ประวัติของครอบครัววิลัยพร ครอบครัวไร้รัฐแห่งปากเกร็ด


ประวัติของครอบครัวนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานข้อเท็จจริงของกรณีศึกษาครอบครัววิลัยพร ที่ถูกนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 ธค.49 อาคารรัฐสภา รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลโดยนางสาวชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง อดีตคณะอนุกรรมการศึกษาปัญหาข้อเท็จจริงของคนไร้สถานะทางกฎหมายฯ ซึ่งรายงานดังกล่าวประกอบไปด้วย ๒ ส่วน คือ ส่วนที่๑ ประวัติของครอบครัววิลัยพร และ ส่วนที่สอง คือ บทวิเคราะห์สถานะบุคคลทางกฎหมายของบุคคลในครอบครัววิลัยพร

----------------------------------------------------

1.ประวัติของครอบครัววิลัยพร

----------------------------------------------------

1.1  ประวัติส่วนตัวของนายบุญแก้ว   วิลัยพร ผู้เป็นบิดา

----------------------------------------------------------------------

                พ.ศ. 2502 – ประมาณ ปี  พ.ศ.  2520-2521               

เกิดและอาศัยอยู่ที่ หมู่บ้านบ่อตุ้ม  อำเภอสันติสุข  จังหวัดน่าน  ประกอบอาชีพทำไร่ทำนา ในประมาณ ปี พ.ศ. 2517 – 2518  ได้รับการทำบัตรประจำตัวประชาชนโดยอำเภอสันติสุข  จังหวัดน่าน และ เคยปรากฎ มีชื่อในทะเบียนบ้าน ณ บ้านที่อยู่อาศัย ที่หมู่บ้านบ่อตุ้ม  อำเภอสันติสุข  จังหวัดน่าน    

ประมาณ ปี พ.ศ.  2520-2521 พ.ศ. 2529

 ได้ออกจากบ้านที่หมู่บ้านบ่อตุ้ม และ ย้ายไปย้ายมาในเขตพื้นที่เขต จังหวัดเลย อุตรดิตถ์

และหนองคาย  ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและรับจ้างทำงานในไร่ข้าวโพด

               

----------------------------------------------------------------------

1.2 ประวัติส่วนตัวของนางไพรินทร์   วิลัยพร  (ไม่ทราบนามสกุลเดิม)  ผู้เป็นมารดา

----------------------------------------------------------------------

พ.ศ. 2512 –พ.ศ. 2529

                                เกิด และ อาศัยอยู่ที่ บ้านปากตม  ตาแสงพระแคม  เมืองแก่นท้าว แขวงไชยบุรี ประเทศลาว 

โดยไม่เคยได้รับการเข้าเรียนหนังสือ และ ไม่เคยได้รับการออกเอกสารแสดงตัวบุคคลโดยรัฐบาลลาว 

จนกระทั่งหนีออกจากบ้านเพื่อเข้ามาประเทศไทย  ในประมาณปลายปี พ.ศ. 2528 - 2529             

 

----------------------------------------------------------------------

1.3  ประวัติของครอบครัววิลัยพร

----------------------------------------------------------------------

พ.ศ. 2529 – ประมาณ ปี พ.ศ. 2531-2532

นายบุญแก้วซึ่งได้พบรักกับนางไพรินทร์ ไม่ปรากฎนามสกุล ซึ่งได้เข้าเมืองไทยมาอาศัยอยู่กับพี่สาว ที่อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย  ได้ประมาณ 2 เดือน  จึงได้อยู่กินด้วยกันฉันท์สามีภรรยา  และอาศัยอยู่ที่อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย โดยประกอบอาชีพ รับจ้างทั่วไปและ รับจ้างทำงานในไร่ข้าวโพด

 

ประมาณปี พ.ศ. 2531-32  - พ.ศ. 2534

 ทั้งคู่ได้ย้ายจากอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย มาอาศัยอยู่ที่ บ้านเลขที่ 44 หมู่ 2  บ้านโมกเจ็ดต้น  ตำบลบ้านโมกเจ็ดต้น อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์  ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป และรับจ้างทำงานใน ไร่ข้าวโพด  โดยบ้านที่พักอาศัยนั้น เป็นบ้านของผู้ใหญ่ที่ได้รู้จักกันกับนายบุญแก้ว  คือ นายกูด  ดีแก  นางน้อย  เอบมณ  และ นายลี  ดีแก ซึ่งต่อมาได้นับถือเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน คือ นับถือเป็นพ่อเป็นแม่และ เป็นพี่ชายบุญธรรม โดย  ณ บ้านหลังดังกล่าว  นายบุญแก้วได้มีบุตรกับนางไพรินทร์  จำนวน 2 คน คือ 

1. นางสาวไพรัตน์  วิลัยพร  เกิดเมื่อวันที่  25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 โดยมีนายบุญแก้ว  วิลัยพร เป็นผู้ทำคลอด

2. นายสงคราม  วิลัยพร เกิดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2534  โดยมีนายบุญแก้ว  วิลัยพร เป็นผู้ทำคลอด    

ในช่วงนี้ ได้บุญแก้ว ได้ถูกชักชวนไปร่วมรบกับเพื่อนที่เป็นทหารพราน ในเขตแนวชาย แดนประเทศ ไทย และ ประเทศลาว   นางไพรินทร์ จึงตั้งชื่อบุตรชายที่เพิ่งเกิดว่า เด็กชายสงคราม

 

พ.ศ. 2534 –พ.ศ. 2536

ในปลายปี พ.ศ. 2534 นายบุญแก้ว  ถูกตัดสินจำคุกในโทษฐานมีวัตถุระเบิดไว้ใน ครอบครอง  เป็นเวลา  9 เดือน   เนื่องจากเมาสุราแล้วนำระเบิดของเพื่อนที่เป็นทหารพราน ออกมาอวดโชว์ในวงสุรา จึงถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์ รวมเวลาที่ถูกฝากขังในการสู้คดีจนได้รับการปล่อยตัว เป็นเวลากว่า 12 เดือน  โดยได้รับการปล่อยตัวใน เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2535

ซึ่งในช่วงที่นายบุญแก้ว  วิลัยพร  สามีถูกจำคุกอยู่ ณ เรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์  นางไพรินทร์ ได้พาบุตรทั้งสองคน คือ  นางสาวไพรัตน์ และ นายสงคราม กลับไปเยี่ยมบ้านที่บ้านปากตม  ตาแสงพระแคม เมืองแก่นท้าว   แขวงไชยบุรี  ประเทศลาว เป็นเวลากว่า 12 เดือน โดยใช้เส้นทางเดินเท้าข้ามภูเขาทางเขต พื้นที่(อำเภอ?)หนองประจิตร จังหวัดอุตรดิตถ์  จนกระทั่ง นายบุญแก้วได้รับการปล่อยตัวจึงกลับเข้ามา ในประเทศไทยอีกครั้ง  ซึ่งในช่วงที่กลับไปเยี่ยมบ้านที่ประเทศลาวนี้ ทำให้นางไพรินทร์ รู้ว่าคนในครอบครัวที่ ประเทศลาวน่าจะมีชื่อในทะเบียนบ้านของประเทศลาวแล้ว  เนื่องจากมีญาติชักชวนให้นำบุตร ทั้งสองคนของนางไพรินทร์ ไปแจ้งชื่อในทะเบียนบ้านที่บ้านปากตม แต่นางไพรินทร์ก็ไม่ได้ทำเนื่องจาก คิดว่าจะกลับไปเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ  และยังคงไม่แน่ใจว่าตนเองจะมีชื่อในทะเบียนบ้าน ดังกล่าวด้วยหรือไม่

และในปี พ.ศ. 2535 นี้เอง หลังจากนายบุญแก้ว ถูกปล่อยตัว ทั้งนางไพรินทร์ และ นายบุญแก้ว จึงได้เปลี่ยนอาชีพจากการเป็นคนงานรับ จ้างในไร่ข้าวโพด มาทำอาชีพรับจ้างเป็นคนงานก่อสร้าง

 

พ.ศ. 2536 – พ.ศ.  2540 

ครอบครัววิลัยพร อพยพย้ายที่อยู่ไปมาตามไซต์งานก่อสร้าง ในพื้นที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดอยุธยา อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ  จังหวัดกรุงเทพมหานคร  และ จังหวัดนนทบุรี 

 

พ.ศ. 2540 – พ.ศ. 2547

ครอบครัววิลัยพรได้ยึดที่จะมีภูมิลำเนาหลักอยู่ในอำเภอปากเกร็ด  จังหวัดนนทบุรี  เนื่องจากบุตร คนโต ทั้ง 2 คน  ถึงเกณฑ์ที่จะเข้าเรียนหนังสือ และนางสาวไพรัตน์ และ นายสงคราม ได้เข้าเรียนศึกษา ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ณ โรงเรียนโดยนางไพรินทร์มีฝีมือในการทำอาหาร จึงเปลี่ยนมา ประกอบอาชีพ ขายอาหารข้าวแกง ขายส้มตำ ขายก๋วยเตี๋ยว  และ ทำอาหารขายในตลาดนัด

                ประมาณ ปี 2541-2544  นางไพรินทร์ ได้แยกทางกับนายบุญแก้ว  วิลัยพร มาอาศัยอยู่ที่วัดหงษ์ทอง  ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด  จังหวัดนนทบุรี และภายหลังได้อาศัยอยู่กินฉันท์สามี-ภรรยา กับนายปัทม์  สายสวรรค์  บุคคลสัญชาติไทย ซึ่งประกอบอาชีพขับรถรับจ้าง  จนมีบุตรด้วยกันหนึ่งคน คือ เด็กชาย ภาณุพงศ์  วิลัยพร  เกิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2544  ที่บ้านไม่มีเลขที่  หมู่ที่ 3 ตำบลบางพูด ถนนสุขาประสรรค์ 2  อำเภอปากเกร็ด  จังหวัดนนทบุรี  โดยภายหลังกลับมาคืนดีกับนายบุญแก้ว จึงมีนายบุญแก้ว  วิลัยพร เป็นผู้ทำคลอด

 

ปี พ.ศ. 2547 – 2549

เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2547 นายสงคราม ถูกจับในข้อหาลักทรัพย์  เพราะเหตุที่จะเอาเงิน ไปเล่น เกมส์ออนไลน์  และในระหว่างสู้คดี ไม่มีเงินประกันตัวจำนวน 5,000 บาท  จึงเข้ามาอยู่ ที่บ้านแรกรับ นนทบุรี  เป็นเวลากว่า 4 เดือน หลังจากนั้นเมื่อศาลพิพากษาแล้ว ก็มาอยู่ที่ บ้านกรุณา อีกกว่า 8 เดือน และเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 นายสงครามก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบมเด็กและเยาวชน  บ้านกาญจนาภิเษก

ในช่วงหนึ่งประมาณ ปลายปี 2547  นางไพรินทร์ โกรธนายบุญแก้ว ที่มักเมาสุราและทำร้ายร่างกาย  จึงตั้งใจที่จะพาเด็กชายภาณุพงศ์ เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่ประเทศลาว เนื่องจากบุตรคนโตทั้ง 2 คน คือ ทั้งนายสงครามไม่ได้อยู่ด้วยแล้ว  ประกอบกับนางสาวไพรัตน์  วิลัยพร  ก็ได้แต่งงานแยกบ้านไปอยู่กับสามี คือ นาย มนู  พุ่มฉัตร  บุคคลสัญชาติไทย โดยได้เดินทางไปที่บ้านของนายกูด  ดีแก ที่บ้านโมกเจ็ดต้น  อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์  โดยไปพักอาศัยอยู่กับนายกูด อยู่ประมาณ หนึ่งอาทิตย์ แต่ก็ไม่สามารถกลับ ไปที่ประเทศลาวได้เนื่องจากถูกกำนันและคนที่หมู่บ้านห้ามไว้เพราะเกรงว่าจะนางไพรินทร์และลูกจะถูกจับ

และไม่ได้กลับเข้ามาอีก

 พ.ศ. 2549 – ปัจจุบัน

                เนื่องจากนายสงครามกำลังจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2549  และทางศูนย์ฝึกฯ จะฝากเข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม แต่เผชิญปัญหาว่านายสงคราม เป็นบุคคลที่ไม่มีเอกสาร ทางทะเบียนราษฎร และ ไม่มีเลข 13 หลัก ทางศูนย์ฝึกฯ โดยคุณจารุวรรณ  ใช้เทียมวงษ์  เจ้าหน้าที่ประสานงาน โครงการติดตามผลเยาวชน บ้านกาญจนภิเษก หลังกลับคืนสู่สังคม จึงประสานมายังนางสาวชลฤทัย  แก้วรุ่งเรือง ผู้ประสานงานโครงการห้องเรียน คลีนิก และสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ในกองทุนศาสตราจารย์คนึง   ฦๅไชย  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยความร่วมมือของ ศูนย์นิติศาสตร์  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาการคุ้มครองเด็ก  ภายใต้การดูแลของ ณศงดร.พันธุ์ทิพย์  กาญจนะจิตรา  สายสุนทร  รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์  เพื่อขอความช่วยเหลือในการการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล ของนายสงคราม และครอบครัวต่อไป

                ดังนั้น เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมา  ทางผู้ประสานงานโครงการฯ และ ศูนย์นิติศาสตร์ฯ  จึงได้ทำการสอบปากคำนายสงคราม  วิลัยพร และ คุณจารุวรรณ  ใช้เทียมวงศ์ เบื้องต้น เกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อการกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายของนายสงคราม  ณ ห้องประชุมผู้ร้องของศูนย์นิติศาสตร์  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) [1]แต่เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากนายสงคราม ไม่พียงพอแก่การวิเคราะห์สถานะบุคคลทางกฎหมาย และ ประกอบกับเป็นกรณีที่มีบุคคลอื่นๆ ในครอบครัว ทุกคนก็ตกอยู่ในสภาพปัญหาที่ไม่มีสถานะบุคคลทางกฎหมายเช่นเดียวกัน  ทางศูนย์ฝึกฯ จึงประสานงานที่จะให้มีการสอบปากคำบุคคลในครอบครัววิลัยพร ในเวลาต่อมา

                ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549  ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฝึกฯ โดยคุณจารุวรรณฯ  ผู้ประสานงานโครงการห้องเรียน คลีนิก และสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายฯ   และ นักศึกษาฝึกตั๋วทนายฯ และ นักศึกษา  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ทำการสอบปากคำนายสงครามและครอบครัว  เพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 2 ณ  บ้านไม่มีเลขที่ (ตรงข้ามอดีตสถานีบริการน้ำมันปตท.) ซอย 37/80  และ ณ  บ้านเลขที่ 52/ 6  หมู่ 3 ตำบลบางพูด  ถนนสุขาประชาสรรค์ 2    อำเภอปากเกร็ด  จังหวัดนนทบุรี [2] เพื่อสำรวจข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานที่มีการกล่าวอ้าง เพื่อใช้ในการวิเคราะห์สถานะบุคคล และ นำเสนอกรณีปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ไขปัญหาของนายสงครามและครอบครัววิลัยพร ในลำดับต่อไป

--------------------------------------------------------------



[1] ู้เข้าร่วมประชุมในการสอบปากคำนายสงคราม  วิลัยพร ครั้งที่ 1 ได้แก่ 1. นายสงคราม  วิลัยพร  2. นางจารุวรรณ  ใช้เทียมวงษ์  จนท.ศูนย์ฝึกฯ  3.นางสาวชลฤทัย  แก้วรุ่งเรือง  ผู้ประสานงานโครงการห้องเรียน  คลีนิก และสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายฯ 4. นางสาวรุ่งรัตน์  ธนบดีธาดา  นักวิจัยในกองทุนศาสตราจารย์คนึง  ฦๅไชย  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  5.นายดำรงศักดิ์  นิธิเศรษฐทรัพย์  นักศึกษาฝึกตั๋วทนาย ศูนย์นิติศาสตร์ฯ  และ 6. นายวศิน  เลิศวไลพงศ์ นักศึกษาฝึกตั๋วทนาย ศูนย์นิติศาสตร์ฯ

[2] ู้เข้าร่วมประชุมในการสอบปากคำนายสงคราม  วิลัยพรและครอบครัว ครั้งที่ 2 ได้แก่ 1. นายสงคราม  วิลัยพร  2. นายบุญแก้ว  วิลัยพร  3. นางไพรินทร์  วิลัยพร  4. เด็กชายภาณุพงศ์   วิลัยพร  5. นายจำนงค์  คมสันต์  (เพื่อนบ้าน)  6.นางจารุวรรณ  ใช้เทียมวงษ์  จนท.ศูนย์ฝึกฯ  7.นางสาวชลฤทัย  แก้วรุ่งเรือง  ผู้ประสานงานโครงการห้องเรียน  คลีนิก และสำนักงานที่ปรึกษา กฎหมายฯ  8. นักศึกษาฝึกตั๋วทนาย ศูนย์นิติศาสตร์ฯ  9. นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  10. นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และ11. นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

 

หมายเลขบันทึก: 227075เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2008 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 08:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท