การจัดการศึกษารูปแบบสหกิจ : โรงเรียนคู่ร่วมพัฒนา


การจัดการศึกษารูปแบบสหกิจ โดยมีโรงเรียนมัธยมศึกษาของ สพฐ.จับคู่กับโรงเรียนของ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร(กทม.) เพื่อร่วมวางแผน แก้ปัญหาการรับนักเรียน ร่วมพัฒนาหลักสูตร พัฒนาบุคลากร ฯลฯ หากมีการดำเนินการอย่างจริงจัง เป็นระบบ และมีการวางแผนร่วมกันอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นทางเลือกสำคัญในการแก้ปัญหาการศึกษาในหลาย ๆ เรื่อง ได้ ในอนาคต

       ในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร 3 เขต  และสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร(กทม.)  ได้มีข้อตกลง เรื่อง การจัดการศึกษารูปแบบสหกิจ  โดยมีโรงเรียนมัธยมศึกษาของ สพฐ.จับคู่กับโรงเรียนของ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมวางแผน แก้ปัญหาการรับนักเรียน การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาบุคลากร ฯลฯ 

       จากข้อมูลผลการดำเนินการปี 2551 พบว่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ก็ยังประสบปัญหาในเรื่องค่านิยมของนักเรียนและผู้ปกครอง ที่ยังคงนิยมส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ไม่สนใจที่จะส่งเข้าเรียนในโรงเรียนคู่พัฒนา ที่อยู่ในละแวกใกล้บ้าน  ดังนั้นทางออกในเรื่องนี้ก็คงต้องคิดและดำเนินการอย่างจริงจังต่อไป ต้องแสวงหาทางเลือกที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ในที่นี้ ผมขอเสนอทางเลือก ที่ไม่แน่ใจว่า จะช่วยได้ หรือไม่(แต่อาจเริ่มทดลอง) คือ 1) จะต้องไม่มีการขยายห้องเรียนเพิ่มในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง หากจะขยายเพิ่ม ให้ไปขยายในโรงเรียนของ สำนักการศึกษา กทม. ในลักษณะที่ว่า เป็นห้องเรียนของโรงเรียนที่มีชื่อเสียง เช่น ห้องเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ แต่เปิดสอน ณ โรงเรียนของ กทม.ที่อยู่ในละแวกใกล้กัน ให้นักเรียนที่จบจากโรงเรียนของ กทม.โรงนั้น ๆ เรียนที่เดิม(แต่ลงทะเบียนเป็นนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ) กิจกรรมการเรียนการสอน ให้เป็นการร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ กับ โรงเรียนสังกัด กทม.แห่งนั้น  2) สร้างเงื่อนไขโอกาสให้เป็นที่รับทราบตรงกันว่า  นักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนใด หากสมัครเรียนต่อในโรงเรียนคู่พัฒนาที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกัน จะได้รับสิทธิพิเศษในเรื่อง ค่าเสื้อผ้า  ค่าหนังสือ และได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการเรียน ม.1-6 เป็นเวลา 6 ปี  ซึ่งในกรณีนี้ กทม.ควรสนับสนุนงบประมาณเป็นรายหัว   การกระทำเช่นนี้ น่าจะสามารถสกัดนักเรียนได้จำนวนหนึ่ง ให้เรียนในโรงเรียนใกล้บ้าน ช่วยลดปัญหาสังคม เช่น ปัญหาจราจร ได้  และ 3) ในอนาคตจะต้องพิจารณาในเรื่องค่าลงทะเบียนในการเรียนข้ามเขตพื้นที่ ข้ามจังหวัด  นักเรียนคนใดสมัครใจเรียนต่อชั้น ม.1 ในโรงเรียนในเขตพื้นที่บริการ(พื้นที่ชั้นใน บริเวณใกล้โรงเรียน) จะได้รับการยกเว้น ไม่ถูกเรียกเก็บเงินพิเศษใด ๆ ทุกชนิด  นักเรียนต่างเขตพื้นที่ เก็บตามปกติ   จะอย่างไรก็ตาม อาจใช้เงื่อนไขนี้ กับการจัดการศึกษาระดับชั้น ม.1-3 ก่อน  ส่วน ม.ปลาย อาจยังไม่ควรใช้เงื่อนไขนี้ เพราะในสภาพที่เป็นจริง ความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ของโรงเรียนต่าง ๆ ยังไม่เท่าเทียมกัน(แต่ ม.ต้น ไม่น่าจะแตกต่างกัน)

       อนึ่ง การร่วมวางแผนในลักษณะของโรงเรียนคู่พัฒนา น่าจะขยายความร่วมมือกับโรงเรียนในทุกสังกัด รวมถึงโรงเรียนเอกชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ หรืออยู่ในละแวกเดียวกัน

 

หมายเลขบันทึก: 226764เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2008 08:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 09:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียนท่านอาจารย์ผมเห็นด้วยทุกประการครับ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ ได้ความรู้มาก ค่ะ

คุณ เบดูอิน คุณ amena mena sirikes

  • ขอบคุณครับที่เข้ามายืนยันความคิดเห็น

ผมมีข้อเสนออย่างหนึ่งครับอาจารย์ ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรบ้าง

จากการสังเกตโรงเรียนในต่างจังหวัด(ไม่รู้ที่อื่นเป็นหรือเปล่านะครับ)หวังว่าคงนำไปใช้กับโรงเรียนในเมืองได้บ้าง จากการประกวดกิจกรรมต่างๆทางวิชาการ ผมยอมรับว่า โรงเรียนข้างนอก(โรงเรียนขนาดเล็ก -กลาง)อาจสู้โรงเรียนในเมืองไม่ได้ อาจจะเป็นเพราะตัวนักเรียนเก่งอยู่แล้ว แต่ถ้าให้นำนักเรียนมาแข่งขันเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ โครงงาน การแสดงต่างๆ การประกวดมารยาทไทย การรำไทยส่วนใหญ่โรงเรียนข้างนอกไม่ได้น้อยหน้าโรงเรียนใหญ่เลยครับ ผมมีแนวคิดว่า โรงเรียนที่มีจุดเด่นเหล่านี้ น่าจะดึงจุดเด่นของโรงเรียนตนเองที่ดี มีประสิทธิภาพ มาประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองได้ตัดสินใจ และต้องดำเนินการอย่างที่โรงเรียนประชาสัมพันธ์ไว้อย่างจริงจัง เช่น

โรงเรียน...เน้นสอนให้นักเรียนเป็นคนกตัญญู

โรงเรียน...เน้นสอนให้นักเรียนมีมารยาทงาม

โรงเรียน...เน้นสอนให้นักเรียนมีความรับผิดชอบและมีวินัย

โรงเรียน...เน้นสอนให้นักเรียนมีความซื่อสัตย์

โรงเรียน...เน้นสอนให้นักเรียนกล้าแสดงออก

โรงเรียน...เน้นสอนให้นักเรียนเล่นดนตรีเก่ง

โรงเรียน...เน้นสอนให้นักเรียนเล่นกีฬา+เรียนเก่ง

โรงเรียน...ครูรักและดูแลนักเรียนอย่างทั่วถึง

ฯลฯ

หวังว่าโรงเรียนเหล่านี้ คงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะให้ผู้ปกครองพิจารณา ว่าจะให้ลูกเรียนที่โรงเรียนใด

เรียน ดร. สุพักตร์

ตามที่ท่านได้นำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาการจัดการศึกษาดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นก็เป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งครับ

แต่ส่วนตัว กระผมคิดว่ายังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่แท้จริง เพราะแนวทางดังกล่าวเป็นเพียงการจัดการให้นักเรียนได้รับความรู้สึกทางใจมากกว่าการสร้างหรือพัฒนาการจัดการศึกษาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่จะต้องเตรียมพื้นฐานทุกๆด้านทั้งครอบครัว โรงเรียน และสังคม ที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง เพื่อให้ได้ผลผลิตทางการศึกษาที่มีคุณภาพตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ กระผมคิดว่าต้องวางรากฐานทางการศึกษาให้มั่นคง ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงตามกระแส แต่อยากให้มองและเตรียมพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนแปลงให้ทันกับการพัฒนาเทคโนโลยีของโลกด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

ชอบแนวคิดของคุณวัชระครับ จุดเด่นแตกต่างกัน แต่อยากให้มีพื้นฐานความรู้ที่จำเป็นหลักๆใกล้เคียงกันครับ เพื่อผู้เรียนจะได้มีโอกาสเรียนรู้ต่อไปได้ครับ เพราะทุกวันนี้ปัญหาความเก่งด้านพื้นฐานที่แตกต่างกันทำให้ใครๆก็อยากส่งบุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนที่มีผลผลิตที่ประสบความสำเร็จทางการศึกษาจนกระทั่งเรียนจบออกไปทำงานก็เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ต้องช่วยกันครับเพื่ออนาคตของประเทศไทย ที่ฝากความหวังไว้กับคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต

สวัสดีค่ะ อาจารย์

ตอนนี้ทัศนาพร ทำหน้าที่ดูแลโครงการโรงเรียนสหกิจที่โรงเรียน ค่ะ เห็นด้วยกับอาจารย์ทุกอย่าง

ตอนนี้ที่ทำอยู่ก็ช่วยดูแลเขาด้านวิชาการค่ะ เช่นในปีการศึกษานี้ส่งโครงการไปถึงเขตพื้นที่แล้วคะ จะช่วยพัฒนาครูเขาโดยจัดอบรมด้านหลักสูตรใหม่ กับ สอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คะ อาจารย์มีอะไรแนะนำไหมคะ

..ทัศนาพร..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท