้าเสร็จแล้ว เดินขึ้นห้องตามหลังนักเรียนชั้นมัธยม กับอาจารย์อีกท่านหนึ่ง ก็ได้ยินคำขึ้นต้นด้วยคำไม่สุภาพ ครูลี่ก็เลยพูดกันว่า โรงเรียนเรานี่ ตัวเงินตัวทอง เยอะจัง
  • นักเรียนเขาไม่รู้สึกหรอกค่ะ งง ด้วยซ้ำไป ว่าครูนี่แก่ ไม่ทันสมัย
  • ก็เลยคิดว่า เรานี่เป็นครูที่ใช้ไม่ได้เลย สอนเด็กให้พูดวาจาไพเราะ เด็กงงค่ะ (โดยเฉพาะเด็กมัธยม) เฮ้อ...
  • เมื่อสังคมเป็นเช่นนี้ การปิดหูไม่รับข้อมูลคงเป็นไปไม่ได้ แต่ครูควร กระตุ้นให้เด็กแยกแยะ ว่าสิ่งใดสุภาพ สิ่งใดไม่ควรเลียนแบบ
  • ครูควรทำตัวเป็นพิมพ์ที่สวยงาม ให้น่าทำตามด้วยในเวลาเดียวกัน
  • และเข้าใจว่าปิยะวาจาที่ออกมาจากจิตใจที่มีเมตตาเป็นพื้นฐาน  จะต้องลดความเห็นแก่ตัวลงให้มาก ๆ ค่ะ

เรื่อง ปิยวาจา

ผมขอดูเพิ่มจากอาจารย์นะครับ ปัญหาส่วนหนึ่งมาจาก บริบทที่อาจารย์พูด แต่ส่วนหนึ่งมาจาก

1. ครู(บางคน)

ครู : นักเรียนช่วยหยิบปากกาให้ครูหน่อย

นักเรียน : ปากกาอันไหน

ครู : เธอพูดไม่มีหาเสียงเลย

นักเรียน : หางเสียงเป็นยังไงอาจารย์

ครู : ก็พูดให้ดี มีครับ มีค่ะซิ

นักเรียน : อาจารย์ ไม่เห็นพูดให้ผมฟังเลยยยยยยย...

2. ผู้ปกครอง (บางคน)

ผู้ปกครอง : ช่วยล้างจานให้แม่หน่อย

นักเรียน : ตั้งไว้ก่อน เดี่ยวดูทีวีตอนนี้จบก่อน

ผู้ปกครอง : แม่จะใช้ตอนนี้เลย

นักเรียน : จะใช้ตอนนี้ ก็ล้างเองซิ

ผู้ปกครอง : ทำไมพูดอย่างนี้ กับแม่ล่ะลูก พูดกับแม่ดีดี กับแม่ไม่ได้หรือไง

นักเรียน : แม่ไม่เห็นพูด ดีดีกับผมเลย

3. เพื่อน(ส่วนใหญ่)

เพื่อน : ไอ้เหี้ยมึงจะไปเที่ยว...กับพวกกูหรือเปล่า

นักเรียน : ไปซิว่ะ...กูไม่ไปแล้ว จะมันหรือ ไอ้เปรต

น้อง ป.1 ที่นั่งฟังอยู่ : ให้กูไปบ้างซิ น่าจะมัน...ไอ้...(เติมเอง)

อาจจะมีคำไม่สุภาพนะครับต้องขออภัย แต่ความเป็นจริงประเทศไทย เราเป็นอย่างนี้ น่าเศร้า

จริงๆค่ะอาจารย์ อ่านที่อาจารย์เขียน ตรงกับความเป็นจริงทุกอย่าง ขณะนี้นักเรียนพูดหยาบจนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

อ.อุดมพันธ์

  • คงเป็นงานหนักครับที่เราจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหานี้
  • เราจะต้องช่วยกันสร้าง "วัฒนธรรมการพูดจา สุภาพ เรียบร้อย อ่อนหวาน" ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง(จริง ๆ แล้ว ปิยวาจา คงจะมีความหมายกว้างกว่านี้)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท