ความรุนแรง...ซึมลึกเด็กไทย แนะพ่อแม่หากิจกรรมดึงเด็กออกจากทีวี


ทีวี เด็ก กิจกรรมสร้างสรรค์ ความรุนแรง

ความรุนแรง...ซึม ลึก เด็กไทย

แนะพ่อแม่หากิจกรรม  ดึงเด็กออกจากทีวี

 

                โครงการเพื่อเด็กไทย ใส่ใจสื่อ  โดยการสนับสนุนของแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน(สสย.)บริหารแผนโดย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)   นำเสนอผลการวิจัย     เรื่อง   การวิเคราะห์ความรุนแรงในรายการโทรทัศน์    มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาจำนวนรายการ  / ปริมาณเวลา  / ลักษณะของความรุนแรง / จำนวนและลักษณะภาพยนตร์โฆษณาที่นำเสนอความรุนแรง  รวมทั้ง  ศึกษาความคิดเห็นของเด็กและผู้ปกครองที่มีต่อความรุนแรงในรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก    โดยทำการศึกษาสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี    ได้แก่      ช่อง  3  , 5  , 7  , 9, NBT  และ THAI  PBS  สำรวจ 1 สัปดาห์ในช่วงปลายเดือนธันวาคมปี 2551  ที่ผ่านมา    พบว่า รายการการ์ตูนเป็นรายการที่มีปริมาณเวลาการออกอากาศมากที่สุด  

                แต่สิ่งที่ตามมาคือ    พบว่ารายการต่างๆที่นำเสนอให้เด็กๆดู   มีความรุนแรงเกินกว่าครึ่ง ถึงร้อยละ 54.95 โดยปรากฏในรายการประเภทการ์ตูนมากที่สุด  รองลงมาคือละคร     ผศ.ลักษมี  คงลาภ  ในฐานะคณะผู้วิจัยกล่าว

                สิ่งที่ผู้วิจัยค้นพบในรายการโทรทัศน์ที่ปัจจุบันมีภาพความรุนแรงปรากฏอย่างชัดเจน คือ   ความรุนแรงที่อยู่หน้าจอโทรทัศน์มีการแสดงออกทั้งทางวาจา   การกระทำทางร่างกายโดยใช้อุปกรณ์และไม่ใช้    ความกดดันทางจิตใจ    ความก้าวร้าว  การทำข้าวของเสียหาย   ฯลฯ  เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ

                ส่วนภาพยนตร์โฆษณาในรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กส่วนใหญ่เป็นโฆษณาขนมขบเคี้ยวมากที่สุด    และมีการนำเสนอความรุนแรงในภาพยนตร์โฆษณาเช่นกันคิดเป็นร้อยละ  31.89

                เด็กๆ ได้รับผลเสียอย่างไม่รู้ตัวจากโทรทัศน์  2 ต่อ  คือ  ภาวะโรคอ้วนจากการซื้อขนมที่ดูโฆษณาทางโทรทัศน์  และความรุนแรงจากสื่อโฆษณา   ซึ่งเป็นสิ่งที่ซึมลึกมากกว่าจะเห็นผลในทันที

ผู้วิจัยกล่าวเสริม

                คณะนักวิจัยร่วมสนทนากลุ่มเด็กอายุ 6-12 ปีและผู้ปกครอง  พบว่า  ทีวีเป็นสื่อที่เด็กๆชอบดูกับครอบครัว  โดยรายการตลก  รายการผีเป็นสิ่งที่เด็กๆชอบ  แต่รายการละครจะดูกับคนในบ้านที่เปิดดูอยู่แล้ว   เด็กยอมรับว่าเคยเลียนแบบตัวละครในทีวี  เช่น  การเตะ ถีบ ต่อย ดึงผม  ข่วนหน้า ใช้อาวุธ    และเด็กๆเห็นว่า  ละครหลังข่าวมีความรุนแรงมากที่สุด

                ส่วนผู้ปกครองเห็นว่า การจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์มีประโยชน์สำหรับผู้ปกครอง    เพราะหากเป็นรายการสำหรับเด็กที่มีตัวอักษร ด  ก็จะให้ลูกดู โดยไม่ห่วง  ส่วนการที่เด็กดูรายการละครที่มีบางฉากไม่เหมาะสมกับวัย  ก่อให้เกิดปัญหากับพ่อแม่ในเรื่องการอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับลูก     ผู้ปกครองมีความกังวลว่า  เด็กๆชอบดูการ์ตูน  แต่การ์ตูนมักนำเสนอความรุนแรง   และบางเรื่องมีความล่อแหลมทางเพศ   

                รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กที่ผู้ปกครองอยากให้มีเพิ่มมากขึ้น คือ รายการให้ความรู้พื้นฐานที่ใช้ในการเรียน  ให้ข้อคิด  คติสอนใจ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และส่งเสริมความรู้   แต่หากรายการที่เป็นการแข่งขัน   อยากให้สะท้อนถึงความมีน้ำใจ    นอกจากนี้ อยากให้มีการ์ตูนที่เป็นวรรณคดีหรือวรรณกรรมพื้นบ้านของไทยเพิ่มมากขึ้น  

                ในโครงการเดียวกัน  ดร.บุญอยู่  ขอพรประเสริฐ   รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมการเปิดรับและความต้องการของเด็กที่มีต่อรายการโทรทัศน์   โดยศึกษาเด็กชั้น  ป.1ป. 6  ทั่งประเทศ  จำนวน 1,600 คน  พบว่า  เด็กๆดูทีวีในช่วงค่ำมากที่สุดในวันธรรมดา   ส่วนวันหยุด  เด็กสามารถตื่นเช้ามาดู ทีวีได้ในช่วงเวลา 06.00 – 09.00  น.    ส่วนใหญ่ดูกับพ่อแม่ผู้ปกครอง รายการที่ชอบที่สุดคือ     ละครแนวต่อสู้  รู้สึกสนุก  รายการโทรทัศน์ที่เด็กต้องการให้เพิ่มขึ้น   คือรายการสารคดี   ข่าว  และการ์ตูน  เด็กๆไม่มีความรู้เรื่องการจัดเรตติ้งเป็นส่วนมาก

                ดูเหมือนว่าความรุนแรงจะอยู่กับเด็กเราจนเคยชินทางโทรทัศน์  เราจึงอยากเสนอให้พ่อแม่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆกับเด็กมากกว่าการใช้เวลาว่างดูทีวีอย่างเดียว  คณะผู้วิจัยกล่าว

                จากผลการวิจัยข้างต้น       จึงจะได้มีการจัดเสวนาเรื่อง เจาะลึกจอตู้..วันนี้ หนูๆ ดูอะไรในวันพฤหัสบดีที่  12 มีนาคม 2552  เวลา 09.30-12.30 น.      ห้องประชุมชั้น 35  สสส.    อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์   ตรงข้าม  ททบ.5     ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ   มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์รายการโทรทัศน์และความรุนแรงในรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก    และเป็นเวทีให้ผู้เข้าร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำเสนอความรุนแรงในรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กในปัจจุบัน    อันจะเป็นแนวทางในการพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็กต่อไป   นอกจากการนำเสนอผลการวิจัยโดยนักวิชาการแล้ว  ยังมีการร่วมแสดงความคิดเห็นโดย  นายแพทย์สุริยเดว  ทรีปาตี    ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาเด็ก   / คุณกมลชนก (กวาง) เขมะโยธิน   นักแสดง/พิธีกร/นักธุรกิจ/แม่บ้าน  / คุณสืบสกุล  พันธุ์ดี   ผู้ประกาศข่าว ช่อง 5

               

หมายเลขบันทึก: 250505เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2009 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท