๔๗. ปัจจัยสังคมและวัฒนธรรมกับสุขภาพระดับปฏิบัติการ


"...ผมได้ทั้งปัญญา ทรรศนะที่ง่ายดาย และข้อสังเกตที่สื่อสะท้อนโลกแห่งความหลากหลายที่กว้างยิ่งๆขึ้นจากนักศึกษาของผมอีกเรื่องหนึ่ง ขระเดียวกัน เราก็ได้ความเป็นเพื่อนมนุษย์ เรียนรู้ เคารพกัน และทำงานไปด้วยกัน...."

             เวลาดูแลนักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ ไม่ว่าจะเป็นของมหาวิทยาลัยมหิดลและที่อื่นๆ หรือแม้แต่ทำงานวิชาการระหว่างศึกษาภาคทฤษฎี ผมได้วิชาและหลักคิดอย่างหนึ่งที่ได้มาจากการครูพักลักจำ จากอาจารย์หมอวิจารย์-ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พาณิชย์ ซึ่งผมเคยได้ฟังท่านบรรยายพิเศษ ในงานประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาแห่งประเทศไทยครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

             ทรรศนะหนึ่งที่ผมประทับใจมากและสมาทานเป็นหลักการทำงานไปด้วยเลยทีเดียว กล่าวโดยสรุปก็คือ ในการให้การศึกษาอบรมและการทำวิจัยวิทยานิพนธ์ของนักศึกษานั้น ต้องจัดความสัมพันธ์ใหม่ให้เป็นการเรียนรู้และทำวิจัยด้วยกัน มากกว่าจะคิดว่านักศึกษาและผู้เรียนเป็นผู้ที่ยังไม่รู้และจะได้ความรู้ความเชี่ยวชาญไปจากอาจารย์ผู้สอน

            ทว่า เราต้องมองว่า การศึกษาและการทำวิจัยของนักศึกษา ยิ่งในขั้นปริญาโท-ปริญญาเอกนั้น ไม่ควรมองว่าเขาเป็นนักเรียนและนักศึกษา  แต่เป็นการมาทำงานด้วยกันกับอาจารย์และทีมนักวิชาการในสภาพแวดล้อมที่จะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนทางวิชาการให้เขาได้ทำงานได้เป็นอย่างดีและอย่างมีอุดมคติ 

          เป็นเวทีที่นำเอาปัญหาจากความเป็นจริงมาเรียนรู้และทำงานทางวิชาการ โดยมุ่งให้ประสบการณ์แห่งความสำเร็จในวิถีวิชาการที่เขาสนใจ ก่อเกิดความเชื่อมั่นและได้บ่มสร้างพลังแห่งอุดมคติ ออกไปทำงานเพื่อสังคม ทั้งของท้องถิ่นและของโลก           

         แล้วกระบวนการทำวิจัยก็จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน อีกทั้งทำให้มีโอกาสที่งานวิจัยของนักศึกษาจะเชื่อมโยงและสะท้อนซึ่งกันและกันกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งๆขึ้น

            ทรรศนะดังกล่าว ทำให้ได้ปัญญาและเรียนรู้จากนักศึกษาไปด้วยมากมาย  อีกทั้งหลายเรื่องก็กลายเป็นการได้ทำงานด้วยกัน ที่สามารถเป็นโอกาสแสดงออกทางวิชาการในเชิงอุดมคติ กล่อมเกลาและพัฒนาภาวะตัวตนไปด้วยกันมากกว่าจะเป็นการทำงานให้เป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดให้ต้องทำแบบแกนๆของเขา

            ปีนี้ ผมมีลูกศิษย์เป็นหมอชาวต่างประเทศ 2 คน และคนหนึ่งต้องการทำวิทยานิพนธ์ในประเทศไทย ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทางวิชาการและประธานกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้แก่เขา เลยก็ขอจัดทีมอาจารย์ที่ปรึกษาที่ลุ่มลึกและเชี่ยวชาญมาก เท่าที่ผมจะเข้าถึงและอยู่ในเงื่อนไขที่จะไม่เป็นความลำบากต่อการทำงานด้วยกันมากนักต่อเขา สำหรับให้เขาได้ทำวิจัยและเรียนรู้กับเราได้อย่างดีที่สุด  

           ก่อนจะเริ่มเก็บข้อมูลและทำวิจัย  ผมก็อยากให้เขาได้วิถีวิชาการและวัฒนธรรมการทำงานที่น้อมตนเองลงไปรับฟังคนอื่นมากกว่าตัวเราเอง แล้วก็นำมาปรับเปลี่ยนที่ตัวเราเองให้ยืดหยุ่นไปกับเงื่อนไขของชุมชนและคนอื่น ซึ่งเป็นวิถีการทำงานที่สำคัญสำหรับบุคลากรทางสุขภาพที่มุ่งทำงานสุขภาพกับชุมชนและประชาชน ก็เลยพาเขาเข้าพื้นที่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว 

           พาไปแนะนำตนเอง นำเสนอความสนใจ วัตถุประสงค์ และแสดงความเป็นตัวตน กับหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้อง ที่โรงพยาบาลอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม รวมทั้งขอรับฟังรายละเอียด เงื่อนไขการปฏิบัติ และข้อเสนอแนะต่างๆ จากทางโรงพยาบาลสำหรับนำมาวางแผนและปรับกระบวนการต่างๆ เพื่อจะลงไปทำวิจัยและเรียนรู้จริงๆ ด้วยตนเองให้ดีที่สุดต่อไป 

           เราไม่คิดว่าการจัดวางตนเองลงไปมิให้กระทบต่อระบบบริการต่างๆที่เขาทำกันอยู่แม้นแต่เพียงเล็กน้อยนั้น เป็นงานจุกจิกและอ้อมค้อมมากเกินไป

           นักศึกษาซึ่งเป็นแพทย์ชาวต่างประเทศ  นอกจากสามารถประสานงานและทำงานของตนเองได้อย่างคืบหน้ามากแล้ว  พอเดินทางกลับหลังจากการได้สัมผัสงานและผู้คนในพื้นที่การวิจัยอันได้แก่โรงพยาบาลอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐมแล้ว ช่วงหนึ่ง เขาก็บอกว่าเขาโชคดีจริงๆที่มาศึกษาที่ประเทศไทย  เขาบอกว่า จากประสบการณ์และในทรรศนะของเขาแล้ว เขาคิดว่า งานสาธารณสุขมูลฐานและงานสุขภาพชุมชนของประเทศไทยนั้น ไม่ใช่ดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียนหรอก

           เขาว่า ดีที่สุดในโลกเลย ว่างั้น

           โดยปรกติแล้วเขาเป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านรักษาและการตั้งรับผู้ป่วย  เขาบอกว่าเขาได้ประสบการณ์ในการทำงานสาธารณสุขชุมชนมากจริงๆ  มากจนคิดว่ากลับไปแล้วจะมีความมั่นใจที่จะเรียนรู้ออกไปทำงานสุขภาพเชิงรุกมากขึ้น

            แม้นเป็นเพียงจิตวิญญาณทางวิชาการของนักศึกษาเพียงหนึ่งคน ทว่า เป็นการส่งเสริมให้ผู้นำสังคมที่มีโอกาสศึกษาในขั้นสูงของมหาวิทยาลัย อีกทั้งต่างชาติต่างสังคมวัฒนธรรมกับผม ได้ก่อเกิดทรรศนะและมีปณิธาน-เชื่อมั่นในตนต่อการนำเอาศักยภาพและประสบการณ์ที่ดีจากสังคมไทย ออกไปทำงานให้สังคม ไม่ว่าจะในที่ใดในโลก อย่างนี้ ผมก็คิดว่าผมภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่อันควรทำ พอสมควรบ้างแล้ว

             เขามีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง เป็นการพูดเปรยๆ แบบนั่งคุยกันระหว่างเดินทาง แต่เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจมาก

            เขาเปรยว่า ประชาชนและผู้ป่วยที่เข้ามาโรงพยาบาลและปฏิบัติต่อกันกับแพทย์และบุคลากรสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นที่เขาเห็นจากโรงพยาบาลพุทธมณฑล หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่และดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศคือที่ศิริราช ช่างแตกต่างจากประเทศเขามากอย่างยิ่ง  กล่าวคือ

            เขาบอกว่า ประชาชนคนไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยหรือญาติพี่น้องที่มาด้วยกัน ดูช่างอดทนและรอคอยให้กับแพทย์ พยาบาลและบุคลากรในโรงพยาบาลมากอย่างยิ่ง ดูเป็นระบบระเบียบ และทำให้โรงพยาบาลที่มีผู้คนแออัดมากมาย มีความสงบเงียบ เป็นบรรยากาศที่ดีมาก เขาว่างั้น 

            ผมเลยถามว่า ทำไมหรือ แล้วที่ประเทศของเขานั้น โดยทั่วไปเป็นอย่างไร โดยไม่ลืมที่จะให้ข้อสังเกตในเชิงบริบททางสังคมและวิถีวัฒนธรรมให้แก่เขาไปด้วยว่า ในสังคมไทยนั้น คนที่เป็นแพทย์ พระ และครู เป็นวิถีชีวิตที่คนให้ความเคารพ เขาจะปรับตัวและอ่อนน้อมให้แก่กลุ่มวิชาชีพเหล่านี้มากกว่ากลุ่มอื่น  จึงจัดว่าเป็นกริยาอาการและสื่อถึงการให้ความเคารพในใจอย่างปรกติวิสัย

           เขาบอกว่า  ที่บ้านเมืองของเขาที่ว่าแตกต่างนั้น  ประชาชน ผู้ป่วยและญาติๆ ซึ่งปรกติก็จะมาโรงพยาบาลกันอย่างแออัดอยู่แล้ว แต่มีบางอย่างที่พอเห็นภาพเปรียบเทียบแล้ว ทำให้เห็นถึงปัญหาเล็กๆน้อยๆที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสุขภาพของโรงพยาบาลกับประชาชน ทว่า มีผลทั้งต่อระบบบริการสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนทำงาน

            ผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยที่ประเทศเขา เมื่อต้องนั่งรอรับการบริการต่างๆสัก 1 ชั่วโมง โดยไม่ต้องนาน 2-3 ชั่วโมง เหมือนกับบางโรงพยาบาลในประเทศไทยก็ได้ เขาบอก 

            พอเริ่มนั่งรอสักพักเท่านั้น  ทั้งผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วย ก็จะเริ่มนั่งคุยสมาคมกันจ่อกแจ่กจอแจ และเมื่อเริ่มคุ้นเคยกับสถานที่ รวมทั้งปรับตัวได้กับกลุ่มคนรอบข้าง  ก็มักจะเพ่นพ่านไปขอคุยเองกับหมอ  พยาบาล หรือคนที่กำลังทำหน้าที่บริการสุขภาพต่างๆในโรงพยาบาล

            มีอยู่เสมอที่มักจะพัฒนาการไปสู่การต่อว่า เรียกร้อง โวยวาย แล้วเข้าไปพูดทั้งผลักดันและกดดันบุคลากรในโรงพยาบาลที่ตนเองเข้าถึงต่างๆ นานา ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักสื่อสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติเชิงลบ เขาเห็นภาพในโรงพยาบาลพุทธมณฑล และในประเทศไทยแล้ว  เขาเริ่มรู้สึกว่าเรื่องเล้กๆน้อยๆนี้  สำคัญอย่างยิ่งต่อคุณภาพระบบบริการและสุขภาวะของคนทำงาน ทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทุกฝ่ายในโรงพยาบาล

            เขาบอกว่า คนก็เยอะ เวลาก็ไม่ค่อยจะมีพอรับมือกับผู้ป่วยและญาติอยู่แล้ว แทนที่จะทำงานดูแลสุขภาพชาวบ้านให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็ต้องเสียเวลาไปอยู่ตลอดบนกระบวนการทางสังคมที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันในสถานการณ์ของการปฏิบัติ 

           การสื่อสารและการทำงานในจังหวะที่สอดคล้องกันนภายในระบบ เสียเวลามาก และตัวเขาเองซึ่งเป็นแพทย์ รวมทั้ง บุคลากรในสถานบริการสุขภาพต่างๆ ก็รู้สึกได้รับแรงกระทบเชิงลบมากมาย 

          กดดัน และได้ความรู้สึกที่ไม่ดีไปด้วย  จึงเป็นผลเสียทั้งต่อผู้ป่วย ประชาชน และบุคลากรทางสุขภาพ

           เรื่องนี้น่าสนใจ  ถือว่าเป็นปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม  ที่นับว่ามีผลต่อระบบบริการสุขภาพ และสุขภาวะของคนที่เกี่ยวข้องทั้งทางกายภาพของการปฏิบัติและทางจิตวิทยา ซึ่งนำเข้ามานับให้เป็นเรื่องที่จะสามารถทำงานเชิงกระบวนการได้ 

           ผมได้ความแจ่มชัดไปในตัวไปด้วยว่า งานให้การศึกษาเรียนรู้แก่สังคม หรือประชาสังคมศึกษา  รวมทั้งการปฏิบัติการสุขศึกษาชุมชน ซึ่งเป็นงานสุขภาพระดับชุมชน และเป็นองค์ประกอบสุขภาพมิติหนึ่งที่สามารถทำให้เป็นเรื่องสุขภาพที่เข้าไปอยู่ในมือประชาชนได้นั้น  บางที  อาจมิใช่เรื่องเน้นการทำงานเชิงรุก สนองตอบแต่ประเด็นสุขภาพอย่างเดียวเท่านั้น 

            ทว่า  การสร้างพลังและความสามารถในการเข้าถึง ตลอดจนทำให้พลเมืองได้เรียนรู้การปฏิบัติร่วมกันต่อระบบสังคมสุขภาพ และระบบสุขภาพ อยู่เสมอ  ก็เป็นทุนทางสังคมและวัฒนธรรม ที่สามารถช่วยลดต้นทุนและความสูญเสียทรัพยากรและโอกาส ทั้งมองเห็นและมองไม่เห็นไปมากมายได้

            ผมได้ทั้งปัญญา ทรรศนะที่ง่ายดาย และข้อสังเกตที่สื่อสะท้อนโลกแห่งความหลากหลายที่กว้างยิ่งๆขึ้นจากนักศึกษาของผมอีกเรื่องหนึ่ง  ขณะเดียวกัน  เราก็ได้ความเป็นเพื่อนมนุษย์ เรียนรู้ เคารพกัน และทำงานไปด้วยกัน.

           

หมายเลขบันทึก: 233888เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2009 12:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การเรียนการสอนเช่นนี้น่าจะเป็นความหวังหนึ่งของการศึกษาเลยนะคะ เพราะนำไปสู่ความงอกงามทางปัญญา ไม่ใช่แค่เพียงใบปริญญา

เคยอ่านที่ ดร.เสรี พงศ์พิศ เขียนในเว็บไซด์ของท่านว่า "ผมสอนนักศึกษาได้ใบปริญญา แต่ไม่ได้ความรู้ ผมสอนชาวบ้านได้ความรู้แต่ไม่ได้ใบปริญญา" อะไรทำนองนี้ จำไม่ค่อยแม่น แต่รู้สึกถูกใจมากค่ะ

มีเพื่อนใบไม้หลายคนที่ลาออกจากการเรียนปริญญาโทเมื่อหลายปีมาแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ได้เรียนในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ ไม่ใช่เรียนไม่ไหวนะคะ เพราะพวกเขาไม่ได้ต้องการแค่ใบปริญญา พอพยายามปลอบให้เรียนต่อ เพื่อนก็ตอบกลับมาว่า "ถ้าใบไม้ไปเรียน คงจะลาออกก่อนเขาอีก" เมื่อพิจารณาดูก็เห็นจริงเช่นนั้น จึงปล่อยให้เพื่อนลาออก และตัวเองก็ไม่มีความคิดจะเรียนต่อในระบบอีกเลย เพราะคิดว่าไม่เหมาะกับตัวเอง

อย่างไรก็ไม่ได้ต่อต้านการศึกษาในระบบค่ะ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และหากจัดการศึกษาให้ดี ย่อมนำไปสู่การงอกงามทางปัญญา และจะสร้างบุคลากรที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่ายิ่งในการช่วยกันสร้างสังคมที่ดีงาม ..^__^..

ที่จริง การเรียนรู้การทำงานสุขภาพชุมชนแบบข้ามวัฒนธรรมและข้ามสังคมนี่ มีเรื่องสนุกและน่าสนใจทำนองนี้เยอะเลย การสะท้อนหลายเรื่องของคุณใบไม้ย้อนแสง ทำให้เกิดความคิดว่า จะเกลามาถ่ายทอดสู่กัน แล้วก็ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เป็นระยะๆนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท