หลักการของป่าชุมชน


หลักการของป่าชุมชน คือ ป่าใช้สอย

     หลักการที่แท้จริงของป่าชุมชน คือ การให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรป่าไม้ผืนเล็กที่ใกล้หมู่บ้าน ตำบล อาจจะเป็นป่าบุ ป่าทาม ป่าโคก ดอนปู่ตา ป่าศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ ผืนป่าเหล่านี้ตามกฎหมายส่วนใหญ่ คือ เป็นป่าสาธารณะประโยชน์ เป็นพื้นที่ป่าที่ชุมชนช่วยกันดูแลรักษาและใช้สอยร่วมกัน เช่น การตัดไม้ การเก็บหาของป่าหรือการนำสัตว์มาเลี้ยงในป่าชุมชน 

     หรือเราจะพูดแบบชาวบ้านว่า หลักการของป่าชุมชน คือ ป่าใช้สอย กล่าวคือ ป่าชุมชนถือเป็นส่วนหนึ่งของป่ากันชนของพื้นที่ป่าอนุรักษ์

     แต่คุณรู้บ้างไหมว่า ป่าสาธารณะประโยชน์ของชาวบ้านส่วนใหญ่จะถูกใช้สอยจนเสื่อมโทรม ไม่เหลือสภาพของการเป็นป่า และในอีกหลายป่าสาธารณะประโยชน์ได้ถูกผู้นำชุมชนร่วมมือกับผู้มีอำนาจอิทธิพล(ทำหน้ามึน - ภาษาชาวบ้าน)นำไปออกโฉนดแล้วใส่เป็นชื่อของตัวเองเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว หรือนำไปขายต่อกับนายทุนเพื่อสนองกิเลสของตัวเอง

     และอีกหลายชุมชนที่ไม่มีพื้นที่ป่าใกล้บ้านไว้ใช้สอย ก็จะไปหาเอาเอง โดยการไปบุกรุกตัดไม้ เก็บหาของป่า หรือเลี้ยงสัตว์ในเขตป่าอนุรักษ์ ของกรมป่าไม้

     กรมป่าไม้ได้เริ่มดำเนินการเรื่องป่าชุมชนมาตั้งแต่ปี 2527 และต่อมาในปี 2532 ได้จัดทำป่าชุมชนที่ภาคเหนือ ป่าชุมชนแห่งแรกของภาคเหนือเกิดในสมัยของนายไพโรจน์ สุวรรณกร อธิบดีกรมป่าไม้ (ในขณะนั้น) เหตุเนื่องมาจาก กรมป่าไม้ในตอนนั้น ได้ให้สัมปทานกับนายทุนรายหนึ่งเช่าผืนป่าห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่เพื่อใช้ปลูกสวนป่าเศรษฐกิจ เมื่อนายทุนได้สัมปทานแล้ว ก็ปลูกสวนป่าเศรษฐกิจควบคู่กับการตัดไม้ดั้งเดิมที่มีอยู่ในผืนป่าเดิมไปด้วย  ชาวบ้านห้วยแก้วรู้เข้าจึงได้รวมตัวกันต่อสู้และคัดค้านสัมปทานที่ให้กับนายทุนรายนี้

     แต่เนื่องจากนายทุนรายนี้ได้รับสัมปทานการเช่าพื้นที่ป่าจากกรมป่าไม้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย คนที่เดือดร้อนและจะต้องถูกจับกุมคือ ชาวบ้านห้วยแก้ว  เมื่อการณ์กลับเป็นเช่นนี้ ผู้นำชุมชนห้วยแก้วจึงนำความเดือดร้อนนี้ไปปรึกษากับพระอาจารย์พงษ์ศักดิ์ เตชฺธมฺโม ประธานมูลนิธิธรรมนาถและเจ้าอาวาสวัดผาลาด ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่(ในขณะนั้น) เพื่อขอคำแนะนำ ท่านให้คำแนะนำว่าให้ชาวบ้านห้วยแก้วทั้งหมดไปมอบตัวกับทางอำเภอ

     เมื่อนายไพโรจน์ สุวรรณกร เดินทางมาดูพื้นที่ที่เป็นเหตุให้ชาวบ้านห้วยแก้วกับกรมป่าไม้ขัดแย้งกัน จึงพบว่ามีการตัดไม้ทำลายป่าของนายทุนจริงดั่งที่ชาวบ้านได้คัดค้าน จึงได้ยกเลิกสัมปทานการเช่าป่ากับนายทุนรายนี้ และยกป่าห้วยแก้วให้ชุมชนได้ดูแลในรูปของป่าชุมชน

     จากนั้นกรมป่าไม้จึงได้เริ่มยกร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชนขึ้นในปี พ.ศ. 2532 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2534 ร่างกฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้จัดตั้งป่าชุมชนได้ในเขตป่าสาธารณะประโยชน์ และ ป่าสงวนแห่งชาติ  และให้ใช้ประโยชน์จากไม้ที่ชุมชนปลูกขึ้น ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายป่าชุมชน

     กรมป่าไม้ได้ส่งเสริมจัดทำป่าชุมชนในระหว่างปี พ.ศ. 2527 - พ.ศ. 2545 จำนวนมากกว่า 8,000 แห่ง โดยอนุญาตให้จัดตั้งป่าชุมชนได้ในเขตป่าสาธารณะประโยชน์ก่อน และต่อมาก็อนุญาตให้จัดตั้งได้ในป่าสงวนแห่งชาติภายใต้พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 17 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 19

     หลักเกณฑ์ของป่าชุมชน  ถ้าไม้ที่ปลูกไม่ใช่ไม้หวงห้าม ตัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ถ้าเป็นไม้หวงห้ามให้ถือปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2518) และกฎกระทรวงฉบับที่ 1106 (พ.ศ. 2528) ส่วนการเก็บของป่าหวงห้ามให้ถือปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 19 (พ.ศ. 2507) และการนำหรือปล่อยสัตว์ไปเลี้ยงในป่าชุมชนในที่เป็นป่าสาธารณะประโยชน์ไม่ต้องขออนุญาต แต่ถ้าไปเลี้ยงในป่าชุมชนในที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบของกรมป่าไม้

     ตอนหน้าหนูมานีพาไปดูกฎกระทรวงต่างๆ ที่ใช้กันเป็นหลักเกณฑ์ของป่าชุมชน ทั้งค่าธรรมเนียมและไม้ประเภทไหนที่ถือว่าเป็นไม้หวงห้าม ของป่าชนิดใดที่ถือว่าเป็นของหวงห้าม.

 

หมายเลขบันทึก: 261380เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2009 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท