คณะวิทยาการจัดการราชภัฏฟังทางนี้หน่อย


 

 

 

คณะวิทยาการจัดการราชภัฏฟังทางนี้หน่อย

เมื่อวันที่  28  กุมภา นี้  คณะและผมได้ไปแวะเยี่ยมเยียน คุณลุงประยงค์ รณรงค์ ที่บ้านของท่าน ที่ไม้เรียง  มีความรู้สึกว่า บอกกับตัวเองว่า นี่แหละคือผู้นำที่สังคมไทยต้องการ และ นี่แหละ คือผู้นำที่จะนำไปสู่ความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน ของชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม  บ้านเมืองเรา ถ้ามีผู้นำในลักษณะนี้ ในที่ต่าง ๆ และในระดับต่าง ๆ สัก 5-10 เปอร์เซ็นต์  เมืองไทยเป็นสวรรค์ยิ่งกว่านี้  คุณลักษณะอย่างลุงประยงค์ ยังเหมาะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศด้วยนะ  ไม่ใช่เหมาะที่จะเป็นผู้นำในระดับท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว …………………………

 

ไปพบลุงประยงค์วันนั้น ได้คุยกับท่านหลายเรื่อง  มีเรื่องหนึ่งที่อยากจะนำมาคุยต่อกับชาวราชภัฎ  โดยเฉพาะคณะวิทยาการจัดการ  คือ

ชาวบ้านบ้านเรา  มีหลาย ๆอย่างที่เรามีศักยภาพ  มีทุนหนุนเนื่องอยู่แล้ว เช่น  เรามีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ เรามีพื้นภูมิวัฒนธรรมที่เอื้ออาทรต่อกันและกัน เป็นต้น  แต่เราขาดความสามารถในการจัดการ

       กลับมา ผม มาท่อง net เพื่อติดตามดูว่า มีข้อมูลอะไรที่เกี่ยวกับลุงประยงค์ที่มีคน เอาขึ้นมาไว้บ้าง  ก็พบว่ามีแยอะแยะหมด  ในส่วนที่เกี่ยวกับ ความอ่อนด้อยในเรื่องของการจัดการของคนบ้านเรา ก็ปรากฏว่าท่านได้พูดในหลายที่ เช่น  ใน ปาฐกถา วาระ ๑๐ ปี สถาบันปรีดี พนมยงค์  เรื่อง การรวมพลังของชุมชนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ท่ามกลางกระแสทุน “ ท่านกล่าวว่า
       “...ในหลายเรื่อง  หลายอย่าง  ที่ในชุมชนมีความสามารถ  มีศักยภาพมากพออยู่แล้ว 
ขาดก็แต่เพียงการจัดการที่ดีเพียงอย่างเดียว
 และสิ่งที่ชาวบ้านขาดอย่างมากคือการเรียนรู้ในทุกเรื่องก่อนปฏิบัติ  เพื่อป้องกันการผิดพลาดที่นำไปสู่หนี้สิน  และที่ผ่าน ๆ มา ผมได้ใช้เวลาที่มีอยู่พร้อมกับประสบการณ์ที่มีเดินทางไปทั่วประเทศ ไปร่วมแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น  ร่วมกันวิเคราะห์ทำกิจกรรม  ทำให้พบว่าถ้าชุมชนใดเริ่มต้นจากการเรียนรู้และกำหนดทิศทางของตนเอง  ใช้ทรัพยากรตนเองที่มีอยู่  ก็ทำให้สามารถพึ่งตนเองได้  ถึงแม้ในปัจจุบันนี้ในยุคโลกาภิวัตน์  ยุคทุนนิยมครองโลก  แต่เราก็สามารถป้องกันได้  โดยการรู้เท่าทัน  เพราะคนไม่รู้เท่าทัน เมื่อพลาดพลั้งก็จะตกเป็นเครื่องมือและเป็นเหยื่อของกระแสทุน...”สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้ที่นี่

       ท่านยังเล่าไว้ในรายการปราชญ์ชาวบ้านอีกว่า “...การทำงานร่วมกันในรูปแบบการทำงานกลุ่ม กว่าจะประสบผลสำเร็จ เราก็ล้มเหลวมาหลายครั้ง  ราชการแนะนำเราว่า  ให้ ร่วมกันคิด  ร่วมกันทำ  ร่วมรับประโยชน์ และร่วมกันรับผิดชอบ รูปแบบนี้เราทำไม่สำเร็จ เราก็พัฒนารูปแบบของขึ้นมา เป็น ร่วมกันคิด ร่วมกันศึกษาเรียนรู้ รวมกันทำ  และร่วมกันขาย  รูปแบบนี้ก็ล้มเหลวอีก  ต่อมาจึงปรับปรุงใหม่ เป็น ร่วมกันคิด  ร่วมกันลงทุน จ้างคนอื่นทำ และร่วมกันรับบริการ รูปแบบนี้ที่ได้ผลดี เราใช้รูปแบบนี้ในการแปรรูปยาง ใช้รูปแบบนี้ในการทำโรงงานแป้งขนมจีน...”สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมรับชมได้ที่นี่

       เหตุที่ยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา ก็เพื่อจะเน้นว่า เรื่องการบริหารจัดการและเรื่องอื่น ๆนั้น ทฤษฎีที่ใช้ได้ผล มันต้องพัฒนาขึ้นจากบริบทที่จะนำไปใช้  ผมเคยได้ยินคนพูดว่า ทฤษฎีกับปฏิบัติมันเป็นคนละเรื่องกัน  โดยเฉพาะเพื่อน ๆที่บริหาร อบต.ชอบมองอย่างนี้ ชอบเห็นอยางนี้  ซึ่งผมเองก็ยืนยันหัวเด็ดตีนขาดว่า เรื่องเดียวกัน  เขาก็เถียงขอเป็นเอ็น เป็นอันว่า เขาก็ยังเชื่อของเขาอยู่อย่างนั้น  คนสอนก็สอนไป  เขาก็เรียนไป  ชีวิตจริงเขาก็ทำของเขาไป  ถามว่ามาเรียนราชภัฏทำไม คำตอบคือ “มาหาไม้กันหมา”...55555

       ผมคิดว่าวิทยาการจัดการของราชภัฏต้องตอบสนองท้องถิ่นเป็นสำคัญ
              จะจัดการวิสาหกิจชุมชนให้ได้ผลควรทำอย่างไร 
             
จะเลี้ยงหมู่ เลี้ยงวัว แบบเกษตรรายย่อย ควรทำอย่างไร
              มีที่ดินอยู่ไร่กว่า ๆจะทำกินให้เลี้ยงลูกเลี้ยงเมียได้ควรบริหารจัดการอย่างไร ฯลฯ  
      
โจทย์แบบนี้ต่างหากที่คณะวิทยาการจัดการของราชภัฏต้องหาคำตอบ
      ปัจจุบันพวกเรายังสาละวนอยู่กับความรู้จากฝรั่ง เด็กเราเรียนแล้วก็ไปใช้ไม่ได้ ไม่มีโอกาสใช้ น้อยคนได้มีโอกาสใช้จริง แต่การเรียนการสอนของเราที่เป็นอยู่ ผลสำคัญของมันก็คือ มันดัน มันผลัก เด็ก ๆลูกหลานชาวบ้านไปเสี่ยงชีวิตในเมือง ทำแบบนี้คงเรียกสถาบันอุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่นไม่ได้

       ในสภาพปัจจุบัน  คณะวิทยาการจัดการควรสอนให้น้อยลง หรือไม่สอนเลย จะดีกว่า แต่หันกลับมาเรียนรู้มากขึ้น หรือเรียนรู้เป็นสำคัญ  ครูบาอาจารย์ ต้องพานักศึกษาออกไปเรียนรู้ด้วยกัน เด็ก ๆก็จะได้เรียนรู้โดยครูไม่ต้องสอน หรือสอนอะไรผิด ๆ ถูก ๆ และไม่เป็นประโยชน์

       แนวทางนี้เท่านั้นแหละ ที่จะทำให้ราชภัฏเด่นดีมีเอกลักษณ์ของตนเอง  ซึ่งมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯมีศักยภาพในด้านนี้น้อยกว่าเรา  หรือแทบไม่มีเลย 

      
นี่คือแนวทางที่จะทำให้ราชภัฏเงยหน้าขึ้นได้

       เรื่องอย่างนี้ วงการราชภัฏเองก็พูดกันมายี่สิบกว่าปีแล้ว จำได้ว่าเคยคุยกัย ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ตั้งแต่กรุงเทพฯถึงเพชรบุรี ในการพูดคุยวันนั้น จำได้ว่าผู้บริหารราชภัฏปัจจุบันก็นั่งร่วมวงอยู่ด้วยหลายคน แต่ไม่เห็นมีใครเอามาผลักดันให้เป็นผล  มันติดขัดอยู่ตรงไหนหน๊า...

 

หมายเลขบันทึก: 248124เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2009 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท