ชีวิตนี้อุทิศเพื่อการแพทย์องค์รวม (๑/๒)


มาลาแด่อาจารย์ธันย์ ชีวิตนี้อุทิศเพื่อการแพทย์องค์รวม(๑/๒)

โดยนายแพทย์บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล

(คัดมาจากหนังสืออนุสรณ์ฯ หน้า  ๑๖๘-๑๗๑)

 

          “สมพรดีมากเลยนะ คุณทำได้ดีแล้ว” คุณหมอธันย์ซึ่งเป็นที่รู้จักของชาวมะเร็งเป็นจำนวนมากทักทายคุณสมพรคนไข้มะเร็งคนหนึ่งที่ผมส่งไปปรึกษา

          ครับ คุณหมอธันย์คนเดียวกับที่วงการแพทย์รู้จักท่านในชื่อเต็มๆ ว่า ศ.นพ.ม.ร.ว.ธันยโสภาคย์ เกษมสันต์  “คุณเคยเอาชนะก้อนมะเร็งที่ใหญ่มากจนยุบลงแบนราบด้วยความมานะพยายามของคุณ เที่ยวนี้คุณก็ยังจะต้องทำได้ เดี๋ยวหมอจะช่วยด้วยอีกแรงหนึ่ง”

          อาจารย์ธันย์ปลอบประโลมใจคนไข้ด้วยน้ำใสใจจริง รู้ทั้งรู้ว่าคุณสมพรมีมะเร็งที่ลามไปถึงกระดูก แต่ท่านก็ยังส่งเสริมให้กำลังใจคนไข้อย่างเต็มที่

 

          ผมเองเห็นว่ามะเร็งของคุณสมพรแม้ว่าจะเอาชนะมาได้ระดับหนึ่งด้วยการแพทย์แผนธรรมชาติ แต่เมื่อไปถึงกระดูกและคนไข้มีอาการปวดมากอย่างเหลือทน ก็น่าจะต้องใช้การฉายรังสีหรือเคมีบำบัด แม้จะเป็นชนิดกินบ้างก็ยังดี จึงได้ส่งคุณสมพรไปพบท่าน แม้จะต้องฝืนใจคนไข้ สู้รบกันทางจิตใจอย่างหนักให้เธอยอมไปหา

          ผลกลับปรากฏว่า ด้วย “ความดื้อเงียบ” ของคุณสมพรที่จะไม่ยอมรับการรักษาทางแพทย์แบบแผนอย่างเด็ดขาด กลายเป็น “ความดื้อเปิดเผย” ที่เธอไปโน้มน้าวอาจารย์ธันย์ว่าขอยืนยันที่จะใช้แต่การแพทย์แผนธรรมชาติต่อไป

          อาจารย์ต้อนรับดูแลคุณสมพรไว้ที่โรงพยาบาลอย่างเอาใจใส่ สรรหาวิธีอีกบางประการของการแพทย์แผนธรรมชาติเท่าที่จะหาได้ ที่รู้ว่าคุณสมพรยังไม่เคยได้รับการรักษาเพิ่มเติม นั่นเท่ากับช่วยเติมกำลังใจให้คุณสมพรอีกอักโข

 

          ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเห็นว่าคุณสมพรอย่างไรเสียก็ไม่ยอมรับวิธีการทางการแพทย์แบบแผนอย่างเด็ดขาด และด้วยเศรษฐกิจฐานะของคนไข้ก็คงสู้ค่ายาเคมีที่แพงระยับไม่ไหว นั่นเป็นปัญหาร่วมของคนไข้มะเร็งชาวไทยผู้ไม่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่โดยส่วนมาก ท่านก็เลยตัดสินใจสวมรอยบอกคุณสมพรว่า “ก็ไม่ต้องใช้มันแล้วกัน เจ้ายาเคมีน่ะ ผมเองที่ใช้อยู่ตอนนี้มันก็ดื้อยาแล้ว แพงก็แพง เจ้ามะเร็งที่ไปยังกระดูกของคุณสมพรนิดเดียวเอง ค่อยๆ ทำด้วยวิธีทานอาหารและการฝึกจิตที่คุรสมพรถนัดอยู่แล้วเถอะนะ”

          ท่านใช้ศิลปะชั้นสูงบอกสิ่งที่ต้องการจะบอกกับคนไข้ ให้เป็นสิ่งทีร้ายด้วยทรรศนะเชิงบวกอย่างแยบยล

          ตรงนี้แหละคือสิ่งที่แพทย์ควรจะศึกษาและสร้างเสริมให้มีอยู่ในตัวเองทุกลมหายใจ เรียกกันว่า การประกอบโรคศิลปะ มันเป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้โดยตรง แต่แพทย์แต่ละคนต้องสั่งสมให้มีอยู่อย่างท่วมท้นในจิตวิญญาณของตนเอง

 

          ท่าทีเช่นนี้ทำให้ผมนึกถึงอีกตัวอย่างหนึ่งของแพทย์กับคนไข้มะเร็ง เรื่องมีอยู่ว่า เจ้าตึ๋งเพื่อนรุ่นน้องของผมซึ่งเป็นศิลปินเพื่อชีวิตมาแต่อดีตจวบปัจจุบัน เขาเกิดมีอันเป็นมะเร็งที่สมอง เขาได้รับการฉายแสงหลายครั้ง ดีขึ้นบ้าง ทรุดลงบ้าง แต่ก็พยายามที่จะเรียนรู้การแพทย์แผนธรรมชาติอีกบางอย่างเพื่อไปดูแลตัวเองที่บ้าน

          และไม่รู้ว่าเป็นยังไง ในช่วงเวลาที่มะเร็งเกาะกินสมองของเขานั้น เขายิ่งสร้างสรรค์แต่งเพลงออกมา เพลงแล้วเพลงเล่าด้วยศิลปะจากจิตวิญญาณอันเหนือชั้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

          อยู่มาวันหนึ่งมีเพื่อนของน้องสาวที่เป็นแพทย์ไปเยี่ยมเจ้าตึ๋งถึงบ้าน ได้คุยกันอยู่สักพัก หมอที่ไปเยี่ยมอาจไม่ทันคิดว่า ตนเองกำลังอยู่กับคนไข้ เพราะตนไม่ได้อยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ก็เลยพูดขึ้นในวงสนทนาว่า “มะเร็งสมองน่ะ ไม่รอดหรอก ทางการแพทย์เราถือว่าไม่เกินสองเดือนเท่านั้นแหละ” นั่นนับว่าเป็นการทำนายโรคได้สาแก่ใจดีแท้ ๆ

          ได้ฟังดังนั้น เจ้าตึ๋งก็เลยบอกหมอผู้มาเยี่ยมคนนั้นไปว่า “ผมก็รู้อยู่ว่าต้องตาย แต่ผมก็อยากจะอยู่ให้ยาวไปอีกสักนิด ให้คุณค่าแก่ชีวิตยาวนานไปอีกสักหน่อย มันจะผิดหรือครับคุณหมอ”

          นี่แหละครับ ความหมายของความเป็นหมอนั้นมิได้หมายเพียงรักษาโรคให้หาย ความเฉียบเนี๊ยบไม่ได้อยู่ที่ทำให้ก้อนนั้นหมดไป แต่จุดมุ่งหมายของการแพทย์แบบองค์รวมนั้นคือการรักษาคนไข้ทั้งตัว ทั้งร่างกาย และจิตวิญญาณ รวมถึงสภาวะของเขาในแต่ละระยะที่มีต่อตนเอง ครอบครัว และสิ่งแวดล้อม

          ถ้าเจ้าตึ๋งอยู่ยืนยาวไปอีกสักนิด ได้รังสรรค์ศิลปะเพื่อชีวิต ฝากฟ้าสั่งดินไว้อีกสักหน่อยตามที่เขาเกิดมาเพื่อเป็นเพื่ออยู่ตามกำหนดชะตาของเขา นั่นก็น่าจะเป็นคุณค่าแห่งชีวิตที่การแพทย์องค์รวมประเมินค่าไว้ให้สูงยิ่งกว่าการเอาชนะก้อนนั้น หลายสิบเท่านัก

          และตรงนี้แหละคือคุณค่าที่ อาจารย์ธันย์โสภาคย์ บุรุษผู้อุทิศชีวิตบั้นปลายเพื่อการแพทย์องค์รวมได้สร้างสรรค์มาตลอดเวลาอันน้อยนิด นับจาการเป็นมะเร็งของท่านได้กำหนดให้ท่านหันเหชีวิตมาเดินบนเส้นทางนี้

          ครับ ท่านเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่แม้ผ่าตัดแล้วก็ยังพบว่าได้ลามไปถึงตับ ท่านดำเนินชีวิตอย่างธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบ กินอาหารแบบชีวจิต ออกกำลังกายตอนเช้า ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมต่อไป ด้วยการใช้ประสบการณ์ของตนเองที่เป็นมะเร็ง ให้เป็นประโยชน์ในการสอนคนไข้มะเร็งคนอื่นๆ ให้ประพฤติตาม

(มีต่อ)

นายแพทย์บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล จากคอลัมน์ธรรมชาติบำบัด มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๐๓๙ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๓และพิมพ์เผยแพร่ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หน้า ๑๕๘-๑๗๑

 

(ใช้บริการอ่านตัวเล่ม-วารสารเย็บเล่ม ได้ที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

 

หมายเลขบันทึก: 254713เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2009 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

"การรักษาคนไข้ทั้งตัว ทั้งร่างกาย และจิตวิญญาณ "

พี่อยากให้ทุกคนได้อ่าน และอยากให้เป็นบทสะกิดใจแพทย์ที่รักษาโรคเพียงอย่างเดียว รักษาแล้วๆกันกลับบ้านได้ หากโรคใบนี้มีคุณหมอแบบคุณหมอธันย์ พี่ว่าปริมาณผู้ป่วยลดลงมากอย่างแน่นอน

สาธุ และรูสึกตัวเองโชคดี ที่ได้รูจักท่านแม้เพียงจากบทความ งานเขียน ขอบคุณสวรรค์ค่ะ

  • พี่จ๊ะ..

อยากอ่านแบบนี้ล่ะจ๊ะ  ....

สวัสดีค่ะคุณพี่ครูต้อย

  • ขอบคุณความคิดเห็นค่ะ เชื่อมั่นว่าเราจะพบคุณหมอใจดี เข้าถึงจิตใจ จิตวิญญาณคนไข้มากขึ้นๆ ค่ะ

น้องจ๊ะ จ๊ะ

  • อยากอ่านแบบนี้คืออะไรเหรอจ๊ะ (พี่ออกอาการเบลอมากแล้วจ๊ะ)

เสียดายจังที่เพิ่งได้รู้จักงานท่านเมื่อท่านจากไปเสียแล้วคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท