ลักคณา พบร่มเย็น
อาจารย์ ลักคณา ลักคณา พบร่มเย็น พบร่มเย็น

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ดินในประเทศไทย


กฎหมายเกี่ยวข้องกับที่ดินในประเทศไทย

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ดินในประเทศไทย

 

ในปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ดินและการจัดที่ดินมีอยู่ด้วยกันหลายฉบับ โดยกฎหมายแต่ละฉบับล้วนออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมในสภาวการณ์ที่แตกต่างกัน โดยหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบมีความแตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจในสิทธิของเอกชนในที่ดินประเภทต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจบทบาทของกฎหมายแต่ละฉบับที่ออกมาโดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน  ดังนี้

----------------------------------------

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

----------------------------------------

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน เป็นบัญญัติที่กล่าวถึงหลักทั่วไปที่ในเรื่องอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งหมายความรวมถึงที่ดินด้วยนั้น  หากไม่มีกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษ คงต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไปปรับใช้ ในฐานะที่กฎหมายทั่วไป  โดยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในบรรพ ๔ ไม่ได้แยกว่าบทบัญญัติใดใช้กับที่ดินของรัฐและบทบัญญัติใดใช้กับที่ดินของเอกชน  คงต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญในการปรับใช้กฎหมาย  หรือพิจารณาจากคำพิพากษาของศาลประกอบการพิจารณาในการปรับใช้ในเรื่องนั้นๆ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติถึงหลักเกณฑ์ทั่วไปในเรื่องการครอบครอง  กรรมสิทธิ์ และหลักในที่ดินของรัฐและที่ดินของเอกชนในภาพรวม

----------------------------------------

ประมวลกฎหมายที่ดิน

----------------------------------------

ในการประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินในปี พ.ศ. ๒๔๙๗[1] โดยรัฐได้ดำเนินการจัดที่ดินโดยกว้างขวางให้แก่ประชาชนได้มีสิทธิในที่ดิน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และส่งเสริมให้ประชาชนมีที่ดินทำมาหากิน โดยจัดให้มีการเดินสำรวจ  ออกเอกสารสิทธิด้วยการใช้ระวางรูปถ่ายทางอากาศ  การรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และการทำกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน  โดยบทบัญญัติของประมวลกฎหมายที่ดินส่วนใหญ่จะให้อำนาจของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ในการดูแล รักษา และจัดการที่ดินของรัฐและที่ดินของเอกชนในภาพรวม

----------------------------------------

พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔

----------------------------------------

การประกาศใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นกฎหมายที่กำหนดให้รัฐมีอำนาจกำหนดบริเวณที่ดินแห่งใดที่มีสภาพธรรมชาติเป็นที่น่าสนใจ ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมเพื่อสงวนไว้ให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชน ก็ให้มีอำนาจกระทำได้โดยประกาศพระราชกฤษฎีกาและให้มีแผนที่แสดงแนวเขตแห่งบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วย บริเวณที่กำหนดนี้เรียกว่า อุทยานแห่งชาติ ดังนั้น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ จะใช้บังคับในท้องที่ใด ต้องมีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดท้องที่ที่จะใช้บังคับก่อน  จึงทำให้พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ เข้าไปมีผลใช้บังคับในท้องที่นั้นได้  โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาการและดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฉบับนี้เดิมคือกรมป่าไม้  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ

--------------------------------------------

พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๐๗

-------------------------------------------

พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้ถูกตราขึ้น เนื่องจาก ป่าไม้ที่สงวน คุ้มครองไว้แล้ว และที่ยังมิได้สงวนคุ้มครองได้ถูกบุกรุกและถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก แม้ป่าไม้ในบริเวณต้นน้ำลำธารได้ถูกแผ้วถางเผาทำลายไปเป็นอันมาก ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดความแห้งแล้ง พื้นดินพังทลาย ลำน้ำตื้นเขิน หรือเกิดอุทกภัยอันเป็นผลเสียหายแก่การเกษตรและเศรษฐกิจของประเทศอย่างร้ายแรง  รัฐบาลจึงเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อให้สามารถดำเนินการคุ้มครองป้องกัน เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าของชาติ  และเพื่อมิให้อาชีพเกษตรกรรมของประชาชนส่วนใหญ่และเศรษฐกิจของประเทศถูกกระทบกระเทือนจากผลของการทำลายป่า

ต่อมาพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 (ใช้บังคับ 12  กันยายน 2528) ได้ออกมาใช้บังคับ เนื่องจาก ราษฎรจำนวนมากเข้าไปบุกรุกทำกินในที่ป่าสงวนแห่งชาติ รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะช่วยเหลือราษฎรที่มีความจำเป็นในการครองชีพสามารถเข้าทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้โดยไม่เดือดร้อนและโดยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงได้แก้ไขกฎหมายให้ทางราชการมีอำนาจอนุญาตให้บุคคลเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้เป็นคราว ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยกำหนดว่าในระยะสั้นอันเป็นการช่วยเหลือชั่วคราวตามความจำเป็น อนุญาตได้คราวละไม่เกินห้าปี  นอกจากนั้นได้แก้ไขบทบัญญัติอื่น ๆ ที่ยังไม่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงและสะดวกแก่การปฏิบัติราชการ เช่น อนุญาตให้ทางราชการและองค์การของรัฐใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นการชั่วคราวได้โดยคล่องตัวยิ่งขึ้น   หน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาการและดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

--------------------------------------------------------

พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.๒๕๑๑

--------------------------------------------------------

 ในช่วงนี้ที่ดินจำนวนมากตกอยู่ในมือของนายทุน  ประกอบกับช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  จึงได้มีการจัดรูปที่ดินเพื่อการครองชีพขึ้น เพื่อให้กลุ่มคนระดับล่างสามารถมีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้สามารถอยู่ได้ในสังคม  จึงเป็นการจัดที่ดินของรัฐ เพื่อให้ประชาชนได้มีที่ตั้งเคหสถาน และประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินนั้น โดยการกำหนดเขตการจัดรูปที่ดินกระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และให้มีแผนที่ไว้ท้ายพระราชกฤษฎีกานั้น[3]    ซึ่งเป็นการจัดที่ดินตามพ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อการครองชีพ เป็นการจัดที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และการจัดที่ดินในเขตนิคมสร้างตนเอง ซึ่งเดิมอยู่ในความดูและของกรมประชาสงเคราะห์  ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

-------------------------------------------------------------

พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.. 2517

-------------------------------------------------------------

การจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นการจัดที่ดินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรมของประเทศให้เจริญก้าวหน้า และส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้น โดยดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเสียใหม่ เพื่อให้ที่ดินทุกแปลงได้รับประโยชน์จากโครงการชลประทานและการสาธารณูปโภคโดยทั่วถึง และเพื่อให้เกษตรกรได้มีที่ดินของตนเองสำหรับประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งจะมีผลช่วยให้ฐานะในทางเศรษฐกิจของประเทศและของเกษตรกรมั่นคงขึ้น 

  โดยพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 ได้มีกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการรักษาระบบชลประทานและการระบายน้ำ ถนนหรือทางลำเลียงในไร่นาและสิ่งสาธารณประโยชน์ที่ใช้ร่วมกัน และยังมิได้มีบทบัญญัติให้วางข้อบังคับเกี่ยวกับการเปิดหรือปิดประตูกักน้ำหรือสิ่งอื่นที่ใช้ในการบังคับน้ำเข้าสู่ที่ดินของเจ้าของที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ตลอดจนได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายเพื่อการจัดรูปที่ดิน และให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่เจ้าของที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินและเขตที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเป็นท้องที่ที่จะสำรวจเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามมาตรา 25  และนอกจากนั้นบทกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการจัดรูปที่ดิน ได้กำหนดไว้เฉพาะโทษปรับเท่านั้น  หน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาการ และดำเนินงานในตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ สำนักงานจัดรูปที่ดินเพื่อการเกษตร  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

----------------------------------------------------------

พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘

----------------------------------------------------------

ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศไทยประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่ดินจึงเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นรากฐานเบื้องต้นของการผลิตทางเกษตรกรรม แต่ปัจจุบันปรากฏว่าเกษตรกรกำลังประสบความเดือดร้อน  เนื่องจากต้องสูญเสียสิทธิในที่ดินและกลายเป็นผู้เช่าที่ดิน ต้องเสียค่าเช่าที่ดินในอัตราสูงเกินสมควร ที่ดินขาดการบำรุงรักษา จึงทำให้อัตราผลิตทางเกษตรกรรมอยู่ในระดับต่ำ เกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมและเสียเปรียบจากระบบการเช่าที่ดินและการจำหน่ายผลิตผลตลอดมา ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะความยุ่งยากทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม การปกครองและการเมืองของประเทศเป็นอย่างมาก จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยด่วนที่สุด โดยวิธีการปฏิรูปที่ดิน เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน และให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์มากที่สุด พร้อมกับการจัดระบบการผลิตและจำหน่ายผลิตผลเกษตรกรรม เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนองแนวนโยบายแห่งรัฐในการลดความเหลื่อมล้ำในฐานะของบุคคลในทางเศรษฐกิจและสังคม ตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ  หน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาการ และดำเนินงานในตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

---------------------------------------------

พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518

---------------------------------------------

เนื่องจาก ไม่มีกฎหมายว่าด้วยการปกครองดูแลรักษาที่ราชพัสดุให้เป็นไปโดยมีระเบียบและหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ทำให้เกิดปัญหายุ่งยากในทางปฏิบัติหลายประการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบที่ราชพัสดุขึ้นโดยเฉพาะ โดยให้กระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการนี้ เพื่อการประหยัดและขจัดปัญหางานซ้ำและซ้อนกัน หน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาการ และดำเนินงานในตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ กรมธนารักษ์  กระทรวงการคลัง

--------------------------------------------------------------------------

พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522  

--------------------------------------------------------------------------

เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าของประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สมควรเพิ่มบทบาทในด้านการค้าและการบริการเพื่อส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศให้ต่อเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรมในเขตอุตสาหกรรมส่งออกเพื่อให้สามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบของวงจรเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ในเขตพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมที่จะจัดตั้งขึ้นยังอาจมีพื้นที่ครอบคลุมที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินด้วยสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับการถอนสภาพและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวเพื่อให้เกิดความคล่องตัว และเหมาะสมกับการดำเนินการนิคมอุตสาหกรรม และโดยที่การจัดการและการจัดสรรที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรมมีขั้นตอนตามกฎหมายต่าง ๆ ที่จะต้องปฏิบัติหลายฉบับอันทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมควรแก้ไขเพิ่ม เติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องเพื่อลดขั้นตอนและเวลาในการดำเนินการให้น้อยลงเพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศสอดคล้องกับสภาวะการแข่งขันและการลงทุนระหว่างประเทศ  โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาการ และดำเนินงานในตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม

------------------------------------------------------

พระราชบัญญัติ การจัดสรรที่ดิน พ.. 2543

------------------------------------------------------

เพื่อแก้ไขอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ของหมู่บ้านจัดสรร เช่นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรรต้องทำตามแบบที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนด ผู้รับชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินจัดสรรด้วยยอดใบเสร็จรับเงินแก่ผู้ชำระ มิฉะนั้นมีความผิดอาญา การจดทะเบียนซื้อขายที่ดินจัดสรร ผู้ซื้อต้องแสดงหลักฐานใบเสร็จการชำระเงินว่าเป็นชื่อของผู้ซื้อ ผู้ซื้อสามารถขอไถ่ถอนจำนวนที่ดินแปลงที่จะซื้อหรือชำระหนี้บุริมสิทธิที่ค้างชำระได้เอง แล้วจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงนั้นมาเป็นชื่อของผู้ซื้อได้ อีกทั้งผู้จัดสรรที่ดินต้องหาธนาคารหรือสถาบันการเงินมาค้ำประกันเกี่ยวกับการจัดสาธารณูปโภคของโครงการจัดสรรนั้นด้วย หากผู้จัดสรรไม่สามารถดำเนินการในส่วนสาธารณูปโภคได้สำเร็จตามแบบ ธนาคารหรือสถาบันการเงินผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบ อันแสดงถึงสิทธิหน้าของผู้จัดสรร, ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรและธนาคารหรือสถาบันการเงินด้วย และผู้ซื้อที่ดินจัดสรรในโครงการจัดสรรตั้งแต่ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ดินจัดสรรทั้งหมดสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนนิติบุคคล     หมู่บ้านจัดสรรได้ โดยผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกคนต้องเป็นสมาชิกในนิติบุคคลดังกล่าว และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค เป็นต้น

อนึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้บังคับถึงที่ดินที่จะยื่นคำขอจัดสรรนี้ โดยนอกจากจะเป็นโฉนดอันเป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์แล้ว ยังรวมไปถึงที่ดินที่เป็น น.. 3. ซึ่งมีเพียงสิทธิครอบครองด้วยที่อยู่ในข่ายต้องยื่นขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ หน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาการ และดำเนินงานในตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ กรมที่ดิน  กระทรวงมหาดไทย

------------------------------------------------------

พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.. ๒๕๔๗ 

------------------------------------------------------

              พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.. ๒๕๔๗  ได้บัญญัติขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการจัดรูปที่ดิน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสภาพที่อยู่อาศัย แหล่งธุรกิจ อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ปรับปรุงหรือจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองและชนบทที่เสื่อมโทรม อันเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชนเมืองและชนบท  หน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาการ และดำเนินงานในตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ  สำนักงานจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่  กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทวงมหาดไทย

                กฎหมายที่เกี่ยวกับที่ดินมีอยู่ด้วยกันหลายฉบับ   โดยในกฎหมายแต่ละฉบับมีวัตถุประสงค์และหน่วยงานที่รับผิดชอบในดำเนินการตามพระราชบัญญัติแตกต่างกันไป  ส่งให้หน่วยงานของรัฐที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการจัดที่ดินมีอยู่ด้วยกันหลายหน่วยงาน  อันก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติมากพอสมควร รวมทั้งทำให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ดินเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก และมีความสลับซับซ้อน 



หมายเลขบันทึก: 231747เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2008 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 12:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แล้วการจัดการเชิงซ้อนล่ะคืออะไรครับอาจารย์ มีกฎหมายบัญญัติไว้บ้างหรือยัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท