ศึกษานิเทศก์มืออาชีพ และ การพัฒนาศักยภาพศึกษานิเทศก์


ศึกษานิเทศก์ ถือเป็นกลุ่มบุคคลสำคัญที่มีส่วนทำให้การจัดการศึกษาของประเทศประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ถ้าศึกษานิเทศก์มีทักษะ/มีสมรรถนะที่จำเป็นครบถ้วน และมีความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง น่าจะมีผลดีอย่างยิ่งต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ

ในวันที่ 18 มีนาคม 2552 ผมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมหลักสูตร “การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาสมรรถนะศึกษานิเทศก์ เรื่อง การจัดการเรียนรู้และการวิจัยเพื่อพัฒนาการศึกษา”  จัดโดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท 11 กรุงเทพฯ (ผู้เข้าอบรมคือ ศึกษานิเทศก์เขตพื้นที่การศึกษา กทม.1  2  3  นนทบุรี  ปทุมธานี  สมุทรปราการ และ ศึกษานิเทศก์สังกัดกรุงเทพมหานคร) โดยผมได้รับมอบหมายให้บรรยายในเรื่อง  “ศึกษานิเทศก์มืออาชีพ และ การพัฒนาศักยภาพศึกษานิเทศก์”

          ในเวลาอันสั้นประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที(เป็นการบรรยายค่อนข้างเป็นการเปิดรายการแรก ๆ) ผมตั้งใจว่าจะนำเสวนาในประเด็นหลัก 2 ประการ คือ

1. ศึกษานิเทศก์มืออาชีพ...คืออย่างไร ...โดยในทัศนะผมและการสรุปจากผลงานวิจัยต่าง ๆ เห็นว่า ศึกษานิเทศก์มืออาชีพน่าจะมีทักษะ/สมรรถนะต่อไปนี้

1.1 พื้นฐานความรู้ดี(Degree Capital)

        1.2 มีการสะสมองค์ความรู้ใหม่ ๆ ด้านการจัดการศึกษา/การจัดการเรียนรู้

             (Intellectual Capital)

        1.3 มีเครือข่ายวิชาชีพ/เพื่อนร่วมพัฒนางาน(Social-Network Capital)

        1.4 มีเทคนิคและทักษะพื้นฐานเพื่อการนิเทศ(Conceptual Skills, Technical Skills และ Social Skills) ต่อไปนี้

     1) ทักษะการบริหารจัดการเชิงระบบ(วิเคราะห์ปัญหาความต้องการจำเป็น  การพัฒนาทางเลือกหรือวิธีการใหม่ ๆ มาใช้ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา  การวางแผน/จัดทำแผนยุทธศาสตร์/แผนปฏิบัติการ   การกำกับติดตามงาน  การประเมินความก้าวหน้า  การประเมินผล การติดตามผลหรือศึกษาผลกระทบต่างๆ)

     2) ทักษะจัดการ  การทำงานเป็นทีม การทำงานเป็นหมู่คณะ ทักษะมนุษย์สัมพันธ์

     3) ทักษะการสื่อสาร(ความสามารถด้านภาษา  การใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร)

     4) ทักษะวิชาการ เช่น การเขียนบทความทางวิชาการ  การวิจัย  การประเมิน

     5) ทักษะการบริหารจัดการชุดโครงการวิจัย/การเป็นหัวหน้าชุดโครงการวิจัย

        1.5 มีการบริหารจัดการองค์ความรู้ เพื่อการนิเทศ(Self KM) ที่เป็นระบบ

        1.6 ปฏิบัติการใด ๆ ด้วย Action Model ที่เป็นรูปธรรม

        1.7 ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณวิชาชีพ

 

2. การพัฒนาศักยภาพศึกษานิเทศก์ สู่การเป็นมืออาชีพ..(ทางเลือกใด ได้ผลสูงสุด)

                2.1  In-service Training...การอบรมหลักสูตรระสั้นต่าง ๆ

        2.2  Self-Evaluation , Self-Determination  and  Self-Training...ประเมินตนเอง วางแผนพัฒนาตนเอง และดำเนินการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง หาข้อสรุปใด ๆ ด้วยตนเอง

2.3  ร่วมในเครือข่าย หรือกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จัดโดยองค์กรต่าง ๆ หรือจัดผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

        2.4  Buddy System/Mentoring System...การใช้ระบบพี่เลี้ยง

        2.5  etc     

        ในประเด็นที่ 2 ตั้งใจว่าจะให้สมาชิกร่วมอภิปรายว่า  “ในทัศนะของศึกษานิเทศก์เอง  คิดว่าทางเลือกใดน่าจะได้ผลดีที่สุด ในการพัฒนาศักยภาพศึกษานิเทศก์ให้ก้าวสู่การเป็นมืออาชีพ”

 

.........ท่านผู้มีประสบการณ์ทั้งหลาย คิดอย่างไร ลองช่วยเสนอแนะนะครับ...... 

หมายเลขบันทึก: 244329เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2009 13:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ ได้พบท่านตอนอบรมที่วังสำราญ ดีใจที่ค้นพบท่านใน internet ดีใจมากๆ คิถึงอยู่ ท่านสบายดีนะคะ เพิ่งหัดเขียนยังไม่เป็นเท่าไหร่เลยถามใครๆหลายคนที่เก่ง com เรื่องการเขียนใน gotoknow ก็ไม่รู้ เลยค้นหาวิธีเอง กว่าจะเข้าระบบเป็น รองผิดรองถูกอยู่ เป็นเดือน (ตนเองเชยจังสงสัยถามไม่ถูกต้นตอ)แต่ก็ไม่ละความพยายามนะ ตอนนี้กำลังทำผลงานอยู่ สบสนไปหมด

อยากฟังท่านพูดอีก ได้ทั้งงานและเกร็ดชีวิต

ถ้าเรายอมรับฟังความเห็นของคนอื่นบางว่า เราไม่ค่อยรู้เรื่องต่างๆ เราก็จะหันมาสนใจที่จะพัฒนาตนเอง แต่ถ้าเราปิดหา ปิดตา ใครว่าเราไม่ดีเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราโกรธทันที เราก็จะไม่เอะ! เราเป็นไม๊ ถ้าเป็นเหมือนที่เขาว่า ก็รีบแก้ไข ก็จบ ใครก็ว่าไม่ได้

การที่เรารู้จักประเมินตนเอง จะทำให้รู้ว่าเราจะพัฒนาตนเองไปทางไหน รู้ความต้องการ รู้ทิศทางของสังคมด้วย หัวข้อที่น่าสนใจ 2.2และน่าจะส่งผลการพัฒนาได้มาก แต่ควรเพิ่ง หลังจากค้นพบแล้ว ควรให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งที่ค้นพบด้วยน่าจะดีกว่า

สวัสดีครับ อาจารย์  งูเขียวหางไหม้

  • ขอบคุณครับที่มาเยี่ยม และร่วมแสดงความคิดเห็น
  • เห็นด้วยกับความคิดอาจารย์ครับ "ถ้ารู้จักประเมินตนเอง รู้จุดอ่อนตนเอง แล้วสนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศักยภาพจะเปลี่ยน"

 

 

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • มองเห็นภาพได้ชัดทีเดียวค่ะ
  • ทุกทางเลือกมีความเหมาะสมทุกเส้นทางนะคะ..หากเริ่มต้นรู้จักตัวเองแล้ว เปิดใจ พร้อมพัฒนา ก็น่าจะนำพาสู่เส้นทางแห่งความเป็นมืออาชีพได้
  • ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีครับ ศน.อ้วน

  • ขอบคุณมากครับ ที่เข้ามาเยี่ยมและให้ความเห็น
  • องค์ความรู้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา  การสั่งสมความรู้และการพัฒนาตนเองแบบต่อเนื่อง(อ่าน ศึกษา ค้นคว้า เข้าร่วมสัมมนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้บ่อย ๆ น่าจะเป็นทางเลือกสำคัญมาก)

 

ผมเพิ่งเข้ามาเป็น ศึกษานิเทศก์ ของ สพฐ. รุ่น 1 เคยได้มีโอกาสเข้าฟังอาจารย์บรรยาย ตอนสมัยเป็นครู เกี่ยวกับเรื่องการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ที่ทางสถาบันทางไกลจัดร่วมกับคุรุสภา อาจารย์บรรยายเข้าใจง่ายดี และให้แนวคิดดี ชอบตอนที่อาจารย์ยกตัวอย่างเรื่องลูก ว่าให้เขียนแผนการใช้งบของตัวเอง แล้วให้เขาบริหารจัดการเอง สำหรับทางเลือกในการพัฒนาศึกษานิเทศก์ว่าทางใดน่าจะได้ผลดีที่สุดนั้น ผมคิดว่า ตอบยาก เพราะศึกษานิเทศก์ก็เหมือน นักเรียน ต่างก็มีสไตล์การเรียนรู้ที่แตกต่างกัน กลุ่มอายุมากอาจเหมาะกับรูปแบบหนึ่ง กลุ่มหนุ่มสาวอาจชอบทาง ICT เป็นต้น แต่ที่ผ่านมาศาสตร์ความรู้ที่จำเป็นของศึกษานิเทศก์ยังมีรวบรวมไว้น้อยจัง ครับ ผมชอบด้าน ICT และได้ทำเว็บไซต์ไว้ www.phitsanulok3.com/nitet พยายามจะรวบรวมความรู้เกี่ยวกับศาสตร์การนิเทศไว้ แต่ก็ยังไม่รู้จะเริ่มยังไงดีครับ

ดิฉันขอเล่าประสบการณ์ในอาชีพศึกษานิเทศก์ ก่อนเข้ามาเป็นศึกษานิเทศก์ก็เป็นครูมัธยมมาก่อน ในยุคก่อนพ.ร.บ. การศึกษา 42 ก่อนการปฏิรูปการศึกษา สมัยนั้นเมื่อครูเรียนสูงขึ้น จบปริญญาโท ก็มักเปลี่ยนงาน แต่ดิฉันเคยคิดว่าไม่ไปเป็นศน.แน่นอน เพราะการไปแนะนำคนอื่นนั้น หากเขาไม่ทำ เราก็ไม่ได้ผลอย่างที่ตั้งใจ และครูสมัยก่อนมักพูดว่าศน.คือครูที่ขี้เกียจสอน หรือครูที่อยู่ในโรงเรียนไม่ได้ ดิฉันจึงทำหน้าที่ครูมาโดยปกติแต่เนื่องจากเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ชอบเรียนรู้ทุกสาขาวิชา ชอบเขียน ดังนั้นเมื่อผู้บริหารมอบหมายงานอะไรให้ครูทั้งโรงเรียนทำ ดิฉันมักได้รับคำชมจากผอ.และเพื่อนครู มักช่วยผู้อื่นทำในหลายเรื่อง จนครูหลายคนพูดว่า อย่างครูนี่นะ น่าจะไปเป็นศึกษานิทศก์ ดิฉันจึงฉุกคิดว่าถ้าเราไป น่าจะทำประโยชน์ให้ครูได้มาก และการไปนี้ เนื่องจาก ครูอยากให้ไป ผู้บริหารก็ส่งเสริมให้ไป โดยผู้บริหารพูดว่า "คนเราควรอยู่ในที่ที่เหมาะสม ผมส่งเสริมให้ไป ทั้งที่ถ้าครูไปแล้วจะไม่มีครูสอนวิชานี้เหลืออยู่เลย"" จึงบอกตัวเองได้ว่าการไปเป็นศน.นี้ไม่ใช่เพราะขี้เกียจสอน หรืออยู่โรงเรียนไม่ได้ เพราะเราเป็นที่รักของทุกคน ไม่เคยมีปัญหากับใคร เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งศน. ดูเหมือนว่าเราไม่รู้อะไรเลย ได้รับการอบรมหลักสูตรศน.แต่ก็ยังทำอะไรได้ไม่มาก ก็เริ่มต้นด้วยการเข้าอบรมหลักสูตรต่างๆในสาขาที่รับผิดชอบ อ่านหนังสือมากๆ เป็นผู้ช่วยวิทยากรของรุ่นพี่ ทำให้ได้ความรู้และเรียนรู้วิธีการนิเทศไปในตัว กรมสามัญศึกษาเคยเขียนขั้นตอนพัฒนาการของศึกษานิเทศก์เป็นขั้นบันได จำได้ว่าขั้นที่หนึ่งมีระยะเวลาสามปี เรียกว่า "ขั้นแสวงหาพาอยู่รอด" ดิฉันมองตัวเองแล้วเป็นไปตามนั้น คือสามปีแรกเป็นช่วงปรับตัว ศึกษาหาความรู้ ประสบการณ์ ฝึกปรือ ทำงานเป็นทีม พอขึ้นปีที่สี่ ดิฉันมั่นใจว่าสามารถบินเดี่ยวได้เลย สามารถเป็นวิทยากรเดี่ยวระดับเขตการศึกษา และมีพัฒนาการขึ้นมาก ศึกษาพัฒนาตนเองด้านไอทีอยู่ตลอด และสามารถให้คำปรึกษาครูเป็นรายบุคคล เช่นมีครูมาเรียนรู้หลักสูตรแบบตัวต่อตัวอยู่บ่อยๆ จนเป็นที่รู้จักของครูทั่วเขตการศึกษากรมสามัญ (หลายจังหวัด) จากเดิมที่รับผิดชอบเฉพาะวิชาเอก ก็ศึกษาด้วยตนเองจนรู้ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องทั้งเนื้อหาวิชา หลักสูตร การวัดผลและประเมินผล การวิจัยในชั้นเรียน การทำ Portfolio การทำผลงานทางวิชาการ ตอนนั้นถึงกับปูเสื่อนอนข้างเครื่องคอมพิวเตอร์เลย เมื่อเข้าสู่ปีที่ 7 ดิฉันมั่นใจว่าสิ่งที่เรามีอยู่ในตัวนั้น"ครบเครื่องเรื่องของครูในระดับหนึ่ง" และภูมิใจมากที่ในการเป็นวิทยากรหลักสูตรครั้งหนึ่ง มี่ครูเขียนในแบบประเมินผลวิทยากรว่า "ท่านวิทยากรเป็นผู้ที่ Born to be ศึกษานิเทศก์" และบางครั้งผู้บริหารโรงเรียนมาติดต่อเชิญวิทยากร แล้วบอกว่าครูที่โรงเรียนขอมาว่าต้องการให้ศน...คนนี้ไปเป็นวิทยากร คนอื่นไม่เอา...ที่เล่ามาก็อยากจะสรุปจากประสบการณ์ว่า การเป็นศน.ต้องมีใจรักในการถ่ายทอดความรู้ เก่งด้านวิชาการ เนื้อหาที่รับผิดชอบ รวมทั้งทุกเรื่องที่เป็นภาระงานของครู มีความสามารถในการพูด การเขียน การถ่ายทอด พูดให้เข้าใจง่าย สวมวิญญาณครูได้ หมายถึง ศน. ต้องมีประสบการณ์เดิมในการสอน สามารถเข้าใจครูได้ดี พูดกันรู้เรื่อง ครูจะรู้สึกว่า เออ! ศน.คนนี้เขาก็เป็นครูที่ดีมาก่อนนะ เกิดความเชื่อถือ และปัจจุบัน ศน.ก็ต้องเก่งไอทีด้วย ต้องเป็นนักอ่าน ใฝ่รู้ทุกเรื่องสังคม เศรษฐกิจ ศาสนา ฯลฯ เพราะการเป็นวิทยากรต้องรู้ลึกและรู้กว้างด้วย นอกจากนี้ต้องเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันที่ดีกับผู้บริหาร ผู้ร่วมงาน และครู เพราะงานศน.มักเป็นงานทีม ต้องสามารถเป็นผู้นำทีมที่ดี และผู้ตาม/ผู้ปฏิบัติที่ดีได้ มีความละเอียดจริงจังกับงาน เหนือสิ่งอื่นใดต้องเป็นกัลยาณมิตรกับครู การแสดงออกทั้งกาย วาจา ใจ ต้องรู้หลักจิตวิทยา ต้องเป็นที่ประทับใจของครูและคนรอบข้าง มีบุคลิกที่อบอุ่น เป็นกันเอง บางคนเก่งแต่เมื่อเป็นวิทยากร หรือแนะนำครูก็พูดตำหนิ หรือครูรู้สึกว่าดูถูกเขา....นอกเหนือจากนี้อยากสรุปว่าการเป็นศน.มืออาชีพนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของพรสวรรค์ของแต่ละคนด้วย แต่ก็สามารถพัฒนาได้ถ้ามีใจรัก...สำหรับดิฉันทั้งที่มีใจรักอาชีพนี้ และรู้สึกว่างานแบบนี้แหละใช่เลยสำหรับเรา... แต่ปัจจุบันดิฉันต้องเปลี่ยนจากอาชีพนี้ไปสู่อาชีพอื่นที่ไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์เหล่านี้อีกเลย... ต้องทิ้งประสบการณ์อันมีค่าไว้ในความทรงจำ และเหลือเพียงการถ่ายทอดเป็นวิทยาทานแก่ศน.รุ่นหลัง ...นี่คือผลงานของของการปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ในยุคปฏิรูปการศึกษารอบแรก ที่มิได้จำแนกว่าใครควรอยู่ ใครควรออกไป...ก็หวังว่าศน.รุ่นใหม่คงได้รับประโยชน์บ้างจากข้อเขียนนี้ และโปรดระวังความไม่แน่นอนของระบบราชการไทยด้วย เมื่อเรากำลังเจริญเติบโตในวิชาชีพก็อาจจะถูกตอน แล้วผู้เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาระดับสูงในบ้านเมืองที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็มิได้รู้สึกอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ชื่นชมอาจารย์มาตลอดคะ รับฟังการบรรยายหลายครั้ง โดยเฉพาะเรื่องการประกันคุณภาพ

ตอนนี้ ดิฉันกำลังเสนอดุษฎีบัณฑิต เรื่อง การพัฒนารรูปแบบการประกันคุณภาพการศึกษา ภายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

เพื่อรองรับการประเมินภายนอกรอบสาม อยากรบกวนอาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญดูเครื่องมือให้นะค่ะ ไม่ทราบว่าอาจารย์พอมี

มีเวลาหรือเปล่า แต่ถึงอย่างไรก็จะขอขอบพระคุณมาล่วงนะคะ

ขอบคุณคะ

ละมุล รอดขวัญ

ศึกษานิเทศก์ สพท.กระบี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท