นักเรียนประถมปีที่ 3 รณรงค์ลดภาวะโลกร้อน


วันนี้คุณปิดไฟหรือยังคะ

 

รณรงค์ลดภาวะโลกร้อนในชั่วโมงวิทยาศาสตร์

      คุณครูนลินี โพธิติ ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ได้มาเชิญให้ไปเป็นกำลังใจแก่นักเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ลดภาวะโลกร้อนที่เวทีโดมช่วงบ่ายของวันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 โดยนักเรียนเตรียมป้ายคำขวัญรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ซึ่งให้นักเรียนไปช่วยกันคิดมาเป็นกลุ่มเพื่อนำมาให้ตัวแทนกลุ่มถือเดินออกมาหน้าเวทีด้านละคนสลับกันซ้าย ขวา แล้วเดินกลับไปยืนเป็นแถวด้านหลังพร้อมชูป้ายคำขวัญไว้จนถึงคนสุดท้าย เหมือนกับการเดินประกวดนางงามยังไงยังงั้น นักเรียนที่ดูอยู่ข้างล่างก็อ่านข้อความพร้อมกันดังๆ  หวังว่าสิ่งที่ได้อ่านจะได้จดจำ ซึมซับไปใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นภาคปฏิบัติจริง ถ้าจะขยายผลไปสู่บุคคลรอบข้างด้วยก็จะเป็นบุญกุศลอีกต่างหาก นับว่าเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่ายิ่ง ขออนโมทนาครับ

หมายเลขบันทึก: 245733เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2009 20:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ  คุณสุรสิทธิ์

น่ารักมากค่ะ  กับกิจกรรม......
"รณรงค์ลดภาวะโลกร้อน"
ของเด็กตัวน้อยๆ....

สิ่งที่ดีที่งามหากปลูกฝังให้
เกิดกับเด็กๆตั้งแต่ยังเล็ก...
อนาคตของชาติ...สดใส...แน่นอนค่ะ
.

สวัสดีค่ะ อ.สุรสิทธิ์

กลัวพิมพ์ชื่อ อ.ผิดค่ะ

การรงณรงค์ลดโลกร่วมดีค่ะ เด็กช่วยกันทำกิจกรรม จะได้เอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเด็กรู้ และเข้าใจเรืองภาวะโลกร้อนมากขึ้นค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณครู สุรสิทธิ์

น้องเพ้ยขอมาเรียนรู้โลกกว้างด้วยนะค่ะ น้องเพ้ยอยากเป็นเด็กที่มีความสามารถคนหนึ่งค่ะ ตามจริงหนูก็ไม่อยากเรียนทางคอมพิวเตอร์หรอกค่ะ แต่หนูเห็นม่ามี้เขาเรียนทางคอมพิวเตอร์อย่างมีความสุข หนูเลยขอให้ม่ามี้สอนหนูสมัค gotoknow ค่ะ

หนูอ่านบทความของ คุณครู สุรสิทธิ์ หนูก็จะเอาเรื่องที่ คุณครู          สุรสิทธิ์ เขียนบทความ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน นะค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณครู สุรสิทธิ์ หนูไม่รู้จะเรียกว่าอะไร งั้นหนูขอเรียก คูณครู สุรสิทธิ์ ล่ะกันนะค่ะ จริงๆ หนูเก่งภาษาอังกฤษได้ก็เพราะ คูณครู พูนสุข โอ่เอี่ยม หรือ ม่ามี๊ ของหนูนั้นเอง หนูก็ขอยกความดีให้กับม่ามี๊ด้วยนะค่ะ ที่สอนให้หนูได้เก่งภาษาอังกฤษมาจนถึงทุกวันนี้เลยนะค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ตามน้องเพ้ยมาค่ะ

ขอบคุณคุณครูสุรสิทธิ์ค่ะ

น้องเพ้ยเป็นเด็กที่มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้มากค่ะ

ฝากเด็กน้อยด้วยนะคะ

       สวัสดีและขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณามาเยี่ยมครับผมอ่านคำพยากรณ์ของดร.อาจอง ก็น่าเป็นห่วงประเทศไทยของเรา ท่านทำนายว่าหิมะจะตกในประเทศไทยของเรา เชื่อหรือไม่ลองอ่านดูนะครับ

ดร.อาจอง เผยหิมะตก ในประเทศไทย ม.ค. ปีหน้า

 หิมะตก


อาจอง พยากรณ์หิมะตกไทยต้นมกราคมปีหน้า เตือนกาญจน์ระวังเขื่อนแตก 

          เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา อดีตนักวิทยาศาสตร์นาซา และผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาวะโลกร้อนเปิดเผยถึงความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศของประเทศ ที่ส่งสัญญาณมาทางพายุหมุนทอร์นาโดขนาดเล็ก ณ บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และพัทยา ว่า ปกติแล้วพายุทอร์นาโดมีให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดาในต่างประเทศ แต่ประเทศไทยไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสาเหตุมาจากอุณหภูมิสูงขึ้น และขณะนี้ทั่วโลกอุณหภูมิสูงขึ้นเกือบ 1 องศาแล้ว แม้ภาพรวมจะไม่เห็นชัดเจนนัก แต่ที่ผ่านมาก็ส่งผลให้ประชากรในยุโรปเสียชีวิตแล้ว 20,000 คน จากความร้อนที่สูงขึ้นมีผลกระทบโดยตรง ประเทศที่อยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเยอะ ที่ผ่านมามีหิมะตกครั้งแรกในเวียดนาม เคนยา และมีความเป็นไปได้ที่ในเดือนมกราคม 2552 นี้จะมีหิมะตกในภาคเหนือของประเทศไทย 

          ดร.อาจอง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ภาวะโลกร้อนยังส่งผลให้ภาวะน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ละลายเร็วกว่าที่คิด ขณะนี้มีก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่เท่ากับเมืองนิวยอร์กไหลสู่ทะเล หมายความว่าน้ำในทะเลจะค่อยๆ กินชายฝั่งทะเลบ้านเราไปเรื่อย ตอนนี้เราสูญเสียแผ่นดิน 1 กิโลเมตร ที่ชายทะเลบางขุนเทียน และทั่วโลกเจอปัญหาเดียวกัน โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาออกมาพูดแล้วว่าต่อไปเมืองไมอามี่ ซึ่งเป็นเมืองติดทะเลจะไม่เหลือ
ทั้งนี้กรุงเทพฯ สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่ถึง 1 เมตร เมื่อระดับน้ำทะเลขึ้นมาเกินกว่า 1 เมตร กรุงเทพฯ พร้อมกับจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และลพบุรี ครึ่งจังหวัดจะจมอยู่ใต้น้ำ และนั่นหมายความว่าพื้นที่ผลิตข้าวในภาคกลางจะหมด ราคาข้าวในตลาดโลกจะสูงเป็นประวัติการณ์ เพราะแหล่งปลูกข้าวในภาคกลางเลี้ยงคนเกือบทั้งโลก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของแผนที่นาซาว่า ภายใน 30 ปี น้ำทะเลจะสูงขึ้น 6 เมตร 

          ดร.อาจอง กล่าวอีกว่า เพื่อรับมือกับปัญหานี้จำเป็นต้องย้ายเมืองหลวงตั้งแต่เดี๋ยวนี้เพราะต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ในการย้ายเมือง และภายใน 6 ปีจะเริ่มเห็นระดับน้ำทะเลสูงขึ้นในระดับท่วมขังแล้ว จะสูบออกได้ยาก นอกจากสร้างเขื่อนกั้นน้ำเหมือนกับประเทศเนเธอร์แลนด์ จะป้องกันได้ แต่ล่าสุดตนไปประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อเดือนที่แล้ว เขาบอกว่าจะรับไม่ไหวแล้วเพราะระดับน้ำทะเลสูงขึ้น การสูบน้ำออกจากเขื่อนทำได้ลำบาก สถาปนิกของประเทศเริ่มออกแบบบ้านอยู่บนแพกันแล้ว อย่างไรก็ตาม การย้ายเมืองใหม่อันดับแรกต้องย้ายรัฐสภาไปก่อน เพราะเป็นศูนย์กลางของเมืองใหม่ เมื่อย้ายไปหน่วยราชการต่าง ๆ จะตามไป จุดเหมาะสมที่จะย้ายเมืองหลวงคือ อีสานตอนใต้ ขณะที่ภาคใต้จะเจอพายุรุนแรงมากขึ้น จะเกิดสตอม เซอจมาถึงกรุงเทพฯ อย่างที่ ดร.สมิทธ บอกไว้ ส่วนภาคตะวันตกจะมีพายุไซโคลนเข้ามา โชคดีที่ผ่านมาพายุนาร์กีสเข้าไปที่พม่ายังมาไม่ถึง ประเทศไทย 

          อดีตนักวิทยาศาสตร์นาซา กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ตนเคยเตือนแล้วว่าเขื่อนใหญ่ 2 เขื่อน ในจังหวัดกาญจนบุรี อยู่ใต้รอยร้าวของเปลือกโลก แต่วิศวกรแย้งว่าได้ออกแบบการก่อสร้างเขื่อนให้ทนต่อแผ่นดินไหวได้ 8 ริคเตอร์ แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง อย่างไรก็ตาม ถ้าเอาเขื่อนมาเขย่าในความแรง 8 ริคเตอร์ เขื่อนก็สามารถทนได้ แต่ถ้ารอยร้าวเคลื่อนที่สลับกันจะทำให้เขื่อนแตก และน้ำจะไหลลงมาท่วมจังหวัดกาญจนบุรี ที่อยู่ใต้เขื่อน และจะทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รัฐบาลต้องให้นักธรณีวิทยาไปศึกษาดู เบื้องต้นต้องรีบปล่อยน้ำออกจากเขื่อนให้เหลือน้อยลง แม้ว่าเขื่อนแห่งนี้จะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญของพื้นที่ภาคกลางก็ตามที จำเป็นต้องเสียสละไฟฟ้าเพื่อช่วยชีวิตมนุษย์ และต่อไปการสร้างบ้าน สร้างอาคารในแนวที่มีรอยร้าวแผ่นดินไหวไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ กรุงเทพฯ อีสานตอนเหนือ ต้องออกฎหมายรับรอง การทนทานต่อแผ่นดินไหวอย่างน้อย 6 ริคเตอร์ 

          ส่วน นายศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงศ์ อธิบดี กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงกรณีที่มีผู้กล่าวว่าในช่วงเดือนมกราคม 2552 จะมีหิมะตกในประเทศไทย ว่า การที่จะมีหิมะตกหรือไม่ขึ้นอยู่กับมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่แผ่เข้าปกคลุมในประเทศไทยช่วงนั้นว่ามีความหนาวเย็นมากแค่ไหน โดยต้องดูเรื่องระดับความสูงของพื้นที่ในไทยด้วย ซึ่งโดยรวมคิดว่าน่าจะเกิดแม่คะนิ้งตามภูเขาและดอยในเชียงใหม่ และเชียงรายมากกว่า ไม่ใช่หิมะ 

          ขณะที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ ม.รังสิต กล่าวว่า เรื่องที่จะเกิดหิมะตกในเมืองไทยถือเป็นเรื่องที่ไกลตัวและมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก เนื่องจากลักษณะภูมิศาสตร์ของประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตอากาศร้อนชื้นและไม่ได้อยู่ติดกับประเทศจีนเหมือนพื้นที่ภาคเหนือของเวียดนาม ที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้การเกิดหิมะตกอุณหภูมิต้องติดลบ แต่ลักษณะภูมิอากาศของไทยยังไม่ถึงขั้นติดลบ โอกาสที่จะเกิดหิมะตกจึงเป็นไปได้ยาก คงมีแต่โอกาสที่จะเกิดลูกเห็บตกและเกิดแม่คะนิ้งบน ดอยสูงมากกว่า 

          "สำหรับในเรื่องอีก 30 ปี จะเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ เรื่องนี้มีโอกาสเป็นไปได้สูง หากดูจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2538 ซึ่งหากมีปริมาณฝนตกหนักเหมือนปี 2538 ประกอบกับแผ่นดินที่ทรุดตัวลงทุกๆ ปี รวมกับน้ำเหนือที่ไหลลงมา และเกิดน้ำทะเลหนุนขึ้น หากปัจจัยต่างๆ เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ก็อาจจะใช้เวลาไม่ถึง 30 ปี โดยพื้นที่ที่จะเกิดน้ำท่วมก่อนคือจังหวัดสมุทรปราการ แต่การท่วมจะเป็นไปในลักษณะเหมือนน้ำขึ้น-น้ำลงตามระดับ จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหาทางรับมือตั้งแต่ตอนนี้เพื่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายน้อยที่สุด" รศ.ดร.เสรี กล่าว



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจากมติชนออนไลน์ 
  

                 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท