การกำหนดทิศทางอนาคตสำหรับลูกหลาน


การสร้างอนาคตให้ลูกเป็นภารกิจสำคัญของพ่อแม่ หากมีแนวปฏิบัติที่ดี ตามหลักวิชา ก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้พ่อ แม่ ประสบความสำเร็จในการสร้างอนาคตแก่ลูกได้

        เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 ได้ไปร่วมพิธีเปิดโรงเรียนกวดวิชา Phuket Academic Center ณ บ้านเลขที่ 55/775 หมู่บ้านภูเก็ตวิลล่าดาวรุ่ง  ถนนเจ้าฟ้า ตำบลวิชิต อ.เมือง จังหวัดภูเก็ต  และได้ร่วมเสวนา เรื่อง “การกำหนดทิศทางอนาคตสำหรับลูกหลาน” เป็นการเสวนาร่วมกับวิทยากรหลายท่าน คือดร.ประเสริฐ บัณฑิศักดิ์(จากมอ.ปัตตานี) ดร.ธงพล พรมสาขา ณ สกลนคร(มข.)  ทพ.สุรชาติ วรวุฒิพุทธพงศ์  โดยมี  อ.สำเริง โภชานาธาร ผู้อำนวยการกองการศึกษา เทศบาลเมืองป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

       จากการเสวนาครั้งนี้ มีประเด็นที่ผมคิดว่าเป็นประโยชน์กับพ่อ แม่ หรือนักการศึกษาทั่วไป หลายประเด็น ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1) พ่อ แม่ ควรส่งเสริมให้ลูกได้เลือกอาชีพ หรือรู้จักอาชีพต่าง ๆ เชิงลึก ตั้งแต่เยาว์วัย เช่น ตั้งแต่เรียนในระดับชั้น ม.1 โดยอาจให้เลือกอาชีพที่สนใจสัก 5-6 อาชีพ  ตลอดเวลา 1 ปี ต้องส่งเสริมให้ค้นคว้า หรือพบปะกับผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆที่เลือก ให้มากที่สุด  เมื่อขึ้น ม.2 ให้ตัดทิ้งไป 1 อาชีพ(ที่สนใจน้อยที่สุด) แล้วทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึง ม. 6 ก็จะเหลือเพียงอาชีพที่สนใจที่สุดเพียงอาชีพเดียว..โดยเด็กจะสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในสาขาที่ตรงกับความต้องการ(ดูเพิ่มเติมที่ http://gotoknow.org/blog/sup001/177772 )

2) พ่อ แม่ และลูกควรร่วมกันศึกษาทิศทางของอาชีพต่าง ๆ ที่จะเลือกเรียนในระดับสูงขึ้น หรือในระดับปริญญา จะต้องคำนึงถึงการเลือกสาขาวิชาที่มีงานทำ ไมใช่เลือกตามค่านิยมของสังคมเพียงอย่างเดียว..... “ต้องมั่นใจว่าเป็นอาชีพที่มีงานทำ”

3) พ่อ-แม่ ควรให้อิสระแก่ลูกในการตัดสินใจ หรือกำหนดเส้นทางชีวิต หรือเลือกสาขาที่สนใจเรียนด้วยตนเอง(โดยอาจซักถามหรือร่วมกันจัดหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่มากพอ เกี่ยวกับสาขาวิชา หรืออาชีพนั้น ๆ) ...พ่อ แม่ ควรทำหน้าที่เสริมแรง หรือให้กำลังใจมากกว่าการเลือกและกำหนดเส้นทางอนาคตลูกด้วยความต้องการของตนเองเป็นหลัก..อย่ากำหนดอนาคตลูกด้วยความต้องการของพ่อแม่เอง

4) การให้กำลังใจลูกเป็นสิ่งสำคัญ ตลอดชีวิตของลูก  การโอบ กอด มีค่ามากกว่าคำพูดใด ๆ ในการเสริมแรงหรือให้กำลังใจ

5) การเลือกสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับลูกเป็นสิ่งที่จำเป็น ในการนี้การเลือกที่เรียนก็เช่นเดียวกัน ให้เลือกโรงเรียนที่เห็นว่ามีสิ่งแวดล้อมที่ดี คือ มีเพื่อนที่ดี บรรยากาศที่ดี...โดยสรุป จะต้องเลือกให้ดีที่สุดตามศักยภาพของครอบครัว

6) ต้องสร้างคุณสมบัติสำคัญในตัวลูก ในการสร้างอนาคตแก่ลูก นอกจากคุณสมบัติทั่วไป หรือการเป็นคนดีของสังคมแล้ว คุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งที่ต้องสร้างให้เกิดในตัวลูก คือ นิสัยใฝ่รู้ ใฝ่เรียน(ต้องฝึกให้เป็นนักอ่าน/นักบริโภคความรู้ โดยอาจส่งเสริมให้ลูกฝึกฝนตัวเอง กำหนดเป้าหมายที่จะอ่านวันละกี่หน้า แล้วเพิ่มเรื่อย ๆ จนเป็นนิสัย)  และอีกคุณสมบัติหนึ่ง คือ การมีนิสัยเป็นคนวางแผนชีวิต หรือ เป็นนักวางแผน ..เด็กต้องมีปฏิทินงานในแต่ละวัน  แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน ต้องฝึกให้กำหนดเส้นทางชีวิตด้วยตนเอง จนเป็นนิสัย เมื่อจบการศึกษา เด็กจะรู้จักการตั้งเป้าหมายชีวิตและวางแผนเส้นทางชีวิตได้ด้วยตนเอง

7) “การทำกิจกรรมในขณะเรียน มีผลต่อการสร้างความเป็นคนที่สมบูรณ์ในตัวลูก”  ในการสร้างอนาคตของลูก “การทำกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงเรียน หรือในสถาบัน”  ถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่จะช่วยสร้างคุณลักษณะที่สำคัญในตัวเด็กหลายประการ  การเรียนวิชาการเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะสร้างลูกหลานให้เป็นคนที่สมบูรณ์ได้ “คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตที่พบเห็นในปัจจุบัน/ทั่วโลก มักจะเป็นผู้ที่ผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในขณะเรียน ซึ่งช่วยให้มีทักษะการจัดการ การทำงานเป็นทีม เป็นหมู่คณะ ซึ่งในที่สุด ช่วยให้ประสบความสำเร็จในชีวิต”

มีรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ อีกหลายประการที่วิทยากรแต่ละท่านได้นำเสนอในที่เสวนา แต่ผมคิดว่าในเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง...ถ้าผู้ปกครองคนใดจับประเด็นเหล่านี้ได้ครบถ้วนและนำไปเป็นแนวทางในการสร้างอนาคตแก่ลูก ..ผมคิดว่า “จะคุ้มค่ากับเวลาที่นั่งฟังการเสวนาเป็นอย่างยิ่ง”

หมายเลขบันทึก: 243412เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2009 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

         หลักพื้นฐานเบื้องต้น  ก่อนที่จะไปถึงการกำหนดทิศทางอนาคตสำหรับลูกหลาน  ผมว่าอยู่ที่พิ้นฐานการเข้าใจในตัวลูกก่อนครับ

        พ่อแม่ต้องเข้าใจในอารมณ์  เหตุผล  และ ความรู้สึกของลูก

        จากการที่ผมทำค่ายเครือข่ายต้นแบบครอบครัวสัมพันธ์  ปัญหาในครอบครัวส่วนหนึ่งเกิดจาก

          พ่อแม่ไม่เข้าใจลูกครับ  ไม่ฟังเหตุผลของลูก   เอาความคิดของตัวเองมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินลูก  โดยอ้างว่า "รักลูก"

ขอบคุณมาก ท่าน Small man ดีมากเลยครับ

  • เพิ่มข้อ 0.ต้องวิเคราะห์ ทำความเข้าใจ-ทำความรู้จักลูกก่อนว่า มีอารมณ์ ความสนใจ หรือความถนัดด้านไหน อย่างไร

ที่พบจากนศ.ในวิทยาลัยฯ สาเหตุการลาออกกลางคันของนศ.บ่อยที่สุด ได้แก่

1. ค่านิยมของพ่อแม่ ที่อยากให้ลูกเรียน

2. แม้จะจบแล้ว มีงานทำจริง แต่ขัดกับความถนัด ความชอบ หรือความต้องการของผู้เรียนค่ะ

พ่อแม่ทุกคนต้องเลือก ระหว่าง

ก.ความสำเร็จในอนาคตของลูก ที่ลูกทำงานอย่างมีความสุข(ประมาณ 60 ปี หลังจบปริญญาตรี)...(เป็นผลเนื่องมาจากพ่อแม่ได้ส่งเสริมและทำเพื่อลูกมาเป็นเวลา 21-22 ปี)

ข.ความสำเร็จในอนาคตของพ่อแม่ ที่ลูกเลือกอนาคตตามที่เรากำหนด(พ่อแม่มีความสุขประมาณ 30 ปี ก่อนที่จะเสียชีวิต โดยลูกไม่มีความสุขเลย ประมาณ 60 ปี)....(เป็นผลเนื่องมาจาก "ลูกได้ทำเพื่อพ่อแม่" มาเป็นระยะเวาลา 21-22 ปี)

ให้ความสนใจของลูกเป็นตัวชี้วัดเป็นสิ่งที่ดี

แต่ถ้าลูกที่สนใจ ใฝ่ ในสิ่งที่ไม่พึงประสงค์

ควรแก้ตรงไหนครับ

สวัสดีครับ

พ่อแม่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ของการศึกษาของลูก ขอบคุณสำหรับแนวทางที่สรุปมาให้ ครับ

คุณปิยพันธ์

-เชื่อว่า ถ้าเราพยายามทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เยาว์วัยตามแนวทาง 7-8 ประการข้างต้น  ...ไม่น่าจะเกิดปัญหาที่ว่า "ลูกสนใจ ในสิ่งที่ไม่พึงประสงค์"

  • ขอบคุณ คุณหมอเพชรากรครับ  ที่เข้ามาเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ขอขอบคุณที่ได้ แชร์ความรู้ เข้ามาอ่านแล้วได้ข้อคิด ปฏิบัติในฐานะผู้ปกครอง แม่ของลูก ป.1

  • ทดลอง พาไปรู้จักผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่ ป.1 หรือ ให้เริ่มสะสมภาพเกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ ก็ได้นะครับ(ภาพสวย ๆ)

สวัสดีค่ะดร.สุพักตร์

  • อ่านแล้วได้รับทราบสิ่งที่ดีๆมากมาย
  • หากผู้ปกครองหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญไม่มองข้ามสิ่งดีๆเหล่านี้ไป..ผลดีคงตกอยู่กับเด็กๆอย่างแน่นอน
  • มองเห็นภาพในวงกว้าง...หากดำเนินการอย่างต่อเนื่อง....ในอนาคตเราต้องได้คนดีของสังคมที่มีคุณภาพอย่างแน่นอน..นับเป็นการพัฒนาที่น่าจะได้ผลดีที่ยั่งยืน ...ปัญหาต่างๆในสังคมจะลดลง
  • ขอขอบคุณท่านอาจารย์..ที่นำความคิดและสิ่งที่ดีๆมาบอกเล่าสู่กัน
  • ขอบคุณ อ.ปรีดา ที่เข้ามาเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้

สวัสดีค่ะ พี่สุพักตร์

บทความนี้ตาชอบมากอีกอันหนึ่ง

ได้นำเล่าให้ผู้ปกครองนักเรียนฟัง

หลายครั้ง โดยเฉพาะส่วนนี้.......

พ่อแม่ทุกคนต้องเลือก ระหว่าง

ก.ความสำเร็จในอนาคตของลูก ที่ลูกทำงานอย่างมีความสุข(ประมาณ 60 ปี หลังจบปริญญาตรี)...(เป็นผลเนื่องมาจากพ่อแม่ได้ส่งเสริมและทำเพื่อลูกมาเป็นเวลา 21-22 ปี)

ข.ความสำเร็จในอนาคตของพ่อแม่ ที่ลูกเลือกอนาคตตามที่เรากำหนด(พ่อแม่มีความสุขประมาณ 30 ปี ก่อนที่จะเสียชีวิต โดยลูกไม่มีความสุขเลย ประมาณ 60 ปี)....(เป็นผลเนื่องมาจาก "ลูกได้ทำเพื่อพ่อแม่" มาเป็นระยะเวาลา 21-22 ปี)

สุขภาพพี่เป็นอย่างไรบ้าง อยากให้สังเกตตอนทานของมันว่า

เป็นอย่างที่ตาบอกไหมว่าปวดท้อง หากเป็นแบบนั้นจะได้บอกคุณหมอได้

และรักษาได้ง่าย ด้วยความเป็นห่วง อยากให้มีสุขภาพดีค่ะ

น้องตา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท