เรื่องเล่าจากข้าวขวัญ


บทความผ่านบล็อกของเดชา ศิริภัทร

 

        ปี 2552 เป็นปีที่มูลนิธิข้าวขวัญก่อตั้งมาครบ 20 ปี  ผู้เขียนจึงถือโอกาสนี้ เผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับมูลนิธิข้าวขวัญ สำหรับผู้อ่านที่ (อาจ) สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับมูลนิธิข้าวขวัญ และผู้ที่ (ยัง) ไม่สนใจ เผื่อว่าจะเกิดความสนใจขึ้นบ้างในอนาคต

       

ก่อนจะกล่าวถึงเรื่องราวต่างๆของมูลนิธิข้าวขวัญ  ผู้เขียนรู้สึกว่า ควรจะเขียนถึงชื่อ ข้าวขวัญ เสียก่อน เพราะมักจะถูกเรียกเป็น ขวัญข้าว อยู่เสมอ  เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ ไม่รู้ความหมายของคำว่า ข้าวขวัญ  ยิ่งกว่านั้น หากผู้เขียนบอกว่า ข้าวขวัญ คือ สิ่งเดียวกับ บายศรี ผู้อ่านก็ยิ่งงงหนักเข้าไปอีก เพราะไม่ทราบว่า บายศรี คืออะไรเหมือนกัน

       

ดังนั้น บทความตอนแรกของ เรื่องเล่าจากข้าวขวัญ นี้  ผู้เขียนจึงจะอธิบายความหมายของ ข้าวขวัญ และ บายศรี  รวมทั้งเหตุผลที่นำ ข้าวขวัญ มาตั้งเป็นชื่อมูลนิธิว่าเกี่ยวข้องกับจุดประสงค์หรือเป้าหมายของมูลนิธิอย่างไร

 

พจนานุกรมบางฉบับ ให้คำจำกัดความ ข้าวขวัญ ว่า เป็นคำนาม หมายถึง ข้าวบายศรี  พอเปิดไปดูความหมายของ บายศรี ก็อธิบายว่า เป็นคำนาม หมายถึง  เครื่องเชิญข้าว เครื่องรับขวัญ พจนานุกรมฉบับที่ให้ความหมายข้าวขวัญได้ชัดเจนที่สุดคือ พจนานุกรมฉบับมติชน  ให้ความหมายข้าวขวัญ ว่า  เป็นคำนาม หมายถึงข้าวในพิธีเรียกขวัญ  เชื่อว่าขวัญจะมาสถิตอยู่ในข้าวนั้น แต่เมื่อไปดูความหมายของ บายศรี ก็ให้ความหมายคล้ายกับฉบับแรก คือ เป็นคำนาม หมายถึง เครื่องเชิญขวัญและรับขวัญ ที่เป็นใบตองรูปคล้ายกระทง

       

ความหมายที่แท้จริงของข้าวขวัญ คือ ข้าวมงคลที่ใช้ประกอบในพิธีเรียกขวัญ (สู่ขวัญ)  แต่คนไทยไม่ใช้คำว่า ข้าวขวัญ แต่ใช้คำว่า บายศรี แทน  เพราะคำว่า บายศรี เป็นราชาศัพท์ของคำข้าวขวัญ นั่นเอง เนื่องจาก บาย เป็นภาษาเขมร แปลว่า ข้าว ส่วน ศรี เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า สิริมงคล  ความเจริญ ความรุ่งเรือง  รวมแล้ว บายศรี จึงหมายถึง ข้าวมงคล หรือข้าวที่ใช้ประกอบพิธีสู่ขวัญนั่นเอง

       

คนไทยส่วนใหญ่ (ร้อยละกว่า 99) เข้าใจว่า บายศรี คือ ใบตอง รูปคล้ายกระทงที่ใช้ในพิธีเรียกขวัญ  (สู่ขวัญ)  แทนที่จะเป็นข้าวขวัญหรือข้าวในพิธีเรียกขวัญ

       

ตัวอย่างเช่น มีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านภาคกลาง พันธุ์หนึ่ง ชื่อพันธุ์ บายศรี มาแต่เดิม  ต่อมาชาวนา ( ซึ่งเข้าใจว่าบายศรีคือใบตอง ) ค่อยๆเรียกชื่อเพี้ยนไปเป็น ใบศรี หรือใบไม้ที่เป็นมงคล  เพราะคิดว่าใบตองเป็นใบไม้จึงน่าจะถูกต้องมากกว่าบายศรี ที่หมายถึงข้าว  ปัจจุบันข้าวพันธุ์บายศรีที่ถูกเก็บรักษาไว้ในธนาคารเชื้อพันธุ์ของกระทรวงเกษตรฯ ก็ยังบันทึกชื่อเป็นทางการว่า เป็นพันธุ์ ใบศรี

 

        แม้แต่ปราชญ์ชาวไทยระดับโลก อย่าง สุนทรภู่ ก็ยังเข้าใจว่า บายศรีคือ ใบตอง  ดังปรากฏในนิราศเรื่อง รำพันพิลาป  เป็นการรำพันถึงช่วงชีวิตที่ตกต่ำของท่าน ขนาดต้องเร่ร่อนไปบนเรือ โดยท่านบรรยายเอาไว้ตอนหนึ่งว่า ชีวิตของท่านช่วงนั้น.....

 

                        เหมือนบายศรีมีงานท่านถนอม

                          เจิมแป้งหอมน้ำมันจันทน์ให้หรรษา

                         พอเสร็จการท่านเอาลงทิ้งคงคา

                         ก็ลอยมาลอยไปเป็นใบตอง

 

        ผู้เขียนเคยไปเยี่ยมชาวไทดำในประเทศเวียดนามตอนเหนือ  ชาวไทดำ ยังรักษา วัฒนธรรมไทเดิมเอาไว้ได้มากกว่าชาวไทยในประเทศไทย  ชาวไทดำก็เชื่อเรื่องขวัญ และมีพิธีเรียกขวัญเช่นเดียวกับชาวไทย  แต่ชาวไทดำ เชื่อว่า เมื่อขวัญออกจากร่างไปแล้ว ผู้ที่จะเรียกกลับมาให้เจ้าของขวัญได้ มีเพียงพญาแถนเท่านั้น  พิธีเรียกขวัญ  (สู่ขวัญ)  ก็คือ พิธีอ้อนวอนให้พญาแถนเรียกขวัญมาให้ โดยต้องมีเครื่องถวายให้พญาแถนพอใจ (ติดสินบน)  เสียก่อน  และสิ่งที่พญาแถนพอใจ ก็คือ ข้าวมงคลหรือข้าวขวัญนั่นเอง  ชาวไทดำ ยังใช้คำว่า ข้าวขวัญ และไม่รู้จักคำว่า บายศรี เลย

 

        สรุปคือ มูลนิธิข้าวขวัญ เลือก ข้าวขวัญ เป็นชื่อมูลนิธิ  ก็เพราะมีเป้าหมายทำงานเรื่องข้าว และคนปลูกข้าว (ชาวนา)   เพื่อแก้ไขปัญหาของชาวนาที่มีอยู่มากมาย  เช่น หนี้สิน สุขภาพ ความตกต่ำของอาชีพชาวนา จนไร้ศักดิ์ศรี ไม่มีใครยอมรับนับถือเหมือนแต่ก่อน  เดิมคนไทยยกย่องชาวนา  เป็น กระดูกสันหลังของชาติ คู่กับทหาร ที่เป็น รั้วของชาติ  ปัจจุบันชาวนาถูกมองเป็นแค่ รากหญ้า ในขณะที่ทหารยังเป็น รั้วของชาติ เหมือนเดิม

 

        ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับชาวนา เปรียบเสมือนชาวนากำลัง ขวัญหาย หรือ เสียขวัญ วิธีแก้ไขแบบวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม คือ ต้องทำพิธีเรียกขวัญ (สู่ขวัญ) ซึ่งจะต้องมี บายศรี หรือ ข้าวขวัญ จึงจะเป็นพิธีสู่ขวัญที่สมบูรณ์  ขวัญจึงจะกลับมาสู่ชาวนา และชาวนาจะกลับเป็นปกติสุขได้ดังเดิม  หมดปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันไปในที่สุด

 

        มูลนิธิข้าวขวัญ คงทำหน้าที่เป็น ข้าวขวัญ เพื่อทำให้พิธีสู่ขวัญเกิดขึ้นได้โดยสมบูรณ์ และเชื่อว่าจะทำให้ชาวนากลับมีขวัญได้ดังเดิม  ลำพังแต่ข้าวขวัญเอง คงไม่ทำให้เกิดพิธีสู่ขวัญได้ จำเป็นต้องอาศัยสิ่งอื่นๆมาประกอบด้วยฉันใด  มูลนิธิข้าวขวัญก็คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาของชาวนาไทยได้โดยลำพังเช่นเดียวกัน  หลังจาก 20 ปี ที่ก่อตั้งมูลนิธิข้าวขวัญขึ้นมา  ผู้เขียนรู้สึกว่า พิธีเรียกขวัญชาวนากำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว  หวังว่า พญาแถนคงจะมองเห็นคุณค่าของพิธีกรรมนี้ และกรุณาเรียกขวัญคืนมาให้ชาวนาไทยในอนาคต อันไม่นานนัก

                                               

 

                                                           

      เดชา  ศิริภัทร

                                                           20  มกราคม 2552

         

คำสำคัญ (Tags): #บันทึก
หมายเลขบันทึก: 236523เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2009 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • สมัยก่อน
  • ที่บ้านพนมทวนหรือหนองขาวกาญจนบุรี
  • เขาทำขวัญข้าว
  • จะมีไข่ต้มด้วย
  • ตอนเด็กๆๆจะรอไปกินไข่ต้ม...
  • มาสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิข้าวขวัญครับ
  • รออ่านอีก...

ขอแสดงความยินดีครบ ยี่สิบ ปี ค่ะ

ร่วมชื่นชม ยินดี และเป็นกำลังใจ

ให้ ข้าวไทย ไปไกล ทั่วโลก ค่ะ

 

  • ธรรมรักษา
  • อนุโมทนากัุบกิจกรรมของมูลนิธิ
  • ที่ทำเพื่อชาวนาไทย ให้เป็นชาวนาที่มีัศํกดิ์ศรี
  • ฝากบอกถึงรัฐบาล ได้ยินว่าจะปฏิุรูปที่ดินให้ที่ สปก.
  • แก่ชาวนา ควรจะพิจารณาที่สุพรรณบุรีด้วย เพราะมี
  • มูลนิธิข้าวขัวญตั้งอยู่ที่นี่ ชาวนาจะไำด้มีที่ปลูกข้าว
  • โดยไม่ต้องใช้สารเคมี ขอให้รัฐบาลเอาใจใส่เรื่องนี้อย่างจริงจัง
  • ขอให้โยมเดชา มีความสุข อาตมาติดตามผลงานของโยมอยู่เรื่อยๆ  แต่ไม่ได้ฝากความเห็นไว้..บุญรักษา     
  • ธรรมรักษา
  • อนุโมทนากัุบกิจกรรมของมูลนิธิ
  • ที่ทำเพื่อชาวนาไทย ให้เป็นชาวนาที่มีัศํกดิ์ศรี
  • ฝากบอกถึงรัฐบาล ได้ยินว่าจะปฏิุรูปที่ดินให้ที่ สปก.
  • แก่ชาวนา ควรจะพิจารณาที่สุพรรณบุรีด้วย เพราะมี
  • มูลนิธิข้าวขัวญตั้งอยู่ที่นี่ ชาวนาจะไำด้มีที่ปลูกข้าว
  • โดยไม่ต้องใช้สารเคมี ขอให้รัฐบาลเอาใจใส่เรื่องนี้อย่างจริงจัง
  • ขอให้โยมเดชา มีความสุข อาตมาติดตามผลงานของโยมอยู่เรื่อยๆ  แต่ไม่ได้ฝากความเห็นไว้..บุญรักษา     

เพิ่งทราบความหมายของ "บายศรี" (ทั้งที่มาจากภาษาเขมร) :)

วันจันทร์ที่จะถึง ผมและชาวนาเตรียมขันธ์5 ขันธ์8 พร้อมข้าวขวัญ (บายศรี) เพื่ออ้อนวอนพญาแถนเรียกขวัญมาให้

ขวัญและความปกติสุขจะกลับมาสู่ชาวนา

ขอบคุณครับ

เป็นกำลังใจให้กับมูลนิธิและชาวนาทุกท่านที่เห็นความสำคัญกับอาชีพบรรพบุรุษชาวสยามในโบราณ..กาลทุกท่าน..อนุโมทนากับความรู้ที่ตั้งใจจริงสาธุ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท