รัฐนิยม


สุนทรพจน์นายกรัฐมนตรี

ส่วนหนึ่งซึ่งกล่าวทางวิทยุกระจายเสียง แด่ประชาชนชาวไทยทั้งมวล
ในอภิลักขิตสมัยแห่งงานเฉลิมฉลองวันชาติและสนธิสัญญา
๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๒


     "อนึ่ง เมื่อได้พูดถึงเรื่องการศึกษากับการรักชาติแล้ว ก็ทำให้รู้สึกว่าคุณธรรมทั้ง ๒ ประการนั้น ยังหาเพียงพอที่จะดลบันดาลให้พี่น้องชาวไทยเกิดคุณสมบัติ เป็นที่นิยมชมชอบอย่างชาติอื่นเขาโดยสมบูรณ์ไม่ ที่จะเรียกว่าสมบูรณ์ได้นั้น จำเป็นจะต้องมีประเพณีนิยมประจำชาติอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลกำลังเตรียมการจะประกาศชักชวนพี่น้องชาวไทยทั้งหลายให้ปฏิบัติตามในวันข้างหน้าเปนครั้งเป็นคราวไปตามโอกาสอันควร 
เราจะเรียกว่า "รัฐนิยม" คือ การปฏิบัติให้เป็นประเพณีนิยมที่ดีประจำชาติ เพื่อให้บุตรหลานอนุชนคนไทยเรายึดถือเป็นหลักปฏิบัติ รัฐนิยมนี้มีลักษณะและละม้ายคล้ายคลึงกับจรรยามรรยาทของอารยชนจะพึงประพฤตินั่นเอง ในรัฐนิยมยังมีพฤตติกรรมเพิ่มพิเศษขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือ "อำนาจมหาชน"

อำนาจมหาชนนั้นแปลรูปมาจากมติมหาชน ซึ่งเราเคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว หมายความว่า การทำสิ่งใดให้ดำเนินตามความเห็นของส่วนมากของชาติ ความเห็นดีเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่นั้น ก่อให่เกิดอำนาจมหาชนขึ้น อำนาจมหาชนนั้น สามารถทำการปรับปรุงหรือปราบปรามกลุ่มชนส่วนน้อยที่ยังว่านอนสอนยาก
ไม่มีเวลาดีขึ้นมาเสมอกับผู้อื่นได้ การปราบปรามคนจำพวกนี้ บางทีก็ไม่อยู่ในข่ายของกฎหมายจะเอื้อมไปถึง เพราะยังไม่มีหลักอันใดมาเป็นกรณีให้ต้องสร้างกฎหมายขึ้นสำหรับเรื่องนั้น ยกตัวอย่างเช่นผู้ชายคนหนึ่งเข้ารังแกผู้หญิงผู้เป็นเพศอ่อนกว่าตนกลางถนนหลวง รัฐนิยมก็มีว่า ผู้ชายคนนั้นควรได้รับโทษจากอำนาจมหาชนให้สมกับความประพฤติผิดอารยชนนั้น หรือเช่นเมื่องานบุปผชาติวันที่ ๓ เดือนนี้ มีบุคคลบางคนที่อ่อนทั้งศีลธรรมและการศึกษา แทนที่จะใช้ดอกไม้หรือลูกปา สายรุ้งขว้างนางบุปผชาติ กลับใช้ก้อนอิฐบ้าง ขยะมูลฝอยข้างถนนบ้าง ของอากูลต่างๆ บ้างนำเข้าไปที่สตรีเพศเป็นต้น การกระทำอย่างนี้ไม่ใช่การกระทำของคนเจริญแล้ว เพราะคนเจริญแล้วไม่รังแกเพศอ่อน และยิ่งในคราวนั้น สุภาพสตรีได้มาทำงานเป็นการช่วยชาติด้วย ก็ยิ่งเป็นการกระทำไม่ดีดั่งว่านั้นเลย

ฉะนั้นเมื่อเรามีรัฐนิยมขึ้น ควจำพวกนี้ก็จะต้องได้รับโทษจากอำนาจมหาชนโดยตรงและโดยทันที เหมือนดั่งเราเคยได้ฟังเรื่องเกิดขึ้นในอารยประเทศบ่อยๆ ว่า คนที่รังแกผู้หญิงก็ถูกราษฎรกลุ่มใหญ่จับตัวมาสำเร็จโทษเสียก็มี และคราวผู้ร้ายเข้าทำการปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดินยูโกสลาเวียในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปีก่อนก็เช่นเดียวกัน อำนาจมหาชนได้เข้าจัดการกับผู้ร้ายคนนั้นเสียก่อนที่กฎหมายบ้านเมืองจะเอื้อมแขนเข้ามาถึง แต่ของไทยเราอาจไม่ทำรุนแรงถึงเช่นนั้น จะเพียงรุมกันว่ากล่าวอย่างแรง หรือหยุดยั้งไม่ให้ฝืนรัฐนิยมของเรา หรือช่วยกันจับตัวส่งเจ้าหน้าที่ก็น่าจะเพียงพอ"

 


ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๑

เรื่อง การใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ

     โดยที่ชื่อของประเทศนี้ มีเรียกกันเป็นสองอย่าง คือ “ไทย” และ “สยาม” แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า “ไทย” รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความ นิยมของประชาชนชาวไทย ดั่งต่อไปนี้

ก. ในภาษาไทย

     ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติให้ใช้ว่า “ไทย”

ข. ในภาษาอังกฤษ

     ๑. ชื่อประเทศ ให้ใช้ว่า THAILAND

     ๒.ชื่อประชาชน และสัญชาติให้ใช้ว่า THAI

     แต่ทั้งนี้ ไม่กะทบถึงกรณีที่มีบทกฎหมายบัญญัติคำว่า “สยาม” ไว้ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ เป็นต้นไป

     ประกาศมา ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๒

เรื่อง การป้องกันภัยที่จะบังเกิดแก่ชาติ

     ด้วยรัฐบาลพิจารณาเห็นว่า ชาติไทยต้องเป็นที่เทอดทูลของชาวไทยอย่างสูงสุดเหนือสิ่งใดๆ การป้องกันรักษาชาติย่อมเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ร่วมชาติกันจักต้อง ป้องกันอันตรายหรือความเสื่อมโทรมของชาติที่อาจมีมาด้วยประการต่าง ๆ จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดั่งต่อไปนี้

     ๑. ชนชาติไทยต้องไม่ประกอบกิจการใด ๆ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์และความปลอดภัยของชาติ

     ๒. ชนชาติไทยต้องไม่เปิดเผยสิ่งซึ่งอาจเป็นผลเสียหายแก่ชาติให้ชนต่างชาติล่วงรู้เลยเป็นอันขาด การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ

     ๓. ชนชาติไทยต้องไม่ทำตนเป็นตัวแทนหรือเป็นปากเสียงของต่างชาติ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติไทย ต้องไม่ออกเสียงหรือแสดงตนเข้าข้างต่างชาติในกรณีที่เป็นปัญหาระหว่างชาติ การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ

     ๔. ชนชาติไทยต้องไม่แอบอ้าง ซื้อขายที่ดินแทนชนต่างชาติ ในทางที่เป็นภัยแก่ชาติ การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ

     ๕. เมื่อปรากฏว่า มีผู้หนึ่งผู้ใดทรยศต่อชาติ เป็นหน้าที่ของชาวไทยต้องเอาใจใส่รีบระงับเหตุนั้น

     ประกาศมา ณ วันที่ ๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๓

เรื่อง การเรียกชื่อชาวไทย

     ด้วยรัฐบาลเห็นว่า การเรียกชาวไทยบางส่วนไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียกก็ดี การเรียกชื่อแบ่งแยกคนไทยออกเป็นหลายพวกหลายเหล่า เช่นไทยเหนือ ไทยอิสาณ ไทยใต้ ไทยอิสลามก็ดี ก็ไม่สมควรแก่สภาพของประเทศไทย ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้

     จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้

     ๑. ให้เลิกการเรียกชาวไทย โดยใช้ชื่อที่ไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียก

     ๒. ให้ใช้คำว่า “ไทย” แก่ชาวไทยทั้งมวลไม่แบ่งแยก

     ประกาศมา ณ วันที่ ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๔

เรื่อง การเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี

     ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นสิ่งสำคัญประจำชาติ พึงได้รับความเชิดชูเคารพของชาวไทยทั้งมวล จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้

     ๑. เมื่อได้เห็นการชักธงชาติขึ้น หรือลง จากเสาประจำสถานที่ราชการตามเวลาปกติ หรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยวหรือนกหวีดเป่าคำนับ หรือให้อาณัติสัญญาณการชักธงชาติขึ้นหรือลดธงลง ให้แสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

     ๒. เมื่อได้เห็นธงชัยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ ซึ่งทางราชการเชิญผ่านมา หรืออยู่กับที่ประจำแถวทหาร หรือหน่วยยุวชน หรือลูกเสือ ให้แสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

     ๓. เมื่อได้ยินเพลงชาติ ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในงานพิธีอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงาน หรือที่อยู่ในวงงานนั้น แสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

     ๔. เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในโรงมหรสพ หรือในงานสโมสรใด ๆ ก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงานหรือที่อยู่ในวงงานหรือในโรงมหรสพนั้น แสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

     ๕. เมื่อได้เห็นผู้ใดไม่แสดงความเคารพดั่งกล่าวในข้อ ๑ – ๒ – ๓ และ ๔ นั้น พึงช่วยกันตักเตือนชี้แจงให้เห็นความสำคัญแห่งการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี

ประกาศมา ณ วันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี


ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๕

เรื่อง ให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย

     เนื่องด้วยสถานะการณ์ของโลกอยู่ในสภาพสงคราม ทุกประเทศทั้งที่เป็นคู่สงครามและเป็นกลาง จำต้องสนับสนุนการเกษตร พาณิชย์และอุตสาหกรรมของชาติเป็นพิเศษ คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ถึงเวลาจำเป็นที่จะต้องชักชวนชาวไทยให้กระทำเช่นนั้น จึ่งได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้

     ๑. ชาวไทยพึงพยายามบริโภคแต่อาหารอันปรุงจากสิ่งซึ่งมีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย

     ๒. ชาวไทยพึงพยายามใช้เครื่องแต่งกายด้วยวัตถุที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย

     ๓. ชาวไทยพึงช่วยกันสนับสนุนงานอาชีพ การเกษตร พาณิชย์ อุตสาหกรรม และวิชาชีพ ของชาวไทยด้วยกัน

     ๔. กิจการสาธารณูปโภคอันใด ที่รัฐบาลหรือชาวไทยจัดให้มีขึ้นแล้ว ชาวไทยพึงพยายามใช้และสนับสนุน

     ๕. ชาวไทยผู้ประกอบการเกษตร พาณิชย์ อุตสาหกรรม งานอาชีพ หรือวิชาชีพ อันได้รับการสนับสนุนโดยรัฐนิยมฉะบับนี้ ต้องพยายามรักษามาตรฐานปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น และดำเนินกิจการนั้นๆ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตทุกประการ

     ประกาศมา ณ วันที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
คำสำคัญ (Tags): #รัฐนิยม
หมายเลขบันทึก: 245647เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2009 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

เมื่อได้ยินเพลงชาติ ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในงานพิธีอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงาน หรือที่อยู่ในวงงานนั้น แสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

-------------------------------------------

เมื่อได้เห็นผู้ใดไม่แสดงความเคารพดั่งกล่าวในข้อ ๑ – ๒ – ๓ และ ๔ นั้น พึงช่วยกันตักเตือนชี้แจงให้เห็นความสำคัญแห่งการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี

-------------------------------------------

อ่อ แบบนี้นี่เอง ^^

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๖

เรื่อง ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ

     ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ ซึ่งได้ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ นั้น ทำนองเพลงเป็นที่นิยมแพร่หลายตามสมควรแล้ว แต่เนื้อร้องจะต้องมีใหม่ เพราะชื่อประกาศได้เรียกว่าประเทศไทยแล้ว จึ่งได้ประกาศให้ประชาชนเข้าประกวดแต่งมาใหม่ บัดนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกเนื้อร้องบางบทเสนอให้คณะรัฐมนตรีวินิจฉัย คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาพิจารณาแล้ว ลงมติพร้อมกันตกลงตามบทเพลงของกองทัพบกโดยแก้ไขเล็กน้อย

     จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้

     ๑.ทำนองเพลงชาติ ให้ใช้ทำนองเพลงของพระเจนดุริยางค์ตามแบบที่มีอยู่ ณ กรมศิลปากร

     ๒. เนื้อร้องเพลงชาติ ให้ใช้บทเพลงของกองทัพบก ดั่งต่อไปนี้

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย

     ประกาศมา ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

-------------------------------------------------------

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๗

เรื่อง ชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ

     โดยที่รัฐบาลพิจารณาเห็นว่า การที่ชาติของเราจะเจริญก้าวหน้าสมความปรารถนาอันดีได้ ย่อมอยู่ที่ข้าราชการจะต้องช่วยกันทำงานตามหน้าที่อย่างเข้มแข็ง และใฝ่ใจทุกวิถีทางที่จะช่วยสนับสนุนพี่น้องชาวไทยให้มีทางประกอบอาชีพ โดยหวังให้ฐานะของคนทุกคนดีขึ้นเป็นลำดับ

     อนึ่ง งานสร้างชาติเป็นงานที่ใหญ่ยิ่ง ต้องช่วยกันอย่างพร้อมเพรียง ถ้าพี่น้องชาวไทยทุกคนพยายามแสวงหาอาชีพอันสุจริตสำหรับตนเองและครอบครัวโดย ไม่เลือกงาน ประกอบการงานของตนให้มีรายได้พอที่จะทำนุบำรุงครอบครัวของตนให้รุ่งเรือง ยิ่งขึ้น ก็ย่อมจะทำให้ชาติของเราเจริญรวดเร็วโดยมิต้องสงสัย การที่พี่น้องชาวไทยช่วยกันทำงานเช่นนี้ ย่อมได้ชื่อว่าร่วมกันสร้างชาติ คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้

     “ชาวไทยทุกคนต้องร่วมกันสร้างชาติ โดยทุกคนซึ่งมีกำลังกายดีต้องทำงานประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง ผู้ไม่ประกอบอาชีพเป็นหลักฐาน นับว่าเป็นผู้ไม่ช่วยชาติ และไม่ควรได้รับความนับถือของชาวไทยทั่วไป”


      ประกาศมา ณ วันที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

----------------------------------------------

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๘

เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี

     โดยเหตุที่ได้บัญญัติให้เรียกชื่อประเทศว่าประเทศไทย รัฐบาลจึงเห็นสมควรแก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมี มิให้มีคำว่า สยาม และตัดทอนข้อความและทำนองให้กระทัดรัดเหมาะสมยิ่งขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยม แก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบพิศดาร ให้มีข้อความดั่งต่อไปนี้

ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล บรมกษัตริย์ไทย
ขอบันดาล ธประสงค์ใด
จงสิทธิดั่ง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายไชย ชโย

     ส่วนทำนองเพลงแบบสังเขปนั้นให้คงไว้ตามเดิม

     ประกาศมา ณ วันที่ ๒๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

--------------------------------------------

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๙

เรื่อง ภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี

     ด้วยรัฐบาลพิจารณาเห็นว่า การที่ชาติไทยจะดำรงถาวรและเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปนั้น ย่อมต้องใช้ภาษาและหนังสือของชาติเป็นส่วนประกอบอันสำคัญ คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศรัฐนิยมไว้ดั่งต่อไปนี้

     ๑. ชนชาติไทย จะต้องยกย่อง เคารพ และนับถือภาษาไทย และต้องรู้สึกเป็นเกียรติยศในการพูดหรือใช้ภาษาไทย

     ๒. ชนชาติไทย จะต้องถือว่า หน้าที่ของพลเมืองไทยที่ดีประการที่หนึ่งนั้น คือ ศึกษาให้รู้หนังสือไทยอันเป็นภาษาของชาติ อย่างน้อยต้องให้อ่านออกเขียนได้ ประการที่สอง ชนชาติไทยจะต้องถือเป็นหน้าที่อันสำคัญในการช่วยเหลือสนับสนุนแนะนำชักจูง ให้พลเมืองที่ยังไม่รู้ภาษาไทย หรือยังไม่รู้หนังสือไทย ให้ได้รู้ภาษาไทย หรือให้รู้หนังสือไทยจนอ่านออกเขียนได้

     ๓. ชนชาติไทย จะต้องไม่ถือเอาสถานที่กำเนิด ภูมิลำเนาที่อยู่หรือสำเนียงแห่งภาษาพูดที่แปร่งไปตามท้องถิ่นเป็นเครื่อง แสดงความแตกแยกกัน ทุกคนต้องถือว่า เมื่อเกิดมาเป็นชนชาติไทย ก็มีเลือดไทยและพูดภาษาไทยอย่างเดียวกัน ไม่มีความแตกต่างกันในการกำเนิดต่างท้องที่หรือพูดภาษาไทยด้วยสำเนียงต่าง ๆ กัน

     ๔. ชนชาติไทย จะต้องถือเป็นหน้าที่ในการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีแห่งชาติ ช่วยแนะนำชักชวนกันสั่งสอนผู้ที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจหน้าที่พลเมืองดีของชาติ ให้ได้รู้ได้เข้าใจในหน้าที่พลเมืองดีแห่งชาติไทย

     ประกาศมา ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

------------------------------------------

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๑๐

เรื่องการแต่งกายของประชาชนชาวไทย

     ด้วยรัฐบาลได้สังเกตเห็นว่า การแต่งกายของประชาชนชาวไทยในสาธารณสถานหรือที่ชุมนุมชน ยังไม่สุภาพเรียบร้อยสมกับวัฒนธรรมของชาติไทย

     คณะรัฐมนตรีจึ่งได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดั่งต่อไปนี้

     ๑. ชนชาติไทยไม่พึงปรากฏตัวในที่ชุมนุมชน หรือสาธารณสถาน ในเขตต์เทศบาล โดยไม่แต่งกายให้เรียบร้อย เช่น นุ่งแต่กางเกงชั้นใน หรือไม่สวมเสื้อ หรือนุ่งผ้าลอยชายเป็นต้น

     ๒. การแต่งกายที่ถือว่าเรียบร้อยสำหรับประชาชนชาวไทย มีดั่งต่อไปนี้

ก. แต่งเครื่องแบบตามสิทธิและโอกาสที่จะแต่งได้
ข. แต่งตามแบบสากลนิยมในทำนองที่สุภาพ
ค. แต่งตามประเพณีนิยมในทำนองที่สุภาพ

     ประกาศมา ณ วันที่ ๑๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

----------------------------------

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๑๑

เรื่อง กิจประจำวันของคนไทย

     ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า การรู้จักปฏิบัติกิจประจำวันเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวแก่การผะดุง ส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติ อันจะเป็นผลให้ประชาชนพบเมืองไทยทั่วไปมีสุขภาพแข็งแรงมั่นคง เป็นกำลังของชาติสืบไป คณะรัฐมนตรีจึ่งได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดั่งต่อไปนี้

     ๑. ชนชาติไทยพึงแบ่งเวลาในวันหนึ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ปฏิบัติงานที่เป็นอาชีพส่วนหนึ่ง ปฏิบัติกิจส่วนตัวส่วนหนึ่ง และพักผ่อนหลับนอนอีกส่วนหนึ่ง ให้เป็นระเบียบและมีกำหนดเวลาอันเหมาะสมจนเกิดเป็นนิสสัย

     ๒. ชนชาติไทยพึงปฏิบัติกิจประจำวันตามปกติดั่งต่อไปนี้

        ก. บริโภคอาหารให้ตรงตามเวลาไม่เกิน ๔ มื้อ

        ข. นอนประมาณระหว่าง ๖ ถึง ๘ ชั่วโมง

     ชนชาติไทยพึงตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ประกอบกิจการงานของตนโดยไม่ท้อถอย และหลีกเลี่ยง กับควรหยุดเพื่อรับประทานอาการและพักกลางวันไม่เกิน ๑ ชั่วโมง เมื่อพ้นกำหนดเวลาทำงานเวลาเย็น ควรออกกำลังกายโดยเล่นกิฬากลางแจ้งวันหนึ่งอย่างน้อย ๑ ชั่วโมง หรือประกอบงานอื่น เช่น ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ หรือปลูกต้นไม้ เป็นต้น เมื่อชำระล้างร่างกายแล้ว รับประทานอาหาร

     ๓. ชนชาติไทยพึงใช้เวลาว่างเวลากลางคืน ทำการงานอันจำเป็นที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จ หรือสนทนาปราศัยกับบุคคลในครอบครัว มิตรสหาย ศึกษาหาความรู้โดยการฟังข่าวทางวิทยุกระจายเสียง อ่านหนังสือ หรือในการมหรสพ หรือศิลปกรรม แล้วแต่โอกาส

     ๔. ชนชาติไทยพึงใช้เวลาในวันหยุดงาน ให้เป็นประโยชน์แก่ร่างกายและจิตต์ใจ เช่นประกอบกิจในทางสาสนา ฟังเทศน์ ทำบุญ ศึกษาหาความรู้ ท่องเที่ยว เล่นกิฬา หรือพักผ่อนเป็นต้น.

     ประกาศมา ณ วันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๔

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

---------------------------------------

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๑๒

เรื่อง การช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก คนชราหรือคนทุพพลภาพ

     ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ในการอยู่ร่วมกันแห่งชุมนุมชนนั้น ความมีใจเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในเยาว์วัย คนชราหรือคนทุพพลภาพ เป็นวัฒนธรรมอันหนึ่งซึ่งบุคคลจักต้องปฏิบัติ

     คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดังต่อไปนี้

     ๑. ในที่สาธารณสถานหรือในถนนหลวง ให้บุคคลทำการช่วยเหลือคุ้มครองโดยลักษณะที่จะยังความปลอดภัยให้แก่เด็ก คนชราหรือคนทุพพลภาพในการสัญจรไปมา หรือในการหลบหลีกภยันตราย

     ๒. ผู้ใดสามารถกระทำการช่วยเหลือคุ้มครองดังกล่าวในข้อ ๑ ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้มีวัฒนธรรม ควรได้รับความนับถือของชาวไทย

     ประกาศมา ณ วันที่ ๒๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๕

จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

น้อง suksom

มาเร็วจัง

พื้นที่ไม่พอ เลยต้องมาเขียนเพิ่ม

ไม่อยากทำเป็นสองตอน แบบว่าจบในภาคเดียวกัน อิๆ

ทั้งหมดมี 12 ฉบับครับ

หาอ่านยาก เลยนำมาลงให้ได้ดูกันเล่นๆ เพราะเคยเห็นอ้างผิดๆ ถูกๆ บ้างก็ว่ามันยาวเหลือเกิน ความจริงไม่ยาวเลย ฉบับหนึ่งไม่กี่บรรทัดเท่านั้นเอง ลองศึกษาดูนะครับ

 

ความเป็นดังนั้น

ได้อ่านเรื่องชาติมาบ้างจากหนังสือ "ชาติไทย, เมืองไทย,แบบเรียนและอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก" เขียนโดย ท่านอาจารย์ นิธิ เอี่ยวศรวงศ์

ก็ได้ทราบว่า การเป็นชาติ การรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยนั้น เป็นไปอย่างยากเพียงใด

ก็ทำให้สะท้อนใจว่า ทำไม "เราเคารพนับถือทุกคนไปหมด นอกเสียจากคนไทยด้วยกัน" (จากวจีของ  แม่มณี ในเรื่อง "ทวิภพ")

เพิ่งมีโอกาสได้เห็น ขอบพระคุณ  อยากเห็น กฎ ประกาศ ระบียบสั่งต่างๆ ศักดิ์สิทธิ์......อิอิ.อิ  ไม่ใช่แค่แผ่นกระดาษไว้พับถุง   

Img_2628

ขอบคุณครับ

ชอบอันนี้ครับ เพื่อสุขภาพความแข็งแรงทั้งร่างกายจิตใจ

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๑๑

เรื่อง กิจประจำวันของคนไทย

สวัสดีค่ะ

  • เป็นความน่ารู้
  • ขออนุญาตพิมพ์ออกไปให้เด็ก ๆอ่านนะคะ
  • ขอขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ

อ.แฟรงค์เรื่องบางเรื่องก็ซับซ้อน แต่ทุกอย่างมีเหตุมีผลครับ การสร้างชาติยุคนั้นมีวิธีการมากมาย และสถานการณ์ต่างๆ ก็บีบบังคับมาก เข้าใจว่ามีความยุ่งยากไม่น้อยเลยสำหรับผู้นำในเวลานั้น

ท่าน นายประจักษ์~natadeeคงใช้เวลาอีกสัก 50 ปีเป็นอย่างน้อยนะครับ กว่าความศักดิ์สิทธิ์จะปรากฏถ้วนทั่ว ตราบใดที่คนรวยยังทำอะไรก็ได้ คนจนลักเล็กขโมยน้อยก็เข้าคุก คนรวยขับรถชนคนตายไม่เคยเข้าคุกสักคน

น้อง ♥.paula ที่ปรึกษาตัวน้อยแต่~natadee✿ขอบคุณครับ สนุกดีนะ อ่านเรื่องเก่าๆ

อ.พันคำ รัฐนิยมฉะบับที่ ๑๒ มีเอาไปอ้างกันผิดๆ ถูกๆ  บ้างก็บอกว่ารัฐบาลบังคับให้กินข้าววันละ 5 มื้อ, บ้างก็เสียดสี หาว่ารัฐบาลให้เอาเวลาว่างไปดูการมหรสพ ความจริงเป็นอย่างไรปรากฏในประกาศที่ยกมาแล้ว

คุณครูคิม ขอบคุณครับ อาจจะเพิ่มเติมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อีกเล็กน้อย ประเดี๋ยวนักเรียนจะงง ว่าอยู่ๆ ก็มีรัฐนิยมมาทำไม คำปรารภข้างต้นค่อนข้างสำคัญเหมือนกันครับ

สวัสดีค่ะ

แวะมาเพิ่มเติมความรู้ค่ะ....นี่เองคือ เบื้องหลังของ "รัฐนิยม"

ขอบคุณค่ะ

(^___^)

สวัสดีค่ะ

ได้ความรู้เพิ่มอีกเยอะมากค่ะ

ขออนุญาตนำไปใช้บอกเล่าต่อเมื่อมีโอกาสนะคะ

ขอบคุณค่ะ

หากไม่เข้ามาอ่านตรงนี้ก็ยังเข้าใจผิดว่าจอมพลป.ท่านนิยมของนอก

แท้จริงก็มีประกาศนี้ด้วย

 

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๕

เรื่อง ให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย

 

ขอบคุณค่ะที่นำสิ่งดีงามมาฝาก  ขอให้โชคดี มีความสุขมากๆนะคะ

อยากทราบค่ะว่าเอาประกาศเหล่านี้มาจากที่ไหน

พอดีว่าต้องทำรายงานเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

และต้องใช้เอกสารชั้นต้น

ช่วยบอกด้วยนะคะ

สวัสดีครับ คุณคนไม่มีราก พี่ ศน.อ้วน คุณ krutoi

หลายคนคงลืมๆ ไปแ้ล้ว เพราะนานหนักหนา ผมรู้จักรัฐนิยมครั้งแรก จากเ่รื่องสามเกลอ ของ ป. อินทรปาลิต เขาเล่าไว้หลายตอน สนุกดีครับ

สวัสดีครับ คุณอารี

ประกาศนี้รวมอยู่ในหนังสือ "ประมวลรัฐนิยม" ค้นได้จากหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครับ

จ๊ะเอ๋อาจารย์พี่ชาย

     ไม่ได้คุยกันตั้งนาน คิดถึงๆๆๆๆๆ

     อาจารย์พี่ชายสบายดีไหมคะ...^__^...

    

 

สวัสดีค่ะP...เห็นด้วย นะคะ 

      "คงใช้เวลาอีกสัก 50 ปีเป็นอย่างน้อยนะครับ กว่าความศักดิ์สิทธิ์จะปรากฏถ้วนทั่ว ตราบใดที่คนรวยยังทำอะไรก็ได้ คนจนลักเล็กขโมยน้อยก็เข้าคุก คนรวยขับรถชนคนตายไม่เคยเข้าคุกสักคน"

 อ.แฟรงค์ ที่แม่มณีว่า

   "เราเคารพนับถือทุกคนไปหมด นอกเสียจากคนไทยด้วยกัน"

                               ใช่เลยเห็นด้วยแม่มณี.

  •  เอ!...รึว่าคนไทยสูญเสียเอกราชนานแล้ว???

                              



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท