ไกลตา ใกล้ใจ


ท่ามกลางผู้คนมากมายในสังคมที่เรา “รู้จัก” ทว่ามิอาจ “รู้ใจ”

เสียงโทรศัพท์บ้านดังขึ้น

ช่วงใกล้ ๕ ทุ่มของคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

เราเดินไปรับโทรศัพท์ด้วยความรู้สึกที่ทั้งแปลกใจ ทั้งกังวลใจ...ใครโทรมาดึกขนาดนี้นะ มีเรื่องอะไรหรือเปล่า?

 

“Hallo, c’est Thippawal?” เสียงปลายทางที่ตอบกลับมาเป็นภาษาฝรั่งเศสทำให้เราคิดคำนวณเวลา ถ้าที่เมืองไทย ๕ ทุ่ม ที่ฝรั่งเศสคงจะประมาณ ๖ โมงเย็นกระมัง

 

“ทิพวัลย์...เธอใช่ไหม?” เสียงปลายทางถามมาอีกครั้ง เป็นเสียงของใครบางคนที่เราคุ้นชิน

 

“Pierre, c’est toi...c’est vrai?” ...“ปิแอร์, เธอหรือ...ใช่เธอจริง ๆ หรือ?” เราถามกลับไปด้วยความดีใจ...จากนั้นบทสนทนาระหว่างเราสองคนก็เริ่มต้น...

 

เดือนกันยายน ๒๕๓๓... เราเดินทางไปเรียนต่อในสาขาพัฒนาการเกษตรด้วยทุนของรัฐบาลฝรั่งเศส โดยหลังจากที่ได้เรียนคอร์สภาษาฝรั่งเศสอย่างเข้มข้นอยู่ ๖ เดือนที่เมือง Vichy ครูเราคือ Prof.Dr.Marc Dufumier ต้องการให้เราได้ปรับตัวเพื่อเรียนรู้ด้านวิชาการและได้คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการศึกษาของฝรั่งเศส จึงวางแผนให้เราย้ายมาเรียนที่ Paris…เราเข้าเรียนคอร์สภาษาฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ในช่วงตอนเย็นและวันหยุด ส่วนวันธรรมดาครูให้เราเข้าชั้นเรียนวิชาต่าง ๆ ซึ่งเป็นหลักสูตรปีที่ ๒ ของสถาบันการเกษตรแห่งชาติ กรุงปารีส (INA-PG)...ที่นี่เอง ที่เราได้พบกับปิแอร์ หรือ Mr. Pierre Boudinot ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นเพื่อนรัก(มาก ๆ)คนหนึ่งของเรา

 

เรากับปิแอร์ได้เรียนด้วยกันเพียงประมาณปีครึ่ง เพราะปิแอร์ย้ายไปเรียนต่อในสาขา Immunology ที่สถาบันปาสเตอร์ ...แม้จะไม่ได้เรียนที่เดียวกันแล้วก็ตาม แต่เรากับปิแอร์รวมทั้งเพื่อน ๆ ในกลุ่มอีก ๔-๕ คนก็ยังคบหาใกล้ชิดสนิทสนมกันเรื่อยมา

 

ปิแอร์ไม่ค่อยชอบไปเดิน Musieums หรือเดินดูงานศิลปะตามแกลลอรีต่าง ๆ เหมือนเรากับเพื่อนอีกคน แต่สิ่งที่เราสองคนชื่นชมเหมือนกันคือการได้อยู่กับธรรมชาติ ขุนเขา ราวป่า ท้องฟ้า และสายน้ำ...เราทั้งสองชอบถ่ายภาพเหมือนกัน จึงมีภาพเรื่องราวของธรรมชาติที่บันทึกเก็บเป็น Slide Collection ...ยามมีเวลาก็เอามาดูกันมาอวดกัน...เวลาไปเดินป่า ปิแอร์ชอบดูนก ส่วนเราชอบหามุมสงบเพื่อหลับตาพักใจ

 

เมื่อเรียนจบปริญญาเอก ปิแอร์ทำ Postdoctorate ต่ออีก ๑ ปี จากนั้นก็เข้าทำงานในตำแหน่งนักวิจัยที่ INRA ซึ่งอยู่ชานกรุงปารีส แม้ปิแอร์ต้องทำงานหนักตาม life style ของนักวิจัยฝรั่งเศส และยังต้องมีชั่วโมงบรรยายพิเศษให้แก่นักศึกษาในหลายสถาบัน แต่ปิแอร์ก็มีเวลาให้เราเสมอ... โดยเฉพาะในช่วงที่เราคร่ำเคร่งเขียนงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ปิแอร์จะมาคอยช่วยตั้งคำถาม ชวนคิด ชวนคุย เพื่อให้เรา “ตกผลึก” ในการคิดและเขียนงาน...ที่สำคัญคือช่วยปรับแก้ภาษางานเขียนของเราให้สละสลวย กระชับ และได้ใจความ

 

หลังเรียนจบกลับเมืองไทยในกลางปี ๒๕๔๑ ด้วยบทบาทหน้าที่ของผู้ประสานงานโครงการความร่วมมือทางวิชาการไทย-ฝรั่งเศส และผู้ประสานงานโครงการวิจัยของประชาคมยุโรป ทำให้เราต้องเดินทางไปประชุมที่ยุโรปหลายครั้ง และทุกครั้งที่มีโอกาส... เราจะหาเวลาไปเยี่ยมปิแอร์ที่บ้านพักในปารีส

 

วันที่รู้ข่าวว่าปิแอร์จะแต่งงาน เป็นอีกวันหนึ่งที่เรารับรู้ถึงความเต็มตื้นในใจ... เพื่อนรักของเราจะมีใครบางคนมาคอยอยู่เคียงข้างเพื่อห่วงใยและดูแล เรามั่นใจว่าชีวิตคู่ของเพื่อนจะเต็มไปด้วยความสุข เพราะหัวใจของปิแอร์เพื่อนเราจะ "มั่นคง" เสมอ...สำหรับคนที่เขารัก

 

“ทิพวัลย์ เธอต้องมางานแต่งงานของฉันให้ได้นะ สัญญานะว่าเธอจะมา...” ปิแอร์ส่งเสียงมาตามสาย ตั๋วเครื่องบินไปกลับกรุงเทพฯ-ปารีส และตั๋วรถไฟ TGV ปารีส-ดิจงบ้านเกิดของปิแอร์เป็นสิ่งที่เพื่อนจัดเตรียมไว้ให้สำหรับเรา...เพื่อการเดินทางไปร่วมงาน

 

พิธีแต่งงานของเพื่อนเรียบง่ายและงดงาม เรามีโอกาสได้ทำความรู้จักกับ Sirje เจ้าสาวของปิแอร์ในวันนั้น หลังจากที่ได้รับรู้เรื่องราวของเธอผ่านคำบอกเล่าของปิแอร์มาหลายปี ...ตัวจริงของเธอน่ารักมาก เป็นผู้หญิงที่อ่อนโยน ใจดี ทว่าแฝงไว้ด้วยความเข้มแข็งอยู่ภายใน...

 

ปิแอร์และเรายังคงติดต่อกันเรื่อยมา ทางเมล์บ้าง โทรหากันบ้าง ส่งการ์ดถึงกันบ้าง แต่ด้วยภารกิจที่เพิ่มขึ้นของเราทั้งคู่ ทำให้เราขาดการติดต่อกันไปนานเกือบปี

 

สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ทว่า เสียงของเพื่อนที่สอบถามเรื่องราวสารทุกข์สุขดิบในชีวิตยังคงเป็นน้ำเสียงของ “ปิแอร์” เพื่อนคนเดิม ที่เราสัมผัสได้ถึงกระแสแห่งความรักและความห่วงใยเช่นที่เพื่อนเคยมีให้ตลอดมาเสมอ

 

ก่อนวางสาย...ปิแอร์บอกเราว่า “มีบางสิ่งที่อยากจะขอร้องเธอ สัญญาได้ไหมว่าเธอจะทำ?”

“อะไรหรือ ถ้าทำให้ได้ก็จะทำนะ” เราตอบ

 

“เธอต้องพักผ่อนบ้าง เธอทำงานหนักเกินไป สุขภาพเธอจะไม่ดี สัญญานะ... สัญญาว่าเธอจะทำงานให้น้อยลง อย่างน้อย ๓ ชั่วโมงต่อสัปดาห์” เสียงจากสายทางไกลของเพื่อนแจ่มชัด เราทั้งตื้นตันทั้งนึกขำในใจ... โธ่เอ๋ยนึกว่าจะขอสัญญาจากเราเรื่องอะไร

 

“๓ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็คือ ๒๖ นาทีต่อวันใช่ไหม คิดว่าน่าจะทำได้อยู่นะ...ขอบคุณมากที่เป็นห่วง ฉันให้สัญญาว่าจะทำงานน้อยลง..Oui, je te promiseเรากล่าวย้ำอีกครั้งด้วยความเป็นห่วงเพื่อนเช่นกันว่า “ปิแอร์ เธอก็ต้องพักผ่อนให้เพียงพอด้วยเหมือนกันนะ ...กินให้พอ นอนให้พอด้วยนะ”

 

ข้อความสั้น ๆ ในเมล์ที่เพื่อนส่งตามมาในวันรุ่งขึ้น ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นในใจ... ท่ามกลางผู้คนมากมายในสังคมที่เรา “รู้จัก” ทว่ามิอาจ “รู้ใจ” ท่ามกลางความรู้สึกที่ทับซ้อนและผลประโยชน์ที่ถูกกล่าวอ้างในนามของคำว่า “มิตรภาพ” ...ยังคงมีใครบางคนที่รัก ห่วงใย และปรารถนาดีกับเราอย่างจริงใจ

 

“คิดถึงฉันบ้าง และทุกครั้งที่คิดถึงฉัน จำได้ไหมว่า สัญญากันไว้อย่างไร ทิพวัลย์ ...เธอต้องทำงานให้น้อยลงนะ...สัญญานะ”

 

เราเขียนบันทึกนี้ด้วยความคิดถึงปิแอร์ อยากบอกเพื่อนรักอีกครั้งว่า...เราจะพยายามทำงานให้น้อยลง เราสัญญา...ขอบคุณสำหรับความรักและความห่วงใยที่เพื่อนมีให้ตลอดระยะเวลาเกือบ ๑๘ ปีที่เราสองคนได้รู้จักกันและเป็นเพื่อนกัน

 

แม้เราจะอยู่ห่างไกลกัน แต่ใจของเราอยู่ใกล้กันใช่ไหม

 

และสัญญานะว่าจะเป็นเพื่อนรักกันตลอดไป...

 

หมายเลขบันทึก: 253116เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2009 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ในทุกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป

ก่อนจะรู้อะไรใคร สมควรจะต้องรู้ใจตนเองก่อน

เมื่อรู้ตน เข้าใจตน สักวันหนึ่งก็คงได้รู้กฎแห่งกรรม

แวะมาเยี่ยมชม ทักทายครับ

สวัสดีครับ อ.ทิพวัลย์

อ่านบันทึกอาจารย์คิดอยู่สองสามประเด็นครับ

ประเด็นที่ ๑ คือ มิตรภาพที่ไร้พรมแดน

ประเด็นที่ ๒ คือ ความอบอุ่นของมิตรภาพ

ยิ่งอ่านยิ่งรับรู้ถึงความห่วงใยที่ปิแอร์มีต่อเพื่อนต่างชาติ เพื่อนที่ดี มีเพียงหนึ่งถึงจะน้อย ดีกว่ามีเป็นร้อยที่คอยคิดริษยานะครับ

อาจารย์มีความสุขดีนะครับ ในวันที่มีมหกรรมวิจัยเพื่อท้องถิ่น ไม่ได้เจอกัน ผมเองติดภารกิจที่ราชบุรีครับ ตอนนี้ผมก็เคลียร์งานไปส่วนใหญ่แล้วครับ รับงานอิสระ เเละเตรียมตัวเรื่องเรียนในเทอมต่อไป

ผมคงต้องได้รบกวนขอคำปรึกษาอาจารย์ในโอกาสต่อไป

ขอบคุณนะคะคุณ Andrew ที่แวะมาเยี่ยมค่ะ

และขอบคุณสำหรับข้อคิดเตือนใจ... ตัวเองมีความเห็นเช่นกันค่ะว่า ก่อนจะรู้อะไรใคร ต้องรู้ใจตนเองก่อน..ทว่า การรู้ใจตนเองได้นั้น เป็นเรื่องต้องฝึกฝน หากใจไม่สงบพอ ไม่นิ่งพอ ไม่สว่างพอ โอกาสที่จะรู้ใจ ดูใจตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะคะ

ที่สำคัญ เรื่องราวของ "วิชชาชีวิต" และ "กฎแห่งกรรม" เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้ ...ไม่รู้ไม่ได้ค่ะ เสียดายที่ไม่มีหลักสูตรนี้บรรจุในการเรียนการสอนของสถานศึกษา...คุณวุฒิสูงแต่คุณธรรมต่ำ...จึงเกิดปัญหามากมายในสังคมเช่นทุกวันนี้...

คงมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณ Andrew ว่าด้วยเรื่องเหล่านี้เพิ่มเติมนะคะ

 

สวัสดีค่ะคุณจตุพร

ใช่แล้วค่ะ...อันเพื่อนดีมีหนึ่งถึงจะน้อย ดีกว่าร้อยเพื่อนคิดริษยา...คนโบราณก็สอนสั่งกันมาแบบนี้

พี่ยังมีเพื่อนดี ๆ อีกมากมายหลายคนค่ะ ทั้งที่เป็นเพื่อนรุ่นเพื่อน เพื่อนรุ่นพี่ และเพื่อนรุ่นน้อง...มีทั้งเพื่อนคนไทยและเพื่อนหลากหลายชาติค่ะ หากมีโอกาสจะหาเวลาเขียนเล่าผ่าน Blog ให้ฟังค่ะ

พี่คิดว่าการที่เรามี "เพื่อนดี" ในชีวิต คงไม่มีความหมายเท่ากับการที่ตัวเราเองนั้นได้ทำหน้าที่ของ "เพื่อนดี" ให้กับคนอื่นด้วยหรือไม่..ความสุขจากการ "ได้ให้" นั้นยิ่งใหญ่กว่าการที่ "ได้รับ" เสมอค่ะ

เสียดายที่ไม่ได้เจอกันที่งานมหกรรมวิจัยเพื่อท้องถิ่นนะคะ งานนี้เป็นงาน "รวมมิตร" ซึ่งทำให้พี่ได้พบเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงคนทำงานขับเคลื่อนชุมชนจากทั่วทุกภาค การได้มาพบเจอผู้คนในสังคมที่มีสำนึกเดียวกันเป็นความสุขและความอบอุ่นใจค่ะ

มีสิ่งใดที่จะแนะนำคุณจตุพรได้ ยินดีเสมอนะคะ

สวัสดีคะอาจารย์ตุ้ม

อ่านแล้วซาบซึ้งมากคะ

ถ้ามีใครเห็นค่าในมิตรภาพของใครสักคนแบบนี้บ้าง คนนั้นก็คงจะตื้นตันและมีแรงทำเรื่องดีๆ อีกมากมาย

น่าดีใจแทนคุณปิแอร์ มีเพื่อนที่ซาบซึ้งในมิตรภาพจนถ่ายทอดความชื่นชมออกมาได้งดงามขนาดนี้

ขอบคุณอาจารย์ที่แบ่งปันสิ่งดีๆ ให้อ่านคะ

รัช

คุณ"ดอกไม้"คะ

ขอบคุณที่เข้ามาแวะเยี่ยม blog ค่ะ

และขอบคุณสำหรับภาพดอกไม้สีแดงในแจกันสีขาวที่สื่อความหมายแทนความรู้สึกจากใจได้มาก ๆ เลยค่ะ

สวัสดีค่ะหนูรัช

ขอบคุณหนูรัชเช่นกันนะคะ

ความซาบซึ้งที่หนูรัชมีต่อคุณค่าของมิตรภาพ ทำให้อาจารย์มี "แรงใจ" อยากจะเขียนถ่ายทอดเรื่องราวอีกมากมายที่ว่าด้วย "ความรักและมิตรภาพ" ในตอนต่อ ๆ ไปค่ะ

หากจัดสรรเวลาได้ลงตัว ...ปิแอร์คงได้มาเมืองไทยในปีหน้าค่ะ และหากมีโอกาสได้พาปิแอร์ลงใต้... อาจารย์จะพาเพื่อนไปทำความรู้จักกับหนูรัชนะคะ

นึกถึงคำว่า คนมีบุญเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท