บทสรุปของลุ่มน้ำแม่สอย


ผลความสำเร็จจากการร่วมมือของทุกฝ่าย

     ปี พ.ศ.2534-38  ป่าต้นน้ำแม่สอยเริ่มฟื้นตัวและอำนวยน้ำให้ชาวแม่สอยมีน้ำใช้ในฤดูแล้ง

     พื้นที่ป่าลุ่มน้ำแม่สอยได้รับการฟื้นฟูสภาพขึ้นมาตามลำดับ ป่าเริ่มสร้างความชุ่มชื้นมากขึ้น ป่าธรรมชาติค่อยๆกลับคืนทั้งปริมาณและคุณภาพ  จุดกำเนิดของต้นน้ำแม่สอย ซึ่งแห้งไปแล้ว 8  แห่งจาก  11  แห่ง  มีน้ำกลับคืนมา  4  แห่ง

     ในปี พ.ศ. 2534   พื้นที่ป่าลุ่มน้ำแม่สอยซึ่งเดิมมีฐานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ได้รับการยกฐานะให้จัดตั้งเป็น "อุทยานแห่งชาติออบหลวง" อยู่ภายใต้การคุ้มครองของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ได้นำความยินดีมาสู่ชาวตำบลแม่สอยและมูลนิธิธรรมนาถเป็นอย่างยิ่ง และ ทางราชการ คือ กรมป่าไม้ ได้ให้ความสำคัญและให้ความสนใจที่จะคุ้มครองป่าผืนนี้ร่วมกับภาคประชาชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นไปอีก

     ในพ.ศ. 2536  ซึ่งเป็นปีที่แห้งแล้งที่สุดในรอบ 35 ปีของประเทศไทย   ในขณะที่ลำห้วยสายต่างๆ อีก 8 สายใหญ่ๆ ในอำเภอจอมทองน้ำแห้งหมดในฤดูร้อน   แต่สำหรับลำห้วยแม่สอยเป็นเพียงลำห้วยขนาดกลาง  เป็นลำห้วยสายเดียวที่มีน้ำไหลตลอดปี   และในปีต่อๆมาน้ำในลำห้วยแม่สอยค่อยๆ เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ

     มีความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์เพิ่มขึ้น  เช่น  หมูป่า เก้ง เสือปลา ไก่ป่า  นก  และที่สำคัญมีตัวจิ้งจกน้ำ (crocodile salamander) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์และมีคุณภาพเกิดขึ้นในบริเวณที่เป็นขุนน้ำหรือตาน้ำในบริเวณป่าต้นน้ำแม่สอยส่วนบน

     มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของชาวบ้านตำบลแม่สอยไปในทางที่ดี  คือ

     ชาวบ้าน หยุดการเผาถ่าน การลักลอบตัดไม้และเลื่อยไม้ขาย หันมาเป็นกำลังสำคัญของกรมปาไม้ในการรักษาและฟื้นฟูป่าลุ่มน้ำแม่สอย เริ่มเห็นความสำคัญของป่า เกิดความรัก ความหวงแหนและเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองรักษาป่าต้นน้ำในท้องถิ่นของตนมากขึ้น โดยมีการร่วมมือกันรักษาป่าต้นน้ำระหว่างชาวอำเภอจอมทองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ต่างมีทัศนคติในทางลบต่อกัน

     มีการรวมตัวกันดูแลป่าลุ่มน้ำแม่สอยของชาวตำบลแม่สอย ได้กลายเป็นแบบอย่างให้ประชาชนในตำบลอื่นๆของอำเภอจอมทอง ซึ่งต่อมานำไปสู่การรวมตัวของชาวบ้านทุกตำบล ก่อตั้งเป็น "ชมรมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธารและสิ่งแวดล้อมอำเภอจอมทอง" โดยมีกำนันทุกตำบล ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน และหัวหน้าเหมืองฝายทุกเหมืองฝายเป็นคณะกรรมการชมรมฯ

     เกิดการจัดตั้งกลุ่มพระสงฆ์เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนา เพื่อร่วมกันเผยแพร่แนวคิดและวิธีปฏิบัติในเรื่องการนำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาใช้ในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้โดยเฉพาะป่าต้นน้ำลำธาร เพื่อให้พระสงฆ์ได้ทำหน้าที่ในด้านนี้ให้กว้างขวางต่อไป

     เมื่อมีน้ำซึ่งเป็นปัจจัยหลักของตำบลแม่สอย ชาวบ้านเริ่มทำเศรษฐกิจพอเพียงในครัวเรือน ปลูกพืชผักในฤดูร้อน เช่น หอม  ถั่ว  พริก ถ้าเหลือก็นำไปขายเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว

     ชาวบ้านที่ได้รับการจัดสรรที่ทำกินในหมู่บ้านป่าไม้ได้เข้าทำกินในพื้นที่ และเพาะปลูกไปแล้วกว่าร้อยละ 98 ซึ่งส่วนใหญ่ทำสวนลำไย และเริ่มได้รับเงินจากการขายผลผลิตลำไยครั้งแรกในปี พ.ศ.2539   จนถึงปัจจุบันชาวบ้านตำบลแม่สอยมีฐานะดีขึ้น

     และตัวชี้วัดความสำเร็จของการฟื้นฟูป่าลุ่มน้ำแม่สอยอีกอย่างหนึ่ง คือ การยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ  กล่าวคือ

     ปี พ.ศ.2532  พระอาจารย์พงษ์ศักดิ์  เตชฺธมฺโม ประธานมูลนิธิธรรมนาถได้รับรางวัลคนดีศรีสังคม จากมูลนิธิหมู่บ้าน   และได้รับโล่ห์รางวัลผู้ทำประโยชน์ให้กับกรมป่าไม้

     ปี พ.ศ.2533  ประธานมูลนิธิธรรมนาถ เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล  GLOBAL 500 ROLL OF HONOUR จากองค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)

    ปี พ.ศ.2533  สมาคมองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมประเทศอังกฤษ  ยอมรับให้มูลนิธิธรรมนาถจดทะเบียนเป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีสิทธิได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนสิ่งแวดล้อมจากประเทศอังกฤษ

     ปี  พ.ศ. 2538   มูลนิธิธรรมนาถ ได้รับการยอมรับจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เข้าเป็นสมาชิกองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม

     ปี พ.ศ. 2539  ม.ร.ว. สมานสนิท  สวัสดิวัตน์ รองประธานมูลนิธิธรรมนาถ  ได้รับรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นด้านสิ่งแวดล้อม  จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

     ปี พ.ศ. 2545  ม.ร.ว. สมานสนิท  สวัสดิวัตน์ รองประธานมูลนิธิธรรมนาถ  ได้รับรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับกรมป่าไม้

     ใน ปี พ.ศ. 2545 ป่าลุ่มน้ำแม่สอยแม้จะมีการฟื้นตัวสมบูรณ์แล้ว แต่ในอนาคตเมื่อผู้นำเปลี่ยนไป คนเปลี่ยนรุ่น ฐานะดีขึ้นและป่าฟื้นตัวแล้ว มีวัฒนธรรมบริโภคนิยมใหม่ๆ เข้ามา ความเข้มข้นในการดูแลรักษาป่าก็อาจลดลงได้ การเพิ่มประชากรบนต้นน้ำ หรือปลายน้ำ อาจทำให้เกิดความต้องการใช้ป่ามากขึ้น

     ติดตามต่อไปในตอนหน้าว่า ป่าลุ่มน้ำแม่สอยในปัจจุบันจะคงสภาพสมบูรณ์เหมือนเดิม ประชาชนพื้นราบจะยังคงความเข้มแข็งในการดูแลป่าต้นน้ำเหมือนเดิมหรือไม่ หนูมานีจะพาติดตามความคืบหน้าของป่าลุ่มน้ำแม่สอยต่อไป.

 

 

หมายเลขบันทึก: 261158เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2009 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท