โรงงานผลิตไรฝุ่น


แมกกาซีนแปลก ฉบับวันที่ 1 พค. 2552

จิ๋วแต่แจ๋วที่โรงพยาบาลศิริราช

เมื่อเอ่ยถึงโรงพยาบาลศิริราชคงไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก เพราะที่นี่มีชื่อเสียงในเรื่องของการแพทย์ และเป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชินี และบรรดาเชื้อพระวงศ์ต่างเข้ารับการรักษาเมื่อทรงพระประชวร การรักษาแบบใหญ่ๆเขาก็ทำกันมาแล้ว แต่ใครจะรู้ว่าแม้แต่เรื่องเล็กๆอย่างเรื่องของเชื้อปรสิตและไรฝุ่น ทางโรงพยาบาลก็ไม่มองข้าม กลับให้ความสนใจในการศึกษาวิจัยไม่แพ้กัน หน่วยงานของทางศิริราชมีการผลิตสิ่งที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นให้เราเห็นและนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น การจำลองตัวปรสิตหรือพยาธิด้วยเทคนิคการเป่าแก้วเพื่อเป็นสื่อทางการศึกษา และการสร้างโรงงานผลิตไรฝุ่นที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ซึ่งให้ผลผลิตเป็นตัวไรฝุ่นที่บริสุทธิ์ที่สุดในโลก

เชื่อว่าหลายคนคงจะสงสัยว่าเจ้าเชื้อปรสิตหรือพยาธิตัวจิ๋วนั้นแท้จริงแล้วรูปร่างหน้าตาของมันเป็นอย่างไร ทำไมขนาดของมันแม้จะเล็กมากแต่ก็สามารถฆ่าชีวิตของคนได้ ที่พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา ภาควิชาปรสิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีคำตอบค่ะ ที่นี่เขาได้จำลองเจ้าพยาธิตัวจิ๋วนี้มาให้ผู้สนใจได้ชมกัน โดยแบบจำลองตัวปรสิตหรือพยาธิเป็นฝีมือการเป่าหลอดแก้วย้อมสีที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนและความอดทนในการถ่ายทอดรายละเอียด สีสัน รูปทรง ให้ออกมาเหมือนตัวพยาธิของจริงให้มากที่สุด เจ้าของความคิดนี้คือคุณสมควร สุวุฒโฑ หัวหน้าสาขาโสตทัศนศึกษาและพิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา ผู้สร้างสรรค์ผลงานการประดิษฐ์แก้วรูปพยาธิเพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์

คุณสมควรอธิบายถึงขั้นตอนการทำที่ต้องใช้ระยะเวลาร่วม 2-3 เดือนกว่าจะออกมาเป็นชิ้นงานแต่ละชิ้น เริ่มตั้งแต่การใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยาย 10,000 ถึง 100,000 เท่า มาส่องดูรายละเอียดของตัวพยาธิ เช่น พยาธิตัวกลม พยาธิตัวแบน สัตว์ขาข้อ เชื้อตัวอะมีบา เชื้อโปรโตชัว ซึ่งเป็นเชื้อโรคตัวใส ขนาดบางจนมองเห็นถึงอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ จากนั้นนำภาพที่ได้จากการส่องกล้องมาขยายเป็น 3 มิติให้เห็นความลึกความกว้างด้วยการสร้างเป็นโมเดลดินน้ำมันขึ้นมา ลงรายละเอียดที่ตัวดินน้ำมันว่ารูปร่างภายนอกและภายในมีอะไรบ้าง และที่สำคัญต้องใช้ดินน้ำมันสีต่างๆแยกสี เมื่อได้โมเดลแล้วก็ทำการส่งข้อมูลให้ช่างเป่าแก้วทำให้ใกล้เคียงของจริงมากที่สุด สุดท้ายจึงค่อยย้อมสี ผสมสี แต้มสี แม้จะต้องเหน็ดเหนื่อยและเมื่อยล้าจากการเพ่งมองรายละเอียดที่เล็กมาก แต่เมื่อผลงานเสร็จออกมาแล้ว ก็นับว่าคุ้มค่า เพราะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและเรียกความสนใจจากผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ไม่น้อยกว่า 300 คนต่อวัน นับเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับสื่อนิทรรศการของวงการแพทย์ไทยก็ว่าได้ เนื่องจากการเป่าหลอดแก้วให้เป็นตัวพยาธิทำให้เห็นระยะการเคลื่อนไหว รูปร่างที่เปลี่ยนไป ลึกไปจนถึงอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ฯลฯ
ปัจจุบันประชาชนทั่วไปยังขาดความเข้าใจ เพราะเข้าไม่ถึงข้อมูลความรู้โรคที่มาจากพยาธิ อันตรายจากตัวพยาธิ รวมทั้งรูปร่างหน้าตาของพยาธิแต่ละชนิด  ซึ่งการใช้แก้วเป่าเป็นรูปร่างพยาธินั้นทำให้มองเห็นตัวเชื้อโรคที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ยากที่จะเข้าใจ ให้เข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

และเรื่องจิ๋วแต่แจ๋วอีกเรื่องที่โรงพยาบาลศิริราชคือ การทำวิจัยไรฝุ่นที่มีขนาดเล็กจนแทบมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น โดยศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราช (The Siriraj Dust  Mite Center for Services and Research) SDMC เป็น Dust  Mite LAB แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียที่เปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ป้องกันไรฝุ่น และเพาะเลี้ยงไรฝุ่นเพื่อผลิตไรฝุ่นบริสุทธิ์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตวัคซีนไรฝุ่น (mite vaccine)  เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โรงงานนี้ใช้เนื้อที่แค่เพียงขวดใบเล็กๆร่วม 30 ใบ ที่เก็บไว้ในตู้กระจกใสขนาดเท่าเตาไมโครเวฟประมาณ 10 ตู้ ซึ่งตั้งอยู่ภายในห้องเก็บอุณหภูมิจำนวน 2 ห้องเท่านั้น แต่ไม่น่าเชื่อว่าภายในขวดใสแต่ละขวดมีประชากรไรฝุ่นอยู่มากกว่าประชากรประเทศไทยเสียอีก รวมๆแล้วโรงงานไรฝุ่นที่ศิริราชแห่งนี้มีประชากรไรฝุ่นไม่น้อยกว่า 1,800 ล้านตัวเลยทีเดียว

   ศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราช  เริ่มมีการเพาะเลี้ยงไรฝุ่นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540  จากนั้นได้เพิ่มปริมาณการเพาะเลี้ยงขึ้นเรื่อยๆ จากขนาดเล็กพอใช้ในงานวิจัยเล็กน้อย จนถึงปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงขนาดใหญ่ เป็นระดับอุตสาหกรรม โดยผลิตไรเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำยาสกัดไรฝุ่น มีประโยชน์ในการใช้วินิจฉัยโรคภูมิแพ้ ทำให้ทราบสาเหตุการแพ้ของผู้ป่วย ปัจจุบันน้ำยาสกัดไรฝุ่นนี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ศิริราชเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเซียที่เริ่มผลิตน้ำยาสกัดไรฝุ่นขึ้นเอง  นอกจากนำน้ำยามาใช้ในวิธีทดสอบทางผิวหนัง (skin test) แล้วยังใช้ในการรักษาโรค โดยการฉีดวัคซีนได้ด้วย  ไรฝุ่นที่ผลิตได้ในโครงการยังนำไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นอีกเช่น งานวิจัยในประเทศ และส่งออกให้แก่นักวิจัยในต่างประเทศ ซึ่งนำไปใช้งานวิจัยด้านอิมมูโนวิทยาและอณูชีววิทยา

เนื่องจากโครงการได้เพาะเลี้ยงไรฝุ่นแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงต้องมีระบบที่ดีในการป้องกันการปนเปื้อนระหว่างสายพันธุ์ต่างๆ ที่เพาะเลี้ยงไว้ และจากไรที่มีอยู่ในธรรมชาติแวดล้อมมิให้ปนเข้ามา ต้องอาศัยทีมงานที่มีความชำนาญสูง ผ่านประสบการณ์ในด้านนี้มาอย่างยาวนาน ดูแลการเพาะเลี้ยงขึ้นเฉพาะ เพื่อให้ได้ไรฝุ่นคุณภาพดี ในการเพาะเลี้ยงได้พิถีพิถันในหลายด้าน อาทิเช่น อาหารที่นำมาเพาะเลี้ยงต้องไม่มีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ โดยยึดเรื่องความปลอดภัยต่อผู้ใช้เป็นหลัก เพราะเป็นวัคซีนสำหรับฉีดคน การตรวจสอบการปนเปื้อนอย่างสม่ำเสมอ และมีวิธีพิเศษในการแยกตัวไรจากอาหารเพาะเลี้ยง  ปัจจุบันสามารถผลิตไรฝุ่นบริสุทธิ์ 99% โดยมีอาหาร ปนเปื้อนเพียง 1% คุณภาพดีกว่าของต่างประเทศ แต่ราคาถูกกว่า ทั้งนี้วิธีการและอุปกรณ์ผลิตไรฝุ่นบริสุทธิ์ของทางศูนย์ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว

            ทางศูนย์ยังมีการเปิดให้บริการเกี่ยวกับไรฝุ่นให้แก่ประชาชนทั่วไป ได้แก่ งานเพาะเลี้ยงและผลิตไรฝุ่นบริสุทธิ์ การตรวจวิเคราะห์ประสิทธิภาพผ้ากันไรฝุ่น การตรวจวิเคราะห์ประสิทธิภาพน้ำยากำจัดไรฝุ่น (สำหรับผู้ผลิตสินค้าจำพวกเครื่องนอน หมอน ฯลฯ) การตรวจวิเคราะห์ฝุ่น เพื่อหาปริมาณสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่น การผลิตสื่อสอนแสดงเกี่ยวกับไรฝุ่น การฝึกอบรมไรฝุ่น และทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับน้ำยาสมุนไพรฆ่าไรฝุ่นและผลิตภัณฑ์ป้องกันไรฝุ่น ฯลฯ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราช ตึกอดุลยเดชวิกรม ชั้น 7 โรงพยาบาลศิริราช

โทรศัพท์ 02-4181040, 02-4197000 ต่อ 6494 หรือ www.dustmitethai.com

ห่างไกลจากโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่น : ศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราช

สาเหตุสำคัญของโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหอบหืด แพ้อากาศ ผื่นคันตามผิวหนัง ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการแพ้ไรฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นในบ้าน ส่วนสารก่อภูมิแพ้อื่นๆ ในบ้าน เช่น แมลงสาบ ขนสัตว์เลี้ยงในบ้าน การหลีกเลี่ยงหรือลดการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้ เป็นหัวใจสำคัญในการรักษาโรคภูมิแพ้ และช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ดีขึ้น
             มาตรการในการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นมีหลายวิธี ซึ่งยังไม่มีวิธีใดเพียงวิธีเดียวที่จะสามารถกำจัดไรฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ จำเป็นต้องอาศัยหลายวิธีร่วมกัน ได้แก่
การใช้ความร้อน การใช้ความเย็น การดูดฝุ่น การคลุมด้วยวัสดุป้องกันไรฝุ่น การใช้เครื่องฟอกอากาศ
และการใช้สารเคมี
             ในการนำวิธีข้างต้นมาใช้ในชีวิตประจำวันนั้น บางวิธีก็สะดวก บางวิธีก็ดีเฉพาะในห้อง lab เท่านั้น  ท่านคงต้องเลือกวิธีง่ายๆที่สามารถทำเองได้ที่บ้านได้ไปใช้ เช่น การซักล้างมีประสิทธิภาพดีมาก เนื่องจากมูลไรซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญสามารถละลายน้ำได้ ฉะนั้นสำหรับเครื่องนอนที่สามารถถอดนำออกมาซักทำความสะอาดได้ ควรซักนำมาล้างทุก 1-2 สัปดาห์  การซักรีดเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าตัวไร ตัวไรจะตายที่ความร้อน > 40 °  วิธีที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดตัวไรและมูลด้วยความร้อนสูง หรือการใช้ความเย็นจัด  เช่น  อุณหภูมิสูงถึง  120 – 140 °  หรือความเย็นจัดจากไนโตรเจนเหลว -196 °  ได้ผลดี แต่ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับความเย็นระดับช่องแช่แข็งในตู้เย็นบ้านทั่วไป ประมาณ -10 °ซ เป็นเวลา 24 – 48 ชั่วโมงสามารถฆ่าตัวไรได้เช่นกัน โดยทั่วไปการปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติสารก่อภูมิแพ้จะสลายตัวได้ต้องใช้เวลานานถึงในเวลา 10 ปี
              จากการศึกษา ค้นคว้า และทดลอง พบปัจจัยที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการซักทำความสะอาดเครื่องนอนในการกำจัดไรฝุ่น และสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นดังนี้ สารทำความสะอาด การใช้น้ำเปล่าเพียงอย่างเดียวในการซักทำความสะอาดสามารถกำจัดสารก่อภูมิแพ้ออกจากเครื่องนอนได้ถึง 84% หากใช้ผงซักฟอกร่วมด้วยจะช่วยกำจัดสารก่อภูมิแพ้ได้เกือบหมดที่ 98% และจะได้ผลดียิ่งขึ้นถ้าใช้น้ำที่มีอุณหภูมิสูงในการซัก
    การเติมสารเคมีบางอย่างที่สามารถฆ่าตัวไรฝุ่นได้ในการซัก เช่น 0.03% benzyl benzoate สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการซัก (ลดปริมาณไรฝุ่นลงได้ถึง 99.2% เมื่อเทียบกับการใช้ผงซักฟอกเพียงอย่างเดียว) เหมาะสำหรับผ้าที่ต้องการการซักในน้ำที่มีอุณหภูมิไม่สูงจนเกินไป แต่การใช้สารเคมีในการซักไม่ควรใช้บ่อยครั้ง เพราะอาจมีการสะสมของสารเคมี ดังนั้นจึงยังไม่เป็นที่แนะนำการใช้สารเคมีร่วมกับการซักเครื่องนอน แต่อาจใช้ได้สำหรับพรม
สำหรับการซักแห้งสามารถกำจัดสารก่อภูมิแพ้ได้เพียง 70% เมื่อเทียบกับการซักด้วยน้ำร้อนที่  55°  (ความร้อนระดับแตะได้ ไม่ลวกมือ)
การใช้น้ำร้อนซักผ้าสามารถฆ่าตัวไรฝุ่นและกำจัดสารก่อภูมิแพ้ซึ่งเป็นโปรตีนออกจากผ้าได้ โดยใช้น้ำที่อุณหภูมิมากกว่า 55-60 °ซ ขึ้นไป สามารถฆ่าไรฝุ่นได้หมด ไรฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้จะถูกกำจัดใน 5 นาทีแรกของการซักเป็นส่วนใหญ่ และที่ 1 ชั่วโมงของการซักจะถูกกำจัดได้เกือบหมด แต่การใช้น้ำร้อนอาจทำได้ยากในทางปฏิบัติสำหรับผ้าบางประเภทที่ ทนต่อความร้อนมากและนานไม่ได้                              สรุปวิธีการกำจัดไรฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้จากไรโดยการซักทำความสะอาด
ซักเครื่องนอนด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 60 °ซ นาน 30 นาที ทุก 1 เดือน, ซักเครื่องนอนด้วยน้ำธรรมดาทุก 2 สัปดาห์ และควรซักบ่อยขึ้นถ้าในห้องนอนมีสภาพอากาศชื้นและแสงแดดส่องเข้าถึงไม่เพียงพอ, เครื่องนอนที่สามารถรีดได้ควรนำมารีดด้วยความร้อน และสุดท้ายหาวิธีอื่นๆในการกำจัดไรฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้จากไรร่วมกับการซัก เช่น ผ้าคลุมป้องกันไรฝุ่น การดูดฝุ่นในห้องนอน การเปิดห้องให้แสงแดดส่องทั่วถึงทั้งห้อง ดูแลทำความสะอาดไม่ให้ห้องรก หลีกเลี่ยงการใช้พรมในห้องนอน

 

หมายเลขบันทึก: 260773เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2009 23:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เราซักผ้าด้วยโอโมแอนตี้แบคทีเรียค่ะ แล้วก็เปลี่ยนปลอกหมอน ผ้าปูบ่อยๆด้วยย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท