คำถามในใจภายใต้เวที Public Hearing


ประเทศของเธอสนใจและให้ความสำคัญต่อเรื่องของ Document มากกว่าเรื่องของ Process

บริษัท IEM หรือชื่อเต็มว่า International Environmental Management ซี่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม ได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการขุดเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมบนบกฯ ขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ ในช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๒ ณ ที่ว่าการอำเภอกำแพงแสน จ.นครปฐม

 “อาจารย์ เชิญนั่งด้านหน้าเลยนะคะ” เราได้รับจดหมายเชิญให้เข้าร่วมเวทีในฐานะ “นักวิชาการ” ซึ่งจะว่าไปแล้ว Field หรือ Area การทำงานของเราไม่ใช่ด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง ผู้เชิญคงมีความเห็นว่า เราทำงานด้าน "Social Movement" อยู่ด้วยกระมัง

เมื่อเทียบกับเวทีครั้งที่ ๑ ซึ่งเป็นการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างข้อเสนอโครงการและประเด็นผลกระทบที่ควรศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๑ ที่ผ่านมานั้น พบว่าผู้คนที่มาร่วมประชุมครั้งที่ ๒ นี้น้อยกว่าครั้งแรกมาก เราเหลียวไปรอบ ๆ ...นับไปนับมา น่าจะมีกันประมาณไม่ถึง ๔๐ คน ...คำถามในใจคือ... แล้วจะเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างไร???

กำหนดการประชุมที่ระบุไว้คือ ๑๓ น.แต่ด้วยผู้คนที่บางตา ทำให้การกล่าวเปิดเวทีของท่านปลัดอำเภอกำแพงแสนเริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๓.๓๐ น. คำถามในใจของเราเกิดขึ้นอีกคือ ...ท่านนายอำเภอติดภารกิจด่วนอะไรหรือ? เวที Public Hearing เรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมนี้สำคัญไม่น้อย...แล้วท่านนายอำเภอได้ถ่ายทอดเรื่องราวของการประชุมครั้งที่แล้วให้ท่านปลัดอำเภอที่มาเป็นตัวแทนของท่านได้รับทราบครบถ้วนกระบวนความหรือเปล่าหนอ???

ท่านปลัดอำเภอได้กล่าวเปิดการประชุมสั้น ๆ พอเป็นพิธี จากนั้นเป็นการบรรยายถึงระบบสัมปทานปิโตรเลียม ประวัติการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทย ประโยชน์จากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รายได้จากการผลิตปิโตรเลียม และปริมาณงานตามข้อผูกพันในสัมปทาน โดยตัวแทนภาครัฐจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เราตั้งคำถามในใจอีกแล้ว...ตัวแทนจากหน่วยงานนี้ครั้งที่แล้วก็มานี่นะ นั่งอยู่ตรงโต๊ะลงทะเบียน แล้วทำไมจึงไม่ขึ้นพูดบนเวที... ส่วนตัวแทนท่านนี้ เมื่อครั้งที่แล้วไม่ได้มาร่วมประชุมด้วย เรื่องราวของการพูดคุยครั้งที่แล้วมีมากมาย...แล้วจะต่อกันติดไหมนี่???

เมื่อตัวแทนภาครัฐบรรยายจบ ก็เป็นการบรรยายของตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษา IEM...ระหว่างนั้น เราอ่านเอกสารรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ทางเจ้าหน้าที่บริษัทที่ปรึกษา IEM มอบให้ตอนลงทะเบียน โดยเฉพาะข้อมูลรายงานส่วนที่เป็นการสรุปผลการประชุมครั้งที่ ๑...เราคิด ทบทวนถึงภาพการประชุมและสิ่งที่เป็นข้อกังวลของการประชุมครั้งที่แล้ว...คำถามในใจเกิดขึ้นอีกครั้ง...เกิดอะไรขึ้น ทำไมหลายเรื่องที่เป็นข้อคำถามและข้อกังวลจากการประชุมครั้งที่แล้ว จึงไม่ได้รับการบันทึกลงไปในเอกสารรายงาน???

 “ไม่ทราบว่ามีท่านใดที่มีคำถามหรือข้อคิดเห็นต่อโครงการนี้อย่างไรบ้างไหมคะ” เสียงพิธีกรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ปรึกษาดังขึ้นผ่านไมค์ด้านหน้าเวที

เราหันไปดูผู้เข้าร่วมประชุม ไม่มีใครสักคนลุกขึ้นมาจากเก้าอี้นั่ง เรานึกถึงเพลง "มันแปลกดีนะ" ของพี่เต๋อ ...เวทีประชาพิจารณ์...เวทีประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นที่มีแต่ความเงียบ..เรามองหาท่านปลัดอำเภอ ไม่ทราบว่าท่านลุกออกไปจากเวทีช่วงไหน เราตัดสินใจเดินไปที่ไมค์พร้อมกับคิดในใจไปด้วยว่า...เหมือนครั้งที่แล้วเลยนะ เป็นเราอีกแล้วที่ทำหน้าที่นี้...เราเริ่มเปิด “วงเรียนรู้” ด้วยการกล่าวติดตลกผ่านไมค์ไปว่า “ขออนุญาตเป็น “หน้าม้า”นะคะ ก่อนอื่นคงต้องขอเรียนถามท่านผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านว่า มีท่านใดที่ได้เข้าร่วมประชุมเมื่อครั้งที่แล้วบ้างคะ” เราหันไปมองโดยรอบ..นับมือที่ชูขึ้น..มีอยู่ประมาณ ๑๐ คน

เราโยนประเด็นคำถามที่ ๑... คำถามที่ ๒...คำถามที่ ๓... ซึ่งนำไปสู่การอภิปรายและการให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากวิทยากรหน้าเวทีทั้ง ๓ ท่าน คือตัวแทนของหน่วยงานรัฐ ตัวแทนบริษัทที่ปรึกษา IEM และตัวแทนจากบริษัท Pan Orient Energy Siam Limited ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมบกครอบคลุมพื้นที่ ๓,๙๙๗ ตารางกิโลเมตรใน ๔ จังหวัดคือ นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี

เวทีประชุมเริ่มเป็น “วงเรียนรู้” มากขึ้น ด้วยประเด็นคำถามและข้อคิดเห็นจากอาจารย์อีก ๓ ท่านของม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนที่สนใจมาเข้าร่วมประชุมด้วย ...แม้เวทีนี้จะไม่มีคำถามจากตัวแทนชุมชนเหมือนเวทีครั้งที่แล้ว แต่เราก็แอบเห็นตัวแทนชุมชนที่มาเข้าร่วมเวทีหลายคนนั่ง “พยักหน้า” ในช่วงที่พวกเรา “กลุ่มอาจารย์” ช่วยกันตั้งคำถามต่อโครงการฯและการดำเนินงานของโครงการฯ

หลังปิดการประชุม Mr.Salvatore Pirrera ผู้จัดการด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัท Pan Orient Energy Siam Limited เดินเข้ามาปรึกษาหารือกับพวกเราในอีกหลายประเด็น ...เราบอกกับ Mr.Salvatore ตลอดจนตัวแทนของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และตัวแทนบริษัทที่ปรึกษา IEM ในการพูดคุย "นอกรอบ" ประมาณว่า...เราทุกคนต่างได้ทำบทบาทหน้าที่ที่ “ต้องทำ” และ “ควรทำ” ภายใต้ภารกิจและความรับผิดชอบที่มี แม้จะ “เห็นเหมือน” หรือ “เห็นต่าง” กันอย่างไรนั้น คงไม่ใช่ประเด็นปัญหา ที่สำคัญคือพวกเราไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายต่อกัน...เท่านั้นก็พอ

เวที Public Hearing ของโครงการนี้คงมีขึ้นอีกอย่างแน่นอนในอนาคต...คำถามก็คือ การทำเวทีชุมชนที่เป็น “วงเรียนรู้” ที่ใช้เครื่องมือของการจัดการความรู้ การประชุมกลุ่มย่อยที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนที่จะมีเวที Public Hearing จะเกิดขึ้นได้หรือไม่อย่างไร??? เรานึกถึงคำพูดของ Mr.Salvatore Pirrera ซึ่งบอกกับเราเมื่อการประชุมครั้งที่แล้วว่า “ประเทศของเธอสนใจและให้ความสำคัญต่อเรื่องของ Document มากกว่าเรื่องของ Process”

นั่นซินะ...คำถามสุดท้ายในใจที่เป็นคำถามสำคัญก่อนลาจากคือ...

 เวทีประชาพิจารณ์ตามแนวทางของวิถีตะวันตกจะสามารถประยุกต์ใช้อย่างไรให้ได้ผลในวิถีตะวันออกและในบริบทของประเทศไทย???

 

 

หมายเลขบันทึก: 238675เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2009 23:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะอ.ตุ้ม อ่านแล้วก็เห็นภาพที่คุ้นเคยกับงานแบบนี้ คนไทยไม่รู้เป็นอะไร ตอนเขาให้พูด เปิดให้แสดงความคิดเห็นกลับไม่พูด ค่อยไปประท้วงเอาภายหลัง แบบว่าไม่เข้าใจค่ะ หรือการเสนอความคิดเห็นกับการแลกเปลี่ยนตอนที่ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมมันทำยากกว่าการนั่งรอจับผิดหลังจากมีอะไรเกิดขึ้นแล้ว กลัวการนำเสนอความคิดตัวเองหรือมันกลวงจนไม่มีอะไรจะนำเสนอ งุนงง ???

เคยมีเคสแบบนี้กับพี่ที่สนิทมาก เรื่องเกิดที่เพชรบุรี ตอนจัดทำเวทีประชาพิจารณ์ก็ไม่มีใครพูดอะไร ประชุมก็ไม่ค่อยมีใครเข้าร่วม และดูเหมือนจะไม่มีปัญหา แต่พอจะลงมือสร้างมีม็อบถือป้ายมาขับไล่ว่า "เมิงสร้างกรูเผา" สุดจะงุนงง แถมเจอการเมืองเข้าไปผสมโรง ท่านสส.ไปหาเสียงไว้ว่าจะสร้างไม่ได้ถ้าเขาได้รับเลือก พูดเอาใจประชาชน ณ เวลานั้น แต่ไม่ดูข้อมูลอะไรเลยทั้งชุมชนและท่านสส. เอกชนเสียเวลาและเงินทองไปมากมายจากการที่ชุมชนและหน่วยงานไม่ร่วมแสดงความคิดตั้งแต่ต้นค่ะ

สวัสดีค่ะหนูซูซาน

โครงสร้างสังคมในระบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม อิทธิพลเถื่อน สื่อที่ถูกครอบงำและการเมืองในระบบประชาธิปไตยที่ผู้คนยังไม่มีความพร้อม ได้สร้างปัญหาให้กับบ้านเมืองของเรามาโดยตลอด พี่คิดว่าเรื่องเหล่านี้สามารถแก้ไขได้แต่ต้องใช้เวลา... อาจจะนานสักหน่อยค่ะ...

การสร้างกระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางของ "หัวใจนักปราชญ์" คือ "สุจิปุลิ" การฝึกความคิดกระบวนระบบ การพัฒนาให้เกิดคุณสมบัติ "ใฝ่รู้ -ใฝ่ดี" รวมทั้งการช่วยกันสร้าง "จิตสำนึกสาธารณะ" ให้มียิ่ง ๆ ขึ้นในสังคมไทย น่าจะเป็นแนวทางในการคลี่คลายปัญหาและช่วยให้อนาคตของประเทศดีขึ้นได้บ้างค่ะ

เมื่อไหร่จะมีโอกาสได้พบกันบ้างคะ ยังระลึกถึงอยู่เสมอนะคะ :D

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

สวัสดีค่ะอาจารย์ตุ้ม

บนพื้นฐานของสังคม/หน่วยงาน/องค์กร ที่ขาดหลักคิด คงยากที่จะจับสาระความสำคัญของกระบวนการซึ่งดูจะจับต้อง เข้าใจนัยของมันได้ยาก ก็เลยยึดเอาเอกสารเป็นตัวตั้ง

ไม่ต่างจากหน่วยงานเวลาตรวจรับงานวิจัย เมื่อไม่เข้าใจหลักคิด ก็จะยึดแค่ว่า เอกสารมี format ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่...สะกดผิดหรือไม่

เรื่องที่อาจารย์ตุ้มเขียนถึงเป็นเรื่องใหญ่ และคำถามสุดท้ายของอาจารย์ก็ชวนให้คิดค่ะ

อีกประการหนึ่ง...ถ้าเปลี่ยนภาษาทางการจาก ประชาพิจารณ์ เป็นวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็อาจทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจมากขึ้นว่า ควรจะจัดประชาพิจารณ์อย่างไร

เหมือนที่เราเปลี่ยนคำว่า "สุกร" เป็น "หมู" อย่างน้อย...ผู้รับคำสั่งจาก "ทางการเขาสั่งมาว่า" และชาวบ้านที่เข้ามาร่วมก็คงพอเข้าใจอะไรได้ชัดเจนขึ้น

ยังไม่นับเรื่องความซับซ้อนของผลประโยชน์ ผลได้ ผลเสีย..ซึ่งต้องคิดกันอีกมาก

รักษาสุขภาพด้วยค่ะ

ตามมาอ่านครับ

การอนุมัติโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนต้องมีการประชาพิจารณ์ เมื่อนำมาใช้กับประเทศไทย ทำให้ต้นทุนสูงมาก เพราะวัฒนธรรมของเราไม่ใช้เหตุผลในการตัดสินใจ จึงทำเป็นพิธีกรรม

สงสารนักลงทุนและประชาชน

สงสารราชการและนักการเมือง

สงสารตัวเองและประเทศไทย

ทางเลือกคือ ต้องทำอย่างเต็มที่ตามหน้าที่แต่ปล่อยวาง อย่าไปยินดียินร้ายกับสิ่งที่เราทำอย่างดีที่สุดแล้ว

หาเวลาอ่านวรรณกรรมดีๆ เล่นกีฬา เดินชมทิวทัศน์และผู้คนเหมือนกับว่าเราตายไปแล้ว แต่มีโอกาสย้อนกลับมาดูอดีตในปี2552

โลกและชีวิตก็เป็นเช่นนั้นเอง

สวัสดีค่ะอาจารย์ปัท

ที่ทำได้ขณะนี้คือการสร้างวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "Care Share Learn Shine" กับลูกศิษย์ค่ะ โดยเฉพาะลูกศิษย์ของภาควิชาที่มีอยู่ประมาณ 60 คนต่อชั้นปี ในการเรียนการสอนแต่ละครั้ง จะชวนกันตั้งโจทย์ ตั้งคำถาม ร่วมกันตั้งประเด็นการเรียนรู้...แบ่งกลุ่มย่อยช่วยกันทำงานตามโจทย์ที่ได้รับมอบหมาย ให้ลูกศิษย์สลับกันเล่นบทบาทของคุณอำนวย คุณกิจ คุณลิขิต คุณวินัย คุณโฆษก ฯลฯ

บอกลูกศิษย์เสมอว่าครูไม่ประเมินผลพวกเราจากคะแนนตอบข้อสอบหรือจากรายงานTake Home ที่เป็นเอกสารเท่านั้นนะ...ครูจะดูว่าพวกเรามีพัฒนาการอย่างไร มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้อย่างไร

ที่สำคัญคือ การสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์ใฝ่ฝันถึง "สังคมสันติประชาธรรม" โดยการหาสื่อต่าง ๆ ที่สะท้อนเรื่องราวความสำเร็จของคนดี ๆ ที่สร้างสิ่งดี ๆ มาให้ลูกศิษย์ช่วยกันถอดบทเรียนค่ะ

หวังไว้ในใจว่า...วันหนึ่งข้างหน้าในอนาคต...พวกเขาจะเติบโตเป็นคนดีอีกหนึ่งคนและมีส่วนร่วมในการสร้างความสุขให้กับสังคมไทยค่ะ...ไม่รู้หวังมากไปรึเปล่านี่ :)

รักษาสุขภาพเช่นกันนะคะ

สวัสดีค่ะหัวหน้าภีม

ใช่แล้วค่ะ...ต้องทำอย่างเต็มที่ตามหน้าที่แต่ปล่อยวาง อย่าไปยินดียินร้ายกับสิ่งที่เราทำอย่างดีที่สุดแล้ว ประมาณว่า ถือเป็น "หน้าที่" แต่ไม่ถือเป็น "ภาระ"...

ตามหลักการของ "พรหมวิหาร 4 " พบว่าข้อที่ปฏิบัติแล้วทำได้ไม่ประสบผลเท่าใดนักคือข้อสุดท้ายค่ะ ในส่วนของ "เมตตา กรุณา มุทิตา"  3 ข้อแรกนั้นไม่ใช่เรื่องยาก พอมาถึงข้อที่ 4 คือ "อุเบกขา" การฝึกทำจิตให้ "ปล่อยวาง" นี้...บางเรื่องก็ทำได้ค่ะ แต่บางเรื่องก็ไม่ง่ายเลย... ซึ่งก็คงต้องฝึกต่อไปและต่อไป..

ขอบคุณสำหรับคำชี้แนะนะคะ ช่วงนี้ตัวเองก็ทำตัวเสมือน "คนที่ตายแล้ว" จากหลาย ๆ วงการค่ะ เพราะรู้สึกว่าชีวิตได้เดินทางมายาวไกลเวลาของชีวิตเหลือน้อยลงทุกที ๆ ...เราคงไม่สามารถทำในทุกเรื่องที่ปรารถนาได้ จำต้องเลือกแล้วว่าวันเวลาที่เหลืออยู่ซึ่งไม่รู้เท่าไหร่นี้ต้องทำอะไรที่เป็นเรื่องสำคัญบ้าง...ทำตามหน้าที่อย่างเต็มที่ให้ดีที่สุด แล้วก็พยายามจัดสรรเวลาเพื่อการออกกำลังกายและกำลังใจเพิ่มขึ้นค่ะ... ยามเย็นก็ปั่นจักรยาน ได้ชื่นชมสีเขียวของทุ่งหญ้า ได้รื่นรมย์กับฝูงแมลงปอในสระบัวบ้าง...อรรถรสของบทกวีและวรรณกรรมก็ทำให้ชีวิตมีพลังมากขึ้น ...ที่สำคัญคือการทำจิตนิ่ง จิตว่าง สว่างและสงบ ดิ่งสู่ความสุขภายในด้วยการเจริญสมาธิภาวนาเป็น "Deep Source" ของพลังอันไม่มีประมาณค่ะ

ไม่ได้ทุกข์ใจกับเรื่องเวที Public Hearing ที่กำแพงแสน เพราะเคยได้เผชิญกับสิ่งที่เป็น "โศกนาฏกรรมสยาม" มาหลายเรื่องมากแล้วค่ะ...เพียงแต่ว่า บางทีก็อยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวประมาณนี้กับเพื่อนพ้องน้องพี่ชาว G2K บ้างค่ะ

ผมเข้ามาทบทวนงานเขียนผมที่เขียนถึง ลุงฉ่ำ คุ้มครอง หรือเสือข้าวสุก แล้วพบอาจารย์ที่แสดงความเห็นไว้ คิดถึงอาจารย์ เลยตามเข้ามาดูงานเขียนของอาจารย์ บังเอิญผมมีประสบการณ์พอสมควรเกี่ยวกับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม มีเรื่องราวเยอะครับที่ประสบการณ์ผมบอกว่า กฎหมายฉบับนี้ควรได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันให้เหมาะสมมากขึ้น มันเก่าเกินไปแล้ว เอากฎหมายไปใช้จริง เราเห็นจุดอ่อน เห็นข้อบกพร่องเยอะครับ

ดูเหมือนอาจารย์เว้นว่างการเขียนในนี้ไปนาน เหมือนผมเลย ครับ

ผมเข้ามาทบทวนงานเขียนผมที่เขียนถึง ลุงฉ่ำ คุ้มครอง หรือเสือข้าวสุก แล้วพบอาจารย์ที่แสดงความเห็นไว้ คิดถึงอาจารย์ เลยตามเข้ามาดูงานเขียนของอาจารย์ บังเอิญผมมีประสบการณ์พอสมควรเกี่ยวกับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม มีเรื่องราวเยอะครับที่ประสบการณ์ผมบอกว่า กฎหมายฉบับนี้ควรได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันให้เหมาะสมมากขึ้น มันเก่าเกินไปแล้ว เอากฎหมายไปใช้จริง เราเห็นจุดอ่อน เห็นข้อบกพร่องเยอะครับ

ดูเหมือนอาจารย์เว้นว่างการเขียนในนี้ไปนาน เหมือนผมเลย ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท