ตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นกับความสุขมวลรวมประชาชาติ(GNH).....เวทีAARตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น(2)


อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม....ภาวะผู้นำการเสิมสร้างความสุมวลรวมชุมชนท้องถิ่นทั้งด้านความสุข ความดี และความสามารถ

อ.ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  ได้แสดงความชื่นชมยินดีกับความก้าวหน้าของกระบวนการจัดทำตัวชี้วัดความสุขมวลรวมของชาวชุมชนตำบลบ้านเลือกและได้แสดงทัศนะว่า การจัดทำตัวชี้วัดความสุขของชุมชนท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องทำให้ครบทุกเรื่อง ตัวชี้วัดไม่จำเป็นต้องมีหลายข้อ  สิ่งสำคัญอยู่ที่กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของคนในชุมชน  หากว่าคนในชุมชนได้มีส่วนในการจัดทำ  ได้มีความเข้าใจ มีความตระหนักและมีความรู้สึกผูกพันเป็นเจ้าของกับตัวชี้วัดเหล่านั้น  เป็นอันใช้ได้  แต่หากจะทำให้กระบวนการจัดทำตัวชี้วัดมีพลังมากขึ้น หรือมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ทำให้ตัววัดมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ชุมชนอาจจะได้ประสานความร่วมมือกับภาคีวิชาการหรือคนที่มีประสบการณ์ในเรื่องตัวชี้วัดมาช่วยชุมชนอีกแรงหนึ่งได้

                        

แนวปรัชญาความคิดตัวชี้วัดความสุข   หรือความสุขมวลรวมประชาชาติ  ได้มีการริเริ่มขึ้นมาโดยพระราชาธิบดีจิกเม ซิงเย วังชุก กษัตริย์แห่งภูฏาน  เมื่อครั้งพระองค์ทรงครองราชสมบัติ เมื่อกว่า 25 ปีที่แล้ว  ต่อมาทางโครงการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ(UNDP) ได้มีการศึกษาวิจัยและจัดสัมมนาเรื่องนี้ในระดับนานาชาติ  ทำให้แนวคิดเรื่องตัวชี้วัดความสุขมวลรวมของประเทศภูฏาน  ได้รับความสนใจและถูกกล่าวขานถึงมากขึ้นเรื่อยๆ  ท่านอาจารย์ไพบูลย์ ท่านก็เคยไปศึกษาดูงานที่ประเทศภูฏานมาแล้วเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ท่านจึงรู้สึกประทับใจและให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ

สำหรับในบ้านเราอาจารย์ไพบูลย์ท่านเห็นว่า  ความสนใจในเรื่องนี้ยังอยู่ในแวดวงนักวิชาการ การที่สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือกและสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองสาหร่ายได้ริเริ่มจัดทำตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น หรือตัวชี้วัดความดีของคนทั้งตำบลจึงเป็นเรื่องน่ายินดี  และเห็นว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศที่ได้มีการจัดตั้งตามพรบ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 ไปแล้วกว่า  1200 ตำบลทั่วประเทศเพราะจะเป็นเครื่องมือสำหรับในการเอื้ออำนวยให้ชุมชนเป็นแกนหลักได้ เป็นเจ้าของงานพัฒนาได้ โดยสภาฯมีบทบาทในการเชื่อมประสานกับภาคี  ในการสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนให้สอดคล้องกับเป้าหมายตัวชี้วัดของชุมชน  

                    

 นอกจากนี้ท่านยังได้แลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมเวทีว่า  แนวคิดเรื่องตัวชี้วัดการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่นอาจจะพิจารณาใน 3  มิติ  คือตัวชี้วัดความสุข  ตัวชี้วัดความดีและ ตัวชี้วัดความสามารถ  และโดยเฉพาะตัวชี้วัดเรื่องความสุข  ก็สามารถพิจารณาได้  4  มิติ  คือ

  • ความสุขทางกาย
  • ความสุขทางใจ
  • ความสุขทางสังคม
  • และความสุขทางจิตวิญาณ

ภาพพึงประสงค์ของสังคมในอนาคต คือ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดยใช้กลไก 3 เสาหลักดังแสดงในรูปด้านล่าง

  

จากข้อคิดต่างๆทีมงานของสภาฯบ้านเลือกคงได้แง่มุมจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปปรับใช้พัฒนางานของตนและพัฒนาภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นให้มีพลังภาวะผู้นำทั้งความดี  ความสุขและความสามารถที่สูงขึ้นด้วยครับ

                  

สำหรับผมในโอกาสที่มาร่วมเวทีในครั้งนี้อย่างน้อยก็มีความสุขทางปากครับ กับอาหารมื้อกลางวันที่แสนจะอร่อย  กับแกงขี้เหล็กและต้มหน่อไม้จิ้มนำพริกแมงดาสูตรลาวเวียง  แกงบอนมอญ  ผัดหัวแชโป้สูตรเด็ดจากเจ็ดเสมียน  และปิดท้ายด้วยข้าวโพดแปดแถวบ้านเลือก(เขาบอกว่าอร่อยที่สุดของประเทศ)  สำหรับตัวชี้วัดความสำเร็จก็ดูได้จากการที่ผู้เข้าร่วมแต่ละท่านล้วนพูงกางกันถ้วนหน้าครับ

                    

 

หมายเลขบันทึก: 263648เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2009 23:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท