BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

อนัตตลักขณสูตร ๒


อนัตตลักขณสูตร ๒

วันนี้วันพระ... ผู้เขียนได้นำอนัตตลักขณสูตรมาเทศน์ต่อจากครั้งที่แล้ว (คลิกที่นี้)) ซึ่งในเบื้องต้นพระพุทธเจ้าตรัสอธิบายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา... และต่อจากนั้นพระองค์ได้ตรัสว่า เวทนาเป็นอนัตตา... สัญญาเป็นอนัตตา... สังขารเป็นอนัตตา... วิญญาณเป็นอนัตตา... เมื่อประมวลเนื้อหาในส่วนนี้ เป็นการชี้แจงว่า ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา... นั่นเอง

สำหรับ รูป ผู้เขียนได้ขยายความไปแล้วว่าได้แก่ร่างกาย ส่วนอีกสี่อย่างคือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เหล่านี้รวมกันแล้วก็ได้แก่ ใจ นั่นเอง ดังนั้น จึงอาจรวมความอีกครั้งได้ว่า...

กายและใจเป็นอนัตตา ถ้ากายและใจพึงเป็นอัตตาแล้วไซร้ กายและใจก็ไม่พึงเป็นไปเพื่อการถูกเบียดเบียน เราพึงได้ในกายและใจว่า ขอกายและใจของเราพึงเป็นอย่างนี้ ขอกายและใจของเราอย่าได้เป็นแล้วอย่างนี้ ฯ เพราะกายและใจเป็นอนัตตา ดังนั้น กายและใจย่อมเป็นไปเพื่อการถูกเบียดเบียน เราไม่พึงได้ในกายและใจว่า ขอกายและใจของเราพึงเป็นอย่างนี้ ขอกายและใจของเราอย่าได้เป็นแล้วอย่างนี้ ดังนี้ ฯ

 

ต่อจากนั้น ผุ้เขียนก็ได้ขยายความในส่วนที่เป็นใจ โดยเริ่มต้นจากคำว่า เวทนา ซึ่งคำนี้ภาษาไทยนำมาใช้ไม่ตรงกับความหมายเดิม นั่นคือเวทนาในภาษาไทยน่าจะตรงกับคำว่า เอ็นดู หรือ เห็นใจ... ส่วนในภาษาบาลีหมายถึง ความรู้สึก ซึ่งจำแนกออกไปเป็น สุข ทุกข์ และอุเบกขาคือไม่สุขไม่ทุกข์หรือเฉยๆ... ก็ความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉยๆ นี้ เป็นอนัตตา นั่นคือ ย่อมไม่ได้ดังใจของเรา มีสิ่งมากระทบก็แปรจากสุขเป็นทุกข์ แปรจากทุกข์เป็นสุข เราไม่อาจบังคับความรู้สึกได้ว่าอย่าทุกข์หรืออย่าสุขเลย... อะไรทำนองนี้

สัญญา คำนี้ก็มีใช้ในภาษาไทย ตามนัยภาษาบาลีมาจาก สํ แปลว่า พร้อม. และ ญา แปลว่า รู้. ดังนั้น สัญญาจึงแปลว่า รู้พร้อมกัน... การที่เค้าก็รู้ เราก็รู้ นั่นก็คือการรู้ร่วมกัน รู้พร้อมกัน เราเรียกว่าสัญญา ซึ่งถ้าจะแปลตามภาษาไทยก็อาจได้ความว่า ข้อตกลง... ส่วนความหมายตามบาลีเดิม สัญญาในส่่วนนี้หมายถึง ความจำ นั่นคือ เมื่อเราระลึกถึงบางอย่าง สิ่งนั้นก็จะผุดขึ้นมาในคลองใจ มาพร้อมกันอย่างทันทีทันได้ เช่น เรานึกถึงรูปปั้นนางเงือกที่แหลมสมิหรา นางเงือกก็จะผุดขึ้นมาทันที ทั้งขนาด รูปร่าง ลักษณะ และอื่นๆ นั่นคือ เรารู้อย่างพร้อมเพรียงสมบูรณ์ ความเป็นนางเงือกทั้งหมดผุดขึ้นมาพร้อมกัน มิได้ค่อยๆ มาแต่ละอย่างแต่ละส่วน นั้นคือรู้พร้อมกัน ตรงกับคำแปลของคำว่าสัญญา ส่วนความหมายก็คือ ความจำ นั่นเอง...

อันความจำหรือสัญญานี้ก็เช่นเดียวกัน จัดเป็นอนัตตา กล่าวคือ ฝืนความปรารถนา บางอย่างเราต้องการจะจำก็ไม่อาจจำได้อย่างทันที หรือบางอย่างเราลืมแล้วเราก็ไม่อาจให้สิ่งนั้นผุดขึ้นมาอย่างทันทีได้ นั่นก็คือความจำหรือสัญญานี้เป็นสภาพไร้เจ้าของ ไม่อาจบังคับได้ เป็นไปตามเหตุและปัจจัยที่เข้ามาเกื้อหนุนหรือบั่นทอน... อะไรทำนองนี้

 

สังขาร คำนี้เป็นที่คุ้นเคยสำหรับคนทั่วไป ซึ่งตามศัพท์แล้ว มาจาก สํ แปลว่า พร้อม. ผสมกับคำ่ว่า การ แปลว่า กระทำ แต่เมื่อผสมกันเป็น สังการ ออกเสียงยาก จึงได้แปลง ก.ไก่ เป็น ข.ไข่ เพื่อการออกเสียงง่ายว่า่ สังขาร ดังนั้น สังขารจึงแปลว่า กระทำพร้อมกัน หรือ กระทำร่วมกัน เช่น รถจัดเป็นสังขารเพราะเป็นสิ่งที่ถูกกระทำขึ้นมาด้วยล้อบ้างเครื่องยนต์บ้างหลังคาบ้างเป็นต้น ร่างกายคนเราก็จัดเป็นสังขารเพราะเป็นสิ่งที่ถูกกระทำขึ้นมาจากธาตุ ๔ คือดินน้ำไฟลม เป็นต้น...

คำว่าสังขารในการบ่งชี้ถึงสิ่งที่ถูกกระทำขึ้นมาจากหลายสิ่งหลายอย่างพร้อมกันนี้ ตรงกับคำไทยว่า ประกอบ นั่นเอง แต่ถ้าเป็นคุณลักษณะของใจ ซึ่งเป็นนามธรรมนั้นใช้คำว่าประกอบไม่ค่อยเหมาะสม เรามีสำนวนว่า ปรุงแต่ง แทน...

สังขาร ที่หมายเอาตามภาษาไทยว่าปรุงแต่งนี้ ก็คือ ความคิด นั่นเอง กล่าวคือ ใจของคนเรานั้น เมื่อจะคิด ความคิดจะต้องประกอบด้วยอะไรหลายๆ อย่าง จึงจะเกิดขึ้นได้ เช่น ต้องใช้ความจำ ต้องใช้ช่วงขณะหรือกาลเข้าไปกำหนด ซึ่งสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ก่อให้เกิดความคิดแต่ละครั้งนั้นย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เข้ามาเกื้อหนุนหรือบั่นทอนเช่นเดียวกัน เช่น บางครั้งเราอาจคิดได้คล่องคิดได้เร็วคิดได้อย่างทะลุปุโปร่ง เพราะเพิ่งตื่นจากนอนเต็มอิ่มและได้อาบน้ำกินอาหารอันถูกใจเรียบร้อยแล้ว... แต่บางครั้งความคิดก็อาจสะดุดๆ ติดขัด อีกทั้งช้า อืดอาด เพราะอดนอนและเหนื่อยหน่ายจากการตรากตรำทำงานเป็นต้น... เราไม่อาจบังคับความคิดให้เป็นไปตามความต้องการได้ ความคิดนี้เป็นสภาพที่ไร้เจ้าของ ฝืนความปรารถนา... อะไรทำนองนี้

 

และ วิญญาณ ซึ่งเป็นตัวหลักของใจ ตามนัยภาษาบาลีมีคำที่ใช้เรียกแทนกันได้หลายอย่าง เช่น จิต มโน มนัส วิญญาณ... ความเศร้าหมอง ความสดชื่น ความปลื้ม ความร่าเริง ความเครียด ความเหงา เป็นต้น เหล่านี้เป็นอาการของวิญญาณหรือใจ ซึ่งอาการเหล่านี้ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไร้เจ้าของ ฝืนความปรารถนา ไม่อาจบังคับได้ รวมความว่าเป็นอนัตตาเช่นเดียวกัน

บรรดาเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ที่รวมเรียกว่าใจนี้ วิญญาณสำคัญที่สุดเพราะเป็นแก่นหลัก ส่วนที่เหลือจัดเป็นคุณลักษณะของวิญญาณ... อีกนัยหนึ่งท่านรวมความวิญญาณว่าได้แก่ จิต ส่วนที่เหลือคือเวทนา สัญญา และสังขาร ได้แก่ เจตสิก โดยท่านได้อธิบายว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปพร้อมกับจิต เรียกว่าเจตสิก นั่นคือเจตสิกจัดเป็นคุณลักษณะของวิญญาณนั่นเอง

ความต่างกันระหว่างวิญญาณหรือจิตกับส่วนอื่นที่เรียกว่าเจตสิกนั้น เป็นไปทำนองเดียวกันกับรูปคือร่างกาย โดยร่างกายที่เป็นแก่นซึ่งประกอบด้วยธาตุทั้งสี่นั้นจัดเป็นมหาภูตรูป ส่วนคุณลักษณะของร่างกาย เช่น ตาหูจมูกลิ้นกาย การเดินยืนนั่นนอนสามารถเคลื่อนไหวได้ เป็นต้น จัดเป็นรูปอาศัยซึ่งเรียกกันว่าอุปาทายรูปนั่นเอง

สรุปว่าในเบื้องต้นของอนัตตลักขณสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าขันธ์ ๕ หรือกายและใจเป็นอนัตตา... ต่อจากนั้นพระองค์ได้ยกขันธ์ ๕ มาแสดงนัยอื่นอีก ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าในตอนต่อไป...

คำสำคัญ (Tags): #อนัตตลักขณสูตร
หมายเลขบันทึก: 250923เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2009 01:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มนัสการพระคุณเจ้า

"ได้เยินพื่อนชาวพุทธ พูดออกมาเหมือนคำอุทาน เปรียบ อิสลามก็ คำว่า " อัลลอฮ" ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าผู้ที่เปล่งคำเหล่านี้ออกมา จะเข้าใจความหมายหรือไม่ อย่างคำอัลลอฮ เพื่อนชาวพุทธที่อยู่ไกล้ชิดอิสลาม ก็เปล่งคำว่าอัลลอฮมาให้ได้ยินประจำครับ

นมัสการพระคุณเจ้ามาอีกรอบ เพราะข้อความส่วนสำคัญหายไป ในบันทึกก่อน คือ"อนีจจัง ทุกขัง อนัตตา" แล้วต่อด้วยได้ยินเพื่อนชาวพุทธ ครับท่าน

Pวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

 

  • บังมีอะไรแปลกๆ มาเรื่อย สองความเห็นรวมกันก็เป็นอันว่าเข้าใจ (5 5 5...)

ประเด็นที่บังเล่ามาก็เคยมีประสบการณ์ตรง ประมาณยี่สิบปีก่อน อาตมาพักอยู่วัดสุวรรณคีรี ซึ่งแถบนั้นชาวไทยพุทธเป็นชนกลุ่มน้อย ชาวไทยมุสลิมเป็นชนส่วนใหญ่...

เช้าวันหนึ่ง อาตมาก็ออกบิณฑบาตตามปกติ  สาวน้อยคนหนึ่งอายุประมาณ ๑๐ ขวบ ถือขันข้าวลงจากบันได (บ้านชายทะเลยกพื้นสูง) ขณะลงจากบันไดบังเอิญว่าช้อนตักข้าวหล่นร่วงจากขันข้าว เธอก็อุทานว่า "อัลลอฮ"... ยายของเธอซึ่งรออยู่ด้านล่าง จึงบอกทำนองว่า "หมึงเป็นพุทธ ต้องว่า พุโธ่ อาตมาก็นึกขำในใจ (5 5 5...)

เจริญพร 

นมัสการ เข้ามาศึกษาแก่นธรรม ได้ความรู้ดี ขออนุโมทนาได้เผยแพร่หลักธรรมแบบนี้ต่อไปนะครับ สาธุหลวงพี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท