สถานการณ์วันนี้ : เทียบโอนความรู้และประสบการณ์วิชาชีพอาชีวศึกษา


เทียบโอนความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ

 

ถัดมาอีก 2 ปี ในการได้พบกับกลุ่มหัวหน้าหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ หลังจากเคยได้เขียนเรื่อง ข้อสังเกตเรื่อง การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์   ซึ่งในตอนนั้นในกลุ่มได้พูดคำที่มักจะเปรียบเปรยการเทียบโอนไว้ว่า  เรียนง่าย จ่ายครบ จบไว

ผ่านมาปีนี้ ได้พบคนทำงานกลุ่มเดิมและมีบางส่วนก็เป็นหน้าใหม่ ตามสไตล์การทำงานของ สอศ. โดยเฉพาะสถานศึกษาที่มีบุคลากรน้อยและยังเป็นบุคลากรหน้าใหม่ที่เปลี่ยนหน้าไปเรื่อย ๆ เพราะ น้อง ๆ ที่มาทำหน้าที่ครูพิเศษสอนได้สอบบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ ครูผู้ช่วย แล้วต้องย้ายไปทำงานที่อื่น หรือเบนสายไปทำงานด้านอื่น  มอบภาระอันท้าทายให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

สิ่งที่ได้พบได้ยินวันนี้ ก็ไม่แตกต่างจากเมื่อวันก่อน สำหรับคนใหม่ที่เข้ามารับงานเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ แต่ก็ได้ยินเสียงของคนเก่าที่ยังจับงานนี้ หรือโดนจับให้อยู่งานนี้ (อันนี้ตัวใครก็ตัวใคร) เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น  ทีนี้ลองมาดูกันว่า มีอะไรใหม่และอะไรที่ยังเป็นเรื่องเก่า แล้วเอามาเล่าใหม่ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ  สำหรับคนหน้าเก่าแต่เป็นปัญหาใหม่ของหัวหน้างานใหม่ แต่เป็นคนเก่าในสถานศึกษาแห่งนั้น ๆ



 compare
บรรยากาศ ชั้นเรียนวิทยาลัยการอาชีพจอมทอง จ.เชียงใหม่
 

Photobucket สาขาที่ยอดนิยม  ในระบบปกติไม่ค่อยมีนักศึกษาสนใจ แต่เป็นที่ต้องการของกลุ่มเทียบโอน ได้แก่  การจัดการทั่วไป  สาขานี้ในระยะแรกรองรับนักศึกษาที่ต้องการเลือกสาขาใหม่แทนที่สาขาเลขานุการ ที่หลายคนเห็นว่า เป็นสาขาที่ค่อนข้างจำกัดในตลาดแรงงาน  ตรงกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนที่หันมาสนใจและขออนุญาตจัดการเรียนการสอน รองรับสาขาอื่น ๆ  ที่นักเรียนจะเปลี่ยนสาขาเดิมที่เคยเรียนมาก่อน  หน่วยงานที่จัดการศึกษาสาขานี้ ไม่แน่ใจว่า  ได้ทบทวนมาตรฐานสาขาวิชาดูมากน้อยเพียงใด ซึ่งการจัดได้นั้น  จะต้องมีครุภัณฑ์มาตรฐานใกล้เคียงกับสาขาเลขานุการ  หากสถานศึกษาใดเปิดสาขานี้  ก็ทวนความทรงจำอีกครั้งหนึ่งว่า  มาตรฐานวิชานี้ต้องตอบโจทย์อะไรอยู่  สถานศึกษาหลายแห่งมักจะบอกว่า  ใครก็สอนได้  นั้นปะไร  เราถึงได้มาตรฐานแบบอาชีวศึกษาเหมือนทุกวันนี้  การจัดการทรัพยากรมนุษย์  ก็เป็นอีกสาขาที่ยังเป็นที่นิยมเปิดการเรียนการสอน ได้กลุ่ม อบต. เป็นลูกค้าหลัก รวมถึงอีกสาขางานที่ยังเป็นที่นิยมมาตั้งแต่ต้นคือ  เทคโนโลยีสำนักงาน  ชื่อก็ค่อนข้างจะสื่อที่จะทำงานและทันสมัยอยู่ในตัวเอง

Photobucket การประเมินผลเบื้องต้น   ยังเป็นปัญหาเรื้อรังเป็นเหมือนไวรัสคอมพิวเตอร์แก้เท่าไรก็มีตัวใหม่เข้ามาเล่นงานอยู่เสมอ สำหรับสถานศึกษาที่ดำเนินกิจการเทียบโอนฯ มานานแต่จัดระบบข้างในไม่ได้สักที จากปัญหา  เปลี่ยนผู้รับผิดชอบบ่อย  ขาดบุคลากรในการประเมิน  ผู้บริหารที่รับผิดชอบปรับเปลี่ยนสายงาน  ผู้รับผิดชอบทั้งหมดไม่พยายามศึกษาระเบียบและแนวทางปฏิบัติ  การกำหนดเป้าหมายของสถานศึกษาขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบ  ขณะเดียวกัน  เริ่มได้ยินเสียงของการมีระบบที่ชัดเจนขึ้นนำเอาปัญหาที่พบมาแก้ดักทางไว้ก่อน  เกิดความพึงพอใจทั้งผู้เรียนและผู้จัดการเรียนฯ  สถานศึกษามีอำนาจต่อรองมากขึ้น  ผู้เรียนพึงพอใจที่จะเรียนจบตามที่ตนเองมีความสามารถและพยายาม ไม่มีคำพูด จ่ายครบจบไว สำหรับชื่อของสถานศึกษานั้น ๆ  ให้ได้ยินได้ฟังอีก  แต่ก็ต้องระวังหลังไว้ให้ดี  เพราะ กลุ่มผู้เรียนบางกลุ่มก็ย้ายฐานการเรียนไปยังสถานศึกษาที่  จ่ายครบจบไว  ที่กลุ่มลูกค้าเหล่านี้จะรู้กันเป็นนัย ๆ ว่า อยู่ ณ แห่งหนตำบลใด   ....สถานศึกษาของท่านเป็นอย่างที่เขาว่ามาหรือไม่...
 

Photobucket การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์   หลายแห่งชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะรู้ว่า   งานที่ผู้สมัครเรียนทำอยู่สอดคล้องกับสาขาวิชา   การแนะแนวที่ดีนำไปสู่ความเข้าใจทั้งสองฝ่าย  คณะกรรมการในการเทียบโอนฯ เข้าใจในเนื้อหาของงานและเนื้อหาวิชาที่จะเทียบโอน   การทำหลักฐานความพร้อมของผู้สมัครเรียนที่จะนำมาเทียบโอน  การเข้าใจถึงการจัดการเรียนการสอนรูปแบบนี้ว่า  ไม่ได้เป็นแบบเรียนง่ายจ่ายครบจบไว  เป็น เรียนตามปกติ จ่ายครบ จบตามที่ความสามารถและความพยายามของคุณเอง  สถานศึกษาหลายแห่งได้ให้ข้อมูลว่า เอาเข้าจริง ๆ แล้ว วิชาที่จะเทียบโอนความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ  เทียบได้เพียง 2-3 วิชา  ไม่ได้เป็นแบบ 2 ใน 3  อย่างที่ควรจะเป็น  ยกเว้น..บางแห่งที่ไปกำหนดเป็นป้ายประกาศชัดเจนไว้หน้าสถานศึกษา ว่า คุณจะจบเพียง 1 ปี หรืออะไรก็ตามแต่  อันนี้ สร้างสิ่งผูกมัดหรือจะหลอกกันเล่นหรือเปล่าไม่แน่ใจ   หากผู้เรียนไม่รู้ข้อเท็จจริงหรือได้ข้อมูลผิด ๆ จะเกิดอะไรขึ้นกับสถานศึกษาแห่งนั้น  ใครหล่ะ..จะมาช่วยแก้ภาพอาชีวศึกษาโดยรวมของเรา

 

compare
บรรยากาศ ชั้นเรียนวิทยาลัยการอาชีพจอมทอง จ.เชียงใหม่

 

Photobucket การเรียนแบบพบกลุ่ม  ยังเป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ยังแกะไม่หลุดกับระบบการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ แล้วแต่ว่า แต่ละสถานศึกษาจัดอย่างไร  พบกันวันเสาร์-อาทิตย์  พบกัน 30 วันต่อภาคเรียน  ยังรู้สึกดีขึ้นมาบ้างที่ผู้สอนและผู้เรียนได้พบปะหน้าค่าตากัน  การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้โดยผู้เรียนคัดลอกจากเว็บไซต์มาส่งโดยไม่ได้เคยเห็นหน้ากันเลย  ค่อย ๆ หมดไป   ศูนย์การเรียน ก็ยังเป็นอีกทางเลือกที่สถานศึกษาได้จัดการเรียนการสอน ทั้งด้วยความร่วมมือของสถานประกอบการเอง หรือแหล่งสถาบันที่สถานศึกษาได้ไปติดต่อจัดหาให้โดยความร่วมมือกับบุคคลภายนอกและชุมชนนั้น ๆ   เรายังได้ยินว่า ศูนย์การเรียนเหล่านั้น  ข้ามห้วยข้ามจังหวัดไปตั้งอยู่หน้าสถานศึกษาเจ้าถิ่น  โดยที่เจ้าถิ่นแห่งนั้นก็จัดเทียบโอนฯ ในสาขาวิชาและสาขางานเดียวกัน  เกิดอะไรขึ้น..!

  

Photobucket ผู้สอนเป็นใคร  หลังจากที่มีระเบียบฯ เกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตรงนี้เกิดขึ้น สถานศึกษาหลายแห่งสามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัวขึ้น  มีการนำเอารายได้มาจัดการอย่างเป็นระบบ  ผู้สอนได้รับค่าสอนตามที่มีการจัดสรรกันไว้ มองเห็นภาพสถานศึกษาที่มีจำนวนบุคลากรจำกัดและคุณวุฒิไม่ตรงกับสาขาวิชานั้น แต่ผู้บริหารฯ เหมารวมว่า  ใครสอนก็ได้เป็นวิชากลาง ๆ  เราจึงเห็นผลงานของหลายหน่วยงานหรือของสถานศึกษาแห่งนั้น ๆ ออกมา ง่าย ๆ ตัวอย่างของ  หนังสือราชการแบบพิสดารที่สำนักนายกฯ เห็นแล้วต้อง ไปรื้อตำราหรือระเบียบกันใหม่   รวมไปถึงการจ้างบุคลากรของสถานประกอบการแห่งนั้นเป็นผู้สอนและหัวหน้างานไปพร้อมกัน   การนิเทศติดตามเรื่องนี้  ผู้ใด..เป็นผู้รับผิดชอบมีการตรวจสอบหรือได้ประเมินผลการสอนมากน้อยเพียงใด  คุณภาพเกิดตรงไหน ใครเป็นผู้ให้คำตอบได้ดี ผลกระทบเรื่องนี้ รับไปเต็ม ๆ คือ ชื่อของสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนแห่งนั้น

 

 

เรื่องราวข้างต้นทั้งหมด ก็คงเป็นเรื่องเดิม ๆ ที่กี่คนเข้ามาก็คงไม่พ้นเรื่องเหล่านี้  แต่ทำไม พวกเราจึงแก้ปัญหากันไม่ตรงจุดสักที อาจจะเป็นเพราะว่า เราได้ผู้บริหารที่รับผิดชอบเรื่องนี้เป็น คนใหม่ นโยบายเปลี่ยน  หัวหน้างานใหม่ การปฏิบัติปรับ  เราเดินซ้ำรอยตัวเองเหยียบย่ำอยู่กับที่เหมือนกับการบริหารของ...ของ...    

แต่ก็เป็นที่น่ายินดี สำหรับสถานศึกษาที่เริ่มเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น หลายร้อยสถานการณ์ประเดประดัง ในสถานศึกษาหนึ่งแห่ง ที่มีบุคลากรผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาไม่เคยซ้ำหน้า รับผิดชอบงานสารพัดแบบ และส่วนใหญ่ก็ไม่ตรงกับงานการเรียนการสอนที่เป็นเรื่องหลักในสถานศึกษา เห็นความผิดพลาด เกิดการเรียนรู้  เอาปัญหาที่เกิดขึ้นมาค่อยปรับค่อยแก้ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำอย่างไรจะทำให้สถานศึกษาของเราได้ทำตามนโยบายโดยที่ทุกฝ่ายไม่ต้องเสียแรงฟรีแต่ได้ภาพเชิงบวกกลับมา  ในที่นี้ จึงขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้และอีกหลาย ๆ เรื่อง ที่อาชีวศึกษาของเรามักจะเป็นผู้เริ่มและผู้ล้าก่อนใครเขา  เราไม่อยากได้ยินเข้าหูบ่อย ๆ  ว่า  คนที่กำหนด เขียน ระเบียบ นโยบาย น้อยคนนักที่ได้ลงปฏิบัติจริง  จะทำอย่างไรทั้งคนที่ปฏิบัติและคนกำหนดเรื่องเหล่านี้ก้าวไปในหนทางเดียวกัน  ซึ่งจะได้คำว่า  เรียนเด่น เน้นคุณภาพ  มาแทน

 

*พิมพร  ศะริจันทร์  ศึกษานิเทศก์  เขียนวันที่ 23 ก.พ. 2552
จากการเข้าร่วมประชุมฯ พัฒนาแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาสำหรับผู้เรียนกลุ่มเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ ระหว่างวันที่ 16-18 ก.พ. 2552 โรงแรมเอเซีย แอร์พอร์ต กทม.
ผู้ที่จะนำบทความ รูปภาพไปตีพิมพ์ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เขียนเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 244544เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2009 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 07:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท