บันทึกของครูน้อยในเดือนที่สิบห้า พฤศจิกายน 2551


การเขียนบทความจากงานวิจัยภาคสนาม

บันทึกของครูน้อยในเดือนที่สิบห้า  พฤศจิกายน 2551

 

 

 

สวัสดีค่ะ ครูใหญ่

 

 

          ขอนำส่งรวดเดียวสองเดือนเลยนะคะ  เอาของเก่าที่ติดค้างตั้งแต่ช่วงสอบมาส่งพร้อมของปีใหม่ด้วยทีเดียว   แบ่งเป็นสองตอนค่ะ   ตอนแรกนี้จะขอเล่าเกี่ยวกับการเขียนบทความจากงานวิจัยที่ทำช่วงภาคการศึกษาฤดูร้อนที่ผ่านมา   ตลอดจนปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างเขียนนะคะ   ส่วนตอนที่สองขอมาแปลก (อีกแล้ว)  คือเห็นว่ากำลังอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่   เลยอยากเล่าเรื่องการทำกิจกรรมทางพุทธศาสนาของนักศึกษาไทยในต่างแดนค่ะ   ลองอ่านกันดูนะคะ

 

การเขียนบทความจากงานวิจัยภาคสนาม

 

          จริงๆ แล้วครูน้อยเขียนบทความมาหลายชิ้นแล้วนะคะ   ตั้งแต่ได้มาเรียนที่นี่  ก็ต้องเขียนทุกเทอม    เทอมละหนึ่งถึงสองบทความโดยประมาณ      แต่ยังไม่เคยเขียนบทความจากงานวิจัยภาคสนามเลยค่ะ     ทุกครั้งจะเป็นการเขียนโดยไม่มีผลวิจัยรองรับ   เป็นการเขียนนำเสนอบทวิเคราะห์เชิงทฤษฎี    หรือไม่ก็เป็น research proposal เท่านั้นค่ะ     

 

          แต่เนื่องจากเทอมนี้ต้องเขียนบทความที่ใช้ผลจากการวิจัยภาคสนามมานำเสนอ   ก็เลยพบว่ามีปัญหาจุกจิกกวนใจมากมายที่ต้องมานั่งกุมศีรษะ    และเที่ยวได้วิ่งโร่ขอคำปรึกษาจากใครต่อมิใครในคณะและนอกคณะเกือบทั่วมหาวิทยาลัย   ทั้งไทยและเทศ  จนเรียกได้ว่า  แทบไม่มีใครที่ครูน้อยรู้จัก    แล้วไม่โดนถามเรื่อง research methodology รูปแบบต่างๆ เลยค่ะ    มาลองดูปัญหาที่ครูน้อยเจอกันนะคะ

 

          1. สับสนกับผลของการคำนวณที่ไปคนละทางกับสมมุติฐานที่เราวางไว้    ฟังคุ้นๆ ไหมคะ   ถ้าใครเรียนเอกแล้วไม่เคยเจอปัญหานี้   คุณโชคดีมากเลยค่ะ    แต่ครูน้อยเจอเข้าไปแล้วแน่นิ่งเลยค่ะ    หาทางไปไม่ถูก  (ก็คนมันไม่เคยนี่คะ)    รู้สึกเหมือนโลกจะแตก  ทีนี้ก็ถามรุ่นพี่  รุ่นเพื่อนในคณะก่อน   ทุกคนก็ร่วมมือดีมากเลยค่ะ    ได้เห็นน้ำใจของใครหลายคน   อาจารย์ก็ให้คำแนะนำต่างๆ   แต่ท่านก็คงอยากให้เราแก้ปัญหาด้วยตัวเองด้วยเหมือนกัน    เลยจะพยายามไม่ลงรายละเอียด    แต่จะบอกลู่ทางเฉยๆ แทน    ซึ่งครูน้อยยอมรับว่าตอนแรกตกใจมาก    คิดว่าอาจารย์ทอดทิ้ง  (แบบเราเคยถามได้ทุกอย่างไงคะ   พอต้องคิดเองก็กลัวจะไม่รอด)   แต่สุดท้ายก็เข้าใจเจตนาของอาจารย์ค่ะ    เพราะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง   ทำให้จำได้แม่นมาก  และเข้าใจลึกซึ้งด้วยค่ะ

 

          2. มีหลายวิธีให้เลือกใช้จนงง  ไม่รู้จะเลือก tools ตัวไหนดี     อันนี้ใครเคยเป็นบ้างคะ   คนส่วนใหญ่เค้าก็ไม่ค่อยเป็นกันหรอกค่ะ   คือทุกคนจะมีวิธีการที่ตัวเองถนัด   และพอรู้หลักการอยู่แล้ว   ว่าเมื่อไหร่ควรจะใช้ tools ตัวไหน     แต่ครูน้อยไม่รู้ค่ะ   เพราะครูน้อยไม่มีประสบการณ์การทำวิจัยแบบวิชาการเลย    และปริญญาโทที่ครูน้อยได้รับมา   ก็ไม่รวมถึงการทำวิจัยด้วย   (แปลว่าไม่ได้เรียนเรื่องเทคนิคของ research methodology รูปแบบต่างๆ มาเลยนั่นเอง)   ตอนนี้ล่ะค่ะ   ที่การขอความช่วยเหลือของครูน้อย   เริ่มออกนอกรั้วโรงเรียนไปสู่เพื่อนๆ น้องๆ นักศึกษาปริญญาเอกตามคณะต่างๆ    ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากหลายๆ คนอย่างดียิ่ง   ทั้งช่วยเอาโปรแกรมไปลองเล่นดูเพื่อหาค่าต่างๆ    หรือเอาโปรแกรมตัวนั้นตัวนี้มาแนะนำ   เพื่อให้หาบางค่าที่ต้องการได้  ก็ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ   

  

          3. ผลลัพธ์ที่ได้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ   พูดง่ายๆ  model ยัง fit ไม่ดีพอ   คือบางค่าก็อยู่ในเกณฑ์ดี   บางค่าก็ไม่ดี   ทีนี้ปัญหาก็เกิด   จริงๆ แล้วปัญหาแบบนี้สำหรับหลายๆ ท่าน ก็คงจะหาคำตอบกันได้ไม่ยาก   แต่ครูน้อยไม่มีเลยค่ะ   และไม่รู้หนทางที่จะนำไปสู่คำตอบเลยด้วย   อันนี้ก็ต้องพึ่งอาจารย์นั่นเอง   ซึ่งท่านก็ได้ช่วยเหลือให้คำแนะนำจากประสบการณ์อันโชกโชนในการทำวิจัยและตีพิมพ์ผลงานมานับชิ้นไม่ค่อยจะถ้วนแล้วนั่นเอง    เรียกว่าผ่านไปได้แบบปวดหัวเล็กน้อย (สำหรับอาจารย์)  ถึงปานกลาง (สำหรับครูน้อย) กันเลยทีเดียว

 

 

          สุดท้ายก็ผ่านไปจนได้ค่ะ  กับบทความชิ้นแรกที่มีผลวิจัยรองรับ    แม้ว่าออกจะทุลักทุเลอยู่บ้าง   แต่หลายๆ คนก็บอกว่า    ผลการวิเคราะห์และค่า parameters ต่างๆ ยังดีกว่างานวิจัยชิ้นแรกของพวกเขาเหมือนกันนะคะ  (ปลอบใจมือใหม่อย่างเราหรือเปล่าก็ไม่รู้)    คงจะปรึกษาอาจารย์อีกครั้งค่ะ   ว่ามันดีพอที่จะส่งนำเสนอเพื่อตีพิมพ์ได้หรือไม่   ไม่ได้คาดหวังหรอกค่ะ   เพราะเป็นงานชิ้นแรก   และคงยังมีข้อบกพร่องอยู่เยอะมากเลย   แต่ก็จะลองปรึกษาดูนะคะ         

 

 

จบแล้วค่ะบันทึกของเดือนนี้     ของเดือนต่อไปก็เป็นเรื่องเบาๆ อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นนะคะ

 

 

ไปอ่านต่อกันได้เลยค่ะ

 

คำสำคัญ (Tags): #field research#km
หมายเลขบันทึก: 233497เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2009 19:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • มายิ้มๆๆข้อแรก
  • แสดงว่าเป็นกันหลายคน
  • สบายดีไหมครับ
  • สวัสดีปีใหม่ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท