บูเช็กเทียน --- จักรพรรดินีหนึ่งเดียวในแผ่นดิน (624 – 705)


สตรีหนึ่งเดียวที่สามารถก้าวสู่จุดสูงสุดของชีวิต

          ถ้าเอ่ยนามของพระนางบูเช็กเทียนคงจพไม่มีใครไม่รู้จัก สตรีที่ครั้งหนึ่งเคยทรงอำนาจสุงสุดทุกอย่างที่มือของพระนาง เรามาลองศึกษาเส้นทางชีวิตและเส้นทางการก้าวสู่อำนาจของพระนางกันดีกว่าค่ะ

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 19 มกราคม 2548

  อู่เจ๋อเทียนหรือบูเช็กเทียน (武则天)เป็นฮองเฮาในถังเกาจงหลี่จื้อ มีชื่อว่า เจ้า(曌)บิดาเป็นพ่อค้าไม้ ปลายราชวงศ์สุยได้มีการติดต่อกับหลี่ยวน ต่อมาเมื่อหลี่ยวนสถาปนาราชวงศ์ถัง ก็ติดตามมาตั้งรกรากที่นครฉางอัน เข้ารับราชการต่อมา
   
เมื่อบูเช็กเทียนอายุได้ 14 ปี ถูกเรียกตัวเข้าวังเป็นนางสนมรุ่นเยาว์ในรัชกาลถังไท่จงหลี่ซื่อหมิน เมื่อถังไท่จงสวรรคต จึงต้องออกบวชเป็นชีตามโบราณราชประเพณี
       
หลังจากถังเกาจงหลี่จื้อขึ้นครองราชย์ก็รับตัวบูเช็กเทียนเข้าวังมา ด้วยการสนับสนุนจากหวังฮองเฮาที่กำลังขัดแย้งกับสนมเซียว และต่างฝ่ายต่างคอยให้ร้ายกัน ต่อมาในปี 655 ถังเกาจงคิดจะปลดหวังฮองเฮา และตั้งบูเช็กเทียนขึ้นแทน แต่เสนาบดีเก่าแก่ ฉางซุนอู๋จี้长孙无忌)และฉู่ซุ่ยเหลียง (褚遂良)แสดงท่าทีคัดค้าน ส่วนหลี่อี้ฝู่(李义府)และสี่ว์จิ้งจง许敬宗)แสดงความเห็นคล้อยตาม ต่อมาเมื่อถังเกาจงปลดหวังฮองเฮา แต่งตั้งบูเช็กเทียนขึ้นเป็นฮองเฮาแทน ฉางซุนอู๋จี้ ฉู่ซุ่ยเหลียงและกลุ่มที่คัดค้านต่างทยอยถูกปลดจากตำแหน่ง บ้างถูกบีบคั้นให้ฆ่าตัวตาย ส่วนหวังฮองเฮาและสนมเซียวก็ไม่อาจรอดพ้นชะตากรรมได้ ภายหลัง ถังเกาจงร่างกายอ่อนแอ ล้มป่วยด้วยโรครุมเร้า ไม่อาจดูแลราชกิจได้ บูฮองเฮาเข้าช่วยบริหารราชการแผ่นดิน จึงเริ่มกุมอำนาจในราชสำนัก สุดท้ายสามารถรวบอำนาจไว้ทั้งหมด

ปี 683 ถังเกาจงหลี่จื้อสิ้น รัชทายาท หลี่เสี่ยน(李显)โอรสองค์ที่สามของบูฮองเฮาขึ้นครองราชย์ต่อมา พระนามว่าถังจงจง(唐中宗) ปีถัดมา บูเช็กเทียนปลดถังจงจงแล้วตั้งเป็นหลูหลิงหวัง 庐陵王)จากนั้นตั้งหลี่ตั้น(李旦)ราชโอรสองค์ที่สี่ขึ้นครองราชย์แทน พระนามว่าถังรุ่ยจง(睿宗)แต่ไม่นานก็ปลดจากบัลลังก์เช่นกัน
       
ระหว่างนี้ กลุ่มเชื้อพระวงศ์ตระกูลหลี่และขุนนางเก่าที่ออกมาต่อต้านอำนาจของตระกูลบูล้วนถูกกำจัดกวาดล้างอย่างเหี้ยมโหด ฐานอำนาจของกลุ่มตระกูลหลี่อ่อนโทรมลงอย่างมาก กระทั่งปี 690 บูเช็กเทียนประกาศเปลี่ยนราชวงศ์ถังเป็นราชวงศ์โจว(周)หรือในประวัติศาสตร์จีนเรียกว่า ราชวงศ์อู่โจว (武周)มีนครหลวงที่ลั่วหยาง ตั้งตนเป็นจักรพรรดินี ทรงอำนาจสูงสุด ด้วยวัย 67 ปี ถือเป็นจักรพรรดินีองค์แรกและองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีน
       
แม้ว่าการเข่นฆ่ากวาดล้างศัตรูทางการเมืองขนานใหญ่ ส่งผลให้บรรยากาศบ้านเมืองขณะนั้นเต็มไปด้วยความหวาดระแวงและความกลัว แต่โดยทั่วไปแล้ว สภาพเศรษฐกิจและสังคมยังมีความเจริญรุ่งเรือง บูเช็กเทียนได้ปรับปรุงระบบโครงสร้างการปกครองท้องถิ่น การสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการและทหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งบ่มเพาะบุคลากรที่มีความสามารถมากมาย ซึ่งส่งผลให้ในรัชกาลถังเสวียนจงในเวลาต่อมา แวดล้อมด้วยเสนาอำมาตย์ที่ทรงภูมิความรู้และคุณวุฒิเป็นผู้ช่วยเหลือ
       
เมื่อถึงปี 705 ขณะที่พระนางบูเช็กเทียนวัย 82 ปี ล้มป่วยลงด้วยชราภาพ เหล่าเสนาบดีที่นำโดยจางเจี่ยนจือ张柬之)ก็ร่วมมือกันก่อการ โดยบีบให้บูเช็กเทียนสละราชย์ให้กับโอรสของพระองค์ ถังจงจงหลี่เสี่ยน ทั้งรื้อฟื้นราชวงศ์ถังกลับคืนมา ภายหลังเหตุการณ์ไม่นาน บูเช็กเทียนสิ้น

 ดวงตะวันฉายแสง
       
ภายหลังรัชกาลของบูเช็กเทียน สภาพการเมืองภายในราชสำนักปั่นป่วนวุ่นวาย เนื่องจากถังจงจงอ่อนแอ อำนาจทั้งมวลตกอยู่ในมือของเหวยฮองเฮา韦皇后)ที่คิดจะยิ่งใหญ่ได้เช่นเดียวกับบูเช็กเทียน เหวยฮองเฮาหาเหตุประหารรัชทายาท จากนั้นในปี 710 วางยาพิษสังหารถังจงจง โอรสองค์ที่สามของถังรุ่ยจง นามหลี่หลงจี

(李隆基)ภายใต้การสนับสนุนขององค์หญิงไท่ผิง(太平公主)ชิงนำกำลังทหารบุกเข้าวังหลวงสังหารเหวยฮองเฮาและพวก ภายหลังเหตุการณ์องค์หญิงไท่ผิงหนุนถังรุ่ยจงขึ้นครองราชย์ แต่งตั้งหลี่หลงจีเป็นรัชทายาท แต่แล้วองค์หญิงไท่ผิงพยายามเข้ากุมอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่เกิดขัดแย้งกับรัชทายาทหลี่หลงจี ปี 712 ถังรุ่ยจงสละราชย์ให้กับโอรส หลี่หลงจีเมื่อขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า ถังเสวียนจง (唐玄宗)สิ่งแรกที่กระทำคือกวาดล้างขุมกำลังขององค์หญิงไท่ผิง นำพาสันติสุขกลับคืนมาอีกครั้ง
       
"ความเสียหายร้ายแรงที่เกิดจากการกบฏครั้งนี้ เป็นเหตุให้ยุคทองของราชวงศ์ถังดับวูบลง อย่างไม่อาจฟื้นคืนกลับคืนมาเช่นเมื่อครั้งก่อนเก่าได้อีก"

อาทิตย์ดับยามเที่ยง
       
ต้นรัชกาลถังเสวียนจงบริหารบ้านเมืองอย่างจริงจัง รอบข้างแวดล้อมด้วยขุนนางผู้ทรงความรู้ความสามารถมากมาย มีการปฏิรูปการบริหารการปกครองครั้งใหญ่ ตัดทอนรายจ่ายฟุ้งเฟ้อที่เคยมีในรัชกาลก่อน ลดขนาดหน่วยงานราชการที่ใหญ่โตเทอะทะ กวาดล้างขุนนางฉ้อราษฎร์ที่มาจากการซื้อขายตำแหน่ง จัดระเบียบและรวบรวมผลงานวรรณกรรมและวิทยาการต่างๆ บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองถึงจุดสูงสุด

แต่แล้วในปลายรัชสมัย เนื่องจากบ้านเมืองสงบสุขเป็นเวลานาน ถังเสวียนจงค่อยวางมือจากราชกิจ ปี 744 นับแต่รับตัวหยางอวี้หวนเป็นสนมกุ้ยเฟยไว้ข้างกาย ก็ลุ่มหลงกับการเสพสุขในบั้นปลาย ทอดทิ้งภารกิจบริหารราชการแผ่นดิน จนเป็นโอกาสให้เสนาบดีหลี่หลินฝู่(李林甫)เข้ากุมอำนาจ แสวงหาอำนาจส่วนตน คอยกีดกันขุนนางและนายทัพที่มีความดีความชอบ ริดรอนขุมกำลังจากส่วนกลางในที่ไม่ใช่พรรคพวกตน ขณะที่ให้การสนับสนุนแม่ทัพชายแดนที่มาจากกลุ่มชนเผ่าภายนอก เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดภาวะตึงเครียดตามแนวชายแดนกับทิเบต ทูเจี๋ยว์ เกาหลี และน่านเจ้าทางภาคใต้ กำลังทหารรับจ้างที่ต้องประจำอยู่ตามแนวพรมแดนมีจำนวนมากขึ้น แม่ทัพชายแดนจึงกุมอำนาจเด็ดขาดทางทหารไว้ได้
       
       
หลังจากหลี่หลินฝู่เสียชีวิต หยางกั๋วจง杨国忠)ญาติผู้พี่ของสนมหยางกุ้ยเฟยได้ขึ้นเป็นเสนาบดีแทน แต่กลับเลวร้ายยิ่งกว่า ด้วยถืออำนาจบาตรใหญ่ ฉ้อราษฎร์บังหลวง การโกงกินของขุนนางทำให้ระบบการจัดสรรที่นาและการเกณฑ์ทหารล้มเหลว กำลังทหารอ่อนโทรมลง ช่วงเวลาดังกล่าว เกิดเหตุขัดแย้งจากการแย่งชิงอำนาจระหว่างหยางกั๋วจงเสนาบดีคนใหม่กับอันลู่ซัน(安禄山)แม่ทัพชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเหตุให้อันลู่ซันหาเหตุยกกำลังบุกเข้านครฉางอัน

ถังเซวียนจงและหยางกุ้ยเฟยหลบหนีลงใต้ ระหว่างทางบรรดานายทหารที่โกรธแค้นพากันจับตัวหยางกั๋วจงสังหารเสีย จากนั้นบีบบังคับให้ถังเซวียนจงประหารหยางกุ้ยเฟย จากนั้นเดินทัพต่อไปถึงแดนเสฉวน ขณะเดียวกัน รัชทายาทหลี่เฮิง(李亨)หลบหนีไปถึงหลิงอู่(ปัจจุบันอยู่ในมณฑลหนิงเซี่ย) ก็ได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นครองราชย์ต่อมา พระนามว่า ถังซู่จง(唐肃宗)
       
       
ฝ่ายกองกำลังกบฏเมื่อได้ชัย ก็เข้าปล้นชิงทรัพย์สินราษฎร ปี 757 เกิดการแตกแยกภายใน อันลู่ซันถูกชิ่งซี่ว์庆绪)บุตรชายสังหาร ทัพถังได้โอกาสยกกำลังบุกยึดนครฉางอันและลั่วหยางกลับคืนมา แต่แล้วในปี758 สื่อซือหมิง(史思明)ขุนพลเก่าของอันลู่ซันก่อการอีกครั้ง ที่เมืองฟั่นหยาง(ปักกิ่ง) สังหารอันชิ่งซี่ว์ จากนั้นบุกยึดนครลั่วหยางได้อีกครั้ง ปี 761 ระหว่างยกกำลังบุกฉางอันถูกเฉาอี้(朝义) บุตรชายสังหารเช่นกัน เป็นเหตุให้กองกำลังระส่ำระสาย ทัพถังได้โอกาสร่วมกับกองกำลังของชนเผ่าหุยเหอ(回纥)ตีโต้กลับคืน เฉาอี้พ่ายแพ้ฆ่าตัวตาย เหตุวิกฤตจากกบฏอันลู่ซันและสื่อซือหมิง ตั้งแต่ปี 755 – 763 จึงกล่าวได้ว่าสงบราบคาบลง
       
       
ความเสียหายร้ายแรงที่เกิดจากการกบฏครั้งนี้ เป็นเหตุให้ยุคทองของราชวงศ์ถังดับวูบลง อย่างไม่อาจฟื้นคืนกลับคืนมาเช่นเมื่อครั้งก่อนเก่าได้อีก

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 261011เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2009 07:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท