โครงการสืบสานตำนานแม่โพสพกับชาวนา


แม่โพสพ วิถีความเชื่อ ความศรัทธาดั้งเดิม

 

 

        ชาวนาในอดีตรุ่นเก่าที่ทำนาเพื่อเลี้ยงชีพนั้นจะให้ความเคารพแม่โพสพ มีพิธีกรรมต่างๆมากมาย เริ่มด้วยดูตามปฏิทินว่าปีไหนวันอะไรเป็นวันดี แล้วต้องดูว่าเป็นวันข้างขึ้นของเดือนนั้น แล้วดูกำลังวันด้วยว่าวันอะไรหันหน้าไปทางไหน ไม่หันหน้าไปตรงกับผีเหล็กเหลาหลวง แล้วเริ่มทำการไถ เมื่อเริ่มฤดูกาลที่จะลงมือทำนา  คือ นาปี การแรกนานั้นต้องหันหน้าไปทางที่เป็นมงคล แล้วไถไป 3 รอบคันนา เสร็จแล้วไถผ่ากลางคันนาอีกมุมหนึ่งถึงอีกมุมหนึ่งทั้งสี่มุม เมื่อทำการไถแรกแล้วก็เริ่มทำการไถดะ

 

      ไถ  ครั้งที่  1  เรียกว่า ไถดะ  เพื่อให้ดินหลวม เมื่อฝนตกลงมาแล้ว  หญ้าจะได้ขึ้น เมื่อหญ้าขึ้นมากแล้วไถครั้งที่  2 

      ไถ  ครั้งที่  2  เรียกว่า ไถแปร  เพื่อให้หญ้าขึ้นมาแล้วนั้นตายโดย มิต้องใช้ยาฉีด  พอหญ้าตายแล้วได้เวลาอันสมควรไถครั้งที่  3

      ไถ  ครั้งที่  3  เรียกว่า ไถหว่าน  หญ้าที่เหลือก็จะตายอีกครั้ง  เมื่อจะหว่าน  ก็จะเริ่มทำพิธีกรรมตามความเชื่อแบบโบราณ ดังมีรายการดังต่อไปนี้

 

      เครื่องที่ทำการแรกนา มีกระทุน 1 อัน ทำด้วยไม้ไผ่ มีหมาก 5 คำ  บุหรี่ 1 ม้วน  มีใบคูน ใบยอ ธูป 5 ดอก  กรวยทำด้วยใบตอง 5 อัน  มีดอกไม้ 5 ดอก  หรือเรียกว่า  ขัน 5  ข้าวเปลือกประมาณ 1 กิโลกรัม

     

      เริ่มทำการหว่านก็ต้องหาฤกษ์  อันเป็นมงคล คือ วันธงชัย ตามปฏิทินเหมือนไถดะครั้งแรก แล้วหันหน้าไปทางที่ไม่ตรงกับผีเหล็กเหลาหลวง  ใช้จอบสับดินมุมนา ทำเป็นกอง แล้วเอาเครื่องที่เตรียมไว้แรกหว่านนั้น เอาลงไปปักให้ครบเสร็จ แล้วตั้งจิตน้อมนำเอาแม่พระโพสพไปฝากไว้กับแม่พระธรณี  และแม่พระคงคา เริ่มทำพิธีกรรมต่อไป

      ตั้งนะโม  3  จบ ตามด้วยพระคาถา  ดังนี้

 

           พุทธัง เลิสล้ำ  อุตตะมังเลิศล้ำ

           ธัมมัง เลิสล้ำ อุตตะมังเลิศล้ำ

           สังฆัง เลิสล้ำ อุตตะมังเลิศล้ำ

 

แม่โพศรี  แม่โพสพ  แม่นพดารา เชิญมาเถิดแม่มา  มาทำมาหากินในฟื้นแผ่นดินนี้ ขอให้ลูกนี้เป็นเศรษฐีชาวนา  ขอให้เป็นพ่อค้าบ้านนอก  ขอให้วัวควายเต็มคอก  คุ้มเอก  คุ้มไถ  คุ้มไร่ คุ้มนา  คุ้มเคราะห์  คุ้มโศก  คุ้มโรคโรคา คุ้มนก คุ้มหนู  คุ้มปู คุ้มปลา คุ้มงู  คุ้มเหี้ย อย่างให้เพลี้ยกินนา อ้ายหนอนอัปรีย์อย่าให้มีเข้ามา สัพพะโภสาวินาสันติ

     

เมื่อจะหว่าน 3 กำแรก  ให้ตั้งจิตอธิษฐาน  ดังนี้    

           กำที่  1  ว่า ทำบุญ

           กำที่  2  ว่า  ทำทาน

           กำที่  3  ว่าเลี้ยงชีวิต

 

      ต่อไปกล่าวว่า  อุกาสะ  อุกาสะ  ข้าพเจ้าขออาราธนาคุณพระพุทธเจ้า  คุณพระธรรมเจ้า คุณพระสังฆะเจ้า คุณพระบิดามารดา คุณครูอุปัชญาและอาจารย์ จงมาดลบันดาลให้ข้าพเจ้า ทำนาปีนี้ให้เกิดผลดีเทอญ

 

      ต่อมาพอช่วงระยะข้าวตั้งท้อง ก็ต้องมีการรับท้องข้าว  มีตาแหลวหรือชะลอมสานด้วยไม้ไผ่  มีกล้วย  อ้อย  ส้ม หมากพลู บุหรี่ 1 มวน  วันรับท้องข้าวก็ต้องเป็นวันศุกร์  นำตาแหลวและชะลอมไปปักไว้ที่มุมนา  ด้วยไม้สะแก  แล้วอัญเชิญแม่โพสพมาเสวยเครื่องไชยทาน

     

      ต่อมาพอช่วงระยะข้าวออกรวงเหลืองพอเกี่ยวแล้ว ก็จะต้องทำการแรกเกี่ยวอีก  ก็ต้องเป็นวันศุกร์  ทำการเกี่ยว 3 กำมือ  แล้วเอาเสียบไว้ที่รับท้องข้าว  ก็เริ่มเก็บเกี่ยวในแปลงนาต่อไปจนเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว  จะเอาข้าวเข้าบ้านหรือเข้าลานก็ต้องเป็นวันศุกร์  เอาข้าวที่มัดไว้นั้นมา 1 หาบ เรียกว่า  เอาแม่โพสพมาเข้าบ้านหรือลาน ต่อมาค่อยบรรทุกรถหรือเกวียนเข้ามา  แล้วกองหรือล้อมไว้ให้เป็นระเบียบ ถ้าเป็นข้าวกองใหญ่จะเอาข้าวออกนวดก็ต้องทำน้ำมนต์ปะพรมกองข้าวก่อน จึงจะรื้อกองข้าวลงมาย่ำหรือนวดได้  เสร็จแล้วก็เก็บขึ้นยุ้งฉางให้เป็นที่เรียบร้อย

     

      ระยะต่อมาเตรียมตัวไปรับขวัญข้าวจากทุ่งนา นาสู่ยุ้งฉางก็ต้องเป็นวันศุกร์  สิ่งที่เชิญมีกระจาด  สายแหลก  ไม้คานฉาย1 อัน  เอาไว้คอนกระจาด  มีผ้าขาวม้า 1 ผืน  เอาไว้คลุมหัวสายแหลก  ในกระจาดมีเสื้อผ้าใหม่ๆ  ของเจ้าบ้านและมีเงิน มีทอง น้ำอบ  น้ำหอม น้ำ1ขวด เผือก  มัน  ใบเงิน  ใบทอง ใบสลอดทั้งต้น แล้วเก็บเอารวงข้าวที่ตกอยู่ในนาใส่กระจาด  แล้วแต่จะเก็บได้เพื่อเอามาสู่ยุ้งฉาง

     

      ระยะต่อมาเพื่อรับขวัญข้าวที่นำมาสู่ยุ้งฉางแล้ว  ก็เริ่มทำพิธีสู่ขวัญ  ตั้งนะโม 3 จบ  แล้วระลึกถึงคุณพระพุทธ  คุณพระธรรม  คุณพระสงฆ์  เรียกเชิญขวัญแม่โพสพ  แม่โพศรี  แม่จันทร์เทวี  แม่ศรีศักดา  แม่ดอกข้าวเจ้า  แม่ดอกข้าวเหนียว เชิญมาสู่ยุ้งฉาง มาอยู่กับลูกกับเต้า มาเลี้ยงลูกหลานให้อิ่มหนำสำราญ ให้พอมีพอใช้ ขออย่าให้อดอยาก อย่าได้ยากจน  เหลือกินเหลือใช้แล้วจะได้ทำบุญให้ทานกับผู้มีพระคุณ หรือผู้ตกทุกข์ได้ยาก  นิภานังปัจจะโยโหตุ

     

      ขั้นตอนสุดท้ายเรียกว่า  ตักยุ้ง  ต้องเป็นเดือน4  คือ เดือนไทยข้างขึ้น  เว้นวันศุกร์  เลือกเอาวันไหนเป็นวันดี  คนที่จะตักข้าวออกจากยุ้งต้องเลือกคนที่เกิดปีมะโรง  ปีมะเส็ง เพราะเป็นวันปีสัตว์ไม่กินข้าว เมื่อตักข้าวออกมาแล้ว  เอาไว้ต่อเมื่อมีการทำบุญให้ทาน  หรือเอาให้เป็ด ไก่ กินก็ได้ คือ การให้

 

      พิธีกรรมที่กล่าวมาข้างต้น ชาวนาส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญ ชาวนาทุกวันนี้ทำนาปลูกข้าว เน้นแต่วิธีการหรือรูปแบบการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตเยอะๆมองแต่ด้านเศรษฐกิจ แต่ลืมนึกถึงแม่โพสพที่เป็นเทพประจำต้นข้าว ทางมูลนิธิข้าวขวัญซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนทำนาส่งเสริมชาวนา ทำนาแบบลดต้นทุนการผลิต ปลอดสารเคมี เปิดโรงเรียนชาวนา อบรมเกษตรกร

 

       มูลนิธิข้าวขวัญร่วมกับศูนย์พัฒนาสังคม ได้เห็นความสำคัญชาวนากับแม่โพสพ ต้องการจะรื้อฟื้นพิธีกรรมการทำนา  จึงได้จัดงานสืบสานตำนานแม่โพสพกับชาวนาขึ้นใน วันที่ 30 มกราคม 2552 นี้ เวลา 08.45 -15.30 น. ณ โรงเรียนชาวนาบ้านผู้ใหญ่รุ่งธรรม  แก้วทิพย์ ม.2 ต.ตลิ่งชัน  อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

 

      ซึ่งภายในงานจะมีการพูดคุยให้ความรู้เกี่ยวกับพิธีสืบสานตำนานชาวนากับแม่โพสพ โดยอาจารย์เอี่ยม  ทองดี (นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ) และกิจกรรมอื่นๆ เช่น การร้องเพลงเกี่ยวข้าวและรำวงย้อนยุค กิจกรรมเรียนรู้ ฝึกหัด จักสาน ตาเฉลวและชะลอม นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันสานตาเฉลวและชะลอมเพื่อความสนุกสนานย้อนยุคแบบชาวนาอีกด้วย

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ประชาสัมพันธ์
หมายเลขบันทึก: 234301เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2009 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • ตามมาอ่าน (ขอบคุณ อ.ขจิต) แต่สงสัยคำนี้ค่ะ  "สิ่งที่เชิญมีกระจาด สายแหลก"  คืออะไรคะ
  • เด็กๆ เคยตามยายไปนาทุกวัน  ช่วยทำนา (แบบเด็กๆ)  เห็นยายทำพิธีกรรม บูชาแม่โพสพอย่างเคร่งครัดมากๆ เสียดายไม่ได้ซักถาม
  • ขอบคุณค่ะที่เล่าเรื่องดีๆ

เป็นกำลังใจให้คนทำงานนะคะ..

ชื่นชมด้วยใจจริงค่ะ..

ขอบคุณค่ะ..^^

  • ตามมาให้กำลังใจ
  • เยี่ยมมากๆๆ
  • มายิ้มๆๆพี่นุ้ยไม่รู้จักสาแหรก

สายแหลก ก็คือ สาแหรกค่ะ เป็นโครงหรือเส้นหวายที่ใช้รองรับกับตัวกระจาด โดยปกติสาแหรกจะมีสี่เส้น แล้วมีหูอยู่ด้านบนไว้ใส่ไม้คานสอดเข้าไปค่ะ

สวัสดีคุณนุ้ย คุณครูแอ๊ว และอาจารย์ขจิต

ขอบคุณสำหรับกำลังใจดีๆค่ะ

อย่างนี้ทีมงานคงทำงานแบบลืมเหนื่อยกันเลยล่ะค่ะ

^^

  • อาจารย์ขจิต อย่าหัวเราะพี่นา  พี่รู้จักแต่สาแหรกดีนะ เด็กๆ คอนกระจาดขนมจีนไปขายหัวบ้านท้ายบ้านเพื่อหาเลี้ยงชีพมาแล้วจ๊ะ
  • คิดถึงสำนวน "บ้านแตก สาแหรกขาด" คนโบราณช่างคิด บ้านแตก คือ ไปคนละทิศ คนละทาง สาแหรกขาด คือ หมดทางทำมาหากิน เพราะสาแหรกมันขาดไปแล้ว - แย่จัง
  • ตามมาอ่านการทำขวัญข้าวด้วยคน
  • เคยแต่ฟังข่าว
  • แต่ไม่ทราบรายละเอียด
  • ขอบคุณมากค่ะ
  • สำหรับข้อมูลดีๆในบันทึกนี้

วันเด็ก

เยี่ยมมากมีรายละเอียดด้วย ขอบคุณสำหรับความรู้เรื่องแม่ครับ

สถานที่จัดงานจัดที่มูลนิธิป่าวครับ..ขอรายละเอียดด้วยครับคุณชมพู่..เผื่อได้ไปร่วมครับ

สวัสดีค่ะ พี่ป้อม งานสืบสานตำนานแม่โพสพ จัดที่หมู่บ้านค่ะ บ้านตลิ่งชัน พื้นที่ของพี่เหรียญค่ะ ถ้าสนใจเข้าร่วม จะ Fax แผนที่ไปให้ค่ะ

ดีคับ

ผมเอ็นนะคับ

ตำนานแม่โำพสพสรุปไงอะคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท