6 สถานการณ์ ที่คนต่างด้าวมีสิทธิร้องขอเข้าสู่ทะเบียนราษฎรไทย


ในบทนี้ผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์มุ่งศึกษาว่ามีคนต่างด้าวในสถานการณ์ใดบ้าง ที่กฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยกำหนดให้สิทธิที่จะได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย ซึ่งจากการศึกษาค้นคว้าปรากฎว่า กฎหมายนี้ให้สิทธิแก่คนต่างด้าวที่จะร้องขอเข้าสู่ทะเบียนราษฎรของรัฐไทยใน ๖ สถานการณ์ ดังต่อไปนี้

 

2.1      กรณีคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย และมีสิทธิอาศัยชั่วคราว

จากการศึกษาค้นคว้า ผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์พบว่าโดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว สิทธิเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายของคนต่างด้าวย่อมเป็นไปตามหลักความยินยอมของรัฐ(consent of state)เจ้าของดินแดน ที่จะยินยอมให้คนต่างด้าวเข้ามาในดินแดนของตนหรือไม่ ก็ได้ ซึ่งนานาอารยประเทศได้กำหนดเงื่อนไขในการเข้าเมืองของคนต่างด้าวไว้ในกฎหมายของตนที่ว่าด้วยการเข้าเมือง ในกรณีของประเทศไทย กฎหมายนั้น ก็คือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2470 และในปัจจุบัน ก็คือ พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2542[1]

จะเห็นว่า มีคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย และมีสิทธิอาศัยชั่วคราวในประเทศไทย ซึ่งได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยประเภททะเบียนบ้าน ทั้งนี้ เพราะกฎหมายไทยยอมรับให้มีสิทธิร้องขอเข้าสู่ทะเบียนบ้านมาตั้งแต่ พ.ศ. 2526  ดังปรากฎว่ากระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครองได้นำระบบเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักมาใช้กับการบริหารจัดการประชากรของประเทศ โดยการนี้ได้กำหนดแบบพิมพ์ทะเบียนบ้านสำหรับคนสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยด้วย

เอกสารที่แสดงความเป็นคนต่างด้าวที่มีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนอยู่ชั่วคราว ก็คือ  ทะเบียนบ้าน ประเภท ท.ร.13 ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง[2] แห่งพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 และข้อ 45[3] แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร  .ศ. 2535

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ทำวิทยานิพนธ์จึงขอนำเสนอ ตัวอย่างกรณีศึกษาของคนต่างด้าวในประเภทนี้ ดังต่อไปนี้

กรณีศึกษาที่ 1  ว่าด้วยคนต่างด้าวที่เกิดนอกประเทศไทย ซึ่งเข้าเมืองมาโดยชอบด้วยกฎหมาย และได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว: กรณีนายบุญยืน สุขเสน่ห์

ตามที่ผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของลุงบุญยืนในบทที่ 1 แล้ว จึงขออธิบายความเพิ่มเติม ว่าลุงบุญยืน เป็นคนสัญชาติอเมริกัน ที่เข้ามาในประเทศไทยโดยถือหนังสือเดินทางของประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับอนุญาตให้เข้ามาอาศัยอยู่เป็นการชั่วคราวในฐานะนักธุรกิจ(ถือวีซ่านักธุรกิจ) โดยเข้ามาตั้งบ้านเรือนในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2521 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 30 ปี แล้ว แต่ลุงบุญยืนเพิ่งได้ทำการเพิ่มชื่อ มาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 โดยการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านสำหรับบุคคลที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรในลักษณะชั่วคราว(ท.ร.13) และได้รับการกำหนดเลขประจำตัวประชาชนเป็น  6-5402-01009-02-6 สำเร็จเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ลังจากผ่านการต่อสู้กับความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่มาตั้งแต่ พ.ศ.2540 [4]

ะเห็นได้ว่าลุงบุญยืนต้องใช้เวลานานหลายปีเพื่อเข้าสู่การบันทึกในทะเบียนราษฎร ทั้งที่ควรจะได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรตั้งแต่ พ.ศ.2526 อย่างไรก็ดีเนื่องจากสิทธิที่จะได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรเป็นสิทธิที่คนต่างด้าวที่จะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้

และขอตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากคนต่างด้าวที่มีรัฐเจ้าของสัญชาติเช่นลุงบุญยืนแล้ว อาจมีสถานะการณ์ที่คนต่างด้าวไร้สัญชาติที่เข้าเมืองมาโดยเข้าเมืองมาโดยชอบด้วยกฎหมาย อาทิ คนต่างด้าวในค่ายผู้ลี้ภัยซึ่งถูกส่งต่อไปยังประเทศที่สาม และได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐต่างประเทศแล้ว เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้งโดยถือหนังสือเดินทางของรัฐต่างประเทศ กรณีนี้ย่อมถือได้ว่าคนต่างด้าวนั้นเข้าเมืองมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งรัฐไทยเองก็สิทธิที่จะยอมรับให้คนต่างดาวนั้นอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวหรือไม่ก็ได้



[1] บทบัญญัติที่ให้สิทธิอาศัยมีอยู่ด้วยกัน  2 มาตรา กล่าวคือ มาตรา 34 สำหรับกรณีประเภทการอาศัยอยู่ และ มาตรา 35 สำหรับกำหนดระยะเวลา โปรดดูภาคผนวกที่

[2] มาตรา ๓๘วรรคหนึ่ง  ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร  ในกรณีผู้มีรายการในทะเบียนบ้านพ้นจากการได้รับอนุญาตหรือผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร  ให้นายทะเบียนจำหน่ายรายการทะเบียนของผู้นั้นโดยเร็ว

(ม. ๓๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดย ม. ๒๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑)

[3] ข้อ ๔๕  ทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๓) ใช้ลงรายการของคนที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่     อยู่ในลักษณะชั่วคราวหรือเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

[4] ผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์จะได้อธิบายถึงปัญหาและอุปสรรคในการเข้าสู่ทะเบียนราษฎรของลุงบุญยืน โดยละเอียด ในบทที่ 4 หน้า...

หมายเลขบันทึก: 255332เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2009 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แยกระหว่างสิทธิในทะเบียนบ้านตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร และสิทธิในความเป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมายให้ออกนะคะ

เป็นคนละสิทธิ และต่อเนื่องกันค่ะ

และในงานเขียนนี้ จะต้องพูดถึงวิธีการร้องขอแล้วค่ะ

ระหว่างบทที่ ๑ และ ๒ จะพูดเรื่องเดียวกันนะคะ

ไหม

ขออนุญาแสดงความเห็นแบบ "อ่านเอาเรื่อง" นะ

หัวข้อ 2.1

ย่อหน้าที่ สอง- ผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์พบว่า โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว สิทธิเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายของคนต่างด้าวย่อมเป็นไปตามหลักความยินยอมของรัฐ(consent of state)เจ้าของดินแดนที่จะยินยอมให้คนต่างด้าวเข้ามาในดินแดนของตนหรือไม่ ขอทราบแหล่งที่มาของข้อค้นพบนี้ด้วยค่ะ

-ย่อหน้าที่ สาม- จะพยายามบอกอะไร เพราะดูไม่เป็นเหตุเป็นผลกันเท่าไรนัก กับการบอกว่า ---การมีคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎร เพราะว่ากม.ไทยยอมรับสิทธิให้คนต่างด้าวสามารถร้องขอฯ แล้วเกี่ยวอะไรกับการเอาระบบเลข 13 หลักมาบริหารจัดการ

-สงสัยข้อเท็จจริง การที่ลุงบุญยีนเพิ่งได้รับการบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎร เป็นเพราะ “ความไม่เข้าใจของจนท.” อย่างเดียว –ใช่หรือไม่ หรือลุงบุญยืนเองก็ไม่รู้ และเพิ่งจะรู้และเพิ่งดำเนินการ ..ว่าแต่ว่า มันเริ่มต้นเมื่อไร การลงมือที่จะทำให้ชื่อตัวเองเข้าไปในทะเบียนราษฎรอ่ะ

จะรออ่านอีกนะ

เห็นด้วยกับอ.แหววนะ

ช่วงแรก ๆ ยังอธิบายถึงการเข้าเมือง แต่กลาง ๆ และตอนท้าย จะเป็นเรื่องทะเบียนราษฎร ถ้าจะเป็นทะเบียนราษฎร ก็น่าจะมีการเกริ่นด้วยดีป่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท