๔ เดือนอ่านออกเขียนได้แล้วที่อุทัยธานี!


จากผลของการดำเนินโครงการและบรรลุเป้าหมายของการทำให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้อย่างแท้จริงภายในเวลา ๔ เดือนดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า เมื่อผู้บริหารโรงเรียนเอาจริง ครูเอาจริง และสอนอย่างถูกวิถีของภาษาไทยแท้จริง นักเรียนก็จะอ่านออกเขียนได้อย่างแน่นอน

๔ เดือนอ่านออกเขียนได้แล้วที่อุทัยธานี!

 

            ข้อมูลจาก web site ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่อง เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ปีการศึกษา ๒๕๕๐) ทำให้เห็นว่าการเรียนการสอนภาษาไทยน่าเป็นห่วงที่สุด

            ๑.เฉพาะนักเรียนชั้น ป.๒ ปีการศึกษา ๒๕๔๙ ที่ขึ้น ป.๓ ปีการศึกษา ๒๕๕๐ ทั่วประเทศที่มีจำนวนเขตพื้นที่การศึกษา ๑๗๕ เขต จำนวนเด็ก ๖๓๗,๐๐๔ คน  มีสภาพ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้  จำนวน ๗๙,๓๕๘ คน  

            ๒.กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติงบประมาณเพื่อการแก้ปัญหา ๓๐๐ บาทต่อ ๑ คน รวมเป็นงบประมาณที่ใช้จ่ายไปแล้ว  ในปีการศึกษา ๒๕๕๐ เป็นเงินทั้งสิ้น ๓๙,๖๗๙,๐๐๐ บาท (สามสิบเก้าล้านหกแสนเจ็ดหมื่นเก้าพันบาทถ้วน)

            ๓.เมื่อเจาะลึกลงไปที่เขตพื้นที่การศึกษา ในส่วนของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุทัยธานี มีจำนวนนักเรียน ป.๒ ที่ขึ้น ป.๓ ปีการศึกษา ๒๕๕๐ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ตามที่โรงเรียนสำรวจแจ้งเป็นข้อมูล สพท.อุทัยธานี และ สพท.อุทัยธานี แจ้งเป็นข้อมูล สพฐ. มีจำนวน ๕๖๕ คน

            สพท.ต่างๆ ทั่วประเทศจะแก้ปัญหากันด้วยวิธีการอย่างไร และมีผลสัมฤทธิ์อย่างไรบ้าง เป็นเรื่องที่น่าติดตาม...

            แต่ในส่วนของ สพท.อุทัยธานี (ครั้งนั้นยังไม่ได้แยกเป็น ๒ เขต) ได้จัดให้มีการประชุมอบรมครูผู้สอนชั้น ป.๓  ครั้งที่ ๑ เมื่อ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๐ จำนวน ๗๕ คน โดยเชิญ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ (ครูกานท์) จาก ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม เป็นวิทยากร  หลังจากการอบรม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้  กระทั่งเข้าถึงองค์ความรู้ของเหตุแห่งปัญหา แนวทางแก้ไขปัญหา วิธีการสอน และกระบวนการบริหารจัดการที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจนร่วมกันแล้ว  สพท.อุทัยธานี จึงได้จัดทำโครงการ อ่านออกเขียนได้ภายในสี่เดือนขึ้น โดย สพท.อุทัยธานี ร่วมกับ ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม (ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ) จัดอบรม ครั้งที่ ๒ เมื่อ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๐  เพื่อให้การอบรมแก่ผู้บริหารโรงเรียน ที่สมัครใจเข้าร่วมเรียนรู้ทั้งสิ้น จำนวน  ๑๕๐ โรงเรียน (จำนวนโรงเรียนในเขตมี ๒๕๙ โรงเรียน) หลังการอบรมเรียนรู้แล้ว เปิดโอกาสให้โรงเรียนที่เห็นด้วยกับแนวทางและกระบวนการแก้ปัญหาของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ สมัครเข้าร่วมโครงการตามความสมัครใจ ปรากฏว่ามีโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน  ๘๘ โรงเรียน 

            จากนั้น สพท.อุทัยธานี โดย นายชวฤทธิ์ จงเกษกรณ์ (หัวหน้ากลุ่มงานนิเทศ) นางอำนวย กาญจนะ (ศึกษานิเทศก์) และคณะศึกษานิเทศก์ที่เกี่ยวข้อง จึงสำรวจข้อมูลทั้งโดยการลงพื้นที่สำรวจเองโดยตรงและส่งแบบสำรวจให้โรงเรียนดำเนินการ (โดยให้นักเรียน เขียนตามคำบอกจากคำที่กำหนดให้ครอบคลุมคำที่สะกดตรงมาตรา ในมาตราสะกด ทั้ง ๙ แม่ คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูง อักษรกลาง อักษรต่ำ คำควบกล้ำ คำอักษรนำ และคำผันวรรณยุกต์เสียงต่างๆ จำนวน ๕๐ คำ) กลับพบว่ามีนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เพิ่มจากจำนวนที่โรงเรียนแจ้งไว้เดิมอีกเป็นจำนวนมาก และมีสภาพปัญหาทุกชั้นปี จำนวนโดยสรุปตั้งแต่ชั้น ป.๒ ถึง ม.๖ เฉพาะโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จำแนกเป็นกลุ่มอำเภอ ดังนี้ (จำนวนตัวเลขมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนโรงเรียนในพื้นที่อำเภอนั้นๆ ที่เข้าร่วมโครงการด้วย)

            อำเภอเมืองอุทัยธานี ๑๗๒ คน/อำเภอหนองขาหย่าง ๙ คน  (จำนวนแตกต่างจากอำเภออื่นอย่างน่าตั้งข้อสังเกต)/อำเภอหนองฉาง ๑๑๔ คน/อำเภอทัพทัน ๒๓๘ คน/อำเภอบ้านไร่ ๘๗๔ คน/อำเภอสว่างอารมณ์ ๒๙๖ คน/อำเภอลานสัก ๕๒๒ คน/อำเภอห้วยคต ๑๔๘ คน...       รวม ๒,๔๗๓ คน

          นี่แค่จังหวัดเดียว ที่ลงลึกถึงความจริงแห่งการ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จากยอดจำนวน (ป.๒) ๕๖๕ คนทั้งจังหวัด เพิ่มเป็นจำนวน (ป.๒ ถึง ม.๖) ๒,๔๗๓ คนใน ๘๘ โรงเรียน แล้วทั่วประเทศ ๑๗๕ เขต จะเป็นยอดจริงที่มหาศาลเพียงใด...

            สพท.อุทัยธานี จัดอบรมครั้งที่ ๓  เมื่อ ๒๙-๓๐ กันยายน ๒๕๕๐  เพื่อให้การอบรมแก่ ครูอาสาผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนแก้ปัญหา  หลังการอบรมแล้วนั้นให้ทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจัดกิจกรรมดำเนินการสอนแก้ปัญหา และกลุ่มงานนิเทศจัดทำแผนงานติดตามนิเทศและประเมินผลเดือนละ ๑ ครั้ง รวม ๔ ครั้ง โดยมี ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ จาก ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม เป็นที่ปรึกษาร่วมติดตามสนับสนุนด้วยทุกครั้ง

            กระบวนการสอนแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ดังกล่าว กำหนดให้ดำเนินการตามแนวทางของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ และหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียวซึ่งมีสาระสำคัญแต่ละขั้นคือ

            ๑.เนื้อหา

            เน้นให้ครูอ่านออกเสียงแจกลูกผันเสียงนำนักเรียน  แล้วให้นักเรียนเปล่งเสียงอ่านตาม  ทั้งคำเดี่ยวและคำประสม  จากนั้นให้ฝึกเขียนคำ  เขียนคำตามคำบอก  เขียนคัดลายมือ  และเขียนกลุ่มคำตามแบบฝึกในหนังสือ  (เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว)

            เดือนแรก  แจกลูกผันเสียง  แม่ ก กา     

            เดือนที่สอง  แจกลูกผันเสียง  ตัวสะกดคำเป็น  แม่ กง กน กม เกย เกอว

            เดือนที่สาม  แจกลูกผันเสียง  ตัวสะกดคำตาย  แม่ กก กด กบ  คำสระเปลี่ยนรูปและลดรูป

            เดือนที่สี่  สอนแจกลูกผันเสียง  คำควบกล้ำ คำอักษรนำ และคำที่มีลักษณะพิเศษอื่นๆ

            ๒.วิธีการ

            (๑) โรงเรียนจัด ครูอาสาเพื่อเป็นผู้สอนแก้ปัญหาเป็นการเฉพาะ  กำหนดให้ใช้ ครู ๑ คน ต่อนักเรียนไม่เกิน ๑๐๐ คน

            (๒) ครูอาสาจัดแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มละไม่เกิน ๒๐ คน  แล้วจัดตารางสอนให้แต่ละกลุ่มมาเรียนวันละไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง  รวม ๔ เดือนไม่น้อยกว่า ๘๐ ชั่วโมง  ต่อกลุ่มต่อคน  โดยให้ใช้เวลาเรียนปกติเป็นชั่วโมงสอนแก้ปัญหา  ให้นักเรียนทิ้งชั่วโมงเรียนวิชาอื่นมาวันละ ๑ ชั่วโมง (ไม่ซ้ำวิชากันในแต่ละวัน) เป็นเวลา ๔ เดือนตลอดโครงการ  ซึ่งนักเรียนที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นั้น แม้จะอยู่ในชั่วโมงเรียนวิชาอื่นใดก็ไม่บรรลุผลการเรียนอะไรมากนัก  ตราบใดที่พวกเขายังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้  จึงควรให้มาฝึกทักษะอ่านเขียนให้ได้ก่อน  และโครงการนี้ก็ไม่สนับสนุนให้สอนแก้ปัญหาในช่วงเวลาพักของนักเรียน  หรือในช่วงเวลาเลิกเรียนที่นักเรียนจะกลับบ้าน  เพราะเหตุว่าช่วงเวลาพักนักเรียนจะขาดสมาธิในการฝึกฝน จิตเขาจะห่วงเพื่อน และห่วงเล่น  ส่วนช่วงเลิกเรียนนั้นเป็นช่วงที่นักเรียนอ่อนล้า  ขาดพลังในการเรียนรู้   อีกทั้งผู้ปกครองก็มารอรับกลับบ้าน ไม่สะดวกและได้ผลไม่เต็มที่

            (๓) กำหนดให้ครูเขียนคำ และแจกลูกคำที่สำหรับออกเสียงอ่าน ออกเสียงสะกดคำ และผันเสียงบนกระดานดำ  ชวนนักเรียนเปล่งเสียงอ่านตามครู  อ่านซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง และครบถ้วนทุกคำที่มีอยู่ในแบบฝึกของหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว  อ่านได้แล้วฝึกเขียนคำตามคำบอก และเขียนคัดลายมือ  ตามลำดับไปทีละบททีละเดือน จากง่ายไปหายาก

            แต่ในการติดตามการดำเนินโครงการ  ได้พบเหตุปัจจัยหลายประการที่น่านำมาเป็นข้อมูลประกอบพิจารณาแก้ไขปรับปรุงโครงการต่อไป  ได้แก่ บางโรงเรียนไม่ได้ทำตามแนวทางที่กำหนด เช่น ไม่ได้จัดวางตัวครูอาสาที่แน่ชัด ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแก้ปัญหาวันละ ๑ ชั่วโมงให้สม่ำเสมอได้  โดยอ้างว่าติดกีฬาบ้าง  ติดการเตรียมเด็กเพื่อสอบวัดประเมินผลเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง  ขาดแคลนครูบ้าง  ฯลฯ  แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆ ล้วนเกิดจากการไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิธีคิด  วิธีบริหาร  และวิธีสอน  ดังจะเห็นว่าโรงเรียนในโครงการส่วนใหญ่ที่เอาจริงเอาจังกับการดำเนินกิจกรรมทั้งด้านการบริหารจัดการ และการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางและวิธีการที่กำหนด  ล้วนประสบผลสัมฤทธิ์ที่ดี  แตกต่างกันอย่างมาก

            ขณะนี้การดำเนินกิจกรรมโครงการเสร็จสิ้นลงแล้ว  สพท.อุทัยธานี ร่วมกับ ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม ได้ออกติดตามประเมินผลแล้วเสร็จ  ณ วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๑  จำนวน  ๗ โรงเรียน  ปรากฏว่า นักเรียนอ่านออกเขียนได้ผ่านเกณฑ์  เขียนตามคำบอกคำที่กำหนดให้ครอบคลุมคำในมาตราสะกดต่างๆ (ตรงมาตรา) ทั้ง ๙ แม่ คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูง อักษรกลาง อักษรต่ำ คำควบกล้ำ คำอักษรนำ และคำผันวรรณยุกต์เสียงต่างๆ  จำนวน ๕๐ คำ  คิดเป็น ๑๐๐%  กำหนดช่วงคะแนนดังนี้

            ผ่านดีเยี่ยม   ได้คะแนนระหว่าง   ๕๐-๖๐ %

            ผ่านดีมาก  ได้คะแนนระหว่าง   ๖๑-๗๐ %

            ผ่านดี  ได้คะแนนระหว่าง   ๗๑-๘๐ %

            ผ่านพอใช้  ได้คะแนนระหว่าง   ๘๑-๑๐๐ %

            ไม่ผ่าน  ได้คะแนนระหว่าง  ๐๐-๔๙ %

รายนามโรงเรียนและผลการประเมิน

            ๑.โรงเรียนบ้านเขาวง  อำเภอลานสัก นักเรียนในโครงการ  ๒๔ คน  ผ่านดีเยี่ยม ๕ คน ผ่านดีมาก ๑๐ คน ผ่านดี ๖ คน ผ่านพอใช้ ๓ คน ไม่ผ่าน - คน รวมผ่าน ๑๐๐ %

            ๒.โรงเรียนบ้านหนองผักกาด  อำเภอลานสัก  นักเรียนในโครงการ ๓๓ คน  ผ่านดีเยี่ยม ๑๙ คน  ผ่านดีมาก ๘ คน ผ่านดี ๖ คน ผ่านพอใช้ - คน ไม่ผ่าน - คน รวมผ่าน ๑๐๐ %

            ๓.โรงเรียนวัดหนองมะกอก  อำเภอหนองฉาง  นักเรียนในโครงการ ๑๙ คน  ผ่านดีเยี่ยม ๖ คน  ผ่านดีมาก ๘ คน  ผ่านดี ๓ คน  ผ่านพอใช้ - คน  ไม่ผ่าน ๒ คน  รวมผ่าน ๘๙.๔๗ %  รวมไม่ผ่าน  ๑๐.๕๓ %   (หมายเหตุ  โรงเรียนนี้จัดการเรียนการสอนไม่เต็มเวลา และดำเนินการไม่เต็มตามวิธีการที่กำหนด)

            ๔.โรงเรียนบ้านน้ำพุ  อำเภอบ้านไร่  นักเรียนในโครงการ  ๑๘  คน  ผ่านดีเยี่ยม  - คน  ผ่านดีมาก ๒ คน  ผ่านดี ๓ คน  ผ่านพอใช้ ๕ คน  ไม่ผ่าน ๑๐ คน  รวมผ่าน  ๕๕.๕๖ %  รวมไม่ผ่าน  ๔๔.๔๔ %  (หมายเหตุ  โรงเรียนนี้จัดการเรียนการสอนไม่เต็มเวลา และดำเนินการไม่เต็มตามวิธีการที่กำหนด)

            ๕.โรงเรียนวัดทัพคล้าย  อำเภอบ้านไร่  นักเรียนในโครงการ  ๓๗  คน  ผ่านดีเยี่ยม ๖ คน  ผ่านดีมาก ๑๑ คน   ผ่านดี ๑๓  คน  ผ่านพอใช้ ๗ คน  ไม่ผ่าน - คน  รวมผ่าน ๑๐๐ % 

            ๖.โรงเรียนบ้านกลาง  อำเภอห้วยคต  นักเรียนในโครงการ  ๕๖  คน  ผ่านดีเยี่ยม  ๓๑ คน   ผ่านดีมาก  ๑๔  คน  ผ่านดี ๗ คน  ผ่านพอใช้ ๓ คน  ไม่ผ่าน ๔ คน  รวมผ่าน  ๙๒.๘๖ %  รวมไม่ผ่าน ๗.๑๔ %  (หมายเหตุ   โรงเรียนนี้ดำเนินการทั้งตามแนวทางและวิธีสอนที่กำหนด และนอกแนวทางที่กำหนดบางประการ)

            ๗.โรงเรียนบ้านหินงามสามัคคี  อำเภอบ้านไร่  นักเรียนในโครงการ  ๒๓  คน ผ่านดีเยี่ยม ๔ คน  ผ่านดีมาก ๒ คน   ผ่านดี ๖ คน  ผ่านพอใช้ ๓ คน ไม่ผ่าน ๘ คน  รวมผ่าน ๖๕.๒๒ %  รวมไม่ผ่าน  ๓๔.๗๘ %  (หมายเหตุ   โรงเรียนนี้ดำเนินการตามวิธีสอนที่กำหนด แต่ไม่เต็มเวลา และไม่เต็มกระบวนการ)

            สรุป ณ วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๑ โรงเรียนที่ได้ดำเนินการประเมินเสร็จแล้ว  จำนวน ๗ โรงเรียน จำนวนนักเรียน ๒๑๐ คน  นักเรียนผ่านการประเมิน  ๑๘๖ คน คิดเป็น  ๘๘.๕๗ %  และไม่ผ่านการประเมิน  ๒๔ คน  คิดเป็น ๑๑.๔๓ %  ส่วนโรงเรียนที่เหลือกำลังดำเนินการประเมิน กำหนดเสร็จสิ้นในวันที่  ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๑ 

            หลังจากวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๑  สพท.อุทัยธานีได้รับรายงานการประเมินผลโครงการจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ  ทั้งที่ปฏิบัติตามแนวทางกระบวนการที่กำหนดเต็มรูปแบบ และที่ปฏิบัติตามแนวทางกระบวนการไม่เต็มรูปแบบ  ผลปรากฏตามเอกสารสรุปของ สพท.อุทัยธานี ดังนี้

            การดำเนินงานอ่านออกเขียนได้ภายในสี่เดือนเริ่มดำเนินการตั้งแต่ วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ถึง  ๒๙  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๑  โรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน  ๙๓ โรงเรียน  แบ่งออกเป็น ๒  รูปแบบ ดังนี้

            รูปแบบที่ ๑  หมายถึง มีครูอาสา ๑ - ๓ สอนวันละไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมงและสอนในเวลาปกติ  เวลาสอนทั้งหมดไม่ต่ำกว่า ๘๐ ชั่วโมง มีจำนวน ๖๙ โรงเรียน มีโรงเรียนส่งผลการทดสอบจำนวน ๕๖  โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก(มีนักเรียนไม่เกิน ๑๒๐ คน) จำนวน ๓๘ โรงเรียน โรงเรียนที่มีนักเรียนมากกว่า ๑๒๐  คนขึ้นไปจำนวน ๑๘ โรงเรียน  นักเรียนปกติที่อยู่ในโครงการจำนวน  ,๕๗๒  คน 

            ผลการดำเนินงาน

            ๑.นักเรียนปกติผ่านเกณฑ์ร้อยละ  ๕๐  ทุกคน   จำนวน  ๑๑  โรงเรียน  คิดเป็นร้อยละ ๑๙.๖๔  ของโรงเรียนที่ส่งผลการทดสอบ  และมีโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ทุกคน จำนวน  ๔๕ โรงเรียน

            ๒.โรงเรียนที่มีนักเรียนผ่านเกณฑ์ทุกคน เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก (มีนักเรียนไม่เกิน ๑๒๐  คน)  จำนวน    โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ  ๘๑  ของโรงเรียนที่มีนักเรียนผ่านเกณฑ์ทุกคน และโรงเรียนที่มีนักเรียน ๑๒๐ คนขึ้นไป จำนวน    โรงเรียน

            ๓.นักเรียนปกติในโครงการมีจำนวน  ,๕๗๒  คน 

            ๓.๑ ไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ ๕๐ จำนวน ๔๕๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๙.๒๐

            ๓.๒ ผ่านเกณฑ์ร้อยละ ๕๐ จำนวน ๑,๑๑๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๗๐.๘๐

            ๓.๒.๑ ระดับพอใช้  จำนวน  ๓๗๗  คน คิดเป็นร้อยละ  ๒๓.๙๘

            ๓.๒.๒ ระดับดี  จำนวน  ๒๓๐  คน  คิดเป็นร้อยละ  ๑๔.๖๓

            ๓.๒.๓ ระดับดีมาก  จำนวน  ๑๙๗  คน  คิดเป็นร้อยละ  ๑๒.๕๓

            ๓.๒.๔ ระดับดีเยี่ยม จำนวน ๓๐๙  คน  คิดเป็นร้อยละ  ๑๙.๖๖

             รูปแบบที่ ๒  หมายถึง  ครูอาสาเป็นครูสอนประจำชั้นในระดับประถมศึกษา และครูภาษาไทยระดับมัธยมศึกษา  สอนวันละไม่น้อยกว่า    ชั่วโมง  สอนในเวลาปกติ/นอกเวลา  เวลาสอนทั้งหมด ไม่ต่ำกว่า  ๘๐  ชั่วโมง   มีจำนวน  ๒๔  โรงเรียน  มีโรงเรียนส่งผลการทดสอบ จำนวน  ๒๑  โรงเรียนเป็น โรงเรียนขนาดเล็ก (มีนักเรียนไม่เกิน ๑๒๐  คน)  จำนวน ๑๑ โรงเรียน  โรงเรียนที่มีนักเรียนมากกว่า ๑๒๐  คนขึ้นไป จำนวน ๑๐ โรงเรียน  นักเรียนปกติที่อยู่ในโครงการจำนวน  ๕๖๘ คน 

            ผลการดำเนินงาน

            ๑.  นักเรียนปกติผ่านเกณฑ์ร้อยละ  ๕๐  ทุกคน   จำนวน    โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด   คิดเป็นร้อยละ ๑๙.๐๔  ของโรงเรียนที่ส่งผลการทดสอบ และมีโรงเรียนที่มีนักเรียน ไม่ผ่านเกณฑ์ทุกคนจำนวน  ๑๗  โรงเรียน

            ๒.  นักเรียนปกติในโครงการมีจำนวน  ๕๖๘  คน 

            ๒.๑ ไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ ๕๐ จำนวน ๑๗๑ คน คิดเป็นร้อยละ  ๓๐.๑๑

            ๒.๒ ผ่านเกณฑ์ร้อยละ ๕๐ จำนวน ๓๙๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๙.๘๙

            ๒.๒.๑  ระดับพอใช้  จำนวน  ๑๔๔  คน คิดเป็นร้อยละ  ๒๕.๓๕

            ๒.๒.๒ ระดับดี จำนวน  ๑๑๐  คน  คิดเป็นร้อยละ  ๑๙.๓๗

            ๒.๒.๓ ระดับดีมาก  จำนวน  ๖๘  คน  คิดเป็นร้อยละ  ๑๑.๙๗

            ๒.๒.๔ ระดับดีเยี่ยม  จำนวน  ๗๕  คน  คิดเป็นร้อยละ  ๑๓.๒๐  

            สำหรับนักเรียนบางคนในบางโรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมินนั้น  ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่ผู้บริหารยังไม่ได้ใช้การบริหารจัดการให้การดำเนินการเป็นไปตามแนวทางที่โครงการกำหนดอย่างเต็มรูปแบบ และครูผู้สอนยังไม่ได้สอนเต็มเวลา (วันละ ๑ ชั่วโมง เป็นเวลา ๔ เดือน หรือประมาณ ๘๕ ชั่วโมงขึ้นไป) ขั้นตอน วิธีการ และเนื้อหาโครงการ   ซึ่ง สพท.อุทัยธานี จะต้องติดตามให้การสนับสนุนดำเนินการต่อไปในปีการศึกษา ๒๕๕๑

 

            ครูกานท์ / รายงาน

ข้อมูลจาก http://www.oknation.net/blog/krugarn

         http://siwagarn.multiply.com/

 

...

...

หมายเลขบันทึก: 235205เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2009 17:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 08:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีค่ะครูกานท์
  • แวะมาอ่านข้อมูลดี ๆ ได้ความละเอียดชัดเจน
  • ครูตาลก็มีปัญหาเรื่องเด็กอ่านหนังสือไม่ออกค่ะ
  • ตอนนี้สามารถแก้ปัญหาไปได้ระดับหนึ่งค่ะ
  • โดยใช้ โครงการ อ่านคล่องร้องเต้นค่ะ
  • ใช้การร้องเพลงคาราโอเกะเข้าช่วยด้วยค่ะ
  • ผลยังไม่น่าพอใจเท่าไรค่ะ
  • แต่ก็พัฒนาไปได้ประมาณ ร้อยละ 70 ค่ะ
  • ขอบพระคุณมาค่ะครู ข้อมูลของครูกานท์ เป็นประโยชน์ต่อครูตาลมากค่ะ

 

บุญรักษานะครับ คุณรัชดาวัลย์ (ครูตาล)

น่าจะลองใช้เพลงร้องเล่นของเด็กและอาขยานแทนคาราโอเกะดูบ้างนะครับ

มาชื่นชมกับ กิจกรรมดีๆ ครับอาจารย์

สวัสดีค่ะ

* เข้ามาดูกิจกรรมและวิธีการดีๆ ค่ะ

* ครูพรรณา ก็กำลังมีปัญหาเด็กอ่านไม่ได้เลย

* ที่สำคัญเขาไม่ยอมรับที่จะพัฒนาตนเอง

* ครูกำลังจะแงแง แล้วค่ะ

* ขอให้อาจารย์สุขกายสุขใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท