ฉัน หนัง และความเชื่อมโยง ตอนที่ 1


การเรียนรู้จากสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นคือหนทางของการพัฒนา

จากโรงเรียนโคลัมไบน์ ถึงหนังเรื่อง Bay side Shakedown และช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา

   ตั้งแต่วันที่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นที่โรงเรียนมัธยมปลายโคลัมไบน์ เมืองลิตเทิลตัน รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา สิ่งใดที่เคยเป็นมาและมีข้อบกพร่อง ก็ได้ถูกนำมาศึกษาและนำมาแก้ไข โดยเฉพาะการทบทวนในประเด็นเรื่อง การเตรียมตัวรับมือและการตัดสินใจแบบฉับพลัน

ทำไมถึงต้องกล่าวถึงโรงเรียนมัธยมปลายโคลัมไบน์?

หากจะนับวันถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว และเป็นเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวถึงมากมาย ไม่ว่าจะในรูปของข่าว บทความ หรือภาพยนตร์ที่ถูกนำมาเล่าใหม่ในรูปแบบของหนังเรื่อง Bowling for Columbine (2002)

ที่สำคัญการกล่าวถึงเรื่องดังกล่าว ไม่เคยมีสักครั้งที่จะพูดถึงเรื่องนี้โดยปราศจากการเชื่อมโยงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าหากัน เช่น หากไม่เชื่อมโยงเหตุการณ์นี้เข้ากับความรุนแรงที่ว่ากันว่าได้รับจากสื่อไม่ว่าจะจอเงินหรือจอแก้วก็ตาม (เช่น หนังโหดๆ ประเภท Old Boy ฯลฯ) หรือแม้กระทั่งโยงสิ่งร้ายๆ ที่เกิดขึ้นว่าเป็นผลพวงมาจากเกมคอมพิวเตอร์ที่เขาว่ากันว่ามือปืนทั้งสอง (ในเหตุการณ์นี้) คลั่งไคล้เกม Doom (ซึ่งโด่งดังมากในสมัยนั้น) ซึ่งความเป็นจริงเป็นอย่างไร ฉันเองก็ไม่รู้ เพียงแต่ฉันเห็นว่ามันมีประเด็นที่น่าสนใจ

ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามบทความที่ได้อ่าน*เขาบอกว่า "เจ้าหน้าที่ชุดแรกที่ไปถึงที่เกิดเหตุ ไม่เคยได้รับการฝึกรับมือกับสถานการณ์ที่คนร้ายต้องการกระทำเพียงอย่างเดียวคือการ "ฆ่า" และเป็นการ "ฆ่า" ที่ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้อเรียกร้อง ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยใดๆ ทั้งสิ้น สิ่งเดียวที่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดแรกถูกฝึกมาให้รับมือกับสถานการณ์คล้ายๆ แบบนี้คือ การรอหน่วยสวาท เพียงเท่านั้น" ซึ่งกว่าที่หน่วยสวาทจะมาเด็กนักเรียนและครูก็ตายกันไปเป็นเบือ ที่สำคัญมือปืนก็ไม่ได้อยู่ให้จับเสียด้วย เพราะยิงตัวตายไปแล้ว สรุปว่าไม่ทันการณ์อะไรใดใดทั้งสิ้น

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับหนังเรื่อง Bay side Shakedown  และช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา?

เรื่อง Bay side Shakedown เป็นหนังตลกคอเมดี้ของญี่ปุ่น ที่ฉันมองว่า เล่าเรื่องสำคัญผ่านเรื่องตลก ทำเรื่องตลกให้กลายเป็นเรื่องจริงจัง หนังเรื่อง Bay side Shakedown 2 มีประเด็นสำคัญที่ฉันมองเห็นก็คือ การรอการตัดสินใจจากคนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ คือในเรื่อง มีตอนหนึ่งที่ผู้ร้ายมีอาวุธปืนและจับผู้หญิงเป็นตัวประกัน ยืนส่ายปืนไปมาอยู่ในที่สาธารณะ (ลานกว้างๆ และอยู่ในเขตเมือง) ใกล้ๆ กันมีเด็กผู้หญิงที่พลัดหลงกับผู้ปกครองยืนร้องไห้จ้า ถัดออกมารอบๆ ประชาชนเริ่มวิ่งหนี และมีทั้งตำรวจท้องถิ่นและหน่วยสวาทเข้ามาล้อมกรอบผู้ต้องหารายนี้ หน่วยสวาททำอย่างเดียวคือ รอคำสั่งจากศูนย์บัญชาการว่าจะให้ทำอย่างไร สิ่งที่ทำได้คือการถือปืนเล็งและรอคำอนุมัติหรือคำสั่ง "ยิง" ซึ่งศูนย์บัญชาการต้องตัดสินใจ แต่ผู้บัญชาการฯกลับไม่กล้าตัดสินใจ เพราะกลัวลูกหลงโดนประชาชน จึงลังเล ท้ายที่สุด เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นที่วิ่งเข้าไปช่วยอุ้มเด็กให้พ้นรัศมีของปืน แต่ตัวเจ้าหน้าที่กลับโดนปืนซะเอง และผู้ร้ายก็หนีไปได้ ...และนี่คือประเด็น เพราะเจ้าหน้าที่ถูกฝึกมาให้รับมือกับการรอคำสั่ง

ส่วนเหตุการณ์ช่วงที่ผ่านมา ในการบุกเข้าไปที่โรงแรมที่พัทยาทำลายการประชุมอาเซียน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็น่าเห็นใจ เพราะถูกมองว่า ปล่อยให้เข้าไปได้อย่างไร ...และนี่ก็คือประเด็น เพราะเจ้าหน้าที่ถูกฝึกมาให้รับมือกับการรอคำสั่ง

ประเด็นก็คือ จากเหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนมัธยมปลายโคลัมไบน์ ทำให้ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วอเมริกาได้รับการฝึกหัดให้รับมือกับเหตุการณ์ในลักษณะนี้ได้ดีขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุสลดใจเช่นในวันนั้น ส่วนเหตุการณ์ในหนังเรื่อง Bay side Shakedown 2 ตอนท้ายก็ต้องมีการเปลี่ยนผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจให้มีความเด็ดขาดมากขึ้น โดยผู้บัญชาการตามท้องเรื่องคนใหม่ได้ให้อำนาจแก่ตำรวจท้องที่ที่จะกระทำการตามแต่เห็นสมควร เพราะเรื่องบางเรื่อง มันรอไม่ได้ และต้องอาศัยการตัดสินใจแบบฉับพลัน ส่วนเหตุการณ์ในช่วงสงกรานต์ของบ้านฉันนั้น ฉันแค่เห็นใจตำรวจและอยากให้ทำแบบสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการเกิดเหตุที่โรงเรียนมัธยมปลายโคลัมไบน์ นั่นคือ การฝึกให้ตำรวจได้รู้จักรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ฝึกวิธีรับมือและป้องกันสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกสถานการณ์ เพราะฉันเชื่อว่าการเรียนรู้จากสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นคือหนทางของการพัฒนา และฉันก็ไม่แน่ใจว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบโรงเรียนมัธยมปลายโคลัมไบน์ เจ้าหน้าที่ของเรามีวิธีรับมือแล้วหรือยัง?

หมายเหตุ

*อ้างอิงบทความเกี่ยวกับโรงเรียนมัธยมปลายโคลัมไบน์จากคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันอังคารที่ 21 เมษายน 2552

 

หมายเลขบันทึก: 256473เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2009 22:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 01:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ประเทศไทยปฏิรูประบบการศึกษาพร้อมๆ ญี่ปุ่น (สมัย ร.5) แต่ก็พัฒนาไปไม่เท่าเทียมกับประเทศญี่ปุ่น

หากมองในแง่ดีก็คือ ถึงเด็กไทย ฉลาดน้อย  ผลิตรถยนต์ คอมพิวเตอร์ ซีดีโป๊ ฯลฯ ส่งออกนอกเองไม่ได้ แต่ว่า ปัญหาการทำ อัตวินิบาตกรรม หรือปัญหาการ ฆาตกรรมหมู่ ก็มีร้อยละเฉลี่ยน้อยกง่าประเทศที่ เจริญทางวัตถุ อย่างเช่นญี่ปุ่น หรือสหรรัฐ


อภิธานศัพท์
อัต(ตะ)
=ตัวตน

วินิต=ฝึกหัดหรืออบรม, ทำให้ละพยศหรือละทิฐิมานะ, ปกครอง.
(ป., ส. วินีต). ในที่นี้หมายถึงคุก หรือ นรกนั่นเอง เพราะคุก และนรก เป็นสถานที่ ฝึกหัดคนให้ กลัวบาป ทำให้ละพยศ และสำนึกในความชั่วที่ตนเคยกระทำ (ถ้าไม่เชื่อก็ลงไปตกนรกกันดูนะครับ)

บาต=ตก, ตกไป, มักใช้ประกอบหลังคําอื่น เช่น อสนีบาต = การตก
 แห่งสายฟ้า คือ ฟ้าผ่า, อุกกาบาต = การตกแห่งคบเพลิง คือ แสง
 สว่างที่ตกลงมาจากอากาศ. (ป. ปาต). 

กรรม=กระทำ

อัตวินิบาตกรรม = กระทำแล้วต้องตกนรกด้วยตนเอง? (เพราะไม่มีใครตกนรกแทนกันได้ ว่าแต่ว่า กระทำอะไร ที่ต้องตกนรก อ๋อ ก็กระทำการฆ่าตัวตาย นั่นเอง ศาสนาพุทธเชื่อว่า การฆ่าตัวตายเป็นบาปมหันต์ อุปมาเหมือนนักโทษที่แหกคุก เพื่อหนีความผิด มีผลทำให้ไม่ได้ใช้กรรมที่ตนเองเคยก่อ ก่อนถึงอายุขัย แต่นักโทษที่ว่านี้ก็หนีไปไม่พ้นต้องและต้องถูก เพิ่มโทษไปโดยปริยาย  

สวัสดีค่ะคุณกวิน :)

ไม่ได้เจอตั้งนาน ...สบายดีนะคะ

จริงอยู่ค่ะ ที่อัตราการเกิดกรณ๊ฆาตกรรมหมู่แบบสหรัฐฯสำหรับเด็กไทย มีน้อยอยู่

แต่ใช่ว่า จะไม่เกิดหรือเป็นไปไม่ได้ สำคัญที่ เราเคยเตรียมการรับมือกันบ้างหรือเปล่า

เพราะหลายๆ กรณีเราไม่เคยมีแผนรองรับหรือฝึกการรับมือกันเลยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท