BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ศีลข้อกาเมฯ


ศีลข้อกาเมฯ

วันนี้... (วันพระ) ได้นำศีลข้อสามมาเป็นหัวข้อธรรมเทศนา โดยเริ่มจากการแปลคำสมาทานศีลว่า...

  • กาเมสุ มิจฺฉาจารา เวรมณีสิกขาปทํ สมาทิยามิ
  • ข้าพเจ้ารับเอาซึ่งหัวข้อในการศึกษาในเจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย

คำว่า กาม ในบาลีมีความหมายกลางๆ เช่น สิกฺขกาโม ผู้ใคร่ในการศึกษา หรือ ธมฺมกาโม ผู้ใคร่ในธรรม มีความหมายเชิงบวก... ขณะที่ วัตถุกาม วัตถุเป็นเหตุใคร่ หรือ กิเลสกาม กิเลสเป็นเหตุใคร่ กลับมีความหมายเชิงลบ...

ส่วน กาเมสุ มิจฉาจารา ในศีลข้อสามนี้ตามตัวแปลว่า การประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ซึ่งในอรรถกถาได้ขยายความไว้ว่า การประพฤติโดยเอื้อเฟื้อของคนสองคนเพื่อเสพอสัทธรรมอันบัณฑิตติเตียนโดยส่วนเดียว... ขณะที่สำนวนแบบไทยๆ เข้าใจกันว่าการประพฤติผิดลูกเมียหรือผัวผู้อื่น การเป็นชู้ (หรือสำนวนปัจจุบันว่าการมีกิ๊ก) ก็จัดว่าเป็นการผิดศีลข้อนี้...

 

ลำดับต่อมาก็ได้แสดงถึงองค์ประกอบของศีลข้อนี้ ซึ่งมี ๔ ประการด้วยกัน กล่าวคือ

  • วัตถุที่ไม่พึงถึง ( บางครั้งก็แปลทับศัพท์ว่า อคมนียวัตถุ )
  • จิตคิดจะเสพ
  • ความพยาม
  • การยังมรรคให้ถึงมรรคหยุดอยู่

อรรถาธิบายขององค์ประกอบศีลข้อนี้ ค่อนข้างจะพิศดารกว่าข้ออื่น แต่ผู้เขียนได้รวบรัดแสดงให้พอสมควรแก่เวลา โดยเริ่มต้นจากการอธิบายว่า วัตถุที่ไม่พึงถึงสำหรับบุรุษก็คือสตรี และสำหรับสตรีก็คือบุรุษนั้นเอง โดยอ้างตามคัมภีร์ว่า บรรดาสตรี ๒๐ จำพวกนั้น ๘ จำพวกแรก ถือว่าเป็นมิจฉาจารสำหรับบุรุษทั่วไป ส่วนอีก ๑๒ จำพวกนั้นเป็นมิจฉาจารสำหรับบุรุษผู้มิใช่สามี ฝ่ายบุรุษผู้เป็นสามีของพวกนางก็เช่นเดียวกัน จัดเป็นมิจฉาจารสำหรับสตรีอื่น แล้วก็ยกตัวอย่างสตรี ๘ จำพวก...

สตรีที่มารดารักษา หรือสตรีที่ญาติพี่น้องรักษาเป็นต้น จัดว่าเป็นสตรี ๘ จำพวก สตรีเหล่านี้ พวกเธอมีผัสสะเป็นของตนเอง เพราะบิดามารดหรือญาติพี่น้องนั้น มิได้เป็นใหญ่ในผัสสะของพวกนาง บิดามารดาและญาติพี่น้องเหล่านั้น รักษาพวกนางไว้ให้อยู่ในจารีตประเพณีเท่านั้น มิได้รักษาไว้เพื่อจะเชยชมผัสสะของนาง... ดังนั้น หากสตรีเหล่านี้พอใจบุรุษใดที่ไม่มีภรรยาก็ไม่จัดว่าเป็นมิจฉาจาร

นัยตรงกันข้ามกับสตรีผู้มีสามีแล้วอีก ๑๒ จำพวก มีสตรีที่ธงนำมา กล่าวคือสตรีที่ถูกกวาดต้อนมาจากฝ่ายแพ้สงครามแล้วบุรุษบางคนรับนางไว้เป็นภรรยา หรือสตรีผู้อยู่ด้วยความพอใจกับบุรุษในฐานะภรรยา เป็นต้น สตรีผู้มีสามีแล้วเหล่านี้ มีผัสสะเป็นของสามี ดังนั้น จึงเป็นมิจฉาจารในเมื่อถึงบุรุษอื่นผู้มิใช่สามีของตน ทำนองเดียวกัน บุรุษผู้มีภรรยาแล้วก็จัดว่าเป็นมิจฉาจารในเมื่อถึงสตรีอื่นผู้มิใช่ภรรยาของตน เพราะผัสสะเป็นของภรรยา

รายละเอียดประเด็นนี้มีมาก แต่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างอีกสองเรื่อง คือ สตรีที่มีอาชญารอบ ซึ่งพระราชามีราชโองการห้ามไว้ ซึ่งประเด็นนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่าตรงกับกฎหมายพรากผู้เยาว์ในปัจจุบัน นั่นคือ แม้สตรีที่เป็นสาวรุ่นอายุยังไม่ถึง ๑๕ ปีจะพอใจในบุรุษใด แต่บุรุษนั้นก็จัดว่าเป็นมิจฉาจาร เพราะสตรีนั้นมีอาชญารอบหรือกฎหมายป้องกันไว้....

อีกอย่างหนึ่ง คือ สตรีอันธรรมหรือโคตรรักษา เทียบปัจจุบันก็พวกนางชีผู้นุ่งขาวห่มขาวเป็นต้น แม้นางจะพอใจอยู่ร่วมกับบุรุษก็จัดว่าเป็นมิจฉาจารทั้งสองฝ่าย... โดยการเทียบเคียงพระ-เณรก็เช่นเดียวกัน จัดว่ามีธรรมหรือโคตรรักษา แม้สตรีใดชอบพออยู่ร่วมกับพระ-เณรด้วยความพอใจก็จัดว่าเป็นมิจฉาจาร...

 

จากนั้นก็ย้อนกลับมายังองค์ประกอบข้ออื่นๆ ในศีลข้อสามอีกครั้ง ซึ่งตามคัมภีร์กล่าวไว้ว่า สตรีโดยมากนั้น มีจิตคิดจะเสพ แม้ไม่มีความพยายามก็เป็นมิจฉาจารได้เพราะสำเร็จความประสงค์... และบางครั้งในเมื่อสตรีทำหน้าที่แบบบุรุษคือเริ่มต้นก่อน แม้บุรุษไม่มีความพยายาม แต่มีจิตคิดจะเสพก็เป็นมิจฉาจารได้เช่นเดียวกัน...

ดังนั้น องค์ประกอบ ๔ ประการเหล่านี้ ท่านกล่าวไว้โดยไม่มีส่วนเหลือ แต่เพียง ๓ ประการคือเว้นความพยายามก็จัดเป็นมิจฉาจารในเมื่อสำเร็จความประสงค์... อย่างไรก็ตาม แม้สำเร็จความประสงค์ แต่หากฝ่ายบุรุษหรือสตรีไม่มีจิตคิดจะเสพ ก็ไม่จัดเป็นมิจฉาจาร

ส่วนองค์ประกอบข้อสุดท้าย การยังมรรคให้ถึงมรรคหยุดอยู่ ผู้เขียนก็ขยายความว่าเริ่มตั้งแต่การจับมือถือแขนเป็นต้นไป ส่วนที่เหลือทุกคนอาจคิดได้เอง...

 

ประการสุดท้าย โทษหรือบาปของศีลข้อสาม ท่านอธิบายไว้ว่า มิจฉาจารถือว่ามีโทษหรือบาปน้อยในเพราะวัตถุที่ไม่พึงถึงคือสตรีหรือบุรุษนั้นเป็นผู้มีคุณธรรมน้อย และจัดว่ามีโทษหรือบาปมากในเพราะสตรีหรือบุรุษนั้นเป็นผู้มีคุณธรรมสูง นัยนี้ เน้นที่คุณธรรมของผู้ถูกล่วงละเมิดเป็นเกณฑ์

ถ้าว่าทั้งบุรุษและสตรีมีความพอใจร่วมกัน มิจฉาจารถือว่ามีโทษหรือบาปน้อยในเพราะมีความพยายามอ่อน และจัดว่ามีโทษหรือบาปมากในเพราะมีความพยายามแรงกล้า...

อีกอย่างหนึ่ง มิจฉาจารที่ให้เป็นไปด้วยการกดขี่ข่มเหงหรือข่มขืนชำเราจัดว่ามีโทษหรือบาปมาก ซึ่งโทษหรือบาปมากเพียงใดในประเด็นนี้ ให้พิจารณาถึงระดับของความรุนแรงในการกระทำ...

สิ่งสำคัญที่สุด ท่านให้พิจารณาถึงความพยายามและกิเลส กล่าวคือ ถ้าความพยายามและกิเลสอ่อนก็จัดว่ามีโทษหรือบาปน้อย แต่ถ้ามีความพยายามและกิเลสแรงกล้าก็จัดว่ามีโทษหรือบาปมาก

  • เอวํ ก็มีโดยประการฉะนี้
หมายเลขบันทึก: 232041เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

          เรื่องศีลข้อสาม  ผมเคยอ่านพบบางตำราเขียนเอาไว้ว่า เรื่องศีลข้อสามสำหรับเด็กๆ  หมายถึง ของรักของหวงของคนอื่น เช่น ของเล่น  แอบไปเล่นของเล่นของเขา (ไม่ใช่ขโมย) ถือว่าละเมิดศีลข้อสาม

         ไม่ทราบว่าจะตีความอย่างนี้ได้ใหมครับ

                

กราบนมัสการค่ะ 

ท่านคงสบายดีนะคะ ตอนนี้ ดิฉันก็ยุ่งๆหลายเรื่อง บางเรื่อง ก็เป็นเรื่องที่เรากังวลไปเอง ทั้งนี้ ทั้งนั้น เรื่องที่กังวลตลอดเวลา มักจะเป็นเรื่องที่เกิดจาก ความรัก คือ รักลูก
สรุปว่า ไม่ว่า ความรักแบบใด เป็นทุกข์หมดค่ะ นี่ คือ สัจธรรมจริงๆ

Psmall man~natadee

 

  • เคยได้ยินเหมือนกัน...

เพื่อนสหธัมมิกที่เป็นนักเผยแพร่ บอกว่าศีลข้อสามนี้ จะไปสอนเรื่องผิดผัวผิดเมีย เด็กอนุบาลไม่รู้เรื่อง จึงต้องขยายความไปตามที่เงาแห่งศีลจะทอดโยงไปถึง...

แม้อาตมาจะเห็นด้วย เพราะนักเผยแพร่ต้องขยายความไปตามที่เห็นสมควรโดยมีหลักตัดสินธรรมวินัยเป็นเครื่องรองรับอีกชั้น...

แต่ในคัมภีร์ไม่เคยเห็น (ไม่ยืนยันหรือคัดค้านว่ามีหรือไม่มี)

............

PSasinand


เคหูปสิตะ (เปมะ) ศัพท์นี้นิยมแปลกันว่า (ความรัก) อันอาศัยเรือน หมายถึงความรักระหว่างพ่อแม่ลูก หรือพี่ๆ น้องๆ ....
แม้ความรักทำนองนี้ก็จัดว่าเป็นทุกข์ได้เหมือนกัน ดังพระคาถาว่า...
  • เปมโต ชายเต โสโก    เปมโต ชายเต ภยํ
  • เปมโต วิปฺปมุตฺตสฺส     นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ
  • ความโศกย่อมเกิดเพราะความรัก   ความกลัวย่อมเกิดเพราะความรัก
  • เมื่อพ้นแล้วจากความรัก               ความโศกก็ไม่มี ความกลัวจักมีแต่ที่ไหน
............
เจริญพรทั้งสองท่าน

นมัสการพระคุณเจ้า อยากให้พระคุณเจ้าอรรถาธิบายถึง บาปกรรม เมื่อประพฤติผิดศีล ในข้อนี้ด้วยครับ

 

P กวิน

 

คนเรานั้นตั้งแต่เกิดจนตายมีกรรมหลากหลายยากที่จะวินิจฉัยได้ ส่วนเศษวิปากกรรมแห่งการผิดศีลนั้น ลอง คลิกที่นี้ ดู เรื่องป่ากลิงคะ พอได้มติหนึ่ง

เจริญพร

สาธุพระอาจารย์

ได้ความรู้เพิ่มอีกมากมายเลยครับ เพราะเราแปลการห้ามประพฤติผิดในกามเป็นผิดลูกผิดเมียผิดผัว จึงไม่ทราบความหมายที่แท้จริง เป็นหัวข้อที่น่าศึกษามากครับ

Pอัยการชาวเกาะ

 

คัมภีร์ทางศาสนาก็วินิจฉัยศีลหรือวินัยทำนองเดียวกับกฎหมาย เพียงแต่กรอบที่ครอบคลุมเท่านั้นแตกต่างกันไป เช่น ความแคบกว้าง หรือหนักเบา เป็นต้น

เจริญพร

  • ขออนุญาตต่อนะขอรับพระคุณท่าน

  • ศีลาสิกขา สัมมาว่าฮ้อ รับเอาหัวข้อ จดจ่อศึกษา
    ตั้งใจ๋ละเว้น ก๋ารเป๋นโทษา เอาเจ๋ตนา มาเป๋นที่จั้ง
    คฤหัสถา ศีลห้ามาตั้ง ป๋าณาติป๋าตัง เป๋นเก๊า
    .
    สองอทินนา สามกาเมเค้า สี่มุสาเข้า รวมนัย
    ห้าข้อปั๋ญจะ มัชชะเมาไก๋ สุราเมรัย เว้นไกล๋บ่เข้า
    ยอมือไหว้สา พระมหาเจ้า ข้าขอลำเนา ค่าวเน้น
    .
    ป๋าณาติป๋า ศึกษาเพื่อเว้น ก๋ารเข่นฆ่าล้าง ม้างชีว์
    สัตว์มีชีวิต จิตคิดเบียดสี เพียรทุกวิธี บั่นชีวาสั้น
    สัตว์นั้นต๋ายไป ดั่งใจ๋ว่าอั้น ครบองค์โดยพลัน ขาดนับ

    .
    อทินนาทาน์ รู้ว่าสินทรัพย์ มีเจ้าของอั้น ปันแปง
    มีไถยจิต คิดผิดคิดแผง จักลักของแปง ด้วยแรงอยากได้
    เพียรทุกวิถี ต๋ามวิธีใบ้ ได้ของเมื่อใด ขาดนะ
    .
    ก๋าเมสุ มิจฉาจ๋าระ ล่วงละเมิดอั้น หญิงชาย
    อันเป๋นที่ฮัก มีศักดิ์มีหมาย แต่ก็บ่วาย มีใจ๋เกี่ยวข้อง
    จิตเสน่หา เวียนมาจ้องจ้อง มรรคถึงมรรคปอง ขาดครบ

    .

  •  

    มีต่อในข้อ 4 ขอรับ.

สาธุอนุโมทนาครับ

เรื่องศีลข้อนี้ผมยังสงสัยครับ เรื่องบุรุษต้องห้ามสำหรับสตรี บางท่านบอกไม่มี บางท่านบอกมีบางข้อ บางท่านบอกว่าเหมือนกันไม่แตกต่าง เพราะจิตไม่มีเพศ ต่างคนต่างมีเหตุผลสนับสนุนอ้างอิงครับ

หนังสือธรรมมะ บางท่านบอกว่า ผู้ชายที่มีภรรยาแล้วนอกใจไม่ผิดเพราะเปรียบร่างกายเสมือน ภาชนะ กับผู้ใช้ผู้บริโภค(ทำนองนี้ครับ ขออภัยถ้าคลาดเคลื่อน และบอกว่าลักษณะทางกายภาพทำให้ผู้เสพลักษณะเชยชมไม่ผิด (ถ้าไม่ทำหญิงที่มีเจ้าของ) แต่เพศหญิงลักษณะร่างกายถูกเชยชม จึงผิดถ้ามีเจ้าของ)

ในทางกลับกัน ท่านเหล่านี้ บางท่านมีชื่อเสียง ก็บอกว่า ผู้หญิงเสพผู้ชายต้องห้ามอย่างไรก็ไม่ผิด

ชายที่มีมารดาปกครองเพราะบิดาตายหรือไม่ได้อยู่กับมารดา

ชายที่มีบิดาปกครอง

ชายที่มีมารดาบิดาปกครอง

ชายที่มีพี่สาวปกครอง หรือมีน้องสาวเป็นผู้ดูแลรักษา

ชายที่มีพี่ชายปกครอง หรือมีน้องชายเป็นผู้ดูแลรักษา

....

ชายที่กษัตริย์หรือผู้มีอำนาจได้จองตัวไว้ (สมมติกรณีที่เมืองกษัตริย์หญิงเป็นใหญ่)

ชายที่มีผู้หมายมั่นไว้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือชายที่มีคู่หมั้น

ชายที่หญิงซื้อมา

ต่างๆเหล่านี้เป็นต้น ไม่ทราบเหตุใดผู้รู้บางท่านที่สังคมนับถือจึงบอกว่าไม่ผิด ทั้งที่ดูแล้วน่าจะผิดศีลธรรม เช่นหญิงล่วงละเมิดชาย ไม่บรรลุนิติภาวะ หรือ หญิงซื้อชายมาแล้วหญิงอื่นไปล่วงละเมิดเป็นต้น

(เช่นชายหญิงวัยรุ่น มีสัมพันธ์กัน บางท่านบอกชายผิดหญิงไม่ผิดเป็นต้น ทั้งที่ต่างคนมีผู้ปกครองดูแลเหมือนกัน??)

ทำให้คิดแบบอกุศลไปว่าไม่ยุติธรรม เพราะผู้ชายไม่ได้รับการคุ้มครองจากศีลข้อนี้ และส่วนมากท่านทั้งหลายที่บรรยายศีลข้อนี้ก็มักไม่อธิบายถึงส่วนนี้ด้วยครับ

(ที่สงสัยคือหลายท่านเป็นผู้รู้มีเหตุผล แต่พูดไม่ตรงกันด้วยครับ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท