ป่าลั่น


การใช้และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ.... ที่มาของวิถีชีวิตและระบบสวัสดิการชุมชน

“แดดส่องฟ้า...

เป็นสัญญาวันใหม่...

พวกเราแจ่มใสเหมือนนกที่ออกจากรัง

ต่างคนรักป่า ป่าคือความหวัง

เลี้ยงชีพเรายังฝังวิญญาณนานไป...

 

เรากลับมาจากการลงพื้นที่ภาคใต้ได้หลายวันแล้ว ทว่า เรื่องราวของชุมชนป่าต้นน้ำคลองครามยังคงประทับอยู่ในความทรงจำ

 

ลูกศิษย์ปริญญาโท...ผู้การหรือพันเอกพงษ์เทพ ประกอบศุขราษฎร์...นายทหารจากกองทัพภาคทึ่ 4 จ.นครศรีธรรมราช ได้รับมอบหมายให้ทำงานด้านการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ จึงสนใจมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในสาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนหรือที่เรียกกันสั้น ๆว่า “SLUSE”

 

ผู้การเลือกชุมชนบ้านหน้าถ้ำ ในเขตป่าต้นน้ำคลองคราม ต.ท่าอุแท อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ศึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ ...ป่าต้นน้ำซึ่งมีชื่อจากลำน้ำที่ใสจนเป็นสีครามนี้ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าชัยคราม-ป่าประดู่ ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด

 

ผู้การพาเราไปรู้จักกับแกนนำชุมชนหลายท่าน รวมทั้งปลัดอบต.ท่าอุแท ในวันแรกของการลงพื้นที่ คือ วันที่ 7 เมษายน 2552 ณ ศาลาประชาคมประจำหมู่บ้าน...ซึ่งชุมชนจะมารวมตัวกันในทุกวันที่ 7 ของเดือน ซึ่งเป็น “วันทำการ” ของกลุ่มการเงินชุมชนและกองทุนสวัสดิการชุมชน...เราได้เรียนรู้วิธีคิดและวิถีชีวิตของชุมชนผ่านคำบอกเล่าของ “ด้วง” และ “พี่หลุบ” ซึ่งเป็นทั้งแกนนำของชุมชนบ้านหน้าถ้ำ และเป็นคณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์์ป่าต้นน้ำคลองคราม

 

นอกจากด้วงและพี่หลุบแล้ว ผู้ที่เป็น“บุคคลกุญแจ” หรือ “Key Person” ที่ให้ข้อมูลสำคัญ ๆ ในการลงพื้นที่ครั้งนี้คือ โอเล่ พี่แมว ลุงหลั่น และพระอาจารย์ต้อย ซึ่งทำให้เราได้รู้จักชุมชนและพื้นที่นี้ในมิติต่าง ๆ ที่หลากหลายเพิ่มขึ้นอีกมาก

 

ประวัติการก่อเกิดและการตั้งถิ่นฐานของชุมชนบ้านหน้าถ้ำไม่ต่างไปจากชุมชนอื่น ๆ ในเขตพื้นที่ป่าสงวนที่เราได้เคยลงเรียนรู้ศึกษาในพื้นที่ภาคอื่น ๆ นั่นคือ การจับจองและแสวงหา “ที่ดินทำกิน” ...ชาวบ้านกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ชุมชนนี้มาจากอ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช... จากนั้นพี่น้องจากอ.หัวไทร อ.ขนอม และอ.เมืองนครศรีธรรมราชก็ติดตามมาจับจองพื้นที่ทำกินอย่างต่อเนื่อง

 

พื้นที่ที่นี่เคยเป็นเหมืองแร่วุลแฟรมมาก่อน... ป่าจึงถูกทำลายและตัดโค่นจากสัมปทานเหมืองแร่ และถูกทำลายซ้ำจากการได้รับสัมปทานไม้ของกลุ่มนักธุรกิจ

 

พื้นที่นี้เคยเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย...โอเล่ แกนนำคนสำคัญของกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำคลองคราม ที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาอยู่ในชุมชนนี้ตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบ ชี้ให้เราดูกลุ่มก้อนหินใต้โคนไม้ที่ในอดีตเคยเป็น “บังเกอร์” มาก่อน... ตรงนั้นเคยเป็นเรือนนอน...พักกันได้เกือบ 30 คน...ฯลฯ เรื่องราวที่เราได้รับรู้จากคำบอกเล่าของผู้คนในพื้นที่ช่างเป็นประวัติศาสตร์ที่มี “ชีวิต” ...เรานึกภาพและจินตนาการตาม...30 ปีที่แล้ว ป่าที่นี่คงสมบูรณ์กว่านี้มาก...

 

วิถีชีวิตของผู้คนชุมชนบ้านหน้าถ้ำอิงอยู่กับการผลิตทางการเกษตรและการใช้ประโยชน์จากป่า... “สวนสมรม” ที่ปลูกพืชหลากหลายชนิดทั้ง ทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ หมาก มะพร้าว มะละกอ รวมทั้งสวนยางพารา ตลอดจนผักชนิดต่าง ๆ เช่น ข้าวโพด แตงร้าน พริก เป็นที่มาของรายได้ที่เป็นตัวเงิน ในขณะที่ “ป่า” เป็นที่พึ่งพิงของชุมชนทั้งในด้านอาหารและยารักษาโรค...เหรียง เนียง ชะมวง ผักหวาน ผักกูด มะเขือพวง เห็ด น้ำผึ้ง สะตอ และสมุนไพรชนิดต่างๆ ...ซึ่งนอกจากจะเก็บไว้กินไว้ใช้ในครัวเรือนแล้ว ยังนำไปขายเป็นรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

ชุมชนที่นี่เคยเข้าร่วมโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย ภูมินิเวศน์ภาคใต้ตอนบน...จึงมีทุนทางความคิดที่สำคัญในด้านการผลิตตามแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน โดยเฉพาะการลด ละ เลิก การใช้สารเคมี การปลูกพืชที่หลากหลายเพื่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ตามแนวทางของ “สวนสมรม” และ การพลิกฟื้นความสมบูรณ์ของป่าในรูปแบบของ “วนเกษตร” ...

 

ผู้การและแกนนำชุมชนพาเราไปเรียนรู้เส้นทางเดินของศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าต้นน้ำคลองคราม...ที่ซึ่งเราได้รู้จักกับพันธุ์ไม้นานาชนิดที่มีทั้งประโยชน์และอันตราย ...ต้นไม้ที่ใหญ่มากขนาด ๑๐ คนโอบ ...ลำธารที่มีน้ำใสจนมองเห็นฝูงปลาที่แหวกว่าย..หน้าผาสูงชันอันเป็นที่อยู่ของรังผึ้งป่า...

 

เรายังจำได้ดีถึงเหตุการณ์ในวันที่ 9 เมษายน.. วันที่ฝนตกตลอดทั้งวัน..พวกเรา 3 คนคือ ผู้การ อ.ภีม และเรา เดินทางขึ้นเขาไปที่ "พุทธสถานธรรมธาราวิเวการาม" เพื่อสอบถามข้อมูลหมู่บ้านและสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ต้อย... ในขณะที่ทีมสาว ๆ อีก 3 คน คือ หนูรัช หนุแอน และหนูปุ๊ก สอบถามข้อมูลการผลิตและการยังชีพของชุมชนอยู่ในหมู่บ้าน ...ประมาณบ่ายโมง พี่หลุบขี่รถมอเตอร์ไซด์มาบอกพวกเราที่วัดว่าน้ำป่ากำลังมาให้รีบกลับลงไปที่หมู่บ้าน เพราะหากน้ำหลาก ระดับน้ำสูง รถยนต์จะวิ่งผ่านสะพานที่ข้ามลำธารไม่ได้...จากวัดไปที่หมู่บ้าน เราต้องข้ามสะพานถึง 2 จุด...

 

เราตกตะลึงกับภาพน้ำที่หลากท่วมเสาปูน 2 ต้นที่วางพาดเป็นสะพาน...พี่หลุบ อ.ภีมและชาวบ้านช่วยกันยืนเป็นแนวบนเสาปูนเพื่อให้ผู้การคาดคะเนทิศทางของล้อรถ...ส่วนเรา...หลังลงจากรถก็ยืนอธิษฐานจิตเอาใจช่วย...ผู้การขับรถผ่่านน้ำที่กำลังไหลหลากไปได้อย่างปลอดภัย...พี่หลุบย้อนกลับมาพาเราเดินข้ามกระแสน้ำ...มือของพี่หลุบที่ยึดจับมือเราไว้ช่างมั่นคง...เราได้เรียนรู้เทคนิคการเดินอย่างไรให้ปลอดภัยในกระแสน้ำหลากจากพี่หลุบนี่เอง

 

สำหรับสะพานที่สอง...เราค่อยคลายความตื่นเต้นและตกใจได้บ้างแล้ว จึงมายืนคอยกำกับทิศทางล้อรถ ซึ่งผู้การได้พารถวิ่งข้ามผ่านสะพานนี้อย่างปลอดภัยเช่นกัน...

 

พวกเราเปียกปอนกันทุกคนจากการเดินฝ่าสายฝนมายังบ้านพี่หลุบซึ่งเป็นที่ตั้งวงข้าวมื้อกลางวัน...ด้วงและแกนนำชุมชนอีกคนตามมาสมทบด้วย...บทสนทนาท่ามกลางฝนพรำเต็มไปด้วยเนื้อหาที่ตอบโจทย์งานวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้...การใช้และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ...ที่มาของวิถีชีวิตและระบบสวัสดิการชุมชน...

 

กว่าจะออกหมู่บ้านก็เย็นย่ำแล้ว พวกเราต้องรอให้ฝนหยุดและน้ำในลำธารลดลงก่อน จึงจะกลับออกไปได้ เพราะต้องข้ามสะพานอีก 1 แห่งตรงถนนทางเข้าหน้าหมู่บ้าน

 

ก่อนกลับ...เราบอกกับชุมชนว่า เราจะกลับมาเยี่ยมบ้านหน้าถ้ำและป่าคลองครามอีก

 

คิดถึงแววตาอันอ่อนโยนและคำพูดที่เต็มไปด้วยความเมตตาของพระอาจารย์ต้อย... คิดถึงรอยยิ้มของด้วง พี่หลุบ พี่แมว ลุงหลั่นและโอเล่ ...เสียงเพลงป่าลั่น..เพลงที่เราชอบร้องตอนเดินป่าดังขึ้นมาในใจ

 

“....เสื้อผ้าขี้ริ้วพลิ้วเพราะแรงลมเป่า

กลิ่นไอพวกเรา เขาคงจะเดินเมินหนี

คราบไคลไหนเล่าเท่าคราบโลกีย์

เคล้าอเวจีหามีใครเมินมัน...

 

โลกจะหมองครองน้ำตาความเศร้า

แบ่งกันว่าเขาและเรา...เศร้าจริงใจฉัน

ป่ามีน้ำใจ ใสแจ่มทุกวัน

รักป่าไหมนั่น เมื่อป่าลั่นความจริง...

 

ยังมีเรื่องราวประทับใจอีกมากมายจากการลงพื้นที่ที่ไม่ได้เล่า...

 

หมายเลขบันทึก: 255921เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2009 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สมบุกสมบันมากเลยค่ะอาจารย์ ดูแลสุขภาพดีๆ นะคะ เพลงนี้ได้ยินทีไรนึกถึงสมัยมัธยมต้น โรงเรียนเปิดไว้ให้กายบริหารตอนเช้าค่ะ : ) ฟังแล้วสดชื่น เดี๋ยวนี้น้องชายยังชอบเอามาแกล้งร้องปลุกอยู่เลยค่ะ โดยเฉพาะท่อนนี้ "ตื่นเถิดหนาอายนกกามันบ้าง แผ่นดินกว้างขวาง ถางคนละมือละไม้" คือเปิดพวกค้างคาวไปหน่อย อยู่เฝ้ายามถึงตีสามก็เลยตื่นซะเก้าโมงเป็นประจำ ^ ^

แหะๆ พิมพ์ไวไป แก้คำผิดค่ะ ไม่งั้นจะงง "คือเปิดเป็นพวกค้างคาวไปหน่อย"

สวัสดีค่ะหนูซูซาน

วันก่อนพี่เข้าไปpost ในblog ของหนู ตั้งใจจะสวัสดีวันสงกรานต์น่ะค่ะ แต่เป็นไรไม่รู้...postไม่ได้ค่ะ สงสัยเครื่องคง hang...

เมื่อไหร่จะได้นัดเจอกัน ได้คุยกันแบบจริง ๆ จัง ๆ เสียทีคะ...คิดถึงค่ะ

แดดส่องฟ้า...

เป็นสัญญาวันใหม่...

พวกเราแจ่มใสเหมือนนกที่ออกจากรัง

เพลงๆ นี้ผมยังร้องติดปากมาจนบัดนี้เลยครับ  มันช่วยให้แต่ละเช้าของชีวิตเป็นเช้าชื่นที่มีความหวัง...

...

ขอให้ชีวิตชื่นเย็นเหมือนสายน้ำ นะครับ

ขอบคุณค่ะ

ขอให้ชีวิตสดใสชุ่มเย็นเช่นสายน้ำด้วยเช่นกันนะคะคุณแผ่นดิน

สายันต์ กองแก้วจินดา

เรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ ผมเป็นเพื่อนกับผู้การ ไม่เจอกันมานานมาก อยากติดต่อกับผู้การ ไม่ทราบท่านอาจารย์มีเบอร์ของผู้การป่าวคับ หรือแจ้งผู้การให้ทราบตามชื่อหรือตามอีเมล ก็ได้คับ เบอร์โทร 089-9088966 ขอบคุณล่วงหน้าคับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท