คุณภาพจิต กับการศึกษา


หากเราต้องรับมือกับประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน ประณีตมากขึ้นเท่าไหร่ ศักยภาพของจิตเราก็ต้องมีความเหมาะสมกับความละเอียดอ่อน ประณีต ของประเด็นที่เรากำลังต่อกร กับมันอยู่ด้วย ระดับความประณีตของประเด็นที่เรากำลังต่อกรอยู่ก็คือ ระดับของความเป็นามธรรม (Abstract) ของประเด็นนั่นเอง

ตอนค่ำของวันก่อนได้นั่งคุยกับ ทิงหยู เพื่อนไต้หวันที่มาเที่ยวปารีสด้วยกัน เกี่ยวกับเรื่องการนั่งสมาธิ นอกจากนี้เขายังได้สาธิตและเราก็นั่งสมาธิร่วมกันก่อนที่เราจะเข้านอนกันด้วย  จากการคุยดังกล่าว มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องสมาธิและความรู้ที่อยากจะบันทึกเอาไว้ดังนี้

ทิงหยูบอกว่า เมื่อเราจิตเรามีความเหมาะสมและมีกำลังระดับหนึ่งจากการฝึกสมาธิ ประกอบกับการที่เรามีข้อมูลเบื้องต้นในสมอง จากการอ่านหนังสือ/ฟังครูสอน เราจะสามารถเกิดญาณทัศนะได้ง่ายขึ้น  หรือหากเป็นเวอร์ชั่นที่ extreme กว่านั้นก็คือ จริงๆแล้วความรู้นั้นอยู่รอบๆตัวของเรา เราเพียงแต่ต้องทำจิตใจเราให้พร้อมกับการรับองค์ความรู้นั้น เมื่อเวลามาถึง 

ญาณทัศนะในที่นี้ก็คือ ความ “รู้” นั่นเอง นึกถึงจังหวะนึกออก หรือ เกิดความตระหนักในเรื่องบางเรื่อง แล้วรู้สึก อ๋อ หรือ อ่าฮ่า!!! อะไรแบบนี้ เรื่องที่รู้ขึ้นมานั่นก็คือ ญาณทัศนะ ในที่นี้ หรือ ความ “รู้” นั่นเอง 

แต่โดยสรุปคือ ความ “รู้” นั้นไม่ได้มาจากการวิ่งหาเอาอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องอาศัยจิตที่พร้อมที่จะ “รู้” คำตอบจากคำถามที่เราตั้งเพื่อหาความรู้นั้นอีกด้วย หากจิตเราไม่พร้อม วิ่งหาเท่าไหร่ก็เจอได้ยาก แต่หากจิตพร้อม แม้เราไม่ได้วิ่งหามันอยู่ จู่ๆมันก็จะโผล่ขึ้นมาให้เราเห็น  

ฉะนั้นสภาพจิตใจที่เหมาะสมจึงอาจเรียกได้ว่าเป็น Necessary  Condition ในการศึกษาหาความรู้ ไม่ว่าจะทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม คำว่า Necessary Condition นั้นหมายถึงว่า  ถ้าเกิดมีสภาพจิตที่เหมาะสม จะสามารถทำให้เกิดความรู้ได้ ในขณะเดียวกัน  การเกิดความ “รู้” ขึ้นนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นจากสภาพจิตที่ไม่เหมาะสมได้ Necessary Condition อีกอย่างนึงที่จำเป็นในความเห็นของผมก็คือ input ในการหาคำตอบ หากมี input เช่นความรู้/ ข้อมูลต่างๆ ที่เหมาะสมจะทำให้เกิด ความ “รู้” ได้ง่ายขึ้น 

ขณะเดียวกัน ความพยายามของเราที่ใส่ลงไปในการหาความรู้อาจเรียกได้ว่าเป็น Sufficient Condition ก็ได้ หมายความว่า หากเราใส่ความพยายามลงไป ความ “รู้” ก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ การเกิด ความ“รู้”นั้นอาจจะไม่ต้องอาศัยความพยายามก็ได้ จู่ๆก็มา 

ความพยายามที่ควรจะใส่ลงไปคือ ความพยายามในการหา input  มากกว่า มิใช่ความพยายามในการคิดเพื่อให้เกิด ความ “รู้” เพราะความ “รู้” ไม่ได้มาจากการ “คิด” แต่มาจากการที่จิตของเรามัน “รู้” ของมันเอง หรือถ้าพูดอีกอย่างก็คือ เราไปบังคับสมองของเราไม่ได้หรอก  สมองมีธรรมชาติในการทำงานของมัน และเมื่อมันทำงานเสร็จคำตอบก็จะ pop - up ขึ้นมาเอง เหมือนกับคอมพิวเตอร์ ที่เราทำได้เพียงการ คีย์ข้อมูลให้สมบูรณ์ ส่วนการประมวลผลเป็นเรื่องของศักยภาพของคอมพิวเตอร์

ฉะนั้นหากเราต้องรับมือกับประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน ประณีตมากขึ้นเท่าไหร่ ศักยภาพของจิตเราก็ต้องมีความเหมาะสมกับความละเอียดอ่อน ประณีต ของประเด็นที่เรากำลังต่อกร กับมันอยู่ด้วย  ระดับความประณีตของประเด็นที่เรากำลังต่อกรอยู่ก็คือ ระดับของความเป็นามธรรม (Abstract) ของประเด็นนั่นเอง หากเราประเด็นนั้นมีความเป็นนามธรรมต่ำ เช่น เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตปกติประจำวัน  สมอง มนุษย์ปกติคนนึงก็สามารถจัดการได้ หากเพิ่มระดับขึ้นมาเป็นการทำงานในวิชาชีพหนึ่ง ซึ่งต้องเข้าใจหลักการหนึ่งๆผนวกกับทักษะในการปฏิบัติ การเข้าใจหลักการปฏิบัตินั่นก็จะเป็นอีกระดับหนึ่งของนามธรรม , หากเพิ่มระดับเป็นเรื่องเชิงทฤษฎี อย่างนักวิชาการทำการ ก็ต้องอาศัยคุณภาพ/ศักยภาพของจิตอีกระดับ หากเป็ฯเรื่องเชิงปรัชญา/คณิตศาสตร์ ก็จะเป็นอีกระดับ และเรื่องที่เป็นระดับสูงสุดเท่าที่ผมจะรู้ได้ตอนนี้ก็คือ เรื่องของการพิจารณา “ธรรม” ในพระพุทธศาสนานั่นเอง 

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า อย่างผมเองในฐานะนักวิชาการนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคอยดูแลคุณภาพจิตของตนเองให้มีความเหมาะสมกับการรับมือกับประเด็นที่กำลังศึกษาอยู่ให้บ่อย ให้มาก หากพลาดทำคุณภาพจิตตกต่ำ ย่อมส่งผลกระทบต่อการเรียนอย่างมากแน่ๆ 

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้คุณภาพจิตของเราตกต่ำนั่นโดยมากมักเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับการละเมิดกติกาในอุโบสถศีล หรือ ศีล 8 นั่นเอง 

หากเราไปเบียดเบียน/พรากชีวิตคนอื่น ย่อมไม่สบายใจ ย่อมกังวลใจกับความผิดหรือการถูกตามแก้แค้น จิตแบบนี้มาคิดเรื่องวิชาการไม่ได้แน่

หากเราไปทุจริต ขโมยของ แอบขึ้นรถไม่จ่ายตังค์  สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้เรามีความกังวลว่าจะถูกจับได้หรือไม่ได้ นอกจากนี้ การที่เรารู้แก่ใจว่าเราขโมยของ ผมว่ามันทำให้เรามีปมในใจ ซึ่งจะลด self-esteem ของเราลงไปเหมือนกัน จาก

ประสบการณ์ผมว่ามันส่งผลต่อศักยภาพในการคิดของเราไม่น้อย

หากเราหมกมุ่นกับเรื่องกามรมณ์ โดยเฉพาะเรื่องเพศตรงข้ามหรือเร่ืองกิจกรรมทางเพศ (นี่ไม่ต้องพูดถึงไปคบชู้ก็ได้) 

จิตใจเราย่อมไม่อยู่กับงานที่ต้องทำเป็นแน่  กิจกรรมทางเพศลดพลังในการทำงานของสมองลงไปด้วย เพราะมันไปหล่อเลี้ยงส่วนอื่นแทน  นอกจากนั้นแล้วยังก่อหมอกมัวๆมาบังจิตเราไม่ให้รู้ในสิ่งที่รู้ได้เมื่อจิตใสกว่านี้อีกด้วย

หากโกหก พูดจาส่อเสียด ยุแยง จิตเราย่อมบิดเบือนไปตามสิ่งที่เราพูด รู้เห็นไม่เป็นตามจริง จิตใจยังตกต่ำและเร่าร้อน เพราะการพูดส่อเสียดยุแยงโดยมากมักมาจากจิตที่มีโทสะหรือความโกรธเป็นส่วนประกอบ ย่อมไม่เหมาะกับการคิดเรื่องวิชาการ การพูดเพ้อเจ้อบ่อยๆ ก็เป็นการฝึกจิตเราให้คิดอะไรไร้สาระ ไร้หลักการ เป็นไปเพื่อความคะนองปากแต่ถ่ายเดียว พลังของจิตใจจึงถูกจัดสรรไปในเรื่องเหล่านั้นบางส่วน จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ แต่นั่นย่อมเทากับเสียโอกาสเอากำลังส่วนนั้นมาคิดเรื่องที่เป็นสาระแน่ และยิ่งทำมากก็ยิ่งเคยชิน จะบังคับให้มาคิดเรื่องซีเรียสก็อาจจะยาก ...

หากกินเหล้า/เมายา  ...คนเราคิดงานไม่ออกตอนกำลังเมาอยู่แน่นอน  นอกจากนี้ โดยส่วนตัว ผมเห็นว่ามันลดศักยภาพของสมองลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ และการเรียนคืนความจำ (Recall) ยิ่งรับแอลกอฮอล์ยิ่งเรียกความจำได้ยาก อันนี้เป็นประสบการณ์ตรงจากการเล่นดนตรีในร้านอาหาร ถ้เกิดมีแอลกอฮอล์เข้าไปในกระแสเลือดแม้นิดเดียว เนื้อเพลงหายไปใจสมองต่อหน้าต่อตา!!!  การเรียกคืนความจำนี้สำคัญต่อการทำงานของสมองในประเด็นที่ละเอียดประณีต เปรียบเหมือนเราใช้ excel คำนวนข้อมูล เสร็จแล้วมันลืมเอา cell  x ถึง y  มาคำนวนนั่นแหละ คำตอบที่ได้มาย่อมพลาดไปได้

การทานอาหารยามวิกาล ผมเข้าใจว่ายังพออนุโลมได้ เพราะมิฉะนั้นอาจจะหิวกันได้ ... แต่หากละไปด้วยแล้ว นอกจากจะลดน้ำหนักได้ ยังทำให้ไม่ง่วงเวลาทำงานช่วงกลางคืนอีกด้วย นอกจากนี้ยังทำให้ตื่นไว เพราะจะหิวตอนเช้า ตอนตื่นตอนเช้าก็จะรู้สึกตัวเบาๆ เพราะไม่มีของเสียในท้องต้องถ่ายออกมา

แต่การดูเรื่องบันเทิง นี่ผมว่าเป็นอุปสรรคหลักประการหนึ่งเลยทีเดียว หลายคน รวมถึงผมเอง มีอาการติด Youtube, BBTV , เกมส์ใน facebook ฯลฯ ซึ่งกินเวลของเราไปอย่างมากมาย และส่งผลต่อความสามารถในการบังคับตัวเองให้ทำงานอีกด้วย เรื่องบันเทิงนี้ส่งผลอย่างน้อยสองประการคือ หนึ่ง มันประทับกับใจเราค่อนข้างแน่น เพราะการรับรู้มาอย่างน้อยสองทางคือ ทางตากับทางหู ฉะนั้น ถ้าจิตเราถูกเรื่องบังเทิงบังอยู่ หรือมัน process ซ้ำไปซ้ำมา ย่อมทำให้ไม่สามารถคิดได้อย่างเหมาะสม ต้องใช้เวลานานกว่าจะจูนจิตเราให้มาโฟกัสกับเรื่องวิชาการ  ประการที่สองคือ  มันจะเป็นจุดพักของจิตเมื่อเราเกิดความเครียด และจะทำให้เราเคยตัว เมื่อเราจะทำงานเรามักจะเริ่มเครียด ถ้าเกิดดูพวกนี้บ่อยๆก็จะไม่ได้ทำงานเลย เพราะว่าพอเริ่มเครียดมันเข้าไปเรื่องบันเทิงก่อนเลย ไม่ทำงาน พอไม่ทำงานก็เครียดเพิ่ม พอเครียดเพิ่มก็ไปดูเรื่องบันเทิง เป็นวงจรอุบาทว์อย่างนี้เรื่อยๆ 

 ผมจึงคิดว่า เราควรต้องจัดเวลาเรื่องบันเทิงให้ชัดเจน เหมือนตอนเด็กๆที่พ่อ/แม่เราต้องคอยกำหนดเวลาดูทีวีหรือเล่นเกมส์ให้เรานั่นเอง แต่ถ้าคุมตัวเองให้ไปวุนวายกับเรื่องนีวันเสาร์อาทิตย์ได้ก็น่าจะดี เพราะเราจะได้โฟกัสกับงานในวันธรรมดาให้เต็มที่ และไม่ต้องเสียใจหากจะพักในวันสุดสัปดาห์

ส่วนเรื่องของการเว้นจากการนั่งนอนบนที่สูง ยังไม่ค่อยเห็นความสัมพันธืเท่าไหร่ นอกเสียจากว่าจะทำให้ตื่นนอนตอนเช้าได้ลำบากกว่าการนอนพื้น แต่อันนี้ก็ขึ้นกับสุขภาพหลังของแต่ละคน ตอนผมนอนพื้นแล้วตื่นไว เพราะไม่มีอะไรจะต้องไปติดใจกับพื้นไม้  ในทางกลับกัน เตียงนุ่มๆต่างหากที่มักจะดูดเราไว้ หรือดูดเราลงไป (ตอนนอนพื้นไม่มีอะไรดูดเลยแฮะ --“)

ผมประมวลสิ่งนี้ได้จึงอยากจะแบ่งปันกัน คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่กำลังเรียนอยู่เหมือนๆกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การเรียนรู้เรื่องสมาธิที่ถูกต้องตามหลักศาสนาใดก็ตาม รวมถึงการฝึกสติปัฎฐานตามแนวพระพุทธศาสนาจะช่วยในการเพิ่มศักยภาพของจิตเพื่อการศึกษาได้

 

หมายเลขบันทึก: 266595เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2009 05:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 17:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์ชล  บุนนาค

  • โยมอาจารย์ช่วยพระได้เยอะเลยอ่านเข้าใจง่ายดี
  • เมื่อเดือนที่แล้วมีเด็กหนุ่มลูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่งมาพักนอนที่กุิฏิอาตมาตื่นเช้าขึ้นมาแกบอกว่านอนไม่หลับ อาตมาก็เดาว่า แกคงแปลกที่เลยนอนไม่หลับอะไระประมาณนั้น
  • มาทราบจากเพื่อนที่เรียนป.โทด้วยกันว่า เขาอยู่บ้านนอนแต่ฟูกนุ่ม ๆ ไม่เคยหรอกจะมานอนเสื่อเจ็บหลังแบบนี้
  • การกินการนอนมันจะสัมพันธ์กับวิถีชีวิตแล้วมาถึงศีลแปดอย่างไรหรือไม่ คงต้องฝากโยมอาจารย์ให้ช่วยหาข้อมูลเปรียบเทียบดู
  • คนที่ติดสบายก็กระทบศีลระดับระเอียดได้เหมือนกัน แค่เปลี่ยนความเคยชิน ก็มีผลต่อบุคคลได้
  • น่าศึกษามากเหมือนกันศีลกับวิถีคนรุ่นใหม่หรือเก่าก็ตามเคยได้ยินว่า ไปทอดผ้าป่า กฐิน ตกตอนคืนไปนอนโรงแรม วัดไม่สะดวก ศีลข้อนี้ต้องทดลอง ต้องลงมือทำส่วนมากเราฟังเป็นทฤษฏีไปหมด
  • สมัยนี้เขาพูดถึงภาคปฏิัติกันจังเลยเนาะ ชุมชนก็ปฏิับัติ วิจัยก็ปฏิบัติ พยายาบาลก็ปฏิบัติ
  • พูดเป็นภาษาพระที่ได้ยินบ่อย ๆ ก็คือจิดมีสมาธิแค่ช้างกระดิกหูงูแลบลิ้น ก็มีอานิสงส์มากมาย น่าให้นิสิตทำวิจัยเรื่องแบบนี้ดูบ้างนะอาจารย์

ขอเจริญพร

ขอบพระคุณ พระคุณเจ้าครับ

น้อมรับคอมเมนต์และข้อเสนอแนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท