ชาดกทันยุค..อดีตชาติของพระพุทธเจ้า..เรื่อง .. ยิ่งคุ้น ยิ่งอันตราย (วิสสาสโภชนชาดก)


 

ลาภ-ยศ-สรรเสริญ-สุข จากผู้ที่เราคุ้นเคยก็ตาม
จากผู้ที่เราไม่คุ้นเคยก็ตาม ล้วนทำอันตรายเราถึงตายได้

กาลครั้งหนึ่งในสมัยของพระพุทธองค์ มีภิกษุจำนวนมากเผลอสติว่า เป็นความเหมาะ ควรแล้ว ในลาภที่ได้มาจาก คฤหัสถ์ผู้เป็นเครือญาติของตน จึงพากันวางใจ ไม่ได้พิจารณาในการใช้สอยปัจจัย ๔ (คือ จีวร =ผ้าน่งห่ม, บิณฑบาต= อาหาร, เสนาสนะ=ที่อยู่อาศัย, คิลานเภสัช=ยารักษาโรค) ที่ญาติทั้งหลาย ถวายมา เพราะภิกษุเหล่านั้นต่างก็คิดว่า

"บิดามารดาของเราถวายมา พี่น้องของเราถวายมา ลุงป้าน้าอาถวายมา แม้ตอนเราเป็นคฤหัสถ์ญาติเหล่านี้ก็สมควรจะ ให้แก่เรา ยิ่งในเวลานี้เราเป็นภิกษุแล้ว ก็ยิ่งเป็นผู้สมควรจะได้รับของถวาย"

ด้วยเหตุที่ภิกษุจำนวนมากคิดอย่างนี้ ครั้นพระศาสดาทรงทราบแล้ว ทรงดำริว่า "สมควรที่เราจะได้แสดงธรรมเทศนาแก่ภิกษุทั้งหลาย"

จึงรับสั่งให้เรียกประชุมเหล่าภิกษุ เมื่อพรั่งพร้อมแล้ว ทรงแสดงธรรมว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โดยปกติแล้วภิกษุต้องพิจารณาก่อน จึงค่อยทำการใช้สอยปัจจัย ๔ ที่เครือญาติพากันถวายมา ด้วยว่าภิกษุผู้ไม่พิจารณาแล้วใช้สอย หากกระทำกาละ (ตายไป) ย่อมไม่พ้นจากตัวตนของความเป็นยักษ์ (คนไม่มีศีล) และ เปรต(คนขี้โลภ) ขึ้นชื่อว่าการใช้สอยปัจจัย ๔ ที่ไม่พิจารณานี้ เป็นเช่นกับการกินยาพิษ จากคนที่คุ้นเคยกันให้มาก็ตาม จากคน ไม่คุ้นเคยกันให้มาก็ตาม ย่อมทำให้ตายได้ทั้งนั้น แม้ในโบราณกาล เพราะความคุ้นเคยพิศวาส ก็เคยมีสัตว์ได้กินยาพิษที่เขา ทำไว้ จนถึงแก่ความตายมาแล้ว"

ภิกษุทั้งหลายได้ฟังดังนั้น พากันกราบทูล อาราธนา (นิมนต์) ต่อพระองค์ พระศาสดาจึงทรงนำเรื่องมาตรัสเล่า

........................................

ในอดีตกาล ครั้งที่พระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีเศรษฐีคนหนึ่งทรัพย์สินมากมายอาศัยอยู่ในเมือง นั้น แต่สมบัติจำนวนมากอย่างหนึ่งของเศรษฐีนั้นก็คือ วัวฝูงใหญ่ ซึ่งมี คนเลี้ยงวัว คอยดูแลรักษา ต้องคอยต้อนฝูงวัวเข้าป่าหา กิน เพราะบริเวณป่านั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยหญ้าและข้าวกล้า บางคราวก็ถึงกับสร้างคอกวัวไว้ที่ป่านั้นเลย แล้วก็ทำการรีดนมวัว ส่งน้ำนมมาให้เศรษฐีตามเวลาทุกๆ วัน

ในป่านั้นเองไม่ห่างจากคอกวัวนัก เป็นที่อาศัยซ่อนกายของราชสีห์ตัวหนึ่ง ซึ่งมักออกมาเพ่นพ่านแถวคอกวัวเสมอๆ ทำ ให้วัวทั้งหลายหวาดหวั่น สะดุ้งกลัวต่อความตายที่จะมาถึง เป็นเหตุให้น้ำนมที่เคยขาวข้น ก็กลายเป็นน้ำนมใสขึ้นๆ แม้คนเลี้ยงวัวจะคอยดูแลป้องกันอย่างดีก็ตาม

วันหนึ่ง เมื่อคนเลี้ยงวัว นำน้ำนมมาให้แก่เศรษฐี จึงถูกเศรษฐีซักถามขึ้นว่า "พวกเจ้าเลี้ยงวัวกันอย่างไรเล่า จึงทำให้น้ำนมวัวนับวันจะใสยิ่งขึ้นเรื่อยๆ"

คนเลี้ยงวัวจึงแจ้งเหตุให้ทราบ เศรษฐีครุ่นคิดสักครู่ แล้วเอ่ยว่า "เท่าที่เจ้าพบเห็นราชสีห์ตัวนี้ อะไรที่มันติดใจชอบ"
" มีครับนาย มันผูกพันติดใจแม่เนื้อตัวหนึ่งในป่านั้น มันเข้าไปเคล้าเคลียกันอยู่เสมอๆ"
" ถ้าเป็นอย่างนั้น เจ้าสามารถหาทางจับแม่เนื้อนั้นไว้ได้ไหม"
คนเลี้ยงวัวรับคำอย่างมั่นใจว่า "ทำได้ครับนาย"
" ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงไปจับตัวไว้ให้ได้ แล้วทำตามที่เราสั่งนี้...."

เขาจึงกลับเข้าไปในป่า วางข่ายดักจับแม่เนื้อนั้นไว้ได้ แล้วทำตามที่เศรษฐีสั่งไว้ คือเอายาพิษมาย้อมทาขนทั่วตัวของแม่ เนื้อ ตั้งแต่หน้าผากไปจนจรดปลายเท้า ทาซ้ำไปมาหลายครั้ง แล้วทำให้แห้งด้วยการกักขังแม่เนื้อเอาไว้สอง-สามวัน จึงค่อยปล่อย ให้ไปเป็นอิสระ

ครั้นราชสีห์นั้นได้พบกับแม่เนื้อก็ดีใจ ตรงเข้าไปหยอกล้อ เลียหน้าตาเนื้อตัว ของแม่เนื้อนั้น ด้วยความสนิทเสน่หา เพียงครู่เดียว เมื่อยาพิษออกฤทธิ์ ราชสีห์ตัวนั้น ก็ถึงแก่ความตายทันที

คนเลี้ยงวัวจึงเข้าไปแล่หนังราชสีห์ แล้วเลาะเอาเขี้ยวและเล็บออก นำกลับมามอบให้แก่เศรษฐี

เมื่อเศรษฐีได้เห็นหนังและเขี้ยวเล็บของราชสีห์ตัวนั้นแล้ว ก็อดที่จะเอ่ยปากออกมาไม่ได้

"ขึ้นชื่อว่า ความเสน่หาพิศวาสในพวกอื่น ไม่ควรกระทำเลย เหมือนราชสีห์ ผู้เป็นราชาแห่งสัตว์ทั้งปวง ถึงจะสมบูรณ์ด้วยพละกำลัง และอำนาจ แต่เพราะติดพันด้วยอำนาจ กิเลสตัณหาในแม่เนื้อ ก็ทำให้ต้องถึงแก่ชีวิตได้"

แล้วได้กล่าวเตือนแก่บริวารทั้งหลายของตนว่า "บุคคลไม่ควรไว้วางใจ ในผู้ที่ยังไม่คุ้น- เคยกัน หรือแม้ผู้ที่คุ้นเคยกันแล้ว ก็ไม่ควรไว้วางใจ เพราะภัยย่อมมา จากผู้ที่คุ้นเคยกัน เหมือนภัยของราชสีห์เกิดจากแม่เนื้อ ฉะนั้น"

จากนั้นเศรษฐีก็หมั่นทำบุญทำทาน ใช้ชีวิตไปตามยถากรรมของตน

.........................

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้ออกมาแสดงแล้ว ก็ตรัสว่า "เศรษฐีในกาลครั้งนั้น ได้มาเป็นเรา ตถาคตนี้เอง"
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๙๓ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๖ หน้า ๓๓๙)

 

ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านในกาลทุกเมื่อเทอญ..ธรรมรักษา

 

หมายเลขบันทึก: 257392เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2009 20:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

บุคคลไม่ควรไว้วางใจ ในผู้ที่ยังไม่คุ้น- เคยกัน หรือแม้ผู้ที่คุ้นเคยกันแล้ว ก็ไม่ควรไว้วางใจ เพราะภัยย่อมมา จากผู้ที่คุ้นเคยกัน

สาธุ

มารับฟังธรรมะค่ะ

"บุคคลไม่ควรไว้วางใจ ในผู้ที่ยังไม่คุ้น- เคยกัน หรือแม้ผู้ที่คุ้นเคยกันแล้ว ก็ไม่ควรไว้วางใจ เพราะภัยย่อมมา จากผู้ที่คุ้นเคยกัน เหมือนภัยของราชสีห์เกิดจากแม่เนื้อ ฉะนั้น"

จริงดั่งว่า

กราบนมัสการ  ขอบคุณที่มีเรื่องราวดี ๆ มาให้อ่านค่ะ

นมัสการค่ะ

มาอ่านและน้อมรับธรรมะดี ๆ 

บุคคลย่อมไว้ใจและวางใจในผู้คุ้นเคยใกล้ชิด ... และด้วยเหตุนี้จึงมักจะถูกทำร้าย ทำลายจากความไว้วางใจและคุ้นเคยนั้น....ดังชาดกที่ท่านกรุณาเล่าค่ะ.....

"บุคคลไม่ควรไว้วางใจ ในผู้ที่ยังไม่คุ้น- เคยกัน หรือแม้ผู้ที่คุ้นเคยกันแล้ว ก็ไม่ควรไว้วางใจ เพราะภัยย่อมมา จากผู้ที่คุ้นเคยกัน เหมือนภัยของราชสีห์เกิดจากแม่เนื้อ ฉะนั้น"

สาธุค่ะ

 

ธรรมสวัสดี

  • โยมครูสายธาร
  • โยมจินตนา คงเหมือนเพชร
  • โยมคนไม่มีราก
  • อนุโมทนาสาธุด้วยที่มาร่วมแสดงความเห็น
  • ขอให้มีความสุข ความเจริญ..ธรรมรักษา

กราบนมัสการเจ้าค่ะ หลวงน้า

หลานแวะมาเยี่ยมเจ้าค่ะ หลวงน้าสบายดีหรือเปล่าเจ้าค่ะ รักษาสุขภาพด้วยนะเจ้าค่ะ หลานยังรำลึกถึงหลวงน้าเสมอเจ้าค่ะ...หนูจิ

ธรรมสวัสดีโยมหลานจิ

อนุโมทนาขอบคุณหลานมาก

ที่มีน้ำใจมาเยี่ยมเยือน..หลวงน้า

พึ่งกลับจากประจวบฯ ไปร่วมปฏิบัติธรรมที่นั่น

ขอให้หลานมีความสุขเช่นกัน..ธรรมรักษา

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท