โรคกระดูกพรุน


วิตามิน ดี

โรคกระดูกพรุนกับภาวะพร่องวิตามิน ดี

         หลายคนคงเคยได้ยินแต่ว่าพร่องแคลเซียมทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนใช่มั๊ยคะ แล้ววิตามินดีมาเกี่ยวข้องกับโรคกระดูกพรุนได้อย่างไร

"เพราะวิตามินดีมีความสำคัญต่อการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายและเป็นกระบวนการสำคัญต่อการรักษาโรคกระดูกพรุนนั่นเองค่ะ"

วิตามินดี แสงแดด อาหาร และกระดูกพรุน

การเกิดโรคกระดูกพรุนจะเป็นการดำเนินโรคไปอย่างช้าๆ อย่างต่อเนื่องโดยที่ร่างกายไม่แสดงอาการใดๆเลย กว่าจะรู้ตัวอีกทีว่าเป็นโรคกระดูกพรุนก็ตอนที่หกล้มเล็กๆน้อยๆแล้วกระดูก หักไปเลยก็มีให้พบเห็นอยู่บ่อยๆ

จากผลการศึกษาหนึ่งพบว่า ระดับวิตามินดีในร่างกายของหญิงวัยทองลดต่ำลง จะเห็นได้จากจำนวนผู้หญิงวัยทองที่เป็นโรคกระดูกพรุนถึงร้อยละ 64 และในส่วนของประเทศไทยพบว่ามีภาวะพร่องวิตามินดีประมาณร้อยละ 47 เช่นกัน

การที่ร่างกายได้รับวิตามินดีน้อยลงนั้น นอกจากร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมไม่ได้เต็มที่ ยังทำให้ภาวะกระดูกพรุนเพิ่มมากขึ้น ร่างกายเองก็จะไม่สามารถควบคุมการทำงานของต่อมพาราไทรอยด์ ทำให้มวลความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density: BMD) ลดลง อีกทั้งยังทำให้เกิดกระบวนการสลายกระดูกมากขึ้น และทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงในที่สุด

วิตามิน ดี ... อย่าให้พร่อง

วิตามินดี จัดอยู่ในกลุ่มวิตามินจำพวกละลายไขมันร่างกายได้รับวิตามินดี ได้ 2 ทางด้วยกันคือ
- จากการรับประทานเข้าไปแล้วซึมในลำไส้ไปพร้อมๆกับอาหารพวกไขมันโดยการช่วย ย่อยของน้ำดี วิตามินดีที่เข้าสู่ร่างกายทั้งสองทางจะถูกนำไปเก็บที่ตับเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้จะเก็บที่ผิวหนัง สมอง ตับอ่อน กระดูก และลำไส้
- และทางผิวหนังจากการได้รับแสงแดด แสงอุลตร้าไวโอเลตจากแสงอาทิตย์จะเข้าไปกระตุ้นคอเลสเตอรอลที่อยู่ในผิวหนัง ให้เปลี่ยนเป็นวิตามินดี โดยตับและไตจะเปลี่ยนให้เป็นวิตามินแล้วซึมเข้าสู่กระแสเลือด

ปัจจัยเสี่ยงจากภาวะวิตามินดีพร่อง
สำหรับปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนมีหลายประการ เช่น อายุที่มากขึ้น ภาวะหมดประจำเดือน ดัชนีมวลกายต่ำ การขาดการออกกำลังกาย เคยมีประวัติกระดูกหักที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุรุนแรงมาก่อน การไม่ได้รับแคลเซียมเสริมอย่างเพียงพอ การใช้ยาสเตียรอยด์ในปริมาณสูงเป็นเวลานาน การได้รับแสงแดดน้อยกว่าที่ควร รวมทั้งขาดการเสริมวิตามินดีอย่างเพียงพอ

วิตามินดี สำรองไว้อย่าให้ขาด
-สะสมแสงยูวี
แสง ไม่ได้ทำให้ผิวคล้ำเพียงอย่างเดียว แต่แสงแดดอ่อนๆยามเช้า ตั้งแต่ 8:30 ถึง 10:30 น. และในช่วงเย็นก่อนแดดร่มลมตกประมาณ 16:00 น. เป็นต้นไป เป็นแหล่งวิตามินจากธรรมชาติ ไม่ต้องซื้อหาแต่อย่างใด จากการศึกษาปริมาณของวิตามินดีในเลือดที่ได้จากการสังเคราะห์จะเปลี่ยนไปตาม ฤดูกาล ในฤดูร้อนความเข้มข้นของวิตามินดีในเลือดจะสูงกว่าในฤดูหนาว สำหรับบ้านเราที่มีปริมาณแดดเพียงพอ เพียงแค่ได้รับแสงแดดอ่อนตอนเช้าสักวันละชั่วโมง สองชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว กลุ่มที่น่ากังวลว่าจะไม่ได้รับแสงแดดเพียงพอก็ได้แก่ พวกที่ออกจากบ้านแต่เช้ามืด เข้าที่ทำงานแล้วอบตัวอยู่จนค่ำจึงเดินทางกลับบ้าน วันหนึ่งๆจึงไม่ได้รับแสงแดดเลย
-อาหาร
วิตามินดีเป็นวิตามินชนิดเดียวที่มีอยู่น้อยมากในพืชและผัก ที่พบมากได้แก่ น้ำมันตับปลา ไขมัน นม เนย ตับสัตว์ ตับปลาคอด (COD) ปลาทู ไข่แดง ปลาแซลมอน ปลาซาดีน ปลาแมคเคอร์เรล นมเป็นอาหารที่นิยมเสริมวิตามินดี เพราะเป็นอาหารที่มีแคลเชียม ฟอสฟอรัส และไขมัน ที่จะช่วยเพิ่มอัตราการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
-ออกกำลังกายเพิ่มวิตามิน
การออกกำลังกายก็ช่วยเพิ่มวิตามินดีได้ เลือกออกกำลังที่ต้องลงน้ำหนัก เนื่องจากการออกกำลังกายชนิดที่ต้องลงน้ำหนักนั้นจะช่วยให้กระดูกแข็งแรง และชะลอกระบวนการสูญเสียมวลกระดูกได้ เช่น วิ่งจ๊อกกิ้ง การเดินขึ้นลงบันได และการกระโดดเชือกสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง

เกือบครึ่งหนึ่งของผู้หญิงวัยทองในประเทศไทยที่เป็นโรคกระดูกพรุนมีภาวะ พร่องวิตามินดี การแก้ปัญหานี้คือ ให้การศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของวิตามินดีสำหรับผู้เป็นโรคกระดูกพรุน และให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องวิตามินดี ทั้งเรื่องการปฏิบัติตัว การทำกิจกรรมที่ทำให้ได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ รวมถึงอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินดีที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

จาก ใกล้หมอ ฉบับ มกราคม 2551

คำสำคัญ (Tags): #วิตามินดี
หมายเลขบันทึก: 250152เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2009 16:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท