เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ช่วยกันสร้างสันติในใจเด็ก


พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก

การเสวนา เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ช่วยกันสร้างสันติในใจเด็ก

วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2551

 เวลา 08.30-12.30 น. ณ ลานสร้างสุข ชั้น 35 อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ เขตพญาไท

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

เริ่มการเสวนาด้วยการดูวิดิทัศน์ เรื่อง เด็กเติบโต หลังจากนั้น คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ พิธีกรเชิญชวนผู้เข้าร่วมการประชุมเล่นน้ำโดยผ่านอุปกรณ์กิจกรรมยิ้มละไม

 

-  คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน    นำเข้าสู่การเสวนาในประเด็นเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ช่วยกันสร้างสันติในใจเด็ก  โดยการขอให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ร่วมฟังเสียงจากเด็ก ๆ ว่า เกิดอะไรในห้องเรียนอนุบาลท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยที่ผ่านมาและระดมความคิดเห็นในเรื่องการสร้างสันติในใจเด็กอย่างเป็นรูปธรรม

 

- คุณนันทภรณ์ แสนประเสริฐ อาจารย์โรงเรียนปรียาโชติ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์     ที่ผ่านมาเด็กรับข่าวสารจากสื่อโทรทัศน์ตลอดเวลาและรับสารจากพ่อ แม่ เด็กนักเรียนของเรา เช่น เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีความรู้สึกต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในมุมที่ไม่ชอบและเห็นว่าทำไมผู้ใหญ่ไม่ทำอะไรกันเลยคิดว่าน่าจะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า   ส่วนเด็กโตมองว่าทำไมเมื่อมีการทำผิดแล้วจึงไม่สามารถที่จะใช้คำว่า ขอโทษกันบ้าง  ทางโรงเรียนเคยทำกิจกรรมกลุ่มเป็นกิจกรรมครอบครัวเดียวกันอยู่เสมอซึ่งพ่อแม่และเด็กเข้ามาทำร่วมพูดคุยกันซึ่งก็เป็นผลดีมาก

                ในส่วนของครูในโรงเรียนเองเราก็มีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันแต่เราจะใช้วิธีการไม่พูดถึง    เราพยายามแสดงให้เด็กเห็นว่าเราเป็นกลาง    เราเป็นสีขาว   เราเป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดีมีคุณธรรมความคิดเห็นของเด็กนักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการกล่าวคำขอโทษเมื่อมีการกระทำผิดและการร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยความสามัคคีหันหน้าเข้าหากัน  นอกจากนั้นแล้วได้มีการพูดคุยกันในระดับผู้บริหารโรงเรียนที่อยากจะจัดเวทีที่จะให้เด็กได้คุยกันในประเด็นเรื่องความสามัคคีด้วย

 

-  คุณกรรณิการ์  เกิดศรีพันธุ์ เครือข่ายศูนย์รวมใจพัฒนาเด็กเล็กธนบุรี     สิ่งที่พบคือ เด็กเล็ก อายุ 2-3 ขวบ ก็ซึมซับความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยมีการแสดงท่าทางและพูดว่า ออกไปๆๆ และรวมกลุ่มกันทำท่าทางเดียวกัน และนำไปใช้กับเพื่อนที่ตนไม่ชอบซึ่ง เป็นพฤติกรรมเลียนแบบที่เกิดขึ้น    โดยในส่วนนี้เราเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์ด้วยการนำไปใช้กับการเลิกติดขวดนมของเด็กเล็กซึ่งก็ได้ผลเพราะเด็กก็จะแสดงออกตามคือ พูด ขวดนมออกไป ๆๆ

 

-  เครือข่ายศูนย์รวมใจพัฒนาเด็กเล็กธนบุรี     เทคนิคที่ใช้คือการสร้างมุมบวกให้เด็กโดยใช้สัญญาลักษณ์ที่จะเข้ามาแทนที่ บอกว่าแบบนี้เก่ง แบบนี้ไม่เก่ง เปลี่ยนเด็กเมื่อเด็กมีพฤติกรรมไม่ถูกต้อง และมีกิจกรรมอื่นๆ ด้วย ถ้าพ่อแม่มาปรึกษาก็จะบอกว่าเด็กสามารถแสดงออกได้ให้พ่อแม่พิจารณาดูก่อนว่าผิดหรือถูกแล้วค่อยสอนและให้เขาเข้าใจและรู้จักรับผิดชอบสิ่งที่ตนทำ

 

-  คุณวรรณพร  กันทาธรรม์ ผู้จัดการโรงเรียนอนุบาลผึ้งน้อย   สิ่งที่พบในอนุบาลผึ้งน้อยคือเด็กสะท้อนออกมาเป็นความไม่พึงพอใจรัฐบาลและไม่ชื่นชมผู้นำประเทศ   วิจารณ์ผู้นำในเรื่องบุคลิคภาพและเรื่องการทำร้ายประชาชน ซึ่งไม่น่าเชื่อที่เด็กชั้นอนุบาล 3 จะคิดได้ขนาดนี้   แสดงว่าพลังของสื่อที่ทำให้เด็กซึมซับมันมหาศาล  ถ้าเข้าไปดูเด็กเล็กคงมีมากกว่านี้ 

 

- คุณภัทรจารีย์  อัยศิริ(น้านิด) เห็ดหรรษาสถาบันเพื่อการเรียนรู้   เมื่อเราสอนเด็กเรื่องโตขึ้นเด็กอยากเป็นอะไรปรากฎว่า  เด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 3 บอกเราว่าผมไม่อยากเป็นนายก   ตรงนี้อยากปรึกษาคุณหมอพรรณพิมลว่าจะทำอย่างไร ที่จะปลูกฝังความรัก  การให้อภัย  ในใจเด็ก  ซึ่ง เราพยายามที่จะใส่สิ่งเหล่านี้ในเด็กเล็ก

 

- คุณเข็มพร  วิรุณราพันธ์   เชิญชมการแสดงของเด็กนักเรียนโรงเรียนอนุบาลผึ้งน้อยโดยเด็กชั้นอนุบาล 3  เพลงรักกันดีกว่าโกรธกัน     เมื่อจบการแสดงได้เชื่อมประเด็นเข้าสู่การ สะท้อนเทคนิควิธีการในการดูแลเด็กจากผลกระทบเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้น จากพ่อแม่ผู้ปกครอง

 

-  คุณวรรัตน์  การุณรอบดุล     วันนี้เป็นตัวแทนของผู้ปกครอง และครอบครัว  มีความเห็นว่า ปัญหาที่สะท้อนออกมาส่วนหนึ่งก็เป็นสาเหตุจากครอบครัว  แม้ทางครอบครัวของเราพยายามนำพาเด็กออกจากสถานการณ์   พยายามที่จะปกป้องเด็กจากสื่อ แล้วแต่ก็ยังมีสื่อที่เด็กเลี่ยงไม่ได้    เช่น  ครอบครัวของตัวเองเมื่อลูกเห็นเด็กคนอื่นพูด ออกไปๆๆ เขาก็ถามเราว่าทำไมต้องพูดเราก็ต้องหาคำอธิบายมาบอกลูก 

 

- คุณเข็มพร  วิรุณราพันธ์  เชิญที่ประชุมรับฟังความเห็นของคุณหมอ พรรณพิมลในเรื่องของวิธีการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก

 

- แพทย์หญิงพรรณพิมล  หล่อตระกูล   สถาบันราชานุกูล  สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมคุณหมอมองว่า ประเด็นแรก คือการรายงานข่าวที่ไม่ครบถ้วน  มีความโน้มเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ไม่เป็นกลางและมีการให้ความคิดเห็นซึ่งเป็นการต่อเติมความคิดเห็นของเด็กไปด้วย สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อเด็ก  ประเด็นที่สอง  คือ ครอบครัวมีอิทธิพลต่อเด็ก เด็กเรียนรู้ผ่านครอบครัว      ดังนั้นสิ่งสำคัญเราต้องมีความเชื่อร่วมกันว่าสันติภาพมีความจำเป็นต่อการเติบโตของเด็ก    การพูดคุยในเรื่องการเมืองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีสิ่งต่อไปนี้คือ  การยอมรับความต่าง และ การยืนหยัดในแนวคิดที่ถูกต้องโดยพ่อแม่ต้องจัดการตัวเองกันก่อนคือถ้าพ่อแม่มีความขัดแย้งกันก็ให้ทำความเข้าใจกันให้เสร็จก่อน  ยอมรับความแตกต่างของกันและกันก่อน    ซึ่งลักษณะพ่อแม่จะมี 3 แบบ คือ แบบแรกไม่สนใจการเมือง   แบบที่สองสนใจการเมืองแต่ไม่มีพวก  และแบบที่สามคือสนใจการเมืองและมีพวกพร้องด้วย

นอกจากนั้นแล้วเมื่อพ่อแม่จัดการตนเองแล้ว    สิ่งที่ต้องทำอีกอย่างคือ  ต้องสังเกตลูก  ดูความสนใจทางการเมืองของเด็ก  เด็กเล็กก็จะสนใจเลียนแบบพฤติกรรม  แต่เด็กโตเขาจะมองอย่างมีมิติ  เช่น พูดถึงความเป็นประชาธิปไตย พ่อแม่จึงต้องตอบคำถามลูกได้ในแต่ละวัย   เราต้องสังเกตว่าเขาสนใจอะไรและตั้งคำถามว่าอะไรที่เขาไม่ชอบ  เรายอมรับความต่างและไม่ชี้ว่าใครผิดใครถูกแต่ให้รู้ว่าเราไม่ควรทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  ยืนหยัดว่าสิ่งใดที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง     และสิ่งสุดท้ายที่สำคัญ คือการหาทางออกรวมกัน ให้เด็กได้รู้ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นและทางออกควรเป็นอย่างไร เพื่อให้เด็กรู้ว่าทุกปัญหามันมีทางเลือกและมีทางออกและเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กรู้ว่าเมื่อฉันอยู่กับครอบครัวฉันจะมีคำตอบเสมอ

 

- คุณเข็มพร  วิรุณราพันธ์      วันนี้ถือเป็นห้องเรียนของพ่อแม่และเด็ก  เราจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างไร เพราะเด็กต้องเรียนรู้ประชาธิปไตยจากสังคม    ตอนนี้คนในสังคมให้ความสนใจกับการเมืองมากขึ้นซึ่งถือเป็นพัฒนาการของสังคมแล้วเราจะทำอะไรต่อไปที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสขอเชิญผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม

 

-  คุณอิมรอน  เชษฐวัฒน์ เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังฯ   เด็กไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงสื่อได้เพราะฉะนั่นเราต้องให้เด็กมีความสมดุลในการรับสื่อ ให้เด็กเกิดกระบวนการเท่าทันสื่อ เพราะสื่อมีบทบาทมากต่อเด็ก

 

-  คุณปราณี  เฉลยจิตรธรรม  เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังฯ   ตัวเองทำงานกับคุณหมอสุริยเดว ในเรื่องเด็กและจากสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมาเห็นว่ามีผลต่อเด็กมากๆ  โดยเฉพาะในครอบครัวของตัวเอง    แต่ถ้าเรามองแบบที่คุณหมอพรรณพิมลมอง  คือมองแบบมีทางออกก็จะดี  เพราะความจริงที่ผ่านมาเด็กสมัยใหม่ไม่สนใจสังคมเลยแต่ตอนนี้กลายเป็นว่าเด็กๆ มีความสนใจในเรื่องการเมืองซึ่งถือเป็นเรื่องดี   ในครอบครัวของตัวเองตอนแรกมีปัญหาคือลูกกับพ่อแม่คิดต่างกัน  เราก็ใช้วิธีรับความจริงจากทุกช่อง(สถานีโทรทัศน์) พอเวลาผ่านไปเราก็เริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น   สิ่งที่สำคัญที่อยากสนับสนุนคุณหมอพรรณคือการที่เราต้องยอมรับความต่างและยืนหยัดในแนวคิดทางการเมืองของเรา  ไม่ต้องผสมสี ไม่ต้องปิดกั้นสื่อทั้งหมด

 

- คุณเข็มพร  วิรุณราพันธ์       สิ่งหนึ่งที่กระทบกับเด็กคือความเครียดของพ่อแม่   ช่วงแรกเราพูดไปในเรื่องของการสื่อสารของครอบครัวต่อเด็ก   ตอนนี้อยากให้ทบทวนภาพรวมกัน

- ศูนย์ดวงแข   วิธีการที่ใช้คือปลูกฝังความรักสามัคคีในทุกกิจกรรมที่ทำกับเด็ก

 

- คุณเข็มพร  วิรุณราพันธ์     สังคมไทยมีการอยู่ร่วมกันที่หลากหลาย เราน่าจะมีเครื่องมือที่จะสอนเด็กในเรื่องนี้ได้  อยากทราบว่าผู้ปฏิบัติงานเรื่องนี้มีข้อเสนออะไรบ้าง

 

- คุณสุกัญญา  เวชศิลป์ (สท.พม.)   รู้สึกชื่นชมผู้ที่สัมผัสกับเด็กในชุมชน ตามที่คุณหมอประเวศ  วสี มองว่า  สังคมไทยต้องการความดีมากกว่าความเก่ง   เราไม่น่าจะต้องปิดสื่อแต่จะทำอย่างไรที่จะให้เด็กรู้จักวิเคราะห์และหาข้อมูลเป็น  เราพบว่าความมั่นคงของมนุษย์ขึ้นอยู่กับความอบอุ่นของครอบครัว และรู้สึกเห็นด้วยกับการใช้สีรุ้ง   คือเรื่องความแตกต่างที่อยู่ร่วมกันได้ที่เราควรสนับสนุนให้เกิดขึ้น

 

-  วัลลภา  นีละไพจิตร อนุกรรมการด้านสิทธิเด็ก เยาวชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ      ทุกคนมีจุดร่วมกันอยู่แล้วต้องแบ่งปันทุกข์-สุข ร่วมกัน และสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญก็คือการให้ความสำคัญกับเด็ก

 

-  เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์ฯ   เราควรให้เด็กรู้ว่าเราไม่สามารถที่จะดูแลเขาได้ตลอดเวลาเขาต้องรู้ว่าอะไรที่ควรไม่ควร และมีความรับผิดชอบด้วยตนเอง เราก็เพียงให้ข้อมูลและคำปรึกษาเท่านั้น    

 

-  นายกฤชวัฒน์  คุ่ยอาด ประธานกรรมการชุมชนอาสาร่วมใจ บางใหญ่      เล่าถึงประสบการณ์การทำงานของตนในชุมชนและมองว่าการทำงานในเรื่องนี้จะต้องเข้าถึงต่อพ่อแม่ผู้ปกครองหรือลงไปถึงระดับรากหญ้าจริงๆ

 

- คุณอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ เครือขายครอบครัวเฝ้าระวังฯ    ครอบครัวของตัวเองไม่มีปัญหาเรื่องสีแต่สิ่งที่มากระทบคือในชีวิตประจำวันเช่นเราต้องรับรู้ความขัดแย้งผ่าน ที่แรกคือเมื่อขึ้นแท็กซี่  สองคือเมื่อไปพบแพทย์และสามเมือไปซื้อของ เราต้องรับเรื่องความขัดแย้งผ่านบุคคลเหล่านี้มันเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นและอีกประเด็นหนึ่งที่คุณหมอพรรณพิมลบอกว่าเด็กโตจะมองเชิงมิติก็เห็นเลยว่าลูกชายของตัวเองซึ่งเรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้วเขามีความสนใจเรื่องนี้และทำรายงานในเรื่องนี้ เพราะเขาเรียนรัฐศาสตร์ซึ่งก็ถือว่าเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสและในส่วนของ เครือข่ายครอบครัว เราก็มองว่าเราจะมีส่วนอย่างไรบ้างในการจัดเวทีหรือการจัดทำโพล ที่จะขับเคลื่อนให้คนในสังคมเกิดความตระหนักในเรื่องนี้

 

-  วัลลภา  นีละไพจิตร อนุกรรมการด้านสิทธิเด็ก เยาวชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ         มองว่าพวกเรายังฝ่าฟันวิกฤตไปได้ และหวังว่าในอนาคตเด็กของเราจะได้เรียนจากสิ่งนี้ได้เรียนรู้ผู้คน  วิธีการทำงาน สิทธิเสรีภาพ เด็ก   เลือกสิ่งดีทุกอย่างให้ออกมาได้จากสิ่งที่เกิดขึ้น  เพราะเด็กไทยฉลาด เราทำกิจกรรม รู้รักสามัคคีเพราะเราคือพี่น้องกัน ซึ่งเป็นค่ายเยาวชนที่ให้เด็กได้มาเรียนรู้ถึงความแตกต่างในสังคมและเราพบว่า เด็กๆได้เรียนรู้ว่าความแตกต่างหลากหลายในสังคมเป็นสิ่งที่สวยงาม ศาสนาเป็นสิ่งสำคัญถ้าเราให้เด็กอยู่ในศาสนาสันติจะตามมา 

 

-  เครือข่ายศูนย์รวมใจพัฒนาเด็กเล็กธนบุรี  สโลแกนของเราคือ   พัฒนาสิ่งใดก็ไร้ค่า ถ้าไม่พัฒนาเด็กปฐมวัย  เราปลูกฝังสิ่งใดเด็กก็จะรับสิ่งนั้นมาอยากให้เรามองกลับว่าเราเป็นสื่อที่ดีให้ลูกหรือไม่ บางทีเราโทษแต่สื่อโทรทัศน์ วิทยุอยากให้ดูตัวเราว่าตัวเราเป็นสื่อความรุนแรงให้กับลูกหรือเปล่า    ที่เราพบตัวอย่าง  คือ พ่อแม่ทะเลาะกันแม่เอาลูกไปร่วมการชุมนุมซึ่งเด็กไม่อยากไปเด็กบอกว่าเขากลัวตาย พ่อแม่ต้องฟังความคิดของเด็กว่าเขาอยากไปหรือไม่  นี่คือผลกระทบที่เราพบ

 

- เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังฯ    มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่เด็กจะไม่ได้รับสื่อ ตามที่คุณหมอพรรณพิมลบอกว่าสื่อต้องเป็นกลางตนเองมองว่ามันยากในตอนนี้   และเห็นด้วยว่าเราต้องยอมรับความแตกต่างของกันและกัน  เราต้องสังเกตลูกในการรับสื่อ โดยเราต้องสร้างทักษะในการสังเกตเด็กและการให้คำแนะนำเด็กให้กับผู้ใหญ่   ผู้ใหญ่เองต้องเรียนรู้ว่าเด็กควรจะร่วมกิจกรรมอะไรได้บ้าง เช่นในสงครามไม่ควรเอาเด็กไป เป็นต้น   

 

- คุณสุกัญญา  เวชศิลป์ (สท.พม.)       จากการประชุมในวันนี้ประการแรกคือเราจะสามารถรวบรวมรายละเอียดเรื่องนี้ได้หรือไม่เพราะเด็กต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิในการรับสื่อดิฉันจะรับไปนำเสนอต่อกระทรวงฯ เพื่อให้เกิดนโยบายออกมา และในเรื่องกิจกรรมที่สร้างสรรค์จะมีอะไรเสนออีกไหม ซึ่งตอนนี้สิ่งที่ทางสสส.รวมกันกับกระทรวงฯ จัดทำอยู่ก็คือ  1.การวัดต้นทุนชีวิตของเด็ก  2.คู่มือพ่อแม่ในการเลี้ยงลูก 3. กลยุทธลดการใช้ความรุนแรงกับลูก   

 

- คุณเข็มพร  วิรุณราพันธ์      ทางเราก็เห็นร่วมกันในเรื่องการจัดทำคู่มือซึ่งที่คุยกันตอนนี้ที่จะทำออกมาก็คือ 108 วิธีสร้างสันติในใจเด็ก   และคิดว่าน่าจะมีเวทีที่จะมาพบกันอีก   เราอยากฟังจากเด็กว่าเราจะสร้างสันติในใจเด็กได้อย่างไรเรา ที่สำคัญเราต้องเปิดหัวใจของผู้ใหญ่ก่อนคือให้เรามีความเชื่อในสันติภาพร่วมกันก่อน เราต้องสำรวจตัวเองและจะมีเครืองมืออย่างไรที่จะเปิดมันออกมา   มีคนเสนอแนวทางว่าควรมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็ก เช่นผ่านศิลปะ ศาสนา และอื่นๆ เราอยากรวบรวมและทำให้เป็นกระแสในสังคม   ในครั้งหน้าเราน่าจะมีคำถามที่ต่างไปอีกเพื่อต่อยอดกระบวนการเรียนรู้     อยากเชิญชวนให้ได้กลับมาพบกันอีกในครั้งน่า

 

 108 วิธีการสร้างสันติในใจเด็ก

  1. ให้โอกาส เปิดรับความคิดเห็น สร้างทัศนะคติที่เห็นคุณค่าของความดี ความชั่ว อย่างชัดเจนแก้ปัญหาด้วยเหตุผลและไม่รุนแรง
  2. สอบถามความต้องการของเด็กเป็นประจำและให้คำตอบโดยให้เหตุผลประกอบด้วยทุกครั้งที่มีโอกาส ให้คำแนะนำในทางสร้างสรรค์ โดยการเสียสละไม่มีอคติกับส่วนรวม เปิดเวทีสาธารณะให้เด็กๆ ได้มีการแสดงออก
  3. ศิลปะช่วยทำให้เด็กมีความสวยภายใน
  4. ความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ เข้าถึงปัญหา รู้จักอภัย เดินหน้า เพื่ออนาคต ลดความขัดแย้งบนความถูกต้อง สร้างสันติ รอยยิ้ม เพิ่มพลัง เกิดความสามัคคี สิ่งดีๆจะเกิดขึ้นในสังคม
  5. ใจสู่ใจ ผู้ใหญ่เพื่อเด็กไทยที่ดี  ร่วมกันพัฒนาเด็กไทยให้ก้าวไกลสู่อนาคตที่มีคุณภาพเพื่อไทย พัฒนาคนสื่อพัฒนาชาติ
  6. ลูกบอกว่า  การนั่งสมาธิช่วยให้เราสวยและมีสันติในใจ
  7. พ่อกับแม่ไม่ควรทะเลาะกันต่อหน้าลูกเพราะจะทำให้เด็กเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมให้เวลากับลูกให้มาก ทำกิจกรรมร่วมกันให้คำปรึกษาและให้การอบรมสั่งสอน
  8. ทำกิจกรรมในครอบครัวใช้ความรัก ความเข้าใจ และธรรมะ/ ธรรมชาติดูทีวี
  9. ให้ผู้ใหญ่รับฟังเหตุผลของเด็กและให้โอกาสเด็กได้แสดงความคิดเห็น
  10. หาสถานที่ให้กับเด็กและให้โอกาสในการทำกิจกรรมต่างๆ
  11. อยากให้ผู้ใหญ่ให้โอกาสกับเยาวชน และรับฟังความคิดเห็นของเยาวชน
  12. เอาใจเด็กมาใส่ใจเรา
  13. วิธีของข้าพเจ้า คือ   พูดคุยให้เด็กเข้าใจว่าในโลกแห่งความจริงมีถูกผิด หนัก เบา ดี ชั่ว
  14. ความรัก  อย่างเดียว อาจไม่เพียงพอยังต้องประกอบด้วยความเอาใจใส่ดูแล สังเกตพฤติกรรมและเข้าใจในความคิดของเด็ก
  15. สอนเด็ก สอนตัวเองด้วย ฟัง  นิ่ง  คิดถึงใจเขา เอามาใส่ใจเรา รักมาก อภัยเสมอ
  16. ให้เหตุผลที่ถูกต้อง  ปลูกฝังความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในใจ
หมายเลขบันทึก: 242917เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2009 12:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท