บทเรียนวันปฐมนิเทศน์ สำหรับ 50 เมล็ดพันธุ์แห่งแม่อาย: องค์ความรู้แม่อายในส่วนที่เป็นวิธีวิทยาสำหรับการจัดการประชากรที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมาย โดย พระมหานิคม มหาภินิกฺขมโน และ เรียบเรียงโดย บงกช นภาอัมพร


วันนี้ พวกเขาเป็นคนไร้รัฐหรือคนไร้เพียงสัญชาติบนแผ่นดินแม่อาย แต่ในวันพรุ่งนี้ พวกเขาจะเป็นกำลังหลักในการผลักดันการจัดการปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติคนอื่นที่เหมือนพวกเขา เหมือนเมล็ดพันธุ์ชั้นดีที่ชื่อว่า “แม่มี มณีวรรณ” และ “พระมหานิคม” ผู้เริ่มต้นสร้างสรรค์องค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความไร้สัญชาติของคนบนแผ่นดินแม่อาย

 

9 โมงเช้าแล้วแต่หมอกยังดูหนาตาอยู่มากนัก ดวงอาทิตย์..แม้จะพยายามทำหน้าที่ของตนอย่างไม่บกพร่อง แต่ก็ยังยากที่แสงจะส่องผ่านม่านหมอกหนามาทำให้หลายชีวิตได้คลายความหนาว

เสียงรถมอเตอร์ไซหลายคันเร่งเครื่องขึ้นเนินสูงเพื่อมาให้ถึงที่หมายทันเวลา หลังรถกะบะสีน้ำเงินคันเก่าก็ยังมีเด็กอีกเป็นสิบตามมาสบทบ ไม่นานนัก 50 ชีวิต จากหลากหลายที่มาก็มารวมตัวกันในห้องประชุมใหญ่ชั้น 6 ของวัดท่าตอนแห่งแม่อาย

คน 50 คน นั่งเรียงกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยบนเบาะสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินสดขนาดพอดีคน ส่วนใหญ่จะยังอยู่ในวัยเรียนประมาณชั้นมัธยมเห็นจะได้ แต่ก็ยังมีบางคนที่โตเป็นผู้ใหญ่ บ้างก็ทำงานแล้ว แต่ก็เข้ามารวมกลุ่มกันได้อย่างไม่ขัดตา

การขานชื่อดังขึ้นเป็นระยะๆ เพื่อนับคนที่เข้ามาให้ถูกจำนวนและถูกคน ไม่นานนักเมื่อคนขานชื่อเห็นว่าทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้ว จึงส่งสัญญาณให้คนอีกกลุ่มเตรียมตัวเริ่มกิจกรรมตามที่วางแผนไว้ต่อได้

ห้องเรียนครั้งที่ 1 ของ ห้องเรียนการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย รุ่นที่ 1”[1] หรือ ที่เรียกกันติดปากแบบสั้นๆ ว่า ห้องเรียนแม่อาย จึงเริ่มต้นขึ้นในทันที โดย การปฐมนิเนศน์ จาก พระมหานิคม มหาภินิกฺขมโน พระสงฆ์ผู้เป็นทั้งที่ปรึกษาทางด้านวิชาการและเป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจของคนในชุมชนแม่อายมาโดยตลอด และครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งชาวบ้านแม่อายต้องการให้ท่านมาเป็นผู้เบิกฤกษ์ของการสร้างเยาวชนแม่อายรุ่นที่หนึ่ง เพื่อมาเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือชุมชนแม่อายต่อไป

บทเรียนที่ 1: ว่าด้วย..เรื่องการเรียนรู้

..การเรียนรู้เกิดขึ้นอยู่เสมอในทุกๆ สถานที่ การเรียนไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพียงแค่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่หากเรารู้เท่าทัน การเรียนรู้จากทุกๆ อย่างก็จะเกิดขึ้นได้ในทุกที่ทุกสถานการณ์ แม้ว่าเราอาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม.. ท่านมหานิคมเริ่มต้นบทเรียนแรกของวันด้วยการทำให้นักเรียนเข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้ เพื่อให้ทั้ง 50 ชีวิต พยายามเปิดใจที่จะรับรู้และเรียนรู้ก่อนเป็นอันดับแรก

บทเรียนที่ 2: ว่าด้วย..เรื่องหน้าที่

..นักเรียนมีหน้าที่เรียนรู้ ครูมีหน้าที่สอนสั่ง ช่างมีหน้าที่กะ พระมีหน้าที่เทศน์ เปรตมีหน้าที่ขอ หมอมีหน้าที่รักษา หมามีหน้าที่เห่า เต่ามีหน้าที่คลาน พยาบาลมีหน้าที่ดูแล พ่อแม่มีหน้าที่เลี้ยงดูบุตร กระเทยตุ๊ดมีหน้าที่ร้องอะฮ่าๆ.. เสียงหัวเราะดังสนั่นห้องประชุมหลังจากท่านมหานิคมได้ว่ากลอนเพื่อสอนเรื่องการรู้หน้าที่ของตนเอง แต่ไม่พ้นทิ้งท้ายไว้ด้วยความสนุกสนาน

ทุกคนในห้องยิ้มไม่ยอมหุบ บรรยากาศเริ่มคลายความตึงเครียดลง นักเรียนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเริ่มหันมามองหน้าและยิ้มให้กัน

..วันนี้พวกเราทุกคนมีหน้าที่มาเรียนรู้เรื่องราวของแม่อายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รู้เพื่อที่จะเข้าใจและนำไปเกื้อกูลคนในสังคมเดียวกันได้ต่อไป นั้นก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่งของพวกเราทุกคนที่อาศัยอยู่ในสังคมเดียวกัน ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่พี่ ไม่ใช่น้อง ไม่ใช่ครูบาอาจารย์ แต่เพื่อทำให้เราอยู่อย่างมีความสุขในสังคมที่สงบสุข นี่ก็เป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะทำให้เกิดเช่นนั้นเช่นกัน..

ความสนุกสนานของท่านแฝงไว้ด้วยสาระเสมอ นักเรียนเริ่มเปิดใจและตั้งใจฟังอย่างสนุกสนาน ในมือยังถือดินสอคอยบันทึกประโยคที่ตัวเองชอบหรือคำสอนที่สำคัญอย่างบรรจง

บทเรียนที่ 3: ว่าด้วย..การเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส

ท่านมหานิคมอุปมาอุปมัยให้เห็นว่า ของทุกสิ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพียงแต่เราเลือกที่จะมองเลือกที่จะใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์เท่านั้น

ท่านเปรียบเทียบการใช้ ไมโครโฟนกับ กฎหมายให้นักเรียนฟังอย่างน่าสนใจว่า.. ไมโครโฟนเป็นสิ่งมีประโยชน์ ถ้าท่านใช้เพื่อทำให้เสียงของท่านดังขึ้นคนที่อยู่หลังห้องได้ยินชัดเจนขึ้น แต่ไมโครโฟนอันเดียวกันจะกลายเป็นของให้โทษถ้าท่านใช้ตีหัวเด็กนักเรียนที่นั่งอยู่ข้างหน้า ไม่ต่างจากการใช้กฎหมาย ถ้าใช้เป็นก็เกิดประโยชน์ แต่หากใช้ไม่เป็นก็เกิดโทษแก่ผู้อื่นได้

..คนโง่เป็นปัญหาทุกครั้งที่มีโอกาส คนฉลาดเห็นโอกาสทุกครั้งที่เจอปัญหา.. ท่านมักจะพูดอะไรเป็นคำคล้องจองให้จำได้ง่ายๆ เสมอ พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบที่แสดงให้เห็น โอกาสที่ซ่อนอยู่ในปัญหา

ท่านพูดถึงกรณีที่ชาวบ้านแม่อายถูกถอนชื่ออกจากทะเบียนราษฎร ที่แม้จะดูเหมือนเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น แต่แท้จริงแล้วมันคือโอกาสอันดีที่ทำให้ชาวบ้านแม่อายได้รู้จักกัลยาณมิตรมากมายและยังผูกพันกันจนกระทั่งปัจจุบัน

..ปัญหาที่เกิดกับนักเรียนและครอบครัวนักเรียนทุกคน ทำให้เกิดโอกาสในการเรียนรู้ขึ้นในวันนี้ อย่ากลัวมัน อย่าไปทุกข์กับมัน แต่ให้หาวิธีแก้ไขโดยใช้ปัญญาเป็นเครื่องนำทาง พยายามสร้างวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับพวกเราทุกคนอีกครั้ง..ท่านพยายามเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันให้นักเรียนได้เห็นภาพเปรียบเทียบที่ชัดเจนขึ้น

เข้าใจ (ในความเป็นจริงเกี่ยวกับสถานะของตนเองและวิธีการแก้ไขปัญหา) และ ทำใจ (ให้หนักแน่น อดทน และ พากเพียร) เป็นอีก 2 ข้อสำคัญที่ท่านมหานิคมขอให้นักเรียนทั้ง 50 คน พยายามทำให้ได้

บทเรียนที่ 4: ว่าด้วย..ตำนานของโยมแม่กับพระลูกชาย

..เพราะตอนนั้นโยมแม่ไม่รู้กฎหมาย พระอาจารย์ก็ยังไม่รู้กฎหมายเพราะเรียนมาแต่ทางธรรม แต่ก็พยายามขวนขวายหาหนังสือมาอ่าน นี้คือ ความพยายามที่จะ เข้าใจแม้จะต้องใช้เวลากว่า 21 ปีก็ตามในการพิสูจน์สัญชาติไทยของครอบครัวพระอาจารย์ แต่พวกเราก็อดทนและไม่เคยย่อท้อ นี้อีกหนึ่ง คือ ความพยายามที่จะ ทำใจให้หนักแน่น.. ท่านมหานิคมสอดแทรกข้อคิดเสมอตลอดเวลาในการเล่าถึงตำนานการต่อสู้ของโยมแม่ คือ แม่มี มณีวรรณ กับ ตัวท่าน ในการเรียกร้องสิทธิในสัญชาติไทยของครอบครัว จนสำเร็จในท้ายที่สุด

มาถึงตอนนี้นักเรียนหลายคนนั่งฟังอย่างตั้งใจ บ้างก็จดคำสอนมากมายที่จับใจความได้ลงในสมุดบันทึก

บทเรียนที่ 5: ว่าด้วย..การต่อสู้ด้วยกฎหมายของนักกฎหมายตีนเปล่า

..จากนั้นอีก 4 ปี หลังจากที่ครอบครัวของพระอาจารย์ได้สิทธิในสัญชาติไทยกลับคืนมาแล้ว ชาวบ้านแม่อาย 1,243 คนก็ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร สิ่งแรกที่พระอาจารย์คิด คือ เราต้องรู้กฎหมายให้ได้ เพื่อนำมาใช้ต่อสู้กับการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมายในสถานการณ์แบบนี้ พระอาจารย์ก็พยายามหาหนังสือกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของสัญชาติมาอ่าน แต่ก็ไม่ได้อ่านคนเดียวไม่ได้เก็บความรู้ไว้คนเดียว พระอาจารย์ยังให้ชาวบ้านที่ประสบปัญหามาร่วมอ่านร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน พลัดกันท่องพลัดกันเล่าให้กันฟังคนละมาตราสองมาตรา เช่นนี้.. ท่านมหานิคมย้อนให้ฟังถึงวันเก่าๆ

ภาพแห่งความเพียรพยายามของพระสงฆ์และคาราวาสเพื่อแสวงหาความรู้ในการแก้ไขปัญหาของตนเอง โดยไม่รอคนนอกยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ภาพที่ได้รับฟังสะท้อนให้เห็นความเป็นชุมชนชนบทแบบดั้งเดิม ที่วัดและพระยังเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ของชุมชนได้เป็นอย่างดี ภาพแบบนี้หาไม่ได้อีกแล้วในสังคมเมืองปัจจุบัน

..แต่แค่นั้นพระอาจารย์คิดว่ายังไม่พอ จากประสบการณ์ที่พระอาจารย์และครอบครัวได้เผชิญมานั้น ทำให้พระอาจารย์รู้ได้ในทันทีว่า มันเกินกำลังของพวกเราในชุมชน เราต้องหาคนที่มีความรู้จากข้างนอกเข้ามาเสริม แล้วพระอาจารย์ก็เห็นชื่อ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทรข้างหนังสือสัญชาติที่พวกเรากำลังอ่านกันอย่างขมักเขม้น พระอาจารย์รีบเขียนจดหมายหาท่านในทันที แล้วเห็นผลที่ได้ในวันนี้ไหมพวกเธอ.. ท่านตามคนมาช่วยเหลือชาวบ้านแม่อายอีกมากมาย ทั้งกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาจาก ม.ธรรมศาสตร์, ม.พายัพ, ม.เชียงใหม่, ราชภัฏเชียงราย และที่อื่นอีก จากนั้นก็ยังมีสภาทนายความ, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, ท่านอดีต ส.ว. เตือนใจ ดีเทศน์ ส่วน ณ ตอนนี้ เราก็ยังมีท่านจากศาลปกครอง, สถาบันพระปกเกล้า, องค์การยูนิเซฟ และมูลนิธิกระจกเงา เห็นไหมว่า..พวกเรามีกัลยาณมิตรมากมายเต็มไปหมด พวกเขามีหน้าที่เข้ามาเติมในสิ่งที่พวกเราขาด ส่วนพวกเราก็มีหน้าที่รับประสบการณ์และความรู้จากพวกเขา เช่นกัน.. ท่านพยายามลำดับเรื่องราวการเข้ามาช่วยเหลือของกัลยาณมิตรจากทุกภาคส่วน

แต่การช่วยเหลือคงไม่เกิดขึ้น หรือถ้าเกิดขึ้นก็คงไม่ยั่งยืน หากชาวบ้านแม่อายเหล่านี้ไม่พยายามที่จะช่วยเหลือตนเองก่อน

คนนอก..เข้ามาแล้วก็จากไปเพราะไม่ว่าอย่างไรพวกเขาก็คือคนนอกแม่อาย แต่คนในต่างหากที่จะต้องอยู่กับปัญหาและแบกรับปัญหาเหล่านี้ไว้ เพราะมันเป็นปัญหาของคนในแม่อาย

ความพยายามที่ท่านมหานิคมพูดถึง คือ จิตวิญญาณของนักกฎหมายตีนเปล่า ที่หาได้ยากยิ่งในชุมชนอื่นๆ และความพยายามนี้เองที่ทำให้เกิดเป็น คลินิกกฎหมายชาวบ้านแห่งแม่อาย ที่ทนายความประจำสำนักงานมีดีกรีเป็นถึง อดีตคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เป็นหนึ่งใน 1,243 คนที่เคยถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎรมาแล้ว

แต่ในวันนี้.. ปัญหายิ่งมากขึ้น การสร้างกำลังคนเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด ท่านมหานิคมเองก็ได้เล็งเห็นในจุดนี้

พวกเรา 50 ชีวิตในวันนี้ได้รับการคัดเลือกมาแล้วเป็นอย่างดี เพื่อมาเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มิใช่เพียงเพื่อนำมากินได้เพียงครั้งเดียว แต่ขอให้พวกเราเป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่จะขยายพันธุ์ต่อไป ออกดอก ออกผล เผื่อแผ่ไปถึงคนอื่นๆ ไปช่วยเหลือคนอื่นในสังคมต่อไป เพื่อให้สังคมได้อยู่เย็นเป็นสุขต่อไป

สังคมคนไร้เมตตา                      ไม่น่าอยู่           

สังคมปากหอยปากปู                  ไม่อบอุ่น

สังคมปากเหยี่ยวปากกา             แสนทารุณ        

สังคมคนเนรคุณ                         วุ่นวายใจ

สังคมเงินคือพระเจ้า                   เศร้ากำสรด      

สังคมยศเหย่อหยิ่ง                     ยิ่งแย่ใหญ่

สังคมขัดแข้งขา                         พาบรรลัย         

สังคมไร้สัตย์ศีล                          สิ้นสังคม

กลอนทิ้งท้ายของท่านมหานิคมกินลงไปในใจเบื้องลึกของหลายๆ คนในห้องเรียน หน้าที่ของพระสงฆ์รูปหนึ่งที่เป็นดั่งศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านแม่อายมาหลายต่อหลายรุ่นได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว แต่นี้..เป็นเพียงปฐมบทแห่งการเรียนรู้ของ 50 เมล็ดพันธุ์แห่งแม่อายเท่านั้น การเติบโตเป็นต้นกล้าที่แข็งแรงยิ่งต้องอาศัยบทเรียนที่หนักขึ้น..

ดวงอาทิตย์เคลื่อนไปเกือบตรงศีรษะเปล่งแสงจรัสร้อน อุณหภูมิรอบๆ ห้องเริ่มสูงขึ้นมาอีกสักหน่อย นี่อาจจะเป็นเพราะเวลาที่ล่วงไปเกือบถึงเที่ยงวัน หรือ จะเป็นเพราะความอบอุ่นของมิตรภาพในห้อง..ก็เป็นได้ ใครจะรู้..!!

แววตาของหลายๆ คน เริ่มเปลี่ยนเป็นประกายแห่งความหวังและความภาคภูมิใจ บทบาทและหน้าที่ของ 50 เมล็ดพันธุ์ชั้นดีกำลังเริ่มต้นขึ้นแล้วนับแต่วันนี้ ที่นี่ ที่..แม่อาย

......วันนี้ พวกเขาเป็นคนไร้รัฐหรือคนไร้เพียงสัญชาติบนแผ่นดินแม่อาย แต่ในวันพรุ่งนี้ พวกเขาจะเป็นกำลังหลักในการผลักดันการจัดการปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติคนอื่นที่เหมือนพวกเขา เหมือนเมล็ดพันธุ์ชั้นดีที่ชื่อว่า แม่มี มณีวรรณและ พระมหานิคม ผู้เริ่มต้นสร้างสรรค์องค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความไร้สัญชาติของคนบนแผ่นดินแม่อาย


[1] จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 ณ หอประชุมพระปริยัติวิธานโกศล ชั้นที่ 6 วัดท่าตอนพระอารามหลวง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

หมายเลขบันทึก: 233547เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2009 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอนำเสนอภาพเบื้องหลังจ้า....เพราะตั้งใจ และมุ่งมั่น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท