สร้างคุณค่าเพิ่ม… ด้วยสบู่ ยาสระผม ฯ ของโรงแรมเมื่อเข้าพัก


คนที่มาเอาไปใช้จะเป็นคนที่ลำบากจริง ๆ ส่วนคนที่พอจะมีบ้างจะไม่ค่อยหยิบไปใช้มากนัก เป็นการแบ่งปันที่ถึงมือคนที่จำเป็นต้องใช้และมีความยากลำบากในการที่จะไปซื้อหามาใช้จริง ๆ

     นับเป็นความโชคดีที่ได้เจอกันกับพี่ขนิษฐา อติรัตนา แห่งสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 4 จ.ราชบุรี เราได้คุยกัน 2 ยกใหญ่ ๆ แต่ทักทายกันหลายยกย่อย ๆ ตลอดเวลา 2 วัน ตลอดช่วงของงาน Gotoknow Forum #1 ณ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งคือดินแดนสัมพันธภาพเสรี ที่บอกว่าโชคดีในการเจอกับพี่เขานั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่โชคดีที่ได้เจอคนอื่น ๆ อีกหลาย ๆ คน โชคดีมาก ๆ เช่นกัน เพียงแต่ยังไม่ได้ใส่ไว้ในบันทึกนี้เท่านั้นครับ

     เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในหลายเรื่องมาก เริ่มต้นตั้งแต่การรายงานโรคในระบบงานการเฝ้าระวังโรคตามปกติของกระทรวงสาธารณสุข จนมาถึงความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังการใช้สารเสพติด ที่ รศ.ดร.มานพ คณะโต Advisor ของผมกำลังดำเนินการทดลองนำร่องใน 7 จังหวัด ส่วนนี้เป็นการพูดคุยกันในช่วงค่ำคืนแรกที่ได้รับประทานอาหารร่วมโต๊ะกัน รุ่งขึ้นในวันถัดมาก่อนที่จะเริ่มงาน เราก็ใช้เวลาที่ได้นั่งรอพิธีการสัก 15 นาทีพูดคุยกันเรื่องเทคนิคการนำเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้ในหน่วยงาน ผมเล่าประสบการณ์ดี ๆ ของผมให้พี่เขาฟัง และไม่ลืมที่จะบอกให้ระวังในสิ่งที่เคยเกิดขึ้นด้านลบ ตอนที่ผมนำมาใช้ ซึ่งตรงนี้ต้องใส่ใจใน Nature ขององค์กร ไม่มีเครื่องมือใดใช้ได้ผลดีหากเราไม่ใส่ใจกับบริบท หรือ Nature ขององค์กรเราเอง และตรงนี้ถามใครก็ตอบยาก นอกจากเราจะวิเคราะห์ตนเอง ผ่านการทำ SAR (Self Assesment Report) ก็ได้ แต่ต้องทำจริง ๆ ไม่ใช่ทำ SAR เพื่อส่งหน่วยเหนืออย่างเดียว ต้องนึกว่าทำใช้เองเป็นสำคัญ (เรื่อง SAR นี่ก็มีให้พูดอีกยาว คงต้องแยกบันทึก) 

     มาถึงประเด็นสำคัญที่พี่เขาได้แลกเปลี่ยนความรู้กลับมา ผมมองว่าการพูดคุยกันแล้วแลกกันอย่างนี้ถึงจะประทับใจ ไม่ใช่เพียงแต่ถามแบบเอาแต่ได้ แม้จะเต็มใจให้ มันก็สะท้อนในความรู้สึกว่าไม่รู้เขาอยากได้จริงไหม หากเราได้เห็นเขาพยายามแลก ก็จะทำให้รับรู้ว่าที่เราให้เขาคงอยากได้จริง ๆ ถึงได้คืนเรามาบ้าง สิ่งที่พี่ขนิษฐา ได้เล่าคืนมาคือพี่เขาได้พยายามรวบรวม ตั้งกล่องเพื่อรับบริจาคสบู่ ยาสระผม ครีมนวดผม และโลชั่นจากเจ้าหน้าที่ในองค์กรของท่าน ที่ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปร่วมประชุมสัมมนาที่ต่าง ๆ แล้วไม่ใช้หรือใช้ไม่หมด ก็ได้หยิบติดไม้ติดมือมาด้วย เพราะมันเป็นสิทธิที่หยิบมาได้ จากนั้นพี่เขาจะรวบรวมแล้วเอาไปให้กับผู้ป่วยและญาติที่นอนพักรักษาตัวอยู่ตามหอผู้ป่วยในของโรงพยาบาล พี่เขาเล่าว่าคนที่มาเอาไปใช้จะเป็นคนที่ลำบากจริง ๆ ส่วนคนที่พอจะมีบ้างจะไม่ค่อยหยิบไปใช้มากนัก เป็นการแบ่งปันที่ถึงมือคนที่จำเป็นต้องใช้และมีความยากลำบากในการที่จะไปซื้อหามาใช้จริง ๆ จึงเห็นว่าพี่ขนิษฐามีแนวคิดที่ดูเหมือนจะเป็นการเพิ่มมูลค่า แต่ยิ่งกว่าเสียอีกคือเป็นการเพิ่มคุณค่า 

     ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดี ๆ ที่พี่ขนิษฐาและน้องผู้หญิงที่ติดตามพี่เขามาด้วย ได้ช่วยกันบอกเล่าให้ฟัง นึก ๆ แล้วในองค์กรระดับ สคร.ที่ 4 คงจะรวบรวมสิ่งเหล่านี้ได้ไม่น้อยในแต่ละเดือน และคงจะเกิดคุณค่ากับผู้ให้ได้ไม่น้อย สิ่งเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ คงจะได้ช่วยต่อยอดให้คนอื่น ๆ ทั้งในและนอกองค์กรคิดอะไรที่เป็นไปในลักษณะเช่นนี้ได้อีกมาก สำหรับสังคมของเราในยุคปัจจุบัน


หมายเลขบันทึก: 263765เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2009 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • น่าชื่นชมครับ
  • ขอบคุณ อ.ชายขอบมากครับที่บันทึกมาแลกเปลี่ยน

ขอบคุณอาจารย์มากครับที่นำเรื่องราวดีๆๆมาฝากครับ...มีโอกาสคงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ ด้วยความนับถือในอาจารย์ครับ

สวัสดีครับพี่สิงห์ป่าสัก

  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ ผมชอบเรื่องเล่าเล็ก ๆ (ที่ยิ่งใหญ่) ของพี่เขาครับ เลยรีบนำมาเขียนก่อน
  • เหมือนตอนที่พี่เอากล้วย มะละกอ วางให้สัตว์ข้างบ้านกิน ในบันทึกแรก ๆ ของพี่ ผมยังประทับใจครับ

สวัสดีครับคุณเสียงเล็ก ๆ

  • จะรออ่านเรื่องราวดี ๆ จากคุณนะครับ
  • โดยเฉพาะเรื่องราวของคนเก่งหัวใจแกร่งชายแดนใต้

ชอบหยิบกลับมาเหมือนกันคะ แล้วไม่ได้ใช้ ต่อไปจะหยิบมาแล้วเอาไปให้ญาติผู้ป่วยจะดีที่สุด

สวัสดีครับคุณประกาย~natachoei ที่~natadee

  • แต่ก่อนไม่นึกจะหยิบไปทำอะไร และไม่ค่อยกล้าหยิบด้วยสิ
  • พอได้คุยกันกับพี่เขานึกเสียดายที่เมื่อก่อนทำไมไม่นึกเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่เราก็มีโอกาสทำได้ครับ

สวัสดีค่ะ

  • พี่คิมจะหยิบกลับทุกครั้ง..เอาไปให้ลิงน้อยเป็ฯรางวัลค่ะ
  • พวกเขาชอบของน่ารัก ๆ
  • และจะทวงถามว่า..ได้อะไรมาฝากบ้าง
  • ขอเป็นกำลังใจให้การทำงานนะคะ

สวัสดีครับครูคิม

  • จริงสินะครับ นอกจากผู้ป่วยและญาติ ก็ยังมีเด็กนักเรียน 
  • หรือใช้เป็นสบู่ประจำห้องน้ำก็ดีนะครับ เพราะที่ถูกต้องการล้างมือหลังจากออกจากห้องน้ำนั้น ต้องล้างมือด้วยสบู่ครับ

เห็นด้วยมากๆค่ะที่ควรจะเผยแพร่วิถีปฎิบัตินี้ โดยเฉพาะในหมู่คนที่สามารถเอามาส่งต่อให้คนอื่นได้ง่ายๆ เช่นโรงพยาบาล สถานพยาบาลที่มีผู้ขาดแคลนต้องซื้อหาใช้ เป็นเรื่องง่ายๆที่ความใส่ใจทำให้เกิดประโยชน์จริงๆนะคะ ขอบคุณน้องชายขอบมากๆที่เอามาเล่าต่อและขอบคุณคุณ ขนิษฐา อติรัตนา ที่ช่างน่ารักเหลือเกิน คิดเรื่องนี้ขึ้นมาได้ พี่โอ๋จะขอเอาไอเดียนี้ไปเผยแพร่บ้างนะคะ

ขอบคุณ คุณชายขอบที่ช่วยกรุณาเล่าต่อ และขอบคุณทุกท่านที่ร่วมแสดงความคิดเห็น

จะทำต่อไป และจะคิด ทำ สิ่งที่เติมเต็มช่องว่างในสังคมไปเรื่อยๆ...

ขอบคุณค่ะ

ขนิษฐา อติรัตนา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท