MOU...การขับเคลื่อนหลักสูตร 2551 ระหว่าง สพท. กับ สถานศึกษา


เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในสถานศึกษา มีการทดลองนำร่องการใช้หลักสูตร 2551 อย่างเป็นระบบ จริงจัง ควรมีการทำบันทึกข้อตกลง(Memorandum of Understanding)เกี่ยวกับกระบวนการคุณภาพในการบริหารจัดการหลักสูตร ระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กับ โรงเรียนทดลองนำร่อง หรือร่วมทดลองนำร่องการใช้หลักสูตร พร้อมทั้งมีการกำกับติดตามการใช้หลักสูตร ให้เป็นไปตาม MOU

ในการทดลองนำร่องการใช้หลักสูตรแกนกลาง พ.ศ.2551 ในปีการศึกษา 2552 เขตพื้นที่การศึกษาละ อย่างน้อย 3 โรงเรียน ในการนี้ เพื่อเป็นการผลักดันให้สถานศึกษาที่ร่วมทดลองนำร่องการใช้หลักสูตร ดำเนินการใช้หลักสูตร อย่างเป็นระบบ จริงจัง เป็นไปตามหลักวิชา เขตพื้นที่การศึกษาควรกำหนดข้อตกลงกับโรงเรียนว่า “ในการทดลองนำร่อง 1 ปีการศึกษา  โรงเรียนจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง  และ อะไร คือ ตัวชี้วัดว่าโรงเรียนได้ดำเนินการอย่างมีคุณภาพแล้ว  ทั้งนี้ หากเป็นไปได้ น่าจะมีการจัดทำเป็นบันทึกข้อตกลง( Memorandum of Understanding...MOU)ที่เป็นรูปธรรม

ในบันทึกข้อตกลง อาจกำหนด พฤติกรรม/ตัวบ่งชี้ ดังต่อไปนี้

1) โรงเรียนมีการจัดทำปฏิทินการบริหารจัดการหลักสูตร ระยะเวลา 12 เดือน ที่ชัดเจน(ตัวชี้วัด คือ ปฏิทิน การขับเคลื่อนหลักสูตร)

2) โรงเรียนจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา โดยเน้นบทบาทร่วมระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน อย่างน้อย 30 วัน(ตัวชี้วัด คือ เอกสารหลักสูตรสถานศึกษา)

3) จัดอบรมครู/ส่งครูเข้ารับการอบรม ให้ครูทุกคน รู้-เข้าใจหลักสูตร โดยมีการประเมินความรู้ ความเข้าใจของครู อย่างเป็นรูปธรรม(ร้อยละของครูที่ผ่านการอบรม และ จำนวนชั่วโมงที่ได้รับการอบรมโดยเฉลี่ยต่อครูหนึ่งคน)

4) ชี้แจงหลักสูตร ต่อผู้เกี่ยวข้อง คือ กรรมการสถานศึกษา เครือข่ายผู้ปกครอง และชุมชน และจัดให้มีการประชาพิจารณ์ หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักสูตร ก่อนเปิดภาคเรียน(บันทึกการประชุม  หรือรายงานผลการจัดประชาพิจารณ์)

5) มอบหมายและดูแลให้ครู จัดทำแผนจัดการเรียนรู้ และเอกสารประกอบการสอน ภาคเรียนที่ 1 และภาคเรียนที่ 2 ให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน อย่างน้อย 10 วัน(ร้อยละของครูที่ส่งแผนจัดการเรียนรู้ก่อนเปิดภาคเรียน)

6) โรงเรียนจัดให้มีการนิเทศภายใน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมแก้ปัญหา หรือพัฒนาการใช้หลักสูตร ทั้งในระดับโรงเรียนและระดับกลุ่มสาระ อย่างต่อเนื่อง ทุกเดือน(บันทึกการประชุมนิเทศภายในระดับโรงเรียน  และระดับกลุ่มสาระ)

7) ส่งเสริมให้ครูผู้สอน ระดับรายวิชา มีการทดลอง วิจัยและพัฒนารูปแบบการสอน รูปแบบการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน อย่างหลากหลาย  อย่างเป็นระบบ(ร้อยละของครูที่มีการคิดวิธีการสอนใหม่และมีแผนการทดลองที่เป็นรูปธรรม)

8) จัดให้มีการรายงานความก้าวหน้าในการใช้หลักสูตรของกลุ่มสาระต่าง ๆ ต่อที่ประชุมประจำเดือนของสถานศึกษา พร้อมสรุป Best Practice ของแต่ละกลุ่มสาระ ในรอบเดือน(บันทึกการประชุมประจำเดือน)

9) จัดให้มีการสัมมนาประเมินผลการใช้หลักสูตร สิ้นภาคเรียนที่ 1 โดยรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากหลายแหล่ง หลายลักษณะ ใช้ประกอบการสัมมนาโดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนา คือ ผู้บริหาร ครู กรรมการสถานศึกษา และเครือข่ายผู้ปกครอง และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น ฯลฯ (รายงานการสัมมนาประเมินความก้าวหน้าในการใช้หลักสูตร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552)

10) สิ้นปีการศึกษา 2552  จัดสัมมนาประเมินผลการทดลองนำร่องการใช้หลักสูตร โดยทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลการใช้หลักสูตรระดับกลุ่มสาระ นำเสนอต่อที่ประชุม  เชิญกรรมการสถานศึกษา และเครือข่ายผู้ปกครอง ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น เข้าร่วมประชุมด้วย และสถานศึกษา(บันทึกการประชุม สัมมนาประเมินผลฯ)

11) จัดทำรายงานผลการทดลองนำร่องการใช้หลักสูตร ระยะ 1 ปีเสนอต่อเขตพื้นที่การศึกษา และ สพฐ.(รายงานผลการทดลองนำร่องการใช้หลักสูตร ระยะ 1 ปี ในภาพรวมของสถานศึกษา)

ถ้ากำหนดงาน/พฤติกรรมการทำงาน และ ตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม โดยเขตพื้นที่การศึกษา มีการกำกับติดตาม กระตุ้น สนับสนุนให้สถานศึกษา มีการดำเนินการตาม MOU อย่างจริงจัง  เชื่อว่า เมื่อสิ้นปีการศึกษา 2552 โรงเรียนทดลองนำร่องคงจะมีความก้าวหน้าในเชิงวิชาการที่ชัดเจน และจะเป็นแบบอย่างสำหรับสถานศึกษาอื่น ๆ ในการตามร่อง ในปีการศึกษา 2553 ได้เป็นอย่างดี

หมายเลขบันทึก: 257984เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2009 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

  • ครูอ้อย อยู่ในโรงเรียน 1 ใน 3 โรงเรียนนำร่องค่ะ
  • กำลัง เขียนหน่วยการเรียนรู้ และแผนการจัดการเรียนรู้
  • ตลอดจน รายวิชาเพิ่มเติม ด้วยค่ะ

อาจารย์สบายดีนะคะ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ที่เคารพ

            ผมได้รับฟังคำแนะนำของท่านในการประชุมสัมมนา

รองผู้อำนวยการโรงเรียนของ สพท.กทม. เขต ๒ ที่ชะอำ เมื่อวันที่

๓๐ เมษายน ๕๒ และอ่านบทความนี้แล้ว ต้องขอขอบคุณท่านเป็น

อย่างมาก เพราะช่วยให้ผมเห็นแนวทางการขับเคลื่อนหลักสูตร ๕๑

ที่เป็นรูปธรรมและคงจะเป็นประโยชน์ต่อโรงเรียนของผม

และโรงเรียนอื่นๆ อย่างมากแน่นอน

              ก่อนหน้านี้ถ้าผมทราบว่าท่านมี Blog อยู่ใน gotoknow

ผมคงมีแนวทางดีๆ มีประโยชน์อย่างมากในการบริหารงานวิชาการที่

ผมรับผิดชอบอยู่ และผมจะศึกษางานเขียนของท่านที่ผ่านมาและที่จะ

เขียนในโอกาสต่อไป และขออนุญาตเป็นลูกศิษย์ของท่านคนหนึ่งนะ

ครับ 

               สวัสดีครับ

สวัสดีครับ ครูอ้อย

  • แผนจัดการเรียนรู้ต้องเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน 10 วัน นะครับ
  • ขอให้มีความสุขกับการเตรียมทดลองใช้หลักสูตร 2551 ครับ

เรียน คุณเรวัช

  • ฝากทดลองหลักสูตร อย่างเป็นระบบ จริงจัง นะครับ น่าจะเป็นประโยชน์ทั้งกับโรงเรียนท่านเอง และโรงเรียนอื่น ๆ ที่จะตามร่องในปี 2553
  • ถ้ามีอะไรพอจะช่วยได้ ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ที่เคารพ

  • ผมขอขอบคุณในความกรุณาที่ท่านยินดีให้การช่วยเหลือ
  • ในเร็ววัน โรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดาคงต้องให้ท่านช่วยเหลือแน่นอน
  • ผมจะพยายามรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อบอกกล่าวโรงเรียนที่จะใช้หลักสูตรในปี ๕๓
  • วันนี้ผมพบปัญหาแล้ว คือ กลุ่มสาระสังคมศึกษา ตามโครงสร้างเวลาเรียน กำหนดไว้ปีละ ๑๒๐ ชม.(๓ นก.) แต่ศึกษานิเทศก์ให้เพิ่มประวัติศาสตร์ อีก ๒๐ ชม.(๐.๕ นก.)ต่อภาคเรียน เช่นนีแล้วชั่วโมงพื้นฐานก็เกินโครงสร้างที่กำหนด จะได้จริงหรือ ถ้าผิดใครรับผิดชอบ?
  • ถ้าท่านอาจารย์มีความคิดเห็นประการใดขอคำแนะนำด้วยครับ
  • สวัสดีครับ

ท่าน รองฯ เรวัช

   ผมดูโครงสร้างแล้ว ผมเข้าใจดังนี้

  • ม.ต้น กลุ่มสาระสังคมศึกษา ตามโครงสร้างเวลาเรียน กำหนดไว้ปีละ ๑๒๐ ชม.(๓ นก.)
  • โรงเรียนมีสิทธิจัดเพิ่มเติม(ทุกกลุ่มสาระ) ปีละ ไม่เกิน 240 ชั่วโมง
  • รวมทั้งปีต้องไม่เกิน 1200 ชั่วโมง

       ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขโครงสร้างนี้ คงไม่มีปัญหาอะไรนะครับ น่าจะ O.K.

ที่โรงเรียนไม่ได้นำร่องค่ะ

แต่สนใจเอง เพราะที่ผ่านมาเราประสบปัญหา ด้านผู้เรียน

โรงเรียนจึงไม่สามารถผลิตนักเรียนได้ตรงตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และไม่สามารถผลิตนักเรียนได้ตามมาตราฐานที่กำหนดขึ้น

เด็กจบช่วงชั้นขาดคุณภาพ มีคุณภาพไม่เหมาะสมกับชั้นเรียน 

เมื่อเลื่อนชั้นจึงไม่สามารถต่อยอดได้อย่างแนบเนียน

ทำให้ครูต้องปรับกระบวนยุทธวิธีการสอน

เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข

สำหรับวิชาบางวิชาที่ต้องเน้น เช่นประวัติศาสตร์ เห็นด้วยที่เพิ่มชั่วโมง แต่กระบวนการเรียนรู้ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำอย่างไรเด็กจะเกิดโยนิโสมนสิการ

ขอให้ช่วยเหลือครูที่ไม่สามารถพัฒนาเด็กให้อ่านออกเขียนได้ตามเกณฑ์ เพราะปัญหาอาจไม่ใช่อย่างที่คิดหรือที่รายงาน

CAR น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับที่น่าพอใจ และจะดีมากๆหากได้สำรวจกันจริงๆว่าครูสามารถเล่นกับcarได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ครูสามารถคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบแบบไม่เครียด

ชอบการแก้ปัญหาที่จัดให้มีครูธุรการของโรงเรียน เพราะที่ผ่านมาผลเสียหายมีมากกว่าผลดี เกิดเงาบริหารเกลื่อนโรงเรียน ไม่ทราบจะฟังคำสั่งจากใครดี ผลสุดท้ายก็มาลงเอยที่ฟังตัวเอง เป็นการเพาะเชื้ออัตตาให้มันแข็งแรงเกินไป นักเรียนถูกทอดทิ้ง

ขอบคุณค่ะ

krutoi

  • ขอบคุณครับ ที่เข้ามาเยี่ยมและให้ความเห็น
  • ผมเองก็ผ่านมาหลายหลักสูตร และมีความรู้สึกคล้าย ๆ กับท่านอาจารย์ครับ "เรายังไม่สามารถผลิตเด็กให้มีคุณภาพตามที่หลักสูตรกำหนด สักที"
  • ใน ปี 2552 ถ้าโรงเรียนนำร่อง ทำงานกันอย่างจริงจัง คาดหวังว่า "น่าจะประสบความสำเร็จสักครั้ง" นะครับ
  • ผมเกริ่นกับ ร.ร. ใน กทม.เขต 2 ว่า สิ้นปีการศึกษา 2552 เราน่าจะจัดสัมมนาเสนอผลการทดลองนำร่องการใช้หลักสูตร และนำเสนอ Best Practice ของโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อ เป็นบทเรียนสำหรับโรงเรียนที่จะ "ตามร่อง" ในปีการศึกษา 2553

ผมอยู่้ในเขตพื้นที่ กทม.เขต 2มีความเห็นว่า โรงเรียนนำร่อง นำร่องไม่จริง เป็นความคิดของฝ่ายบริหารที่ถูกเขตพื้นที่บีบบังคับ ครูไม่ปฏิบัติ เป็นผลการที่ฝ่ายบริหารไปรับปากและคิดไปเอง ทำให้การผลักดันไม่เกิดผล แล้วทุกวันนี้เข้าสุภาษิตที่ว่า แก้ผ้าเอาหน้ารอด ลองดูอย่างวันนี้ผมไปร.ร.บดินทรเดชา (10ส.ค.53)บางสหวิทยาเขตยังไม่รู้เลยว่าจะเอาอะไรมาโชว์ หลักสูตรกลุ่มสาระยังไม่มีเลย ท่านคิดเช่นไรกับการที่ว่า เขตพื้นที่การศึกษา กทม.2 เป็นเขตเดียวในประเทศไทย ที่นำร่องหลักสูตรใหม่ โดยที่โรงเรียนยังไม่รู้เรื่องเลย ฝ่ายบริหารบางคนก็ยังไม่รู้เรื่องเลย

  • ขอบคุณมากครับที่เข้ามาให้ข้อมูล/แสดงความคิดเห็น
  • นี่คือปัญหาของการใช้หลักสูตรโดย "ไม่มีการประชาพิจารณ์ ระหว่างกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง"
  • ขอบคุณครับ ที่เข้ามาให้ข้อมูลและร่วมแสดงความคิดเห็น
  • ที่เป็นเช่นนี้ น่าจะเป็นเพราะเราไม่ได้มีการประชาพิจารณ์การใช้หลักสูตรในกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง

1. ครูสองคนสอนวิชาเดียวกัน ชั้นเดียวกันแต่คนละห้อง เขียนหน่วยการเรียนรู้ต่างกันได้หรือไม่

2. โครงสร้างหลักสูตรประถมมี 8 สาระ 9 รายวิชาใช่ไหมครับ(ไม่ทราบว่ารายวิชาเพิ่มเติมถือว่าเป็นรายวิชาใหม่ใช่หรือไม)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท