BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

อนัตตลักขณสูตร ๓


อนัตตลักขณสูตร ๓

วันนี้ วันพระ... ผู้เขียนได้แสดงธรรมว่าด้วยอนัตตลักขณสูตรต่อจากครั้งที่แล้ว โดยเริ่มต้นได้ยกพระบาลีในพระสูตรซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสถามบรรดาภิกษุปัญจวัคคีย์ดังต่อไปนี้

  • ตํ กึ มญฺญถ ภิกฺขเว รูปํ นิจฺจํ วา อนิจฺจํ วาติ
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญข้อนั้นอย่างไร  รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ดังนี้
  • อนิจฺจํ ภนฺเต
  • ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า
  • ยมฺปนานิจฺจํ ทุกฺขํ วา ตํ สุขํ วาติ
  • ก็ สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ดังนี้
  • ทุกฺขํ ภนฺเต
  • เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า
  • ยมฺปนานิจฺจํ ทุกฺขํ วิปฺปริณามธมฺมํ กลฺลํ นุ ตํ สมนุปสฺสิตุง เอตํ มม เอโสหมสฺมิ เอโส เม อตฺตาติ
  • ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะพิจารณาเห็นว่า สิ่งนั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา ดังนี้
  • โน เหตํ ภนฺเต
  • ไม่ควร พระเจ้าข้า

ต่อจากนั้นก็ไ้ด้อธิบายว่า เมื่อนำเรื่องไม่เที่ยงและเป็นทุกข์มารวมกับเรื่องอนัตตา ซึ่งพระองค์ได้ตรัสก่อนหน้าแต่นี้ ก็จะเห็นได้ว่่าเป็นไตรลักษณ์นั่นเอง แต่พระพุทธเจ้าตรัสอนัตตาก่อน เพราะเรื่องไม่เที่ยงและเป็นทุกข์นี้ มีสอนกันทั่วไปในลัทธิศาสนาต่างๆ ส่วนเรื่องอนัตตานี้ เป็นของใหม่มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่เพิ่งตรัสสอน...

อนิจจังคือความไม่เที่ยง ก็ได้แก่ความไม่ยั่งยืน ไม่คงทนถาวร... ส่วนคำว่า ทุกข์ แปลตามศัพท์ว่า ทนสภาพเดิมได้ยาก ซึ่งอาจพูดง่ายๆ ว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็ไม่เที่ยง เพราะว่ามีความแปรปรวนคือเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดานั่นเอง...

เฉพาะประเด็นว่า รูปไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจไม่ยาก ดังเช่นได้มีการจำแนกลักษณะ ๔ ของรูป กล่าวคือ

  • อุจจยะ การก่อตัว เริ่มต้นตั้งแต่น้ำสมภพของบิดาผสมกับไข่ของมารดา แล้วมีปฏิสนธิวิญญาณเข้ามาถือครอง ซึ่งเป็นหยาดน้ำใส ขนาดหยาดน้ำที่ติดอยู่ปลายขนจามรี
  • สันตติ การสืบต่อ ต่อมาหยาดน้ำใสก็ค่อยขุ่นมัวคล้ายน้ำล้างเนื้อ ค่อยแปรเป็นชิ้นเนื้อคล้ายเนื้อแตงโมสุก แล้วรวมเป็นก้อนเนื้อ ก่อนจะแตกเป็นห้าปุ่มเรียกว่าปัญจสาขา ซึ่งเจริญเป็นศรีษะ๑ มือ ๒ ขา ๒ ต่อมา เมื่อได้เวลาก็จะคลอดออกจากครรภ์มารดา
  • ชรตา ความทรุดโทรม นั่นคือรูปหรือร่างกายพอเจริญเต็มที่ก็เริ่มเสื่อม และจะเสื่อมไปเรื่อยๆ จนถึง..
  • อนิจจตา ความไม่ยั่งยืน นั่นคือการกลับไปสู่สภาพเดิมหลังจากการตายนั่นเอง

 

ประการสุดท้ายที่ได้อธิบายก็คือ เมื่อเรารู้แล้วว่ารูปไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ก็ไม่ควรถือว่า...

  • นี้ของเรา เราเป็นนี้ นี้เป็นอัตตาของเรา

คำว่า นี้ ในที่นี้หมายถึงรูปหรือร่างกายนั้นเอง แต่สำนวนว่า นี้ของเรา เราเป็นนี้ นี้เป็นอัตตาของเรา นั้น เป็นสิ่งที่เข้าใจไม่ง่ายนัก ท่านพุทธทาสได้ถือเอาประเด็นนี้มาใช้เป็นสำนวนไทยๆ จนติดปากคนปัจจุบันว่า...

  • ตัวกู ของกู

สรุปว่า เมื่อเรารู้ว่า ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ก็ไม่ควรยืดถือว่าเป็นตัวกูของกู และธรรมเทสนาก็ได้จบตอนลงเพียงแค่นี้ วันพระหน้าก็จะแสดงต่อไปจากนี้แล้วค่อยนำมาเล่าต่อไป....

หมายเลขบันทึก: 252943เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2009 01:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สาธุ อนุโมทนาบุญค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท