20.ศาสนาพุทธที่มุสลิมพึงเข้าใจ และอิสลามที่พุทธพึงรู้จัก 5


ศาสดาทั้งสองต่างเรียกร้องให้ลดความอยาก ความหมกมุ่น ความเห็นแก่ตัว

ศาสนาพุทธที่มุสลิมพึงเข้าใจ และอิสลามที่พุทธพึงรู้จัก 5

                เราได้รับรู้แล้วว่าท่านศาสดาทั้งสอง มีความพยายามที่คล้ายๆกันในการล้มล้างความเชื่อที่งมงาย  ท่านศาสดามุฮัมมัด ได้ชี้ให้ชาวอาหรับในสมัยนั้นได้รับทราบ ถึงการเคารพสิ่งต่าง ไม่ว่าจะเป็นดวงดาว ต้นไม้หรือแม้แต่มนุษย์เอง โดยเฉพาะรูปเคารพที่คนอาหรับในยุคนั้นสร้างขึ้นมา เรียกร้องให้หันมาเคารพในพระผู้เป็นเจ้าที่เที่ยงแท้ เพียงพระองค์เดียว เป็นพระผู้เป็นเจ้าที่ไม่มีรูปเคารพใดๆมาทดแทนได้ จริงอยู่ว่าอิสลามเชื่อในอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า และเชื่อว่าอำนาจนั้น อาจเป็นปัจจัยภายนอกที่มากำหนดความสำเร็จของมนุษย์ได้  แต่ท่านศาสดาเองก็มิได้ให้มนุษย์ละเลยจากการพึ่งตนเอง เพียงแต่จะต้องสำนึกอยู่เสมอว่า แม้มนุษย์มีความพยายามเพียงใดก็ตามมนุษย์อาจจะไม่ประสพความสำเร็จตามที่ตนตั้งใจไว้ได้  และหากมนุษย์ประสพกับภัยบางประการ หรือเหตุการณ์ ที่ไม่พึงพอใจ ก็ให้ตระหนักได้เสมอว่า นั้นคือการทดสอบจากพระเจ้า มนุษย์จึงควรแสดงท่าทีที่ถูกต้องต่อสถานการณ์นั้นๆ เช่นมีความอดทน และพยายามต่อไป แก้ไขเงื่อนไขแห่งการล้มเหลว  นั้นด้วยสติปัญญา มิให้มีท่าทีแห่งความท้อแท้ ด่าทอ หรือประชดประชันชีวิตจากความล้มเหลวนั้น

                ท่าทีลักษณะนี้ดูจะสอดคล้องกันอย่างยิ่งของท่านศาสดาทั้งสอง คือการเรียกร้องเชิญชวนมนุษย์ให้ลดความกระหายอยาก และความคิดหมกมุ่นในผลประโยชน์ในทางวัตถุ และลดความเห็นแก่ตัว และละเว้นการกระทำใดๆก็ตามที่นำมาซึ่งความทุกข์ยากเดือดร้อนแก่ตนเอง และเพื่อนมนุษย์ และสรรพสิ่งต่างๆในโลกในขณะเดียวกันก็เน้นให้เห็นถึงการเสียสละ การสงเคราะห์ช่วยเหลือกันและกันในสังคม

                พระพุทธเจ้านั้นมีคำสอนที่โดดเด่นในเรื่องการหักล้างระบบความเชื่อ เรื่องวรรณะ ของสังคมอินเดียที่นำเอาชาติกำเนิดมาเป็นเครื่องขีดกั้น ความสำเร็จของคนในทางศาสนา และในทางสังคม และสร้างสังคมสงฆ์ขึ้นมาเป็นสังคมในอุดมคติที่มิได้แบ่งแยกคน โดยอาศัยชาติกำเนิด ท่านศาสดามุฮัมมัดเองก็มีคำสอนที่มิให้จำแนกแยกแยะความแตกต่างของคน โดยอาศัยเชื้อชาติสีผิวหรืออื่นๆ แม้ท่านศาสดามุฮัมมัดจะมิสามารถล้มล้างระบบทาสได้ในทันทีทันใด แต่การพยายามปล่อยทาสให้เป็นอิสระ ก็เป็นแนวทางปฏิรูปสังคมของท่านศาสดาเองมาโดยตลอด ในขณะเดียวกันนั้นก็พยายามให้มีการปฏิบัติต่อทาสด้วยความดีและด้วยความเหมาะสม โดยมองว่าทาสคือมนุษย์คนหนึ่ง เพียงแต่เขามีหน้าที่ตามที่ได้กำหนดไว้ตามกรอบหรือบริบทของสังคมในเวลานั้น ส่วนทัศนะต่อสตรีศาสดาทั้งสองก็พยายามยกสถานภาพของสตรี ให้สูงกว่าสถานภาพที่มีอยู่ในขณะนั้น พระพุทธเจ้าเองต้องต่อสู้อย่างหนักในการยกสถานภาพของสตรี ที่ถูกศาสนาพระเวทจำกัดขอบเขตให้คับแคบ โดยชี้ให้เห็นว่าสตรีก็มีสิทธิที่จะเข้าถึงสัจธรรมสูงสุดของศาสนาได้เช่นเดียวกับบุรุษ ยิ่งศาสดามุฮัมมัดยิ่งต้องเผชิญกับภารกิจที่หนักยิ่งกว่ากับการปฏิรูปและแก้ไขทัศนะอันป่าเถื่อนของคนอาหรับในเวลานั้น ที่มีทัศนะเหยียดหยามสตรี จนถึงขนาดต้องฝังลูกสาวทั้งเป็น ชี้ให้เห็นถึงความเท่าเทียมระหว่างบุรุษกับสตรีถือว่าบุรุษมีสิทธิเหนือสตรี และสตรีมีสิทธิเหนือบุรุษ นั้นหมายความว่าบุรุษและสตรีมีสิทธิเท่าเทียมกัน เพียงแต่ว่าบทบาทที่สังคมมอบให้ หรือโดยธรรมชาติทางกายภาพของบุรุษและสตรี ทำให้เขามีบทบาทแตกต่างกัน แต่ความแตกต่างในบทบาทไม่ใช่เป็นข้ออ้างให้ฝ่ายหนึ่งอ้างสิทธิที่เหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่งได้  (ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์)

หมายเลขบันทึก: 226685เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2008 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 14:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

พระพุทธเจ้านั้นมีคำสอนที่โดดเด่นในเรื่องการหักล้างระบบความเชื่อ เรื่องวรรณะ ของสังคมอินเดียที่นำเอาชาติกำเนิดมาเป็นเครื่องขีดกั้น ความสำเร็จของคนในทางศาสนา และในทางสังคม และสร้างสังคมสงฆ์ขึ้นมาเป็นสังคมในอุดมคติที่มิได้แบ่งแยกคน โดยอาศัยชาติกำเนิด ท่านศาสดามุฮัมมัดเองก็มีคำสอนที่มิให้จำแนกแยกแยะความแตกต่างของคน โดยอาศัยเชื้อชาติสีผิวหรืออื่นๆ แม้ท่านศาสดามุฮัมมัดจะมิสามารถล้มล้างระบบทาสได้ในทันทีทันใด แต่การพยายามปล่อยทาสให้เป็นอิสระ ก็เป็นแนวทางปฏิรูปสังคมของท่านศาสดาเองมาโดยตลอด

  • เป็นเรื่องราวที่พี่คิมได้เรียนรู้อย่างจริงจัง
  • ขอขอบคุณค่ะ
  • เป็นกำลังใจให้นะคะ

เจริญพร โยมเบดูอิน

เหตุที่พระสัทธรรมเลือนหาย

  • ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา
  • ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม
  • ไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์
  • ไม่เคารพยำเกรงในการศึกษา
  • ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ

เจริญพร

สวัสดีพี่คิม ขอบคุณมากที่บันทึกผมเป็นประโยชน์

เรียนท่านพระปลัด สัจธรรม ครับ

สวัสดีครับ

  • ผมเข้าใจว่า เส้นทางจะมีทั้งทางรู้และทางหลง อย่างในพุทธศาสนาท่านเรียกว่า "ธรรมสัญญา" คือ หลงในธรรม จนเดินผิดทางก็มี เพราะฉะนั้นไม่ควรรีบร้อน ควรค่อยเป็น ค่อยไป ค่อยเรียนรู้ ต้องรู้จักพิจารณาด้วยใจที่ใคร่ครวญครับ
  • ลองอ่านเพิ่มเติมที่ตรงนี้นะครับน่าสนใจมาก http://larndham.net/index.php?showtopic=32755
  • สวัสดีค่ะคุณเบดูอิน
  • ทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี
  • ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนนะคะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับคุณธรรมดา ครับจะตามไปดู

สวัสดีครับคุณเอื่องแซะ ยินดีมากครับ

สวัสดีอีกครับ

  • ต้องทดลองตามไปอ่านที่  http://larndham.net/index.php?showtopic=32755     อีกครั้งหนึ่งพบว่า ดีมากแต่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน จึง copy เนื่อหาบางส่วนมาให้อ่านที่นี่เลยครับ ต้องขออภัยด้วยถ้าเนื้อหาดังกล่าวยาวเกินไป แต่จะทำให้เข้าใจพุทธศาสนาได้มากขึ้นครับ

 

สติ กับ ปัญญา นั้น คนไทยมาพูดถึงจนเหมือนเป็นคำเดียวกัน คือ พูดว่า "สติปัญญา" พ่วงกันไป คนฟังก็นึกว่าเป็นการพูดถึงสิ่งๆหนึ่งเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ใ่ช่สิ่งเดียวกัน แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันไป

ปัญญา คือ ปัญญาในพระพุทธศาสนา ไม่ได้หมายถึงปัญญาทางโลก ที่หมายถึง "จำได้มาก" หรือ "คิดได้เก่ง" แต่หมายถึง การได้รู้ตามความเป็นจริงว่า "สิ่งใดมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา" หรือ "กายนี้เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ" หรือ "จิตนี้เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ" ซึ่งเป็นปัญญาของพระโสดาบัน พระอนาคามี พระอรหันต์ ตามลำดับ

สังเกตมั้ยครับว่า ที่ได้กล่าวออกมานั้น ไม่มีอะไรใหม่ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เรารู้กันแล้วทั้งนั้น แต่ทำไมเรายังไม่เป็นพระโสดาบัน ทำไมเรายังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็เพราะว่าเราเองยังไม่มีปัญญาอย่างท่านเหล่านั้น หากแต่เรามี "ความจำ" อันเนื่องมาจาก "การแสดงธรรม" จาก "ปัญญา" ของท่านเหล่านั้น

ความจำในเรื่องเหล่านี้ ท่านเรียกว่า "ธรรมสัญญา"

ผมเองเป็นคนที่มีความสนใจในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก เล็กๆก็สนใจในระดับ กลัวการตกนรก ต่อมาพอเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นปีแรก ก็สนใจเจริญอานาปานสติแบบงูๆปลาๆ เพราะได้ยินพระข้างบ้านย่าสอนพระ ก็เลยแอบหัดเอาเอง

พอโตมา แม้ว่าจะยังทำสมาธิอยู่บ้าง แต่ก็เพลินไปกับโลกตามประสาวัยรุ่น เพียงแต่ขีดวงตนเองอยูที่การกินเหล้า ไม่ไปไกลกว่านั้น

เรียนจบมาทำงาน ก็รู้สึกว่า ชีวิตไม่ใช่ มองหาอะไรบางอย่าง แต่ก็ไม่รู้ว่ามองหาอะไร มีอยู่วันหนึ่ง ไปเห็นหนังสือชื่อ "คู่มือมนุษย์" ที่เป็นขนาดประมาณกระดาษ A4 ปกแข็ง เล่มเบ้อเริ่ม พิมพ์โดยธรรมสภา เป็นหนังสือที่ถอดคำพระเทศนาของหลวงพ่อพุทธทาส ภิกฺขุ ที่แสดงธรรมให้กับผู้ที่จะไปเป็นผู้พิพากษา

พลิกเปิดดูข้างใน เจอหัวข้อเรื่อง ตัณหา 3 อุปาทาน 4 ก็รู้สึกว่าคุ้นๆกับคำเหล่านี้ชอบกล ก็เลยคว้าเล่มนั้นมาอ่าน

จากนั้นก็ติดตามหนังสือของท่านมาตลอด ทั้งเล่มน้อยเล่มใหญ่ รวมทั้งไปยืมเทปการแสดงธรรมของหลวงพ่อพุทธทาสจากวัดอุโมงค์มาฟังด้วย จนกระทั่งในวันที่ต้องย้ายจากเชียงใหม่ มาทำงานที่กรุงเทพฯ ยกหนังสือให้ห้องสมุดวัดอุโมงค์ได้ขนาดลังใส่ผงซักฟอกขนาดใหญ่ ยกเองไม่ได้ ต้องใส่ล้อเลื่อนเข็นไป

ก่อนที่จะย้ายเข้ากรุงเทพได้สัก 2 ปี ก็เกิดความวิปลาสกับตัวเองจนสงสัยว่าเกิดได้อย่างไร กล่าวคือ เกิดความรู้สึกว่า เราเก่ง เรารู้ มากกว่าพระภิกษุทั่วไป จนไม่ยอมจะกราบพระ เกิดความงงกับตัวเองมาก ว่าเกิดปัญหานี้ได้อย่างไร รู้ว่าผิด แล้วต้องพยายามข่มตนเองให้กราบพระ ทั้งพระพุทธรูป และพระภิกษุ โดยบอกกับตนเองว่า พระพุทธรูป เรากราบเพราะเราระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่กราบเพราะเห็นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนพระสงฆ์นั้นเรากราบก็เพราะเป็นพุทธบัญญัติ ที่ทรงบัญญัติไว้ให้ฆราวาสก็ต้องกราบพระภิกษุ แม้ว่าฆราวาสนั้นจะมีภูมิธรรมเป็นอริยะ และพระภิกษุเป็นเพียงสมมุติสงฆ์ที่เพิ่งบวชในวันนั้น

และเข้าใจว่านั่นคือ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมชาวพุทธ เพราะหากไม่ทรงบัญญัติเอาไว้อย่างนี้แล้ว สังคมชาวพุทธก็คงจะโกลาหล พระภิกษุต้องมากราบฆราวาสที่ทรงธรรม คงจะวุ่นวายพิลึก องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติเอาไว้ให้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ถูกศาสนาอื่น ลัทธิอื่น มาติฉินนินทา เกิดภาพลบ จนทำลายศรัทธา จะทำให้คนใหม่ๆที่ยังไม่รู้จักพระศาสนา ดูถูก ดูหมิ่น ดูแคลน จนที่สุด อายุพระศาสนาก็จะสั้นลงไป

มาต่อเรื่องความวิปลาสของตนเองต่อนะครับ

ให้โชคดีอยู่เหมือนกัน เพราะได้ข่าวจากคนรู้จัก ว่ามีพระธุดงค์มาจากอีสาน ฟันกรามท่านเป็นแก้ว เพราะท่านเจริญสติโดยการพิจารณาฟันกราม (เป็นกายานุปัสสนา) ผมก็ไปกราบท่าน คนอื่นๆนั้นจะไปขอดูฟันกรามของท่าน แต่ผมเปล่า จำได้ว่าช่วงนั้นกำลังจะเข้าพรรษา ก็เลยไปหาเทียนไปถวายท่านด้วย เมื่อได้ไปกราบท่าน ถวายเทียนพรรษา ท่านก็ให้พรแล้ว ก็เลยถามท่าน ผมจำคำถามที่ได้ถามท่านไม่ได้ แต่จำคำตอบของท่านได้ ท่านพูดมาแค่สั้นๆ "ธรรมสัญญา" ผมได้ถึงบางอ้อเลย ว่า นี่ไม่ใช่ปัญญาอะไรเลย แค่การจดจำได้ในข้อธรรมะทั้งสิ้น ความวิปลาสอันเกิดจากความถือดีของตนเองก็ค่อยๆมลายหายไป

หากวันนั้นไม่ได้พบกับท่าน ผมคงมีหวังเพี้ยน ตั้งตนเป็นเจ้าสำนัก แล้วก็อาจถึงกับชักชวนคนอื่นๆไม่ให้กราบพระพุทธรูป ไม่ให้กราบพระภิกษุสงฆ์ที่ไม่ใช่พระอริยะเป็นแน่ ก็เข้าข่ายทำให้อายุพระศาสนาหดสั้นลง

ในสมัยโบราณ ก่อนที่จะมีการสร้างพระพุทธรูป เพราะประเพณีของคนอินเดียก่อนหน้านั้นจะไม่สร้างรูปปั้น เขาก็สร้างรูปกวางหมอบบนข้างพระแทน เพื่อแทนพระพุทธเจ้า (แบบเดียวกับการสร้างพระพุทธรูปเพื่อแทนพระพุทธเจ้า) โดยเป้าหมายแล้วก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย มองหาสัญลักษณ์บางอย่าง เพื่อแทนพระพุทธเจ้า ตามประสาโลกๆนั่นแหละ

เรื่องนี้ พระพุทธเจ้ามิได้ห้าม เพียงแต่ในยุคสมัยของพระองค์ คนอินเดียไม่มีประเพณีสร้างพระพุทธรูป แต่มีประเพณีสร้างเจดีย์ ท่านจึงได้อนุญาตให้สร้างสังเวชนียสถาน และให้สร้างเจดีย์ให้กับพระอรหันต์ไว้ด้วย เพื่อให้ชาวพุทธได้ระลึกถึง และเป็นเครื่องยืนยันว่า ศาสนาพุทธไม่ใช่สิ่งที่เลื่อนลอย พูดกันปากต่อปาก แต่พระพุทธเจ้ามีจริง พระอรหันต์มีจริง มีหลักฐานของแต่ละท่าน ที่นั่น ที่นี่

ที่พูดมายืดยาว ก็เพื่อให้เห็นว่า องค์พระบรมศาสดาของเรา ไม่ได้ปฏิเสธสมมุติ แต่ทรงใช้สมมุติโดยอนุโลมเพื่อเกื้อกูลต่อพระศาสนา

พระธรรมแท้ๆนั้นไม่มีคำพูด สภาวธรรมแท้ๆไม่มีชื่อเรียก แต่เมื่อพระพุทธองค์ต้องถ่ายทอดธรรมะออกจากพระหทัยของพระองค์ ท่านก็ต้องหยิบยืมสมมุติมาใช้ หยิบยืมคำพูดมาใช้เพื่อสื่อสารกับผู้อื่น ท่านต้องบัญญัติชื่อของสภาวธรรมเพื่อให้ผู้ฟังได้รู้ว่าพระพุทธองค์ทรงหมายถึงสิ่งใด และพระพุทธองค์ก็ทรงรู้ด้วยว่า ที่พระพุทธองค์ทรงกระทำอยู่นั้น อยู่ในบทบาทใด พระองค์จึงทรงแสดงเอาไว้ว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นเพียง "ผู้ชี้ทาง" มิใช่ "ผู้แสดงธรรม"

ทางที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ มีชื่อเฉพาะที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติขึ้นว่า "สติปัฏฐาน ๔" หน้าที่ของเราจึงต้องเดินไปตามทางที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเอาไว้ การเดินไปตามทางของพระพุทธองค์ก็เลยมีชื่อเฉพาะอีกอย่างหนึ่งว่า "เจริญสติปัฏฐาน ๔" หรือ "ภาวนาสติปัฏฐาน ๔" ซึ่งคำว่า "ภาวนา" ก็แปลว่า "เจริญ" นั่นเอง

ก็เหมือนเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนนะครับ แต่ก็เพื่อให้ลื่นไหลในการอ่าน ก็ขอเอามะพร้าวห้าวมาปนขายกับเจ้าของสวนไปด้วย  

เริ่มต้นด้วยเรื่องของปัญญา แล้วก็เพิ่งจะมาเข้าคำว่า สติ นี่ล่ะครับ

ในมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธเจ้าจะทรงแสดงในเรื่องของ ฐาน ที่ใช้ฝึกสติ ไว้มากมาย แบ่งได้ 4 หมวดใหญ่ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม อาศัย กาย เวทนา จิต ธรรม นี้ฝึกฝนให้มีสติเป็นเบื้องแรก เมื่อมีสติเกิดขึ้นได้บ่อยๆแล้ว ก็อาศัยการเจริญสตินี้แหละให้เกิดปัญญา

มีคำพูดของครูบาอาจารย์ของผม กล่าวในเรื่องนี้ไว้อย่างจับจิตจับใจผมเลยว่า

"หัดตามรู้กายตามรู้ใจเรื่อยๆ จนจิตจดจำสภาวะธรรมได้ นี่เป็นการทำสติปัฏฐานทำให้เกิดสติ, มีสติรู้กายรู้ใจด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง ทำให้เกิดปัญญา, มีปัญญาแก่รอบ ก็เกิดวิมุติ จิตก็จะปล่อยวางความถือมั่น"

สติคืออะไร อธิบายด้วยสติปัฏฐาน ๔ ดีที่สุด ทีนี้ก็มาเหลือเรื่องของปัญญา

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า "ปัญญา" ในพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่ได้หมายถึงสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากเรื่องของ "ไตรลักษณ์" หรือนอกเหนือจาก "อริยสัจจ์" เพราะนอกจากเรื่องนี้แล้ว ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะทำให้เราหลุดพ้นได้ มีแต่การเห็นไตรลักษณ์ มีแต่การเห็นอริยสัจจ์นี้เท่านั้นเองที่จะไปถึงความหลุดพ้นได้

ความจริงแล้ว ไตรลักษณ์นั้นแสดงตัวอยู่ตลอดเวลา อริยสัจจ์ก็แสดงตัวอยู่ตลอดเวลา แต่เราเองต่างหากที่ไม่ได้ "ลืมตาตื่น" เพื่อที่จะเรียนรู้ไตรลักษณ์ หรืออริยสัจจ์เลย ต่อให้เราท่องจำไตรลักษณ์ได้ หรือท่องจำอริยสัจจ์ได้ หรือแม้แต่ท่องจำปฏิจจสมุปบาทได้ หรือแม้แต่ท่องจำพระไตรปิฎกได้ทั้งเล่ม ก็หาได้ "ลืมตาตื่น" เพื่อที่จะเรียนรู้ไตรลักษณ์ หรืออริยสัจจ์เลย

แต่หากเราต้องการ "ลืมตาตื่น" ที่จะศึกษาไตรลักษณ์ หรืออริยสัจจ์ เราก็ต้องใช้วิธีที่พระพุทธเจ้า พระบรมศาสดาของเราได้สั่งสอนเอไว้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ซึ่งบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก

ซึ่งเรื่องนี้ก็คงเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนอีกหนเหมือนกัน  

แต่จะยกมา ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า จะมีปัญญาได้ ไม่ใช่ว่าจดจำได้ว่าข้อธรรมข้อนี้กล่าวไว้ว่าอย่างไร หากแต่ต้องศึกษาตามทางที่พระพุทธเจ้าทรงวางเอาไว้ เพราะพุทธองค์ทรงแสดงเอาไว้ใน มคฺคสูตรว่า สติปัฏฐาน ๔ เป็นทางเอก เป็นทางเดียวที่จะไปให้ถึงความหลุดพ้น ไม่มีทางสายอื่นเป็นทางที่สอง และไม่ว่าจะในอดีต หรืออนาคต ก็ต้องเดินทางสายนี้ แม้พระพุทธองค์ก็ทรงเดินทางสายนี้เช่นกัน

ดังนั้น เมื่อจะศึกษาปัญญา ก็ต้องทำตามที่สติปัฏฐาน ๔ และต้องระวังเอาไว้ด้วยว่า ท่านขมวดปลายท้ายเอาไว้อย่างไร

"มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดความยินดียินร้ายในโลกเสียได้"

ดังนั้น เมื่อเราเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็ต้องฝึกให้มี "สัมปชัญญะ-ความรู้สึกตัว" "สติ-ความระลึกได้" เป็นสำคัญ

เมื่อเราตามรู้ตามดูสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้บ่อยๆ จิตใจของเราจะมีความจำได้อย่างแม่นยำต่อสภาวธรรมนั้น ภาษาบาลีเรียกว่า "ถิรสัญญา" ถิรสัญญานี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเป็นเหตุใกล้ให้เกิด "ความรู้สึกตัว"

ความรู้สึกตัวนี้สำคัญ เพราะเมื่อใดที่รู้สึกตัว เมื่อนั้นเราจะไม่หลง ทำให้ หากเรามีสติ (ระลึกรู้อารมณ์) ตามแนวทางของพุทธศาสนา คือ มีสติรู้ลงที่กาย (ระลึกกาย) รู้ลงที่ใจ (ระลึกใจ) ตามความเป็นจริง (ไม่แทรกแซง) จนจิตจดจำสภาวธรรมได้แม่นยำ (ถิรสัญญา) จะเกิดสัมปชัญญะ(ความรู้สึกตัวขึ้น) จะได้สติที่มีชื่อว่า "สัมมาสติ" หรือบางท่านชอบเรียกว่า "สติในพระพุทธศาสนา"

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ต้องทุ่มเทกันมากที่สุด และต้องทำจนกระทั่ง "สติเกิดขึ้นเอง" ไม่ใช่ "น้อมนำให้เกิด" จึงจะเป็น "สติตัวจริง" ที่พอจะพึ่งพาอาศัยกันต่อไปได้

ดังนั้น ต้องหมั่นคอยตามรู้ตามดู ตามสังเกต กายใจไปกันทั้งวัน ซึ่งบางทีก็ทำให้จิตหมดแรงได้ ก็ต้องทำสมาธิ ทำสมถะกันบ้าง (วิธีการทำสมาธิ ทำสมถะ ขอเว้นไว้ไม่เขียนก่อนนะครับ)

เมื่อสติเกิดขึ้นเองได้บ่อยๆในชีวิตประจำวันได้แล้ว ก็เป็นอันพอจะหวังได้ว่า มรรค ผล นิพพาน คงจะได้สัมผัสในชาตินี้ หรือช้าที่สุดก็ไม่เกิน 7 ชาติ นับจากนี้

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า นี่เป็นเพียง บันได ขั้นแรก หรือเป็นการนับหนึ่ง เท่านั้น ยังประมาทไม่ได้ แต่ที่เหลือก็ง่ายแล้ว อาศัยเพียงการฟังธรรมในเรื่องของไตรลักษณ์ อาศัยการฟังธรรมในเรื่องของอริยสัจจ์เนืองๆ จิตจะพิจารณาธรรมในมุมของไตรลักษณ์ได้เอง บางคนก็ถนัดดูกายเป็นตัวทุกข์ เป็นก้อนธาตุ บางคนถนัดดูกายว่าไม่ใช่ตัวเรา บางคนถนัดดูจิตที่เปลี่ยนแปลงไป บางคนถนัดดูจิตว่าไม่ใช่เรา อะไรก็ได้ เพียงแต่เราไม่สามารถไปเลือกได้ว่า "ฉันจะดูแบบนั้นแบบนี้" แต่จิตเขาจะเลือกของเขาเอง เพราะเวลาที่จิตจะเดินปัญญา จะเกิดไปเป็นลำดับก็คือ เกิดสติ-ระลึกรู้อารมณ์ แล้วก็เกิดปัญญา-เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ ตามกันมา เหมือนสติเป็นหัวจักรรถไฟ แล้วก็มีตู้พ่วงมาอีก 1 ตู้ เป็นปัญญา จิตจะเดินปัญญาในลักษณะนี้เสมอๆ มีสติเกิดขึ้น แล้วขณะจิตถัดมา จิตจะเห็นสภาวธรรมหรืออารมณ์เหล่านั้นในแง่มุมของไตรลักษณ์หรืออริยสัจจ์ ไม่มีช่องห่างที่นานพอที่จะสามารถคิดเพื่อเลือกว่าจะดูในมุมไหน และในความเป็นจริงแล้ว หากมีความคิดแทรกเข้ามา ก็หลุดออกจากกระบวนการของ "สติ-ปัญญา" ทันที

ความจริงแล้วมีช่องว่างเล็กๆคั่นระหว่างที่สติเกิด แล้วปัญญาเกิด เป็นเหมือนรอยต่อที่ไม่สนิทของกระเบื้อง 2 แผ่น สั้นมากจนไม่อาจทำอะไรได้เลย ดังนั้นจึงสามารถพูดได้เลยว่า จิตเขาพิจารณาไตรลักษณ์ได้เอง (ความจริงมีกระบวนการอยู่ แต่อย่าไปพูดถึงในตอนนี้เลยครับ วุ่นวายไปเปล่าๆ)

ที่เขียนมายืดยาว ก็เพื่อให้เข้าใจว่า ปัญญา คือ การเห็นกายใจเป็นไตรลักษณ์ ส่วนสติก็คือ การระลึกรู้กายใจ (การไปรู้อย่างอื่นนอกเหนือกายใจ ไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ แต่อาจเป็นการเจริญสติอะไรบางอย่างที่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน ไม่อาจรับประกันได้ว่าจะถึงทางพ้นทุกข์ได้จริงหรือไม่) ดังนั้น การไประลึกถึงความว่าง เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ เพราะนอกเหนือคำสอนของพระพุทธองค์ และน่าจะเชื่อได้ว่า พระพุทธองค์ผู้มีความสามารถเข้าฌานได้ทุกรูปแบบ คงเห็นแล้วว่า ไประลึกถึงความว่าง ก็ได้แค่อรูปฌานเท่านั้น เพราะในที่สุดพระพุทธองค์ก็หันกลับมาเจริญอานาปานสติ ซึ่งก็คือ สติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง แล้วก็ทรงถึงซึ่งความหลุดพ้น ตรัสรู้เป็น สัมมาสัมพุทธเจ้า

ขอสรุปดังนี้ (เขียนมายืดยาว ก็เพื่อจะสรุปตรงนี้ครับว่า) การเจริญปัญญาก็คือ การเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจพร้อมๆกับที่มีสติสัมปชัญญะไปด้วย ซึ่งการเจริญปัญญานี้ ผู้ที่มิใช่พระโพธิสัตว์จะตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกพุทธเจ้า จำเป็นอยู่เองที่จะต้องฟังธรรมเรื่องไตรลักษณ์ ฟังธรรมเรื่องอริยสัจจ์ เนืองๆ จิตจึงจะพลิกไปพิจารณาไตรลักษณ์ได้อย่างอัตโนมัติ และจะบอกว่า เราสามารถเจริญสติ เจริญปัญญาได้ในขณะที่ดำเนินชีวิตประจำวันด้วยซ้ำไปครับ

เป้าหมายของการเจริญสติปัฏฐาน ๔ เบื้องต้น เพื่อให้เกิดสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นองค์ธรรมสำคัญอันหนึ่งในมรรคอันมีองค์ประกอบ ๘ ประการ เป้าหมายในท้ายที่สุด ก็คือ การพ้นทุกข์ การถึงพระนิพพาน

 

ขอให้เจริญในธรรมครับ  

 

สวัสดีคุณธรรมดา ท่านมีความทดทนมากขอบคุณจริง ความจริงความรู้เกี่ยวกับพุทธที่ดีๆหาไม่ยาก ผมรู้จักพระนักเขียนหลายท่าน แต่เสียดายที่ชาวพุทธเองไม่ค่อยหยิบมาใช้ พระที่คงแก่ธรรมไม่ค่อยได้ถูกยกย่องเท่ากับพระบางรูปที่ใช้อวิชชา ยกตัวอย่างง่ายช่วงที่จตุคามฯกำลังดังผมเป็นอิสลามแท้ๆกลับให้ความรู้เรื่องนี้กับชาวพุทธในรายการกับพระกิติศักดิ์ ผมกับท่านกลับถูกด่า ขนาดท่านปัญญานันทภิกขุพี่น้องชาวพุทธบางกลุ่มยังไม่เว้น ส่วนของผมนั้นมีเจตนาที่จะเปรียบเทียบให้เกิดความเข้าใจทั้งสองศาสนา ครับ

อัสสะลามุอะลัยกุ่มฯ สวัสดีค่ะคุณเบดูอิน ดิฉันสอนในกลุ่มสาระสังคมฯและสอนวิชาพระพุทธศาสนาด้วยบทความนี้มีประโยชน์มากต่อการสอน ขอบคุณมาก

สวัสดีครับ คุณเบดูอิน

มาทักทายครับ....

ขอบคุณครับกับบทความดี ๆ ...

ที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้...มีประโยชน์มากครับ

มาชม เห็นมุมมองที่เป็นประโยชน์ดีมากนะครับ

อรุณสวัสดิ์คุณประเสริฐ ขอบคุณมากที่มาเยี่ยม

สวัสดียามเช้าคุณยูมิ อะริกะโต๊ะ(เอ..แปลว่าอะรหว่า) ขอบคุณมากที่ชม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท