กว่าจะข้ามขุนเขา


ขุนเขาภายในจิตวิญญาณมนุษย์ ขุนเขาที่ทุกคนต้องประสบพบเจอ บ้างรู้จัก บ้างไม่รู้จัก ล้วนปรากฏอยู่เบื้องหน้าชีวิต จิตใจ และในห้วงอารมรณ์ของการดำรงอยู่และดำเนินไปท่ามกลางความมืดมนอำพรางของกับดักและปากเหวที่อาจมองไม่เห็น

กว่าจะข้ามขุนเขา

[ด้วยปลายมีดของเธอและฉัน]

ธมกร (ศิวกานท์ ปทุมสูติ)

.............................................................................

เป็นหนังสือกวีนิพนธ์ที่ผู้เขียนเขียนขึ้นเพื่อเปิดเผยขุนเขาภายในจิตวิญญาณมนุษย์  ขุนเขาที่ทุกคนต้องประสบพบเจอ  บ้างรู้จัก บ้างไม่รู้จัก  ล้วนปรากฏอยู่เบื้องหน้าชีวิต จิตใจ และในห้วงอารมรณ์ของการดำรงอยู่และดำเนินไปท่ามกลางความมืดมนอำพรางของกับดักและปากเหวที่อาจมองไม่เห็น  ทุกๆ บทกวีที่ถักทอร้อยต่อกันด้วยเรื่องราวของชีวิต จากบทแรกถึงบทสุดท้าย ได้เผยแสดงภาพชีวิต ความรัก ความสุข ความทุกข์ ความมีอุดมคติ ผ่านสถานการณ์การต่อสู้ทั้งกับโลกภายนอกและโลกภายใน ให้สัมผัสรับรู้ได้ถึงเวทนารมณ์ ที่ก่อให้เกิดมโนคติและปัญญาวิถี ดั่งดวงดอกไม้บำรุงแรงใจแก่ผู้ต้องการฝ่าข้ามขุนเขาแห่งตน  มิใช่การแนะนำแนวทางชีวิต หากแต่เป็นภาพเงาพฤติกรรมที่ก้าวเคลื่อนไปกับประสบการณ์ของผู้อ่านแต่ละคน ผู้มีตัวตน...ผ่านตัวละคร ฉาก เหตุการณ์ และรหัสนัยของถ้อยคำ

รหัสนัยที่วางไว้ตั้งแต่ชื่อหนังสือ [ชื่อหนังสือในวงเล็บ] ชื่อเรื่องของบทกวีแต่ละเรื่อง [ถ้อยคำในวงเล็บต่อท้ายแต่ละเรื่อง] ชื่อนามปากกา [และวงเล็บชื่อจริงของผู้เขียน] และบริบทต่างๆ ทั้ง คำนัย บทเชื่อตอน กระทั่งถึง กุญแจหมาสนุก...  ล้วนตั้งใจผูกปริศนาท้าทายการขบคิดไว้  หวังให้ผู้อ่านได้สนุกกับการอ่าน รื่นรมย์กับความงอกงามในจินตภาพตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน  ดังนั้นหนังสือกวีนิพนธ์เล่มนี้จึงมีความจำเป็นที่ผู้อ่านผู้หวังถอดรหัสนัยแห่งปรัชญา ทั้งในตัวบทกวีทั้งเล่มและในตัวตนของตนเองอย่างจริงจัง จะต้องอ่านช้าๆ ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายตามลำดับ  

ในบทความแนะนำชวนอ่านนี้จะขอนำ "คำนัย" ที่ปรากฏแทน "คำนำ" และบทกวีบางเรื่องในเล่มมาฝากให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกันดังนี้ครับ...

คำนัย...

ภูเขาไม่ได้เรียนหนังสือ

ไม่เคยรู้จักบทกวี

แต่ก็ไม่ปฏิเสธ

ที่จะฟังนิทานจากแสงดาว              

ฟังเรื่องเล่าของเปลวแดด

ฟังบทเพลงแห่งสายลม

สดับดนตรีหยาดฝน ธารน้ำตก

รับสัมผัสโอบกอดของเมฆหมอก

ร่วมจิตวิญญาณกับมิ่งไม้ใบหญ้า

กรวด หิน ดิน ทราย

นก แมลง และสัตว์ป่า

ภูเขาไม่ได้เรียนหนังสือ

แต่ก็ไม่ลืม  

ที่จะนิ่งเงียบ…ให้กวีอ่าน

 

...........................................................

ตั  ว  อ  ย่  า  ง  บ  ท  ก  วี

ตั ว อ ย่ า ง ที่  ๑

เวฬุนารี

[อนงค์วนาอุปการมาตุ]

หน้า ๒๐-๒๑

.

          เปลื้องผ้าสิสาวน้อย              ขณะนี้มิมีใคร

ไยดีฤดีใส                                    บริสุทธิเดียงสา

          แม้ธารละหานแห้ง                วนะแกร่งเพราะเธอกล้า

อาบแสงอุษาพา                            รพิกอดตระกองขวัญ

          โปรยปลิวละลิ่วลม               สิจะห่มพนมวัน

เผยร่างสะอางอัน                           ยุวรุ่นดรุณศรี

          ปลายฝนลุต้นหนาว              ดุจหนาวมิปรานี

สืบปราณลุผ่านปี                           บมิง่ายฤทัยสม

          เหมันต์และคิมหันต์               ขณะผันก็ผ่าวคม

สาวน้อยจะคล้อยตรม                     ฤจะเติบประสบการณ์

          เหนียมอายกระไรหนอ           วระโฉม ณ แดดฉาน

หล้าภพจะพบพาน                          วิรภาพประทับตรึง

          เปลือยหนามและลำนาง        อุทะขังวิเศษซึ้ง

เอื้อออมถนอมถึง                           สุวสันตวรรษา

          ผ้าใหม่สไบเขียว                  สิจะเกี้ยววิโลกา

เรียวก้านสุกานดา                           จะประดับฤดีแดน

          ฝนดินฤดูดอน                     ทุระซ่อนวิบากแสน

ขวัญเวฬุแร้นแค้น                           ดลเกียรติฤดูกรรม

          รักเธอและศรัทธา                 วนะนาริเลิศล้ำ

หลงทางและขาดน้ำ                       บมิตายเพราะปล้องน้อย

.

ข้อควรสังเกตพิจารณาในการอ่าน : เวฬุนารี คือใครหรืออะไร ไยต้องให้เธอเปลื้องผ้า ถ้าไม่เปลื้องผ้าจะเป็นอย่างไร เปลื้องแล้วได้อะไร ในที่สุดความหมายปลายทางคืออะไร หรือต้องการนำเสนอปรัชญาใด 

............................................

ตั ว อ ย่ า ง ที่  ๒

ด้ามมีดมีประโยชน์อันใด

[ขบถสิงขร]

หน้า ๙๒-๙๓

          ท่านอาจารย์สอนศิษย์เดินป่า      โดยให้ศิษย์เดินหน้าเข้าป่าใหญ่

แหวกหญ้าฝ่าพงมุดดงไม้                     กำหนดจิตใจให้เป็นทาง

          ปะทะเถาวัลย์พันเกี่ยว               ศิษย์เหลียวขอมีดเพื่อตัดถาง

อาจารย์ชักมีดทิ่มพลาง                       ศิษย์ผวาตาค้างโดดหนีคม

          อาจารย์ท่านไยทำเยี่ยงนี้           ด้ามมีไยไม่ส่งให้เหมาะสม

ศิษย์พ้อต่อว่าแปร่งอารมณ์                  อาจารย์อมยิ้มพลางพูดจา

          ด้ามมีดมีประโยชน์อันใด           ร่ำรี้ร่ำไรอยู่ในป่า

เมื่อไรจะผ่านมรรคา                           เวลาเหลือน้อยลงทุกที

          ด้ามมีดมีประโยชน์อันใด           ทิ่มใส่ศิษย์ท่านกลางวิถี

ยังก้องสะท้อนวนาลี                          ป่านี้ป่าโน้นอนธการ

          ด้ามมีดมีประโยชน์อันใด          ทิ่มใจศิษย์นอกวนาสถาน

แอ่นอกรับมีดของอาจารย์                   เลือดโง่กระฉูดฉานฉ่ำคม

.

ข้อควรสังเกตพิจารณาในการอ่าน : ด้ามมีดคืออะไร คมมีดและปลายมีดคืออะไร พระอาจารย์สอนอะไร ผู้เขียนต้องการนำเสนอปรัชญาความคิดใดเป็นสำคัญกันแน่

.............................

ตั ว อ ย่ า ง ที่  ๓

จอมยุทธ์

[ก้านบัวมหาเมธี]

หน้า ๖๘-๖๙

          กลับจากสงครามความคิด     โลหิตติดกรังก้านสมอง

นักสู้ผู้รบเป็นรอง                           ปิดห้องดูแลแผลใจ

ฉันเตือนคุณแล้วมิฟัง                     แม้ตั้งจิตแท้แค่ไหน

แม้คุณคิดดีเพียงใด                       หากไร้อำนาจอำนวย

ท่ามกลางมหาประชาคม                นิยมเสียงดังเอาด้วย

สนองเสนอเอออวย                      ก็ป่วยการปากแปลกปลอม

ฉันเตือนคุณแล้วมิเชื่อ                  แม้เยื่อปัญญาคุณหอม

สัจจะคารมบ่มงอม                      อย่าคิดตะล่อมใครเลย

          ท่ามกลางมหาเมธี            วิถีอัตตาผ่าเผย

ทุกดาบวับคมคุ้นเคย                   แต่เปรยแต่ประฟาดฟัน

ฉันเตือนคุณแล้วมิจำ                  แม้หมื่นถ้อยคำสวรรค์

ท่ามกลางกระแสโลกันตร์            มิอาจวาดฝันยินฟัง

กลับสู่สงครามความจริง             ละทิ้งสิ่งเท็จเบื้องหลัง

ทิ้งโลกถกเถียงเสียงดัง              กรงขังใบเขื่องเรืองรมย์

นักสู้ผู้แพ้ของฉัน                     หยุดรันโรมจิตคิดขม

เก็บดาบของคุณสงวนคม          ไว้ข่มเชือดคุณมิใช่ใคร

.

ข้อควรสังเกตพิจารณาในการอ่าน  :  การต่อสู้ที่กล่าวถึงในบทกวีนี้เป็นอย่างไร ผลของการต่อสู้ทำให้เราต่างได้คำตอบอันใดบ้าง และที่สุดของการต่อสู้ของจอมยุทธ์ให้ปรัชญาสำคัญใด

...................................................

หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะสนุกกับการถอดรหัสนะครับ...

ทั้งสามเรื่องของบทกวีล้วนมีขุนเขาที่ต้องก้าวข้าม...

.

หมายเลขบันทึก: 229591เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2008 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ขอเรียนให้อาจารย์ทราบว่า
  • ที่โรงเรียนได้นำบทอาขยานจากบันทึกของอาจารย์ไปท่อง อ่าน และฝึกวเคราะห์กันแล้วค่ะ
  • ขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูง
  • ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์คะ

ครูขยัน เด็กขยัน

เส้นทางที่ยาวไกลก็ใกล้แค่ใจเอื้อม

...

เรียนครูกานท์ค่ะ

  • ดีใจมาก ๆ ที่พบครูกานท์ในblogนี้ จะได้อ่านบทกวีซึ่งเคยหลงใหลมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ค่ะ
  • เห็นความตั้งใจของครูกานท์ที่ทำงานเพื่อเด็ก เยาวชน  และคุณครูแล้วทำให้เกิดศรัทธาค่ะ
  • ขอเป็นกำลังใจให้ครูกานท์ค่ะ 
  • ขอบคุณครูตา...และรู้สึกยินดีกับการพบเจอกันในโลกออนไลน์แห่งนี้เช่นเดียวกันครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท