Waltz with Bashir : การสังหารหมู่ที่เมือง Sabra and Shatila


เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวยิว/ปาเลสไตน์ ตั้งแต่วันนั้น จน ณ ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่สิ้นสุด

หนังเรื่องนี้เป็นการ์ตูน animation แต่เนื้อหาหนักอึ้ง ได้รับรางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำปีล่าสุด หนังถูกแบนในหลายๆ ประเทศภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในประเทศเลบานอน

หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของหนุ่มคนหนึ่งที่เคยเป็นทหารในกองกำลังป้องกันตนเองอิสราเอล (Israel Defense Forces) ที่ออกรบในสงครามกลางเมืองประเทศเลบานอนเมื่อปี 1982 แต่ปรากฏว่าเขาจำเรื่องราวอะไรในช่วงนั้นไม่ได้เลย เขารู้แต่ว่าเขามักจะฝันซ้ำๆ ถึงภาพที่เขากำลังอาบน้ำอยู่ในทะเลนอกชายฝั่งกรุง Beirut ท่ามกลางแสงจันทร์ แล้วก็มีการจุดพลุสัญญาณขึ้นเต็มท้องฟ้า เขาสงสัยว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เมือง Sabra and Satila หรือเปล่า เขาไปหาเพื่อนเก่าหลายๆ คน ให้ช่วยเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงสงคราม เพื่อเผื่อว่าเขาจะนึกอะไรขึ้นมาได้บ้าง (ซึ่งหนังจะไปเฉลยตอนหลัง) และเหตุผลที่ทำไมเขาถึงจำเรื่องราวอันโหดร้ายของสงครามไม่ได้ (หรือไม่อยากจำ) มีฉากนึงที่นักจิตวิทยาพยายามอธิบายภาพความทรงจำในสมอง ระหว่างความทรงจำที่เกิดขึ้นจริงๆ กับภาพในจินตนาการ ที่บางทีมันซ้อนทับกัน จนนานๆ ไปเราก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าเหตุการณ์ที่เรานึกได้นั้นเป็นเหตุการณ์จริงๆ หรือภาพจินตนาการกันแน่.. น่าสนใจดี

ในตอนจบของหนัง ภาพเปลี่ยนจากการ์ตูน animation เป็นคลิปวิดีโอเหตุการณ์จริงๆ ณ เมือง Sabra and Satila ฉากผู้หญิงร้องโหยหวน ฉากศพ ทั้งผู้ใหญ่ คนแก่ เด็กน้อย กองเกลื่อนกลาด น่าสะเทือนใจมาก

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่เมือง Sabra and Satila ประเทศเลบานอน เป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดใจอย่างยิ่ง ต้นเหตุที่แท้จริงยังไม่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจให้ก่อการ โดยเมื่อปี 2003 มีการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามที่เบลเยี่ยม หนึ่งในผู้ต้องหา ก็คือ อดีตนายกรัฐมนตรี Ariel Sharon ของอิสราเอล ซึ่งในปี 1982 นั้น เขาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอยู่ ซึ่งต่อมาศาลได้ยกฟ้องเนื่องจากไม่มีผู้เสียหายเป็นชาวเบลเยี่ยม

การสังหารหมู่ที่เมือง Sabra and Satila ไม่ได้เกิดจากทหารอิสราเอลโดยตรง แต่ทหารอิสราเอลได้รับคำสั่งให้เปิดทางให้ทหารฝ่าย Phalangist (ของเลบานอน) เข้าไปปฏิบัติการ ซึ่งทหารฝ่าย Phalangist คือพวกที่นับถือศาสนาคริสต์และมีอำนาจในเลบานอนอยู่ในขณะนั้น นาย Bashir Gemayel ผู้นำของฝ่ายนี้เพิ่งได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ถูกลอบสังหารก่อนพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง (เชื่อว่าเกิดจากองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ หรือกลุ่ม PLO)

ด้วยความโกรธแค้นเพียง 2 วันหลังจากที่นาย Bashir Gemayel เสียชีวิต ก็เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ขึ้น โดยมีนาย Elie Hobeika เป็นหัวหน้าของฝ่ายทหาร Phalangist ซึ่งต่อมาในปี 2002 นาย Elie Hobeika ถูกลอบสังหาร เช่นกัน

เหยื่อผู้เสียชีวิตการสังหารหมู่ที่เมือง Sabra and Satila มีจำนวนไม่แน่ชัด อยู่ระหว่าง 328-3,500 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวปาเลสไตน์ที่อยู่รวมกันในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ที่ เมือง Sabra and Satila ดังกล่าว ซึ่งทหารฝ่าย Phalangist อ้างเหตุผลในการก่อการว่ามีกลุ่มสมาชิก PLO หลบซ่อนแฝงตัวอยู่ เหตุการณ์นี้ถูกประณามจะผู้นำต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งอดีตประธานาธิบดี Ronald Reagan ที่เป็นประธานาธิบดีในขณะนั้นอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงไม่ได้ช่วยอะไรเลย เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวยิว/ปาเลสไตน์ ตั้งแต่วันนั้น จน ณ ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่สิ้นสุด ...

หมายเลขบันทึก: 241174เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2009 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท