หลักการและเหตุผลในการเขียนวิทยานิพนธ์ครั้งนี้


เรื่องนี้ผมใช้เวลาเขียนนานมากครับ เพราะมีคนบอกว่าผมไม่มีหลักการและเหตุผลเลยเขียนได้ช้า เหอๆ...

          ด้วยในโลกยุคปัจจุบันที่มีการติดต่อค้าขายกันในระหว่างประเทศ พรมแดนจึงเป็นเพียงเส้นแบ่งอาณาเขตซึ่งมิอาจกั้นทุนต่างชาติที่ไหลหลั่งข้ามพรมแดนกันไปมาในภาวะปัจจุบันได้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก สังคมโลกจึงต้องปรับตัวเพื่อตอบรับกับสถานการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าในระดับรัฐต่อรัฐหรือภูมิภาคต่อภูมิภาคล้วนมีการเจรจาเพื่อให้สนองตอบภาะวการขยายตัวนั้นโดยอาศัยวิถีทางการเจรจาเพื่อร่วมสร้างเขตการค้าเสรีขึ้น ประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศในสังคมโลกที่ไม่ปิดกั้นตัวเองยอมรับทุนจากต่างชาติ เพื่อให้เข้ามาลงทุน ทั้งยังยอมรับและส่งเสริมสนับสนุนเอกชนของตนให้เข้าไปลงทุนในรัฐอื่นๆด้วย

            บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันกันดีในชื่อของ ซีพีเอฟ หรือ ซีพี ก็เป็นเอกชนไทยรายหนึ่งที่นอกจากจะประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรเสียส่วนใหญ่ในประเทศไทยแล้ว ยังได้ขยายกิจการออกไปจัดตั้งธุรกิจของตนในต่างประเทศ กล่าวคือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ซีพีเอฟ ได้เข้าไปจัดตั้งบริษัทย่อยในต่างประเทศ เช่นประเทศจีน และกลุ่มประเทศในแถบยุโรป[1] รวมถึงบริษัท ซี.พี.(ลาว) จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2549[2]

            จริงอยู่แม้ว่าบริษัท ซี.พี.(ลาว) จำกัดจะได้จดทะเบียนก่อตั้งตามกฎหมายภายในของสปป.ลาว แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธถึงความสัมพันธ์ที่บริษัท ซี.พี.(ลาว) จำกัดมีอยู่กับ ซีพีเอฟ หรือบริษัทอื่นๆในกลุ่มบริษัทของเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวคือ บริษัท ซี.พี.(ลาว) จำกัดนั้น ซีพีเอฟ ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ถึงร้อยละ 99.61%[3] กรณีข้อเท็จจริงซึ่งปรากฏข้างต้นนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นภาพของการบริหารจัดการองค์กรได้ว่าการตัดสินใจในสิ่งอันเป็นสาระสำคัญของบริษัท ซี.พี.(ลาว) จำกัด อาจเป็นไปภายใต้นโยบายการบริหารจัดการของซีพีเอฟ หรือบริษัทอื่นๆในกลุ่มบริษัทของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ดังนั้นกรณีเช่นว่านี้หากได้ทำการศึกษาชัดลงไปในประเด็นข้อกฎหมายต่างแล้ว ผลที่ได้รับจึงมิใช่เพียงความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในสปป.ลาวของซีพีเอฟหรือบริษัทอื่นๆในกลุ่มบริษัทของเครือเจริญโภคภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแบบต่อองค์กรธุรกิจอื่นๆของไทยในอนาคตที่หวังเข้าไปลงทุนในสปป.ลาวได้ต่อไป

            ดังนั้นการศึกษาเพื่อสร้างความชัดเจนต่างๆให้เกิดแก่สังคมไทย จึงต้องพิจารณาภายใต้ประเด็นทางกฎหมายดังต่อไปนี้

1.การพิจารณาถึงสถานะบุคคลของบริษัท ซี.พี.(ลาว) จำกัด อันนำไปสู่การกำหนดสิทธิตามกฎหมายได้อย่างถูกต้องนั้น จำต้องเริ่มพิจารณาทั้งในส่วนของการเริ่มต้นสถานะบุคคล ความสามารถ และการสิ้นสุดสถานะบุคคลของบริษัท ซี.พี.(ลาว) จำกัด ทั้งนี้การพิจารณาดังกล่าวย่อมอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายไทยและกฎหมายสปป.ลาว ในมิติของหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ซึ่งการพิจารณาในข้างต้นนี้ถือเป็นเพียงการพิจารณาในมุมมองของกฎหมายเอกชนเท่านั้น เพื่อให้ได้ความชัดเจนในทุกมิติ จำต้องศึกษาในส่วนของสถานะทางกฎหมายของบริษัท ซี.พี.(ลาว) จำกัดตามกฎหมายมหาชน เพื่อสามารถกำหนดถึงสิทธิของบริษัท ซี.พี.(ลาว) จำกัด ภายใต้กฎหมายมหาชน ทั้งในฐานะที่เป็นกฎหมายมหาชนภายในและในฐานะที่เป็นตราสารระหว่างประเทศได้ต่อไป

2.เป็นที่ทราบกันอย่างดีแล้วว่า ไม่เพียงแค่เอกชนไทยเท่านั้นที่เข้าไปลงทุนในต่างประเทศ รัฐวิสาหกิจไทยก็ได้เริ่มเข้าไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น จริงอยู่แม้ว่าในสายตากฎหมายภายในของกฎหมายต่างประเทศซึ่งเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจไทยได้เข้าไปลงทุนนั้น จะมองถึงสถานะทางกฎหมายที่ไม่แตกต่างกัน ทั้งสองกรณีล้วนแต่ถูกถือเป็นนิติบุคคลภายใต้กฎหมายของรัฐที่จดทะเบียนก่อตั้งทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ในรายละเอียดต่างๆนั้นอาจมีประเด็นปลีกย่อยที่ต่างกัน ประเด็นการศึกษาถึงความแตกต่างแห่งสถานะบุคคลระหว่างรัฐวิสาหกิจไทยและเอกชนไทย ในกรณีที่เข้าไปลงทุนในสปป.ลาว จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เห็นควรพิจารณา

3.ในประเด็นการบริหารจัดการอันนำไปสู่อำนาจจัดการที่แท้จริงของนิติบุคคล ดังนั้นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างนิติบุคคลในเครือของกลุ่มบริษัทซี.พี. จึงไม่เป็นเพียงการศึกษาเพื่อให้เห็นภาพของการจัดการองค์กร แต่อาจนำไปสู่การสร้างตัวแบบของการจัดการองค์กรธุรกิจอื่นๆต่อไป

4.การสร้างความชัดเจนในประเด็นสถานะบุคคล ทั้งตามกฎหมายเอกชนและมหาชนของบริษัท ซี.พี.(ลาว) จำกัด สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น จึงสามารถเห็นภาพของการเข้าถึงสิทธิต่างๆของบริษัท ซี.พี.(ลาว) จำกัดได้อย่างถูกต้องและชอบธรรม การจัดการสิทธิได้อย่างถูกต้องขององค์กรธุรกิจจึงเป็นอีกหนึ่งในการสร้างเสถียรภาพของการประกอบธุรกิจ และสามารถแข่งขันกับธุรกิจอื่นๆในตลาดได้อย่างเท่าทันและชอบธรรม

5.ความผันผวนทางภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านการเงิน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางธุรกิจขององค์กรธุรกิจ แต่เงินก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อความผันผวนที่เกิดขึ้น ยังมีทุนอีกหลายประเภทที่อยู่บนพื้นฐานของความเสี่ยงเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน หรือ คนในฐานะที่เป็นทุนบริหารจัดการ ดังนั้นนอกจากจะปล่อยให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงกันเองแล้ว การคุ้มครองความเสี่ยงโดยผ่านรัฐจึงเป็นอีกหนึ่งทางที่ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กรธุรกิจ ในประเด็นดังกล่าวนี้ การศึกษาโดยมองผ่านบริษัท ซี.พี.(ลาว) จำกัด จึงสามารถมองเห็นภาพของการคุ้มครองความเสี่ยงภายใต้กลไกของรัฐไทยที่มีให้แก่บริษัท ซี.พี.(ลาว) จำกัด อีกทั้งยังรวมถึงการคุ้มครองความเสี่ยงภายใต้กลไกขององค์การระหว่างประเทศอีกด้วย

6.ประเด็นการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของบริษัท ซี.พี.(ลาว) จำกัดนั้น นอกจากการพิจารณาในมิติของเขตอำนาจศาล รวมถึงการเลือกใช้กฎหมายของศาล ทั้งในศาลไทยและศาลลาวนั้น เห็นควรพิจารณาในส่วนของการระงับข้อพิพาทกันในชั้นก่อนกระบวนพิจารณา เนื่องจากการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันนั้นต้องอาศัยทั้งความแน่นอนและความรวดเร็วไปพร้อมๆกัน การระงับข้อพิพาทที่อาจคาดเดาผลได้ล่วงหน้าและเป็นการดำเนินงานในขั้นตอนที่รวดเร็ว ย่อมส่งผลดีกว่าการดำเนินการที่มีเพียงความยุติธรรมแต่ขาดความรวดเร็วและความคล่องตัว ซึ่งย่อมไม่สอดคล้องกับแนวการดำเนินธุรกิจ ที่ต้องแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลาและรวดเร็ว ดังนั้นการพิจารณาถึงประเด็นการระงับข้อพิพาทในชั้นก่อนกระบวนพิจารณาจึงย่อมเป็นอีกหนึ่งข้อเสนอ ที่น่าจะสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจในภาวะที่มีการแข่งขันสูงเช่นในปัจจุบันนี้

7.การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้น นอกจากการเข้าสู่การระงับข้อพิพาทในชั้นก่อนกระบวนพิจารณาและการเข้าสู่กระบวนพิจารณาในชั้นศาลแล้วนั้น การศึกษาในประเด็นการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยทางอนุญาโตตุลาการ ก็เป็นการศึกษาการระงับข้อพิพาททางเลือกเช่นเดียวกัน การได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็วและทันท่วงทีโดยผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน จึงเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจปรารถนา การนำเสนอถึงความเป็นไปได้ที่จะระงับข้อพิพาทผ่านทางกระบวนการดังกล่าวนี้ ย่อมเป็นการนำเสนอถึงข้อดีและข้อเสีย เพื่อตอบโจทย์ในความสงสัยใคร่รู้ของสังคมได้เป็นอย่างดี

          8.หลังจากได้ดำเนินกระบวนการระงับข้อพิพาทแล้วนั้น ผลที่ตามมาหลังจากนั้นย่อมมีการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ ด้วยความที่บริษัทในกลุ่มเครือบริษัท ซี.พี. มีการประกอบธุรกิจอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก เหตุดังกล่าวจะมีความเกี่ยวพันหรือความเป็นไปได้หรือไม่ ที่บริษัท ซี.พี.(ลาว) จำกัดอาจตกเป็นโจทก์หรือจำเลย ซึ่งย่อมถูกบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของบริษัท ซี.พี.(ลาว) จำกัดได้ ดังนั้นการศึกษาในประเด็นเหล่านี้จึงควรต้องศึกษาตั้งแต่หลักกฎหมายระหว่างประเทศในส่วนของการบังคับรับรองคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ก่อนที่จะทำความเข้าใจในประเด็นการบังคับคดีในทางระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาในประเด็นการบังคับคดีตามกฎหมายภายในทั้งในส่วนของประเทศไทยและสปป.ลาวต่อไป



[1] รายงานประจำปี 2550 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), หน้า 91-92.

[2] เพิ่งอ้าง , หน้า 94.

[3] เพิ่งอ้าง , หน้า 110

หมายเลขบันทึก: 246096เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2009 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ในการเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์นั้น บางที ก็เห็นเขาเขียนหลักและเหตุผลของหัวข้อวิทยานิพนธ์ บางที ก็ไม่เห็นมี

ลองเช็คดูนะคะ ในคู่มือการเขียนหลังๆ นี้ เขาบังคับไหม

อ.แหววไม่บังคับ พิจารณาเป็นเรื่องเป็นเรื่องไป

การเขียนหลักการและเหตุผล ก็คือ การตอบว่า อะไรคือหลักการและเหตุผลของวัตถุแห่งการศึกษาของเรา ซึ่งซีพีลาวนั้น คืออะไรในความคิดของทุกฝ่าย

สิ่งที่ตั้มเขียนนั้น ก็ยอมรับได้

แต่บางที มันจะน่าสนใจที่ค้นคว้ามาจากที่ "ตัวซีพีลาวตอบเอง" ลองค้นดูค่ะ เราเพิ่มเติมได้ แม้สอบเค้าโครงไปแล้ว

สำหรับ อ.แหวว ซีพีลาวอาจจะเป็นแค่การแสวงที่ดินเพื่อประกอบการที่ถูกลง และการแสวงหาแรงงานที่ถูกลงและถูกกฎหมาย แต่ผลพลอยได้ก็อาจจะเป็นการครอบงำตลาดไข่ไก่และเนื้อไก่ของประเทศลาวให้ได้ก่อนธุรกิจอื่น แต่อย่างที่ ๓ นี้ อาจไม่มีนัยยะที่สำคัญในวันนี้ที่คนลาวมักเลี้ยงไก่เองในบ้าน ก็ไปซื้อไข่ไก่และเนื้อไก่ยังไม่มากนัก คนที่ซื้อก็คือคนต่างชาติที่ก็ยังมีน้อยมาก

ลองค้นคว้ากันดูไหม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท