วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน วชช.มส. เรียนรู้ใหม่...กับวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน

โครงการพัฒนาแบบทดสอบมาตรฐานกลาง หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ตามหลักสูตรวิทยาลัยชุมชน


กรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF)

วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนดำเนินโครงการพัฒนาแบบทดสอบมาตรฐานกลาง หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ตามหลักสูตรวิทยาลัยชุมชน ระหว่างวันที่ 24-27 มีนาคม 2552 ณ ห้องประชุมวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชุมเชิงปฏิบัติการวางแผนกระบวนการจัดทำแบบทดสอบมาตรฐานและวิเคราะห์เนื้อหารายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ตามหลักสูตรของวิทยาลัยชุมชน ร่วมกับวิทยาลัยชุมชนทั่วประเทศและมหาวิทยาลัยเครือข่าย และเพื่อประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแบบทดสอบมาตรฐานรายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ตามหลักสูตรของวิทยาลัยชุมชน ร่วมกับวิทยาลัยชุมชนทั่วประเทศและมหาวิทยาลัยเครือข่าย ในโครงการดังกล่าวได้รับความอนุเคราะห์จากที่ปรึกษาสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน ผศ.ดร.ประเสริฐ จริยานุกูล มาเป็นวิทยากรบรรยายแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และมีอาจารย์ผู้สอนจากวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน, วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี, วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร, วิทยาลัยชุมชนแพร่ และ วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

หมายเลขบันทึก: 251897เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2009 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บรรยายพิเศษพิธีเปิด

เนื่องในการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาแบบทดสอบมาตรฐานกลาง

หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ตามหลักสูตรวิทยาลัยชุมชน

โดย ดร. จรูญ คำนวนตา ประธานสภาวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน

วันที่ 24 มีนาคม 2552 ณ ห้องประชุมวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน

------------------------------------------

ผู้อำนวยการ คณาจารย์และผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน

กระผมมีความยินดียิ่ง ที่มีโอกาสมาร่วมพิธีเปิดและบรรยายพิเศษในวันนี้ ขอต้อนรับอาจารย์จากทุกอำเภอที่เสียสละเวลา ในการมาร่วมพัฒนาหลักสูตรการสอนของวิทยาลัยชุมชน ให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้นในวันนี้

ก่อนอื่นผมขอกล่าวถึงปัญหาของการศึกษาในจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้กับที่ประชุมได้ทราบคือ การขาดโอกาสทางการศึกษาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำให้วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน มีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีสถานศึกษากระจายในพื้นที่ 6 อำเภอ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงซึ่งการศึกษาตามศักยภาพของเขา เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีบริบทไม่เหมือนกัน คนส่วนใหญ่ในจังหวัดจะเป็นชนเผ่าหลายชนเผ่า กระจายอยู่ในอำเภอต่างๆ มีขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม ตลอดจนที่อยู่อาศัยต่างกัน การให้บริการทางการศึกษาจึงต้องให้เหมาะสมกับชุมชนในพื้นที่ การดำเนินงานของแต่ละอำเภอจึงอาจแตกต่างกัน

ร้อยละ 75 ของประชาชนส่วนใหญ่ในวัยทำงานจะมีความรู้ในระดับประถมศึกษา ร้อยละ 20 มีความรู้ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และไม่ถึงร้อยละ 5 ที่มีความรู้ในระดับปริญญา มีผู้ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้กว่า 30,000 คน ในเชิงนโยบายนั้นวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนเห็นว่า เพื่อที่จะให้วิทยาลัยชุมชนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ร้อยละ 10 ของประชากรแม่ฮ่องสอน ควรจะมีโอกาสได้รับการศึกษาทั้งระดับอนุปริญญา และการอบรมระยะสั้นของวิทยาลัยชุมชน ภายใน 3 ปี แต่ศักยภาพที่เราทำได้ขณะนี้ยังห่างใกลจากเป้าหมาย

ภาระกิจสำคัญในการให้การศึกษาของวิทยาลัยชุมชนมี 2 ประเด็นหลักๆ ได้แก่

ประการแรก วิทยาลัยชุมชนเป็นของชุมชน แก้ปัญหาให้ชุมชน สิ่งสำคัญคือ การอบรมทักษะการประกอบอาชีพในท้องถิ่น มากกว่าการศึกษาในระดับอนุปริญญา และจัดระบบการอบรมอย่างไรให้ต่างกับหน่วยงานอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน

ประการที่สอง มีคำขวัญว่า “อยากรู้อะไรไปวิทยาลัยชุมชน” เพื่อสื่อความหมายว่า วิทยาลัยชุมชนเป็นที่พึ่งของชุมชน สิ่งที่เราต้องดำเนินการคือ รวบรวมองค์ความรู้จากทุกแหล่ง อาจารย์วิทยาลัยชุมชนไม่ใช่เป็นผู้จบปริญญาโทอย่างเดียว ผู้ที่มีความรู้ทางภูมิปัญญาด้านต่างๆ ก็สามารถเป็นอาจารย์ของวิทยาลัยชุมชน เพื่อให้การอบรมในการประกอบวิชาชีพ เช่น การย้อมผ้าโดยสีธรรมชาติ โดยปราชญ์ท้องถิ่นเป็นผู้ให้การอบรม ซึ่งการมีอาจารย์พิเศษเป็นอาจารย์ของวิทยาลัยชุมชน สามารถที่จะสร้างสรรการศึกษาให้แก่ชุมชน ตามสถาพของพื้นที่ และตอบสนองต่อความต้องการศึกษาในท้องถิ่น และให้นักศึกษาสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้ในท้องถิ่น

ข้อจำกัดในการดำเนินการนั้น มีทั้งจุดแข็งและจุดเด่น วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนมีอาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษอีกประมาณ 200 คน นักศึกษาน่าจะได้รับความรู้จากอาจารย์ ร้อยละ 70 อีก ร้อยละ 30 ต้องมีกระบวนการเสริมทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักศึกษา ให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้จากแหล่งเรีนรู้ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงเชิญผู้สอนเข้าร่วมประชุม ให้อาจารย์พิเศษเข้ามาช่วยพัฒนาการสอน และส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถพัฒนาตนเองได้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอน สภาจึงกำหนดให้ผู้สอนรับผิดชอบสอนเพียง 1 รายวิชาในแต่ละภาคการศึกษา

ด้วยข้อจำกัดหลายประการ ทำอย่างไรถึงจะให้นักศึกษามีโอกาสพัฒนาความรู้และทักษะของตนเอง โดยเฉพาะการเสริมสร้างทักษะเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อที่นักศึกษาจะสามารถเรียนรู้ได้จากหลายแหล่ง ขณะนี้มีความร่วมมือกับกระทรวง ICT เพื่อจัดตั้งศูนย์ ICT ชุมชนในแต่ละอำเภอ ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงฯ กำลังดำเนินการให้คอมพิวเตอร์เพื่อชุมชนในอำเภอต่างๆ โดยจัดตั้งที่ศูนย์ประสานงานของวิทยาลัยชุมชน 6 อำเภอ ล่าสุด SIPA จะอนุเคราะห์คอมพิวเตอร์จำนวน 40 เครื่องพร้อมทั้งระบบ Vedeo Conference เพื่อมุ่งผลิตบุคคลากรด้านการพัฒนาซอฟท์แวร์ ในแผนดำเนินงานกำหนดให้แม่ฮ่องสอนเป็นเมืองแห่ง ICT มีการวางรากฐานการสร้างบุคคลากรด้านคอมพิวเตอร์โดย ดร.กฤษณพงศ์ ณ โรงเรียนต่างๆ มานานนักสิบปี การดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จะได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยรราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯอีกหลายแห่ง สภาวิทยาลัยได้ช่วยประสานงานให้เกีดความเชื่อมโยงเครือข่ายขึ้น นอกจากนี้ ศูนย์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (NECTEC) จะมาติดตั้งระบบการสื่อสารไร้สาย Wimax เพื่อสร้างเครือข่ายการศึกษา ในพื้นที่อำเภอเมือง เชื่อมโยงไปอำเภอแม่สะเรียงและ อำภอปาย สิ่งที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมคือเนื้อหาในการพัฒนางานที่จะดำเนินงานให้เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ เพราะเราจะมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดีมากในปลายปีนี้

วันก่อนหน้านี้ มีกิจกรรมการประชุมให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการสื่อสารแลกเปลี่ยนผ่านเวปบลอกของ www.gotoknow.org ซึ่งมีความคาดหวังต่อไปคือ ให้นักศึกษาวิทยาลัยชุมชน สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับนักวิชาการของสถาบันการศึกษาอื่นๆ

เนื่องจากหลักสูตรที่เราใช้อยู่นั้น ยังไม่ตอบสนองต่อท้องถิ่นได้เท่าที่ควร จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตร ซึ่งเมื่อเรียนแล้วอาจไม่สามารถเรียนต่อปริญญาตรีได้ แต่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ โดยเน้นการสอนภาคปฏิบัติมากกว่าทางทฤษฏี วิทยาลัยจึงขอสนับสนุนพื้นที่จำนวน 200 ไร่บริเวณถนนเลี่ยงเมือง เพื่อสร้างอาคารเรียนและสถานที่ฝึกอบรมอาชีพต่างๆ แบบครบวงจร รวมถึงการขยายงานด้านซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของ SIPA และ NECTEC เพื่อว่าในอนาคต วิทยาลัยชุมชนจะสามารถจัดหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรที่สามารถเรียนรู้แก่กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย

จากการมาเยี่ยมวิทยาลัยชุมชนของคณะของคุณหมอวิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการการอุมศึกษา ได้ให้ข้อคิดว่า การที่เราจะยกระดับให้ได้มาตรฐานเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ นั้น อาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้ ต้องมีมาตรฐานที่มีความเป็นไปได้ และเหมาะกับภาระกิจของวิทยาลัยชุมชนด้วย

สิ่งที่อยากจะฝากให้กับที่ประชุมคือ การปรับพื้นฐานความรู้นักศึกษาด้านภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ เป็นสิ่งสำคัญที่จะให้นักศึกษาได้พัฒนาตนเอง และข้ามผ่านกระบวนการไปได้ เพื่อให้มีการเสริมสร้างโอกาสเรียนรู้ได้ การเข้ามาเรียนและจบไปนั้นต้องผ่านกระบวนการนี้ เพื่อให้เขามีทักษะในการเรียนรู้ ซึ่งผู้สอนต้องมีวิธีการและทำหน้าที่สอนให้นักศึกษาสามารถเพิ่มศักยภาพแก่ตนเองได้ ขึ้นอยู่กับศาสตร์และศิลป์ของผู้สอนทุกคน นักศึกษาบางคนในรุ่นแรกๆ สามารถเรียนต่อปริญญาโทแล้ว แสดงว่านักศึกษาวิทยาลัยชุมชนมีศักยภาพในการเรียนต่อดีมาก แต่น่าเป็นห่วงสำหรับรุ่นต่อๆ มา ที่ต้องมีการพัฒนาศักยภาพและปรับความรู้พื้นฐานให้เพียงพอต่อการศึกษาต่อในขั้นสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม วิสัยทัศน์ของวิทยาลัยชุมชน คือการรับใช้ชุมชน เพิ่มศักยภาพในทุกทาง หวังว่าทุกท่านคงจะเห็นด้วยกับผม ว่าควรพิจารณาในทุกบริบท ในฐานะสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา วิทยาลัยชุมชนจะต้องชี้นำชุมชนได้ และเจ้าหน้าที่ตลอดจนอาจารย์ของวิทยาลัยชุมชนทุกคน ต้องเก่งทั้งวิชาการและเก่งด้านบริหาร แสดงถึงว่าเราต้องทำให้ได้หลายทาง เช่น การประสานงานในระดับอำเภอ การทำวิจัยในชุมชน การเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ เช่นในวันนี้ ที่อาจารย์จากวิทยาลัยชุมชนหลายจังหวัด ได้มาพูดคุยช่วยเหลือแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เคยทำกันมา เพื่อที่จะได้กลับไปพัฒนางานร่วมกันในโอกาสต่อไป

เมื่อเดือนที่แล้วท่านทูตอิสราเอลได้มาเยี่ยมแม่ฮ่องสอน เราได้ขอให้ท่านสนับสนุนด้านการเกษตร ซึ่งเราหวังว่าจะมีการปลูกผลไม้เมืองหนาวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงได้ขอความอนุเคราะห์จัดฝึกอบรมเกษตรกรตัวแทนชาวบ้านให้มีความรู้ ซึ่งเราหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือด้านวิทยากรที่เก่งเข้ามาเป็นผู้สอนให้

วิทยาลัยชุมชนจะเป็นจุดเชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัย สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย เช่น การเพาะเห็ดพันธ์ใหม่ๆ ที่จะเป็นการเรียนรู้ในสาขาวิชาทางการเกษตรเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายต่อไป ขอให้ทุกท่านได้ตระหนักในการทำงานที่อยากจะทำเชื่อมต่อไปยังสภาวิทยาลัยของท่าน ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และงานที่ทำก็จะสำเร็จเร็วขึ้น แต่ละวิทยาลัยชุมชนมีความโดดเด่นเฉพาะทาง ทำอย่างไรที่จะช่วยกันและทำงานร่วมกันในระหว่างวิทยาลัยชุมชนในจังหวัดต่างๆ

ปรัชญาของวิทยาลัยชุมชนประการหนึ่งคือ อัตลักษณ์ ซึ่งก็คือการค้นหาความโดดเด่นและศักยภาพของท้องถิ่น ซึ่งวิทยาลัยชุมชนแต่ละแห่งจะต้องสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมา สภาจะต้องชี้นำและให้เกิดกระบวนการสร้างความรู้ของท้องถี่น และกระตุ้นให้สามารถทำงานสู่เป้าหมายเดียวกัน ในภาพรวม วิทยาลัยชุมชนแต่ละแห่งจะไม่เหมือนกัน และมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน หากจะทำให้วิทยาลัยชุมชนทุกแห่งเหมือนกัน ก็จะขาดอัตลักษณ์ของวิทยาลัยแต่ละแห่งไป

สุดท้ายขอให้ทุกท่านช่วยกันคิดและดำเนินการช่วยกันต่อไป ตัดความเป็นเจ้านายออกไปให้เป็นองค์กรที่ดำเนินการแนวราบมากกว่าแนวดิ่ง ปลุกจิตสำนึกทุกคนให้คิด ทำร่วมกัน กระจายอำนาจออกไป นั่นคือความสำเร็จของวิทยาลัยชุมชน เพื่อไม่ให้ผูกขาดในแนวนโยบาย จึงมีการจัดตั้งสภาอำเภอที่มาจากตัวแทนชุมชนด้วย เป็นการกระจายอำนาจของสภา โดยสภาจะมีวาระติดตามการประชุมของสภาอำเภอทุกเดือน สนส่วนของการทำงานร่วมกับผู้อำนวยการและพนักงาน สภาจะเกื้อหนุน แต่จะไม่ก้าวก่ายงานแบบการบังคับบัญชา ที่ผ่านมาก็จะมีการทำงานในเชิงนโยบายผ่านการสื่อสารทาง Email ไปยังเจ้าหน้าที่ระดับประสานงาน ซึ่งก็ได้ผลพอสมควร ในท้ายที่สุด ผมขอให้การประชุมในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท