จิตว่าง..ว่างจริงหรือ ?


“ว่าง” ไม่ใช่อาการ แต่เป็นผลของการปล่อยวางความหลงมัวเมาความสุขในสิ่งล่อใจที่หลอกลวงให้ลืมตัวทั้งปวง

 

                           

                          

 

                                    

   

                              20090429115914_170 

 

         วิถีพุทธมีแนวปฏิบัติเพื่อความสงบทางจิต คือ ให้หมั่นเพียรในการทำจิตว่างจากสรรพกิเลสทั้งปวง ที่เกิดจากการสัมผัสผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และนำมาปรุงแต่งเป็นอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง แล้วยึดถือเป็นตัวตน ของเรา ของเขา สะสมเป็นความทะยานอยาก เร่าร้อน อยากมี อยากได้ ไม่รู้จบสิ้น ยากที่จะหลุดพ้นจากชาติภพของการ เกิด แก่ เจ็บตาย แห่งวงจรวัฏสงสาร

 

     เกริ่นไว้ข้างต้นด้วยความตั้งใจที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อ่านที่สนใจในการปฏิบัติไปสู่ความ “ว่าง” ตามแนวทางนั้น ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายๆสำหรับปุถุชนทั่วไปที่มีชีวิตประจำวันอยู่ท่ามกลางสิ่งยั่วเย้านานัปการ แต่ถึงแม้จะยากเย็นแสนเข็ญเพียงไร หากได้ตั้งใจไว้อย่างมุ่งมั่นแล้วว่า สิ่งนี้คือทางออกของความพ้นทุกข์อันนำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขที่เพิ่มพลังแข็งแกร่งของชีวิตอย่างยั่งยืนแล้ว ย่อมคุ้มค่าที่จะแสวงหาหนทางไปสู่ความว่างในความหมายที่กล่าวนั้นอย่างแท้จริง

 

   แก่นแท้ของคำว่า “ ว่าง “ คืออะไร ? ต่างคนต่างมุมมอง บางคนอาจเข้าใจว่า ความว่างคือการไม่มีอะไรเหลืออยู่อีก ว่างแล้วชีวิตเหมือนสุญญากาศ หลายคนไม่แน่ใจว่า ว่างแล้วว่างเลยหรืออย่างไร? เกิดมาเป็นมนุษย์อยู่ว่างๆได้จริงหรือ? เป็นเรื่องฝืนธรรมชาติของการแสวงหาเพื่อความอยู่รอดหรือไม่? ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเชื่อมั่นว่า ความว่างจากอารมณ์อันไม่พึงประสงค์ ไร้สาระ ไร้ประโยชน์ กลับจะทำให้เหลือพื้นที่แห่งความคิดเชิงคุณภาพของชีวิตได้มากยิ่งขึ้น ฯลฯ

 

    ข้าพเจ้าเชื่อว่า “ว่าง” ไม่ใช่อาการ แต่เป็นผลของการปล่อยวางความหลงมัวเมาความสุขในสิ่งล่อใจที่หลอกลวงให้ลืมตัวทั้งปวง การปล่อยวางในความหมายนี้ ไม่เหมือนกับกิจวัตรในเรื่องการปล่อยมือวางของหนักๆที่ถือไว้ ซึ่งเป็นไปโดยสัญชาติญาณปกติ แต่เป็นการปล่อยวางอารมณ์ ที่ต้องอาศัยปัญญาพิจารณาอย่างถ่องแท้ ถึงโทษทุกข์ของการยึดติดในอุปกิเลสเหล่านั้น ที่มีความหนาบางในแต่ละคนไม่เท่ากัน และแม้ในคนๆเดียวกันอาจมีระดับของความรุนแรงแตกต่างกันในแต่ละกรณี ผู้ประสงค์จะหลุดพ้นจากทุกข์ภัยด้วยการปล่อยวางนี้จึงต้องมีความตั้งใจและจริงใจอย่างต่อเนื่อง

 

  ข้อสำคัญคือ การ “ปล่อยวาง” ต้องอาศัยการฝึกฝนบ่อยๆ บนพื้นฐานของการรู้เท่าทันอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง ด้วยความไม่ประมาทพลั้งเผลอให้กิเลสเหล่านี้เข้ามาครอบงำโดยไม่รู้ตัว เพื่อมิให้ความ”ว่าง” เกิดๆดับๆอยู่ตลอดเวลา จนไม่แน่ใจว่า “จิตว่าง ..ว่างจริงหรือ??..”

 

   เมื่อจิตเกิดความว่างจากอุปกิเลส ณ ขณะใดขณะหนึ่งแล้ว ย่อมเกิดความปลอดโปร่งใสในปัญญาที่จะดำเนินกิจการงานของชีวิตได้อย่างชาญฉลาดเป็นขั้นตอน ไม่เกิดความสับสนในการลำดับความสำคัญของงาน ไม่หยิบจับเอาเรื่องไร้สาระมาเป็นแก่นสารของชีวิต แต่มีความมุ่งมั่นที่จะประกอบกิจให้สำเร็จตามเป้าหมายโดยการพิจารณาแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้วยพลังจิตที่แน่วแน่และมีความสุขอย่างแท้จริง

                            

                                  20090528162854_125       20090528162854_125    20090528162854_125

                                                              

  

หมายเลขบันทึก: 236745เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2009 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีครับ ทักทายด้วยการยกมือไหว้สาธุตามธรรมเนียมไทยครับ
  • แวะมานั่งสนทนาธรรมครับ ไม่ได้สนทนาและปฏิบัติธรรมมานานโขครับ
  • แก่นแท้ของคำว่า “ว่าง“ คืออะไร ?
  • เพราะว่าต่างคนต่างนิยามหรือเปล่าครับเลยมีปัญหามากมาย ผมว่า แล้วแต่ผู้นิยามครับ  คำว่า “ว่าง” เป็นคำสมมุติ ขึ้นมาคำหนึ่ง
  • ถ้า"ว่าง" คือการไม่อยากได้ใคร่ดีกับใคร หมดอาลัยตายอยาก วันๆ เอาแต่นอนซังกะตายดูนาฬิกาเดินไปเรื่อยๆ ติ๊กต๊อกๆ โดยหัวสมองว่างเปล่า หรือว่าการเกิดอาการอ๋อๆ ไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับใคร หรือว่ากินยาแก้ปวดแก้ไข้จนหัวกลวงว่างเปล่า หรือว่า ตอนเมาค้างตื่นมาเบลอๆ  อันนี้ ส่วนตัวในผมสมัยที่ผมปฏิบัติเอาจริงเอาจังนั้นผมจะจัดอารมณ์ประมาณนี้เข้ากลุ่มของธรรมที่เรียกว่า  "ถีนมิทธะ"  จิตหดหู่ เคลิบเคลิ้มไม่แจ่มใส  ความซึมเซา  หรือง่วงเหงาหาวนอน ซึ่งเป็นหนึ่งใน นิวรณ์ ๕ ที่ท่านว่าเป็น ธรรมที่กั้นจิต มิให้บรรลุถึงธรรม ที่สูงขึ้นไป
  • ถ้า "ว่าง" คือการที่เราเกิดความโกรธ ความอาฆาต คนที่ทำร้ายเรา หรือเกิดความเสียใจเมื่อสิ่งที่รักพลัดพรากสูญหาย พอรู้ตัวแล้วก็พยายาม ไม่ให้อารมณ์เหล่านั้นครอบงำ อันนี้ผมเห็นด้วยกับท่านครับว่าคือการ "ปล่อยวาง"  และเห็นด้วยครับที่ว่าความ “ว่าง” ที่เป็น “ความปล่อยวาง” นี้จะนำมาซึ่งทางออกของความพ้นทุกข์(แบบโลกๆ อันวุ่นวาย)  อันนำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขที่เพิ่มพลังแข็งแกร่งของชีวิตอย่างยั่งยืน
  • ถ้า “ว่าง” คือการหลุดพ้นจากชาติภพของการ เกิด แก่ เจ็บตายจากวงจรวัฏสงสาร “ว่าง” ในที่นี้น่าจะหมายถึง “นิพพาน” อันนี้เป็นธรรมที่พระพุทธองค์ห้ามมิให้ปุถุชนใช้ความคิดตีความ หรือใช้จินตนาการเดาจะบ้าไปซะก่อนที่จะเข้าใจว่ามันคืออะไร เป็นอย่างไร  (ผมรู้สึกว่าจำได้เลาๆ ประมาณนั้นนะครับ) ส่วนตัวผมก็เห็นด้วยว่าถ้าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เกี่ยวกับธรรมชาติของนิพพาน สิ่งนี้ก็เป็นธรรมที่ให้ พระอริยบุคคลในระดับ สกาทาคามี อนาคามี ท่านสนทนากันครับ ผู้ปฏิบัติในเบื้องต้นน่าจะสนทนาในเรื่องของสติ- สัมปชัญญะ จะได้ใกล้ตัวกว่า
  • ความเห็นส่วนตัวครับ
  • ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยดลบันดาลให้ท่านเจริญในธรรมครับ 

  • สวัสดีครับกลับมาสนทนาธรรมที่ค้างอยู่ครับ
  • เมื่อคืนรู้สึกไม่ค่อยสบายก็เลยกลับไปพักผ่อนก่อนจะสนทนาจบ
  • บางคนอาจเข้าใจว่า ความว่างคือการไม่มีอะไรเหลืออยู่อีก ว่างแล้วชีวิตเหมือนสุญญากาศ หลายคนไม่แน่ใจว่า ว่างแล้วว่างเลยหรืออย่างไร?
    ถ้า “ว่าง” คือผลจากการที่จิตไม่เข้าไปอยู่ในสภาวะ อารมณ์  รัก โลภ โกรธ หลง และความขุ่นมัวทั้งปวง(เฉพาะที่เราสัมผัสได้) อันนี้ผมมองว่า ความว่างคือความไม่ถูกอารมณ์ต่างๆ ดังกล่าวครอบงำ ความว่างจึงไม่ใช่การไม่มีอะไรเหลืออยู่อีก แต่เป็นภาวะความสงบชั่วคราวของจิต และความว่างจึงไม่ใช่ธรรมที่คงอยู่ตลอดไป ว่างแล้วไม่ว่างเลย มีเกิดมีดับเช่นเดียวกับธรรม อื่นๆ
  •  เกิดมาเป็นมนุษย์อยู่ว่างๆได้จริงหรือ?
    ถ้า “ว่าง” คือผลของการปล่อยวางจากอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง ผมเชื่อว่าว่างได้จริงครับ คนเราอาจจะมี รัก โลภ โกรธ หลง สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนไป ก็ไม่แปลกครับที่จะมี “ว่าง” เข้ามาด้วย
  • เป็นเรื่องฝืนธรรมชาติของการแสวงหาเพื่อความอยู่รอดหรือไม่?
    - ถ้า “ว่าง” คือการอยู่แบบหดหู่ซังกะตาย อันนี้ไม่รอดแน่ครับ
    - ถ้า “ว่าง” ในความหมายการ “ปล่อยวาง” จากอารมณ์  รัก โลภ โกรธ หลง ผมว่านี่เป็นทางรอด ของความทุกข์ แบบโลกๆ ได้เป็นอย่างดีนะครับ
    - ถ้า “ว่าง” ในความหมายของ “นิพพาน” อันนั้นผมว่าน่าจะเป็นทางรอดที่ประเสริฐสุดของคนที่เห็นโทษว่าโลกทั้งมวลเป็นทุกข์ ความเกิดเป็นทุกข์ ภพ ชาติ เป็นทุกข์
  • จิตว่าง ..ว่างจริงหรือ?
    -ผมเข้าใจว่า “ว่าง” นี้เป็นธรรมที่มีการนำมาอธิบายขยายความเพิ่มเติมทีหลัง ผมเองก็ยังไม่แน่ใจครับว่า ความ “ว่าง” ในนิยามที่ผมได้ยินถึงบ่อยๆ  นั้นคืออะไร  เพราะไม่ได้ศึกษาไม่ได้ลงมือปฏิบัติตามแนวทางจิต "ว่าง" ตรงนี้ขอแนวความรู้ครับเกี่ยวกับหลักปฏิบัติในเรื่องความ “ว่าง” ครับ
    - ผมเห็นด้วยครับว่า “ว่าง” ไม่ใช่อาการแต่เป็น “ผล” แต่สงสัยว่าถ้า“ว่าง” เป็นสภาวะที่เป็นผล เราไม่น่าจะสามารถเจริญธรรมที่เรียกว่า “ว่าง” ขึ้นมาโดยตรงใช่หรือไม่ครับ? ตรงนี้ขออนุญาตเรียนถามเป็นความรู้นะครับ ว่าท่านเจริญธรรมในข้อใดครับเพื่อให้เกิดผลเป็นความ “ว่าง”
    - สำหรับผมถ้า “ว่าง” เป็นผลมาจากการไม่คิดถึง การข่มไว้ หรือการหลีกเลี่ยงไม่สร้างสิ่งเร้า นั่นยังไม่ใช่การกำจัดอุปกิเลสที่แท้จริงครับ

    - ถ้า  “ว่าง” คือความสามารถทำใจได้กับการทุกข์โศก กับเรื่องร้ายที่มากระทบใจ ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องของความฉลาดทางอารมณ์ของมนุษย์แต่ละคนมากกว่า ยังไม่ใช่สามารถกำจัดอุปกิเลสที่แท้จริงได้เช่นกันครับ
  • เท่าที่ศึกษาปฏิบัติธรรมมาในช่วงมีเวลาสั้นๆ มีความเข้าใจเช่นนี้ครับ
  • ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ ครับ
  • ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยดลบันดาลให้ท่านเจริญในธรรมครับ






 

ขอบคุณนะคะ...ได้แง่คิดดีๆในเรื่อง "ความว่าง" มากมาย...จะลองนำไปคิดทุกบันทัดที่คุณ U-Me เขียนมานะคะ...

                            nongnarts

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท